ลำดับขั้น-ยศ พระมเหสีเทวี พระภรรยาเจ้า ในพระมหากษัตริย์

ในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ ฐานันดรศักดิ์ อิสริยยศ ตำแหน่งของพระบรมวงศ์และราชวงศ์ ย่อมได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอิสริยยศของพระภรรยาของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีหลายตำแหน่ง หลายลำดับขั้น “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงค้นคว้าข้อมูลและสรุปข้อมูลเกี่ยวขั้น-ยศของพระภรรยาเจ้าออกมาให้เข้าใจง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

ตามข้อมูลในประวัติศาสตร์นั้น พระภรรยาของกษัตริย์แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามชาติกำเนิดของพระภรรยา ได้แก่ 1.พระภรรยาเจ้า หมายถึง พระภรรยาที่มีชาติกำเนิดเป็นเจ้า คือ เป็นหม่อมเจ้าขึ้นไป 2.พระภรรยา หมายถึง พระภรรยาที่มีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน

ในหนังสือ “พระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5” เขียนโดย นายแพทย์จิรวัฒน์ อุตตมะกุล ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อเดือนสิงหาคม 2546 โดยสำนักพิมพ์มติชน ให้ข้อมูลไว้ว่า ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยพระฐานันดรศักดิ์แห่งพระมเหสีเทวีนั้น แต่เดิมมี 4 ขั้น คือ 1.พระอัครมเหสี 2.พระมเหสี 3.พระราชเทวี 4.พระอัครชายา

จากการค้นคว้าข้อมูลพบว่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 มาถึงรัชกาลที่ 5 (ยกเว้นรัชกาลที่ 3 ไม่มีมเหสี) พระมเหสีของกษัตริย์ล้วนเป็นพระภรรยาเจ้า ส่วนพระภรรยาสามัญชนนั้นไม่มีสิทธิ์ขึ้นมามีอิสริยยศถึงพระมเหสีเทวี

เมื่อกล่าวถึง พระมเหสีเทวี จึงหมายถึงเฉพาะพระภรรยาเจ้า ดังนั้นในที่นี้เราจะพูดถึงเฉพาะอิสริยยศของพระภรรยาเจ้าเท่านั้น โดยอิงจากรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการสถาปนาตำแหน่งต่าง ๆ มากกว่ารัชสมัยอื่น

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระฐานันดรศักดิ์พระมเหสีเทวีมีทั้งหมด 7 ลำดับ คือ 1.พระบรมราชินีนาถ 2.พระบรมราชเทวี 3.พระอัครราชเทวี 4.พระวรราชเทวี (ซึ่งต่อมาไม่ปรากฏยศนี้ เนื่องจากพระมเหสีที่ดำรงยศนี้ได้รับการสถาปนายศสูงขึ้น) 5.พระราชเทวี 6.พระอรรคชายาเธอ 7.พระราชชายา

พระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 มีทั้งหมด 9 พระองค์ เป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง (พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์จักรี) 5 พระองค์ เป็นพระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง (หลานของพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์จักรี) 3 พระองค์ และอีก 1 พระองค์เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์อื่น

เรียงลำดับพระภรรยาเจ้าทั้ง 9 ตามปีที่มีประสูติกาลพระราชบุตร ดังนี้ (พระนามตามอิสริยยศสูงสุดของแต่ละพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 5)

1.พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี (พระราชธิดา ร.4 พระนามเดิม คือ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี พระองค์ไม่มีพระฐานันดรศักดิ์แห่งพระมเหสีเทวี เพราะทรงเสียพระสติหลังจากการประสูติพระราชโอรส จึงไม่ได้ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าอีกต่อไป และจะไม่ได้กล่าวถึงอีก)

2.พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ (พระราชนัดดา ร.3 พระนามเดิม คือ หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์)

3.พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค (พระราชนัดดา ร.3 พระนามเดิม คือ หม่อมเจ้าบัว ลดาวัลย์)

4.พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (พระราชธิดา ร.4 พระนามเดิม คือ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี)

5.สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (พระราชธิดา ร.4 พระนามเดิม คือ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา)

6.สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือพระนางเรือล่ม (พระราชธิดา ร.4 พระนามเดิม คือ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์)

7.สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (พระราชธิดา ร.4 พระนามเดิม คือ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี)

8.พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ (พระราชนัดดา ร.3 พระนามเดิม คือ หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์)

9.พระราชชายา เจ้าดารารัศมี (พระราชธิดาพระเจ้าแผ่นดินเชียงใหม่ พระนามเดิม คือ เจ้าดารารัศมี)

ด้วยชาติกำเนิดของพระภรรยาเจ้าทั้ง 9 พระองค์ พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ซึ่งเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 (ไม่นับพระองค์เจ้าทักษิณชาฯ) ย่อมมีอิสริยยศเหนือกว่าอีก 4 พระองค์

หากเรียงลำดับพระมเหสีเทวี 4 พระองค์ตามพระชันษา จะเป็นลำดับดังนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี

ในหนังสือ “พระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5” ที่อ้างอิงข้างต้น ซึ่งผู้เขียนได้ค้นคว้าจากเอกสารหลักฐานจำนวนมาก ได้อ้างอิงหนังสือ “สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ” ของสมภพ จันทรประภา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2530 ให้ข้อมูลไว้ว่า

พระภรรยาเจ้าทั้ง 4 พระองค์นี้เมื่อแรกรับราชการ รัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องเสมอกันทุกพระองค์ พระเกียรติยศที่จะทรงเพิ่มพูนนั้นขึ้นอยู่กับการที่ทรงมีพระประสูติกาลพระราชโอรส/พระราชธิดาเป็นสำคัญ (ต่อไปนี้จะออกพระนามแต่ละพระองค์ตามพระนามในช่วงเวลานั้น ๆ)

ในปี พ.ศ. 2420 เมื่อพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ ซึ่งทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก พระเกียรติยศของพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีจึงเพิ่มพูนขึ้นก่อนพระภรรยาเจ้าองค์อื่น เป็นพระองค์แรกที่ได้มีการรับรองศักดิ์พระภรรยาเจ้าอย่างเป็นทางการ

ต่อมา พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงอีก 3 พระองค์มีประสูติกาลพระราชโอรสหรือพระราชธิดาพระองค์แรกตามลำดับ ดังนี้

วันที่ 27 มิถุนายน 2421 พระองค์เจ้าสว่างวัฒนาประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ วันที่ 12 สิงหาคม 2421 พระองค์เจ้าสุนันทาฯประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2421 พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย พระเกียรติยศของทั้ง 4 พระองค์จึงเท่ากัน

หนังสือเล่มดังกล่าวอ้างอิงบทความเรื่อง “เวียงวัง ตอนพระภรรยาเจ้าทั้ง 4 พระองค์ในรัชกาลที่ 5” ของจุลลดา ภักดีภูมินทร์ ในสกุลไทย ฉบับ 2327 ว่า “พระภรรยาเจ้าทั้ง 4 พระองค์ ถึงแม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะพระราชทานพระเมตตาเท่าเทียมกัน ทว่าก็เล่าขานกันมาว่า โดยส่วนพระองค์แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดปรานพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์อย่างยิ่ง”

นอกจากนั้นในหนังสือ “เลาะวัง” เล่ม 3 โดยจุลลดา ภักดีภูมินทร์ บอกว่า ผู้ใหญ่เล่าต่อ ๆ มาว่า หากพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ คงจะได้ทรงดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีใหญ่กว่าพระองค์อื่น ที่สันนิษฐานดังนี้ เนื่องจากสังเกตจากสร้อยพระนามพระราชธิดาที่ประสูติไล่เลี่ยกัน 3 พระองค์จาก 3 มเหสี มีเพียงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ที่ทรงมีสร้อยพระนามว่า “อัครวรราชกุมารี” อันมีนัยว่าทรงเป็นพระราชธิดาในพระอัครมเหสี

ปี พ.ศ. 2423 เกิดเหตุสำคัญซึ่งส่งผลต่อตำแหน่งพระภรรยาเจ้า คือ พระองค์เจ้าสุนันทาฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์สิ้นพระชนม์เนื่องจากเหตุเรือล่ม หลังสิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาพระองค์เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

แล้ววันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2423 ทรงสถาปนาพระองค์เจ้าสว่างวัฒนาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี เนื่องจากทรงเป็นพระราชชนนีของสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ พร้อมกับสถาปนาพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีเป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้า

ต่อมา (คาดว่าช่วงปี 2423-2424) ทรงเลื่อนสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

หลังสิ้นสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ อันดับอิสริยยศของพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่ 5 คงอันดับ 1-3 เรื่อยมาหลายปี เรียงอันดับดังนี้

1.สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

2.พระนางเธอพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

3.พระนางเธอพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี

ต่อมา พระนางเธอพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ได้รับการสถาปนาเป็น พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี หนังสือหลายเล่มเขียนปีที่ได้รับการสถาปนาไม่ตรงกัน เช่นกันกับการสถาปนาพระนางเธอพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี เป็น พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ซึ่งข้อมูลไม่ตรงกันว่าสถาปนาปีใดแน่ คาดว่าเป็นปี พ.ศ.2424

วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2430 ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

อันดับพระมเหสี 1-3 คงอันดับเดิมมาเป็นเวลา 15 ปี จนกระทั่งปี 2438 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ประชวรและสวรรคตอย่างกะทันหัน

วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2438 รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร แทน ส่งผลให้พระฐานะของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี สูงขึ้นตาม ในฐานะที่เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ รัชกาลที่ 5 จึงทรงสถาปนาพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี

หนังสือ “การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ 5” เขียนโดยฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์ พิมพ์ครั้งแรก เดือนกันยายน พ.ศ. 2561 โดยสำนักพิมพ์มติชน เขียนถึงประเด็นนี้ไว้ว่า

“…แม้พระยศ ‘พระอัครราชเทวี’ ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี จะเป็นตำแหน่งรองจาก ‘พระบรมราชเทวี’ ของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา แต่ด้วยพระฐานะพระราชมารดาของมกุฎราชกุมาร ทำให้เกิดความ ‘ลักลั่น’ ในราชสำนักว่าแท้จริงแล้วในช่วงเวลานั้น พระองค์ใดที่ทรงเป็น ‘หมายเลขหนึ่ง’ ที่แท้จริง”

ความสับสนในอันดับ 1 และ 2 นั้นจบไปอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2440 เมื่อรัชกาลที่ 5 จะเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป จึงตั้งสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พร้อมทรงสถาปนาพระฐานันดรเพิ่มเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ

“สมเด็จพระนางเจ้า…พระบรมราชินีนาถ” เป็นฐานันดรที่ทรงสถาปนาเพิ่มขึ้นครั้งแรก สำหรับพระราชินีที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินเทียบเท่าพระมหากษัตริย์ ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของพระภรรยาเจ้า

เมื่อสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ธรรมเนียมที่ว่าพระภรรยาเจ้าเท่านั้นที่จะมีฐานันดรศักดิ์เป็นพระมเหสีได้สิ้นสุดลงไป ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 พระภรรยาของพระมหากษัตริย์ที่มาจากสามัญชนสามารถได้รับฐานันดรศักดิ์เป็นพระมเหสีได้ ถือเป็นธรรมเนียมใหม่สืบมาถึงปัจจุบัน