ตอบข้อสงสัย วัคซีนโควิดทำไมจึงช้า ได้ฉีดเมื่อไหร่ เตรียมการแจกจ่ายถึงไหนแล้ว ?

การจัดหาวัคซีนเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจอย่างต่อเนื่อง มีคำถาม มีข้อสงสัยมากมายหลากหลายประเด็น จะได้ฉีดครบทุกคนไหม ? ฉีดฟรีทุกคนไหม ? จะได้ฉีดเมื่อไหร่ ? จัดหาช้าเกินไปหรือเปล่า ? ทำไมจึงช้า ? แจกจ่ายอย่างไร ? และอีกหลาย ๆ คำถาม ซึ่งมีคำตอบจากผู้รับผิดชอบโดยตรงให้เราทราบกันแล้วบนเวทีเสวนา “พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

คนไทยฉีดฟรีครบ 50 ล้านคน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถา มีเนื้อหาสาระสำคัญว่า วิธีการควบคุมโรคระบาดที่ได้ผลมากที่สุดคือต้องมีวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน เพื่อส่งเสริมการสร้างภูมิคุมกันโรค ขณะนี้หลาย ๆ ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยกำลังเดินไปถึงจุดนี้

อนุทิน ชาญวีรกูล

“ขอให้เกิดความมั่นใจและสบายใจได้เลยว่า รัฐบาลชุดนี้มีหน้าที่ที่จะจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนที่เป็นคนไทยทุกคน ไม่ต้องกังวลว่าไทยจะไม่ได้รับวัคซีน คนไทยไม่ต้องเสียเงินในการฉีดวัคซีนโควิด คนไทยทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดฟรี ในฐานะที่ท่านคือคนไทย ในฐานะที่ท่านเสียภาษีให้กับประเทศไทย ท่านอดทนอดกลั้นให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิดเหล่านี้ ท่านนายกรัฐมนตรีท่านได้ให้นโยบายอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลจะต้องจัดหาวัคซีนมาให้กับพี่น้องประชาชน”

นายอนุทินบอกว่า กระบวนการจัดหาวัคซีนเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ตามแผนเดิมก่อนจะมีการระบาดระลอกใหม่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขวางแผนจะเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ไม่ได้ถือว่าล่าช้าแต่อย่างใด แต่ตอนนี้ที่ต้องพยายามจัดการวัคซีนมาให้ได้ก่อนกำหนด เพราะเกิดการระบาดระลอกสองขึ้นมา

ตอนนี้การจัดหาวัคซีนโดยรัฐบาล ได้ทำสัญญากับแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว 26 ล้านโดส และกำลังจะยืนยันการจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส จะทยอยฉีดเดือนละ 5 ล้านโดสไปจนถึงปลายปี หลังจากนั้นจะจัดหาเพิ่มเติมให้ครอบคลุมประชาชนจำนวน 50 ล้านคนแน่นอน (มีกลุ่มที่ไม่ต้องฉีดประมาณ 20 ล้านคน) โดยจะพิจารณาวัคซีนของบริษัทอื่น ๆ ด้วย

“ไม่ได้ช้าครับ เรื่องวัคซีนเราได้เริ่มทำงานกันมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว อย่าเอาประเทศไทยไปเทียบกับประเทศอื่น ทำไมประเทศอื่นต้องฉีดวัคซีนเยอะ เพราะเขาติดเชื้อเยอะ เขามีการระบาดเยอะแยะมาก มีผู้ติดเชื้อวันละหลายแสนคน จนเขาต้องยอมให้เอาวัคซีนไปช่วยเพื่อให้เกิดผลการทดลอง ประเทศไทยเรายังอยู่ห่างจากจุดนั้น ถ้าสถานะอย่างประเทศไทยที่ควบคุมการระบาดได้แบบนี้ มีระบบสาธารณสุขที่มีความพร้อม มีแพทย์ เวชภัณฑ์ ยา ความรู้ความสามารถในการรักษาโรคโควิด มีการติดเชื้อในระดับเท่านี้ ผมให้คนไทยเสี่ยงเป็นหนูทดลองไม่ได้เด็ดขาด”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบอกอีกว่า ณ วินาทีนี้ กระทรวงสาธารณสุขสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้อยู่ มีคนติดเชื้อ 20,000 คน แต่มีคนหายแล้ว 14,000 คน แม้มีการติดเชื้อเยอะ แต่อัตราส่วนที่รักษาหายก็เยอะตามไปด้วย ไม่ได้เป็นอัตราส่วนที่ผกผัน เพราะฉะนั้นก็ขอให้มั่นใจว่า ประเทศไทยไม่ได้ล้มเหลวในเรื่องของการรับมือกับสถานการณ์โควิด แม้จะมีการระบาดระลอกสองขึ้นมา

เบื้องลึก เบื้องหลัง ไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีน

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยรายละเอียดให้เห็นไทม์ไลน์มาตั้งแต่ต้นว่า ตอนที่เริ่มเกิดโรคระบาดในเดือนมกราคม 2563 สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรคได้ทำงานใกล้ชิดกัน และเข้าใจตรงกันว่าโรคนี้จะเป็น “เรื่องใหญ่” สถาบันวัคซีนฯจึงคิดว่าจะวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนในประเทศได้หรือไม่ จึงเริ่มพูดคุยกับเครือข่ายการทำงานทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและองค์กรเอกชน พูดคุยหารือกันว่า หากจะพัฒนาและผลิตวัคซีนในประเทศ ใครจะสามารถทำอะไรได้บ้าง

นพ.นคร เปรมศรี

เมื่อหารือได้ข้อสรุปแล้วว่าจะพัฒนาวัคซีนในประเทศ ก็ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน จึงเสนอกระทรวงสาธารณสุข และคณะรัฐมนตรี เพื่อของบประมาณสนับสนุนการวิจัยพัฒนา ซึ่งรวม ๆ แล้วได้มาทั้งหมด 3,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการก่อตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติขึ้นมา

ขณะเดียวกันได้ติดตามสถานการณ์ทั่วโลกว่ามีการวิจัยพัฒนาวัคซีนกันไปถึงไหนแล้ว มีการหาเครือข่ายการทำงานในต่างประเทศ พูดคุยกับหลายภาคส่วน ซึ่งในระยะเริ่มแรกนั้นไม่สามารถบอกได้ว่า หน่วยงานไหน บริษัทไหนจะทำสำเร็จ ทราบเพียงว่าทุกคนทำงานในทิศทางเดียวกัน จึงพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทั้งกับหน่วยงานในจีน ยุโรป ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นการทำงานคู่ขนาน ทั้งการวิจัยพัฒนาในประเทศ และความร่วมมือกับต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็คิดว่าหาก 2 แนวทางนี้ไม่ได้ผล ต้องมีแนวทางที่ 3 คือ การจัดหาวัคซีนโดยซื้อจากต่างประเทศ จึงเกิดเป็นบลูพรินต์การทำงานด้านวัคซีน ซึ่งมี 3 แนวทาง

สำหรับแนวทางที่ 3 นั้น ไทยมีการติดตามข้อมูลอยู่ตลอด ต้องจับตาว่าใครจะทำสำเร็จ เป็นวัคซีนรูปแบบไหน กระบวนการทดลองเป็นอย่างไร ต้องไปทำความรู้จักเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกมาประกอบการตัดสินใจ

นพ.นครเปิดเผยอีกว่า ในช่วงเวลาที่การวิจัยในประเทศยังไม่ได้เริ่ม มีอีกแนวทางหนึ่งเพิ่มเข้ามาคือ การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทต่างประเทศ ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้าต้องการขยายกำลังการผลิตพร้อมกันทั่วโลกพอดี เนื่องจากออกซ์ฟอร์ดมั่นใจมากว่า วัคซีนที่วิจัยอยู่นั้นจะสำเร็จ จึงให้แอสตร้าเซนเนก้าเจรจาหาพันธมิตรรองรับการผลิตไว้ก่อนจะวิจัยสำเร็จ โดยตกลงกันว่าต้องเป็นการผลิตแบบไม่คิดกำไร

จากนั้นแอสตร้าเซนเนก้าได้เลือกบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเป็นผู้ผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการขอให้รัฐบาลไทยจองวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยด้วย เพราะหากรัฐบาลไทยไม่จอง บริษัทอาจจะขายวัคซีนในประเทศอื่น ๆ ไม่ได้ เพราะประเทศอื่น ๆ จะไม่มีความมั่นใจเนื่องจากเห็นว่า แม้แต่ประเทศที่ผลิตเองยังไม่มั่นใจที่จะใช้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการที่รัฐบาลไทยจองวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนกันไปในเดือนพฤศจิกายน 2563 ส่วนกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้นได้เริ่มมาก่อนหน้าแล้วนิดหน่อยตั้งแต่เดือนตุลาคม

ช้าเพราะกฎหมายไทยจองก่อนไม่ได้

มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า รัฐบาลไทยจัดหาวัคซีนล่าช้า ซึ่งทางรัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าเป็นกระบวนการที่เหมาะสม ไม่ล่าช้า ประเด็นนี้ นพ.นครอธิบายลงรายละเอียดว่า ไทยไม่สามารถจ่ายเงินจองล่วงหน้าอย่างหลาย ๆ ประเทศ เพราะกฎหมายของเราทำแบบนั้นไม่ได้

“การจองวัคซีนในช่วงปีที่ผ่านมามีความยากพอสมควร ประเทศอื่นเขาจองได้ง่าย ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาจองตั้งแต่พฤษภาคม โดยให้งบฯแก่แอสตร้าเซนเนก้าไปทดลองวิจัยก่อน 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าสำเร็จให้คืนเป็นวัคซีน 300 ล้านโดส แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ถ้าประเทศไทยทำแบบนั้นได้ก็จะดีมาก แต่เราทำแบบนั้นได้ยากมาก”

นพ.นครบอกว่า วิธีการจองวัคซีนล่วงหน้าจากทุกบริษัทต้องทำแบบนั้นหมด ทุกบริษัทที่เดินเข้ามาคุยบอกว่า ถ้าจะจองล่วงหน้าต้องวางเงินก่อน ถ้าวัคซีนไม่สำเร็จก็ขอโทษและแล้วกันไป ถือว่าถ้าอยากใช้วัคซีนเร็วก็ต้องรับความเสี่ยงร่วมกัน

“กว่าจะสร้างกลไกการจองวัคซีนอย่างมีความเสี่ยงอย่างนี้ได้ ผมปรึกษาสิบทิศ ทุกท่านบอกว่า กลไกการจัดซื้อจัดจ้างในพระราชบัญญัติปกติทำไม่ได้ ผมจึงขอความช่วยเหลือจากรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ขอทีมกฎหมายของท่านมาช่วยหาทางออก ปรึกษาหารือกันแล้วท่านบอกว่า ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ใส่อำนาจตามพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ ตามมาตรา 18 มีอยู่วรรคเดียวคือ ‘ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีประกาศในภาวะฉุกเฉิน โดยความเห็นชอบของสถาบันวัคซีนแห่งชาติในเรื่องการจัดหาวัคซีน’ แล้วไปออกประกาศในเนื้อประกาศเอง”

หลังจากมีกฎหมายรองรับแล้ว จึงเสนอคณะรัฐมนตรีให้จองซื้อวัคซีน 26 ล้านโดสจากแอสตร้าเซนเนก้า จึงเกิดการจองซื้อในเดือนพฤศจิกายน 2563 และบังเอิญว่าการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทำได้เร็ว จึงเห็นตัวเลือกวัคซีนบริษัทต่าง ๆ ที่ทยอยออกมา ทำให้มั่นใจว่าจะมีวัคซีนโควิด-19 ให้ใช้แน่ ๆ

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า เรื่องข้อจำกัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในแง่การใช้งบประมาณ ต้องพิจารณาให้ดีทุกแง่มุม อย่างกรณีที่เปรียบเทียบการจองวัคซีนของสหรัฐอเมริกากับไทย ไทยไม่สามารถทำได้อย่างอเมริกาแน่นอน ทั้งมิติกฎหมายและมิติทางการเมือง ถ้าเอาเงินไปมัดจำแล้วล้มเหลว คนที่ทำต้องรับผิดชอบทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย

สาธิต ปิตุเตชะ

“ที่รัฐบาลเดินมาในแนวที่เป็นการจัดการอย่างเหมาะสม เช่น จอง 23 ล้านโดสแรก พอเวลามันทอดยาวออกไป อีกหลายบริษัทผลิตได้ ตลาดอาจจะเป็นของผู้ซื้อ มีการลดราคาลงมา ณ วันนั้นจะเห็นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนใกล้เคียงกัน แต่หลายประเทศฉีดไปเยอะแล้ว จะมีคนวิ่งมาขายให้ในราคาโปรโมชั่น ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องเอาเงินไปทุ่มบนความไม่แน่นอนตั้งแต่แรก แต่เราเลือกจัดการบริหารสถานการณ์การผลิตวัคซีนกับสถานการณ์การควบคุมโรคระบาดไปในขณะเดียวกัน ใช้เงินที่มีอย่างเหมาะสม และได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เราเดินมาทางนี้เหมาะสมแล้ว เป็นการป้องกันการใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายในก้อนแรก ซึ่งเสี่ยงต่อการทดลองล้มเหลวด้วย”

เตรียมกระบวนการแจกจ่ายและฉีดอย่างไร ?

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยรายละเอียดการกระจายวัคซีนว่า เดิมคณะกรรมการกระจายวัคซีนวางแผนว่าจะฉีดในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แต่ต่อมาสรุปว่าจะเปลี่ยนไปฉีดในโรงพยาบาลระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป เนื่องจากต้องให้ประชาชนที่รับการฉีดรอดูอาการก่อน 15-30 นาที หากฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลข้างเคียงจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันที

ตอนนี้คณะกรรมการคำนวณว่าโรงพยาบาลระดับไหนจะฉีดได้วันละกี่คน และทั้งประเทศจะฉีดได้เดือนละกี่คน ซึ่งขณะนี้กำลังจัดทำตัวเลขเหล่านี้อยู่ คาดการณ์ว่าใช้เวลาอย่างช้า 1 ปีครึ่ง จะฉีดได้ครบทั้งประเทศ และคณะกรรมการมีการทำการบ้านล่วงหน้าในแผนต่าง ๆ เช่น คิดเรื่องโลจิสติกส์ ระหว่างการกระจายวัคซีนต้องมีห้องเย็นหรือตู้เย็นในการเก็บรักษา ซึ่งมีปัญหาอุณหภูมิไม่นิ่ง บางทีเกิดไฟตก ไฟดับ จึงต้องมีระบบที่คอยแจ้งเตือนว่าเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น เพื่อควบคุมคุณภาพวัคซีนที่จะกระจายไปสู่ประชาชน

“โดยสถานการณ์ ผมคิดว่าถ้าเราสามารถคงมาตรการป้องกันของพี่น้องประชาชน ทำความเข้าใจกับโควิด-19 ควบคุมให้ติดเชื้อน้อยที่สุด เราสามารถควบคุมในทุกระลอกที่เกิดขึ้นให้ได้ และฉีดวัคซีนไปพร้อมกัน ผมคิดว่าเราจะสู้กับโควิด-19 ได้เร็วกว่าประเทศอื่น… ขณะเดียวกันถ้าประเทศเพื่อนบ้านเรายังฉีดไม่ครบ เราก็ต้องป้องกันต่อไป การสู้โควิดไม่ได้หมายความว่าฉีดวัคซีนที่เราแล้วจบ”

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติเสริมว่า วัคซีนจะมีจำกัดแค่เพียงช่วงเวลา 3 เดือนนี้เท่านั้น เมื่อถึงกำหนดเดือนมิถุนายนจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้ ส่วนการรับมอบวัคซีนนั้นจะทยอยรับมอบตามเป้าหมายการใช้คือจะฉีดเดือนละ 5 ล้านโดส ฉะนั้นจะแจ้งให้แอสตร้าเซนเนก้า โดยสยามไบโอไซเอนซ์ส่งมอบวัคซีนเผื่อเอาไว้เดือนละ 6 ล้านโดส

ส่วนการจัดลำดับคนที่จะได้ฉีดวัคซีนก่อน เป็นการจัดลำดับโดยพิจารณาทั้งกลุ่มประชากรและพื้นที่ คือ กลุ่มประชากรที่จำเป็นต้องฉีดก่อนซึ่งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดจะเป็นกลุ่มที่ได้ฉีดก่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องประเมินไปตามสถานการณ์ เนื่องจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดอาจเปลี่ยนไปตามแต่ช่วงเวลา บางจังหวัดที่เคยเป็นสีแดงอาจจะควบคุมได้ แล้วมีจังหวัดอื่นระบาดขึ้นมาเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดใหม่ “เพราะฉะนั้น การบริหารวัคซีนในจำนวนที่มีจำกัด เราต้องดูตามสถานการณ์”