3 มหาเศรษฐีโลกกับคู่ชีวิตที่เป็น “ลมใต้ปีก” คอยสนับสนุน แบ่งเบาทุกข์ แบ่งปันสุข

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

วันวาเลนไทน์ยังสำคัญอยู่ไหม ? สำหรับหลายคนอาจไม่สำคัญ สำหรับหลายคนก็อาจจะยังสำคัญ แต่จะสำคัญหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็น “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” เพียงแต่อยากใช้โอกาสเทศกาลวาเลนไทน์ปีนี้บอกเล่าเรื่องราวความรักของบรรดามหาเศรษฐีระดับโลก 3 คน ซึ่งจะเห็นว่า ปัจจัยตั้งต้นที่สำคัญที่ทำให้พวกเขาเริ่มต้นธุรกิจได้ก็คือความสามารถ ความฉลาด ความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่ความสำเร็จอาจไม่เกิดขึ้นหากไม่มีคนสำคัญคอยสนับสนุน หากปราศจากคู่ชีวิตที่คอยเป็นคู่คิดและคอยเป็นกำลังใจ หรือกรณีที่ประสบความสำเร็จแล้ว ความสำเร็จนั้นก็อาจจะไม่สวยงามน่าจดจำ หากต้องแลกมาด้วยชีวิตครอบครัวที่ไม่มีความสุข

เรื่องราวของมหาเศรษฐี 3 คู่นี้อาจไม่โรแมนติกชวนฝันเหมือนเรื่องราวของเจ้าหญิงกับเจ้าชายในเทพนิยาย แต่นี่คือเรื่องราวความรักของ “คู่ชีวิต” ในชีวิตจริงที่อยู่เคียงข้างกันทั้งยามสุขและยามทุกข์ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องราวคลาสสิกที่เล่าต่อไปได้อีกนาน หรืออาจจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับคู่รักนักธุรกิจที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง เพื่อให้ไปได้สวยทั้งธุรกิจและชีวิตครอบครัว

บิลล์ เกตส์-เมลินดา แอนน์ เฟรนช์

บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) เป็นผู้ก่อตั้ง เป็นซีอีโอ เป็นประธาน Microsoft เรียกว่าเป็น “มนุษย์ทองคำ” ขณะที่ เมลินดา แอนน์ เฟรนช์ (Melinda Ann French) เป็นหญิงสาวที่การศึกษาดี เรียนจบปริญญาตรีด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโทบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยดุ๊กด้วยเวลาเพียง 5 ปี เป็นผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวที่เข้ามาทำงานที่ Microsoft ในลอตเดียวกับผู้ชายอีก 6 คนในปี 1987 ความรู้ความสามารถของเธออยู่ในระดับที่คุยกับคนฉลาดอย่างบิลล์ เกตส์ รู้เรื่อง

บิลล์ เกตส์-เมลินดา แอนน์ เฟรนช์ Photo by AFP

ในภาพยนตร์สารคดี Inside Bill’s Brain : Decoding Bill Gates นำเสนอให้เห็นความสัมพันธ์ของคู่นี้ค่อนข้างละเอียด เมลินดาเล่าว่า พวกเขาเจอกันครั้งแรกในงานเลี้ยงอาหารเย็นของงานแสดงสินค้า เธอเห็นเก้าอี้ว่างอยู่เพียง 2 ตัว เธอจึงไปนั่งตรงนั้น แล้วเกตส์ก็มานั่งเก้าอี้ว่างตัวสุดท้าย ทำให้ได้คุยกัน

“เขาตลกและกระฉับกระเฉงมาก ตอนท้ายของคืนนั้นเขาพูดว่า พวกเราหลายคนจะออกไปเต้นกันคืนนี้ คุณน่าจะมาด้วยกัน แล้วฉันก็บอกว่า ฉันมีอย่างอื่นต้องทำหลังจากนี้”

หลายเดือนหลังจากนั้น พวกเขาบังเอิญเจอกันที่ลานจอดรถ จึงได้พูดคุยและสานสัมพันธ์กันต่อมา เมลินดาบอกว่าพอไปเดตกันครั้งแรก เธอก็ได้เห็น “ตัวตน” ของคนที่ใจดี อ่อนโยน และสงสัยใคร่รู้ ที่อยู่ภายใต้ “เปลือก” ของผู้ก่อตั้ง Microsoft

ในช่วงแรก ความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นแบบไม่ผูกมัด เพราะเกตส์ทุ่มเทเวลาเกือบ 24 ชั่วโมง ไปกับการทำงาน ขณะที่สาวสวยและเก่งอย่างเมลินดาก็ยังมีตัวเลือกอีกหลายคนที่เธอกำลังดูเพื่อหา “คนที่ใช่” ทั้งคู่จึงพอใจกับการไม่ได้คบกันจริงจังและไม่เรียกร้องเวลาของกันและกัน

1 ปีหลังจากนั้น พวกเขาตัดสินใจแต่งงานกัน ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาอย่างจริงจัง เพราะเกตส์ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะสามารถผูกมัดกับความสัมพันธ์นี้ได้จริงไหม เมลินดาเล่าว่า ในห้องนอนของเกตส์มีไวต์บอร์ดที่เขียนเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของการแต่งงานเลยทีเดียว

ปี 2000 ทั้งคู่ก่อตั้ง Bill & Melinda Gates Foundation ซึ่งตอนนี้เป็นมูลนิธิการกุศลที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากทุ่มเงินปีละมหาศาลแล้ว พวกเขาก็ใส่ใจแก้ปัญหาด้วยการศึกษาลงลึก จริงจังในทุก ๆ โปรเจ็กต์ที่มูลนิธิทำ หลังจากที่เกตส์ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ Microsoft เขายิ่งมีเวลาทุ่มเทให้งานมูลนิธิได้มากกว่าเดิม

Photo by AFP

บิลล์ เกตส์ และเมลินดา เกตส์ เป็นทั้งหุ้นส่วนชีวิตและหุ้นส่วนธุรกิจ-การงาน ทั้งสองเป็นคู่คิดของกันและกันแบบชนิดที่ไม่คล้อยตามกัน ถ้าเกตส์คิดอะไร เมลินดาจะเตือนหรือแย้งไปอีกทางหนึ่ง เพื่อที่เกตส์จะได้คิดแผนสำรองเผื่อไว้ หากมีอะไรที่ทำแล้วไม่สำเร็จ เกตส์จะคิดว่าเพราะอะไรมันจึงไม่สำเร็จ ขณะที่เมลินดาจะเป็นกำลังใจและเป็นอีกสมองหนึ่งที่คอยเสนอแนวทางว่าจะทำอย่างนั้นได้ไหม แก้ไขอย่างนั้นได้ไหม

สมองของบิลล์ เกตส์ มีศักยภาพที่จะรองรับข้อมูลและความคิดอันยุ่งเหยิงได้มากกว่าคนทั่วไป เขาจึงมักคิดวิเคราะห์อะไรด้วยข้อมูลจำนวนมาก ขณะที่เมลินดาบอกว่าสมองของเธอไม่สามารถจดจำข้อมูลมากมายแบบนั้น เธอจึงมักจะเอาประสบการณ์จริงที่ได้ยินได้ฟังมามาเล่าให้เกตส์ฟัง เป็นการเสริมอีกด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม เขาสองคนจะทำแบบนี้ คนหนึ่งเป็นฝ่ายข้อมูล คนหนึ่งสนับสนุนด้านความรู้สึก ประสบการณ์ และมุมมองของมนุษย์ต่อเรื่องนั้น ๆ

“เธอเป็นคนที่เข้าใจผมจริง ๆ และการคุยเรื่องนั้นกับเธอ การวางแผนเรื่องนั้นกับเธอ มันมีความหมาย” เกตส์พูดถึงการคุยเรื่องโปรเจ็กต์ต่าง ๆ กับภรรยา

“ผมมีคนที่เป็นตัวหลักอยู่เสมอ คนที่ใส่ใจอย่างแรงกล้าเท่า ๆ กับผม แต่มีความชำนาญที่แตกต่างกัน ในกรณีของเมลินดา มันคือหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง เธอเหมือนผมมากในแง่ของการมองโลกในแง่ดี และเธอก็สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ เธอเข้ากับคนได้ดีกว่าผม”

บิลล์ เกตส์ เคยมีช่วงเวลายากลำบากในชีวิตสองครั้ง ครั้งหนึ่งคือตอนที่แม่ของเขาเสียชีวิต อีกครั้งคือตอนที่ Microsoft โดนฟ้องร้องว่าผูกขาดตลาด ซึ่งในช่วงเวลายากลำบากเหล่านั้น เขามีภรรยาคู่คิดอยู่เคียงข้าง

มหาเศรษฐีคู่นี้มีทายาทด้วยกัน 3 คน เกตส์บอกว่า เมลินดาคือ “หุ้นส่วนที่แท้จริง” ซึ่งเป็น “หุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง” หมายความว่าไม่มีใครใหญ่กว่าใคร ไม่มีใครเป็นผู้นำ พวกเขาต่างรับฟังกันและกัน

เมื่อถูกถามว่า หากต้องโดนรถชนตายวันนี้ อะไรที่คุณจะเสียดายว่าเป็นสิ่งที่คุณจะทำ แต่ยังไม่ได้ทำ ?

อดีตมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกคนนี้ตอบว่า “การขอบคุณเมลินดา”

แจ็ก หม่า-จางหยิง Photo by Polly Too จาก https://glamourpath.com/

แจ็ก หม่า-จางหยิง

แจ็ก หม่า (Jack Ma) หรือ หม่าหยุน (Ma Yun) แห่ง Alibaba พบกับ เคธี่ จาง (Cathy Zhang) หรือ จางหยิง (Zhang Ying) ตั้งแต่เรียนระดับอุดมศึกษาด้วยกันที่มหาวิทยาลัยฝึกหัดครูหังโจว (Hangzhou Teacher’s Institute หรือ Hangzhou Normal University) แล้วไม่นานหลังจากเรียนจบ พวกเขาก็แต่งงานกันในปี 1988

ตามรายงานของ bambooinnovator.com จางพูดถึงสามีของเธอว่า “หม่าหยุนไม่ใช่คนหน้าตาดี แต่ฉันตกหลุมรักเขาเพราะเขาสามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้ชายหน้าตาดี ๆ ไม่สามารถทำได้”

หม่าและภรรยาเริ่มต้นอาชีพการงานด้วยอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษที่สถาบันวิศวกรรมไฟฟ้าแห่งหางโจว (มหาวิทยาลัยหางโจวเตียนจี) สถาบันแห่งนี้เป็นสถาบันการศึกษาระดับปลายแถวในเมืองหางโจว แต่คู่รักคู่นี้ติดอับดับ 1 ใน 10 ครูภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดของเมือง

แม้ว่าหม่าจะไปได้ดีในอาชีพครูที่เขารัก แต่เขาก็ตัดสินใจลาออกมาในปี 1995 เพื่อมาเอาดีทางธุรกิจโดยการก่อตั้ง China Yellow Pages ด้วยเงินลงทุนราว 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีภรรยาคอยสนับสนุน จางเป็น 1 ใน 3 พนักงานของบริษัท ทั้งคู่ใช้บ้านเป็นหลักประกันให้บริษัท และเงินตั้งต้นส่วนหนึ่งนั้นก็หยิบยืมมาจากแม่ของจางนั่นเอง

ต่อมาหม่าและพันธมิตร 16 คน บวกกับจาง รวมเป็น 18 คน ร่วมก่อตั้ง Alibaba ซึ่งเป็นเว็บไซต์การค้าแบบ B to B แห่งแรกของจีนในปี 1999 ในตอนนั้นจางกู้เงิน 10 ล้านหยวน มาสมทบทุนให้สามีเริ่มก่อตั้งบริษัท และเธอลาออกจากงานมาช่วยงานในบริษัท จางหยิงบอกว่าเธอใช้เวลาส่วนใหญ่ของการทำงานไปกับการจัดเตรียมอาหารสำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมกับหม่าอย่างกะทันหันในทุกชั่วโมง และการทำธุระแปลก ๆ ซึ่งเธอไม่ได้ยกตัวอย่างว่าอะไรบ้าง

แจ็ก หม่า มีจางหยิงคอยสนับสนุนด้านหน้าที่การงานมาตลอดเส้นทาง นับตั้งแต่สมัยทำงานเป็นครู จางหยิงก็สอนหนังสือแทนทุกครั้งที่หม่ามีธุระ เมื่อเข้าสู่ยุคทำธุรกิจก็มีหลายครั้งที่จางหยิงเดินทางไปเจรจาธุรกิจแทนสามี แม้แต่ดีลแรกของ China Yellow Pages ก็เป็นฝีมือของเธอ ในขณะเดียวกันเธอก็ทำหน้าที่แบบภรรยาทั่ว ๆ ไป คอยดูแลเรื่องเสื้อผ้า คอยดูแลเรื่องสุขภาพของสามี คอยเตือนให้ทานอาหารตรงเวลา คอยส่งสัญญาณให้ปิดประชุมเมื่อเห็นว่าการประชุมล่าช้าเกินเวลาไปแล้ว

2 ปีหลังจากก่อตั้งอาลีบาบา จางถามสามีว่า บริษัททำเงินได้เท่าไหร่แล้ว แจ็ก หม่า ยกนิ้วขึ้น 1 นิ้วเป็นคำตอบ เธอถามว่า “10 ล้านหยวน ?” หม่าตอบว่า “ไม่ใช่” เธอเดาอีกว่า “100 ล้านหยวน ?” เขาก็ตอบว่า “ไม่ใช่” แล้วบอกว่า “1 ล้านหยวน” เป็นตัวเลขที่น่าผิดหวัง แต่หม่าเพียงแค่เว้นจังหวะพูดหยอกภรรยา แล้วเขาก็พูดต่อว่า “ต่อวัน” ซึ่งนั่นเท่ากับ 365 ล้านหยวนต่อปี

ทั้งคู่ทุ่มเทเวลาและเรี่ยวแรงไปกับ Alibaba จนไม่มีเวลาสำหรับทำหน้าที่ที่บ้าน จางยอมรับว่าคู่ของพวกเขาต้องยอมเสียสละประสิทธิภาพการเลี้ยงดูลูกชายที่เกิดในปี 1992 เพื่อประโยชน์ของบริษัท พวกเขาส่งลูกไปอยู่สถานรับเลี้ยงเด็กสัปดาห์ละ 5 วัน ได้เจอหน้าลูกแค่วันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น

ในปี 2002 ขณะที่จางดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ Alibaba ลูกชายอายุ 10 ขวบของพวกเขากำลังติดเกมและใช้เวลาส่วนใหญ่ในอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ทายาทมหาเศรษฐีตัวน้อยบอกพ่อกับแม่ว่า การกลับบ้านมันไร้จุดหมายในเมื่อพ่อแม่ไม่เคยอยู่บ้าน

ด้วยความเป็นห่วงลูก หม่าจึงขอให้ภรรยาลงจากตำแหน่ง เลิกทำงาน และหันไปทุ่มเทเวลากับการเป็นแม่บ้านเต็มตัว “ครอบครัวของเราต้องการคุณมากกว่าที่บริษัทต้องการ” แจ็ก หม่า บอกภรรยา

ในตอนแรกจางไม่ค่อยแฮปปี้กับสิ่งที่สามีขอ แต่เธอก็ทำตามคำขอนั้น เธอเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการทำอาหารเช้าให้ลูก แล้วไปส่งลูกที่โรงเรียน ไปซื้อของเข้าบ้าน และกลับมาเตรียมอาหารเย็น

ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่หม่าทำหน้าที่บริหารธุรกิจให้เติบโต ก็มีจางคอยเป็นธุระดูแลเรื่องการทำการกุศลต่าง ๆ เมื่อปี 2019 หม่าลาออกจากตำแหน่งซีอีโอบริษัท ซึ่งเขาบอกว่าจะหันไปทำงานการกุศลเต็มตัว และกลับไปทำสิ่งที่รัก นั่นคือสอนหนังสือและแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ๆ

“เธอช่วยผมได้มากทั้งในเรื่องอาชีพการงานและครอบครัว” แจ็ก หม่า พูดถึงภรรยาด้วยความซาบซึ้งใจในความเสียสละของเธอ

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก-พริสซิลลา ชาน Photo by AFP

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก-พริสซิลลา ชาน

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberk) เป็นชาวนิวยอร์ก พริสซิลลา ชาน (Priscilla Chan) เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย พ่อของเธอเป็นชาวเวียดนาม แม่เป็นชาวจีนที่อพยพไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ชานเกิดและเติบโตที่รัฐแมสซาชูเซตส์ (รัฐที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดตั้งอยู่) เธอเป็นคนเรียนเก่งและมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ปี 2003 เธอเข้าเรียนด้านชีววิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตอนที่เธอเข้าเรียนปี 1 มาร์คเป็นรุ่นพี่ปี 2 แล้ว

ในงานปาร์ตี้คืนวันศุกร์คืนหนึ่งในปี 2004 มาร์กกับพริสซิลลารอคิวเข้าห้องน้ำในจังหวะเวลาเดียวกัน ทั้งคู่จึงพูดคุยกันระหว่างรอ เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

“เขาเป็นผู้ชายเนิร์ด ๆ ที่ดูแตกต่างจากคนทั่วไป” พริสซิลลาเผยถึงภาพที่เธอมองเขาเมื่อเจอกันครั้งแรก

ฝั่งมาร์กย้อนความทรงจำเหตุการณ์นั้นในการให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า คืนนั้นเป็นคืนถัดจากที่เขาเพิ่งปล่อย Facemash ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วมหาวิทยาลัยภายในคืนเดียว และสร้างความไม่พอใจอย่างมาก มาร์กโดนคณะกรรมการมหาวิทยาลัยเรียกไปพบ ทุกคนคิดว่าเขาจะโดนไล่ออกจากมหาวิทยาลัย พ่อแม่ของเขามาช่วยเก็บของเตรียมกลับบ้าน ส่วนเพื่อน ๆ ชวนเขาไปปาร์ตี้ และในงานนั้นเองที่เขาได้เจอคนที่เป็นภรรยาในเวลาต่อมา

“สิ่งที่ต้องเป็นหนึ่งในเรื่องโรแมนติกตลอดกาลเลย คือผมพูดว่า ‘ผมกำลังจะถูกไล่ออกในอีกสามวันนี้ เพราะฉะนั้น เราต้องไปเดตกันโดยด่วน” มาร์กรำลึกถึงบทสนทนาหน้าห้องน้ำ

ปรากฏว่าเขาไม่ได้ถูกไล่ออกอย่างที่บอก แต่ทั้งสองก็ได้ออกเดตกันจริง ๆ เมื่อใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น ชานก็ได้เห็นความฉลาดของชายหนุ่มคนนี้

มาร์กมุ่งมั่นพัฒนา Facebook ส่วนพริสซิลลาก็มุ่งมั่นกับการเรียนของเธอ ระหว่างนั้นพวกเขาคบหากัน ให้คำปรึกษา ร่วมคิด และเป็นกำลังใจให้กันมาตลอด หลังเรียนจบ พริสซิลลาทำงานเป็นครู ก่อนจะลาออกไปเรียนแพทย์ และเธอทำงานเป็นกุมารแพทย์มาหลายปีแล้ว

วันที่ 19 พฤษภาคม ปี 2012 พวกเขาแต่งงานกัน โดยเลือกวันดีเพียง 1 วันหลังจากที่ Facebook เข้าตลาดหุ้น และเพียงไม่กี่วันหลังจากที่พริสซิลลาเรียนจบแพทย์

ในระหว่างการทำงานที่ต้องอาศัยความทุ่มเท พวกเขาตระหนักดีว่าต้องให้เวลาทั้งกับการทำงานและใช้ชีวิต พวกเขามีข้อตกลงกันว่าจะต้องมีเวลาอยู่ด้วยกันอย่างน้อยสัปดาห์ละ 100 นาที นอกเหนือจาก date night ในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งมาร์กพูดถึงประเด็นนี้ว่า “เมื่อคุณเป็นหุ้นส่วนกันแล้ว มันสำคัญที่จะต้องจัดสรรเวลาสำหรับหุ้นส่วนในชีวิตส่วนตัวของคุณ”

ทั้งคู่มีงานที่ทำร่วมกันที่องค์กรการกุศล Chan Zuckerberg Initiative (CZI) ซึ่งพวกเขาตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2015 ชานพูดถึงการทำงานร่วมกับสามีว่า ด้วยความที่รู้จักกันและกันเป็นอย่างดี และมีข้อเสนอที่เปิดกว้างจึงทำให้ทำงานร่วมกันได้ดี “เราเป็นพันธมิตรทางปัญญา” เธอให้คำจำกัดความ

พริสซิลลามีอิทธิพลต่อมาร์กในหลาย ๆ ทาง โลกที่มาร์กมองเห็นผ่านสายตาของเธอ ซึ่งมาจากครอบครัวที่ต้องพยายามสร้างเนื้อสร้างตัว เป็นโลกที่ต่างออกไปจากที่เด็กนิวยอร์กฐานะดีอย่างเขาเคยเห็น เธอเป็นแรงบันดาลใจและผลักดันให้เขาทำหลายอย่าง เช่น เธอผลักดันให้เขาเพิ่มฟีเจอร์บริจาคอวัยวะใน Facebook เธอผลักดันให้เขาไปเป็นอาสาสมัครในโครงการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เพื่อให้ได้สัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง

“เรื่องราวในครอบครัวของพริสซิลลานั้นยอดเยี่ยมมาก เป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเราทุกคน คุณจะเห็นสิ่งที่เป็นไปได้เมื่อผู้คนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน” มาร์กบอก

พริสซิลลาเปิดเผยว่า เธอกับมาร์กเริ่มคุยกันถึงเรื่องการ “ให้คืน” แก่สังคมตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนฮาร์วาร์ด ตอนที่มาร์กได้รับข้อเสนอขอซื้อ Facebook จาก Yahoo ในราคา 1 พันล้านดอลลาร์ “เขาตัดสินใจที่จะสร้างบริษัทต่อไป แต่เราเริ่มระดมความคิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ถ้าเรามีทรัพยากร (เงิน) เหล่านั้นจริง” ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า เจ้าพ่อเฟซบุ๊กมีผู้หญิงคนนี้เป็นอีกหนึ่งสมองมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้น

“ถ้าไม่มี Facemash ผมก็คงไม่ได้พบกับพริสซิลลา เธอเป็นคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผม ดังนั้นสามารถพูดได้ว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ผมอยู่ที่นี่” มาร์กกล่าวถึงภรรยาของเขาในพิธีรับปริญญามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี 2017

นอกจากการประสบความสำเร็จทางธุรกิจโดยมีคู่ชีวิตเป็นคู่คิดแล้ว สิ่งหนึ่งที่มหาเศรษฐีทั้ง 3 คู่นี้เหมือนกันคือ ทุกคู่มีความสนใจเรื่องการกุศล การให้คืนแก่สังคม ซึ่งหากผู้มั่งคั่งคนอื่น ๆ มีครอบครัวที่เห็นพ้องไปในทางเดียวกัน รักเพื่อนมนุษย์และรักโลกเหมือนกันแบบนี้ โลกของเราคงมีทรัพยากร (ทั้งเงินและมนุษย์) สำหรับแก้ไขและพัฒนาอะไรให้ดีขึ้นได้อีกมาก

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

สารคดี Inside Bill’s Brain: Decoding Bill Gates
https://bambooinnovator.com/2013/10/01/zhang-ying-the-wife-of-alibaba-founder-jack-ma-ma-yun-is-not-a-handsome-man-but-i-fell-for-him-because-he-can-do-a-lot-of-things-handsome-men-cannot-do/
http://www.china.org.cn/business/2011-07/07/content_22941270.htm
หนังสือ Jack Ma: Founder and CEO of the Alibaba Group
https://www.cnbc.com/2019/02/14/how-mark-zuckerberg-met-priscilla-chan.html
https://qz.com/1402697/the-amazing-ascent-of-priscilla-chan/
https://www.newyorker.com/magazine/2010/09/20/the-face-of-facebook