รัฐประหารเมียนมา จุดจบการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย หรือใครมีอิทธิพลพอจะกดดัน ?

People show the three-finger salute and hold signs demanding the release of elected leader Aung San Suu Kyi as they take part in a protest against the military coup, in Yangon, Myanmar, February 7, 2021. REUTERS/Stringer NO RESALES. NO ARCHIVES
ศิรินภา นรินทร์, รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

การรัฐประหารในเมียนมาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 สร้างความแปลกใจให้กับคนทั่วโลก เพราะตั้งแต่เมียนมาประกาศว่าจะปฏิรูปประเทศ แล้วก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว กองทัพก็ยังมีอำนาจมีบทบาททางการเมือง ซึ่งดูเหมือนว่าอยู่ในจุดที่น่าพอใจแล้ว เหตุใดจึงมีการทำรัฐประหารยึดอำนาจเกิดขึ้นอีกในครั้งนี้ ขณะเดียวกันการออกมาประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร ก็ได้กลายเป็นจุดสนใจของคนทั่วโลกเช่นกัน

ในงานเสวนาทางวิชาการ “รัฐประหารเมียนมา : กองทัพ การเลือกตั้ง และจุดจบของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ?” จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักวิชาการหลายท่านได้ให้ข้อมูลและแสดงความเห็นต่อการรัฐประหารและการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้อย่างเข้มข้น ซึ่ง “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” สรุปความมาไว้ในนี้แล้ว น่าจะช่วยให้เข้าใจเรื่องการรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้มากขึ้นหลายมิติ

แบ็กกราวนด์การเมืองเมียนมาหลังยุคอาณานิคม

ผศ.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าแบ็กกราวนด์ปัญหาการเมืองและประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนเมียนมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันว่า ในยุคอาณานิคมที่อังกฤษปกครองเมียนมานั้น กลุ่มชาติพันธุ์นับร้อยได้รับสิทธิ์ในการปกครองตนเอง เมื่อใกล้จะได้รับเอกราชจึงมีการคุยกันระหว่างชาวพม่าที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ซึ่งจะได้ปกครองประเทศ กับกลุ่มชาติพันธุ์ เรียกการเจรจาครั้งนั้นว่า “สัญญาปางโหลง” หรือ “ความตกลงปางโหลง” (Panglong Agreement) มีข้อตกลงว่า 10 ปีหลังได้รับเอกราช กลุ่มชาติพันธุ์สามารถแยกออกไปปกครองตนเองได้

ในปี 1958 เมื่อครบ 10 ปีตามที่ตกลงกัน นายพลเน วิน ได้ยึดอำนาจเข้ามาเป็นรัฐบาลรักษาการแทนนายอู นุ โดยอ้างว่านายอู นุ เป็นรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในประเทศให้เป็นปกติได้ โดยเฉพาะปัญหาชนกลุ่มน้อยและความมั่นคง

“กองทัพมีความตั้งใจและมีปรัชญาว่า จะไม่ยอมให้ชนกลุ่มน้อยแยกตัวออกไปเป็นเอกราชหรืออิสระได้ การแยกตัวเป็นอิสระเป็นเรื่องที่กองทัพรับไม่ได้เลย มันจะทำให้กองทัพรู้สึกเสียศักดิ์ศรี ทำให้ความเป็นเอกภาพ สหภาพ สุ่มเสี่ยงจะล่มสลายแตกสลาย ซึ่งสิ่งนี้มันอยู่ในสโลแกนหลักของกองทัพพม่ามาทุกยุค”

นายพลเน วิน ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาว่าจะจัดเลือกตั้งภายใน 18 เดือน การเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นในปี 1960 ผลปรากฏว่าประชาชนเลือกพรรคของอู นุ เข้ามาแบบถล่มทลาย ครั้งนั้นชาวเมียนมาได้ออกมาต่อต้านการรัฐประหารนี้ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เริ่มเห็นถึงการออกมาแสดงพลังอย่างจริงจัง คือ กรณีการออกมาประท้วงเพื่อแย่งศพของอูถั่น เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ที่เรียกว่า “วิกฤตการณ์อูถั่น” (U Thant Crisis) ในปี 1974

จากนั้นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เมียนมา คือ การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษาปัญญาชนในปี 1988 หรือที่เรียกว่า 8888 Uprising ซึ่งออง ซาน ซู จี ได้เข้าร่วมกล่าวปราศรัยในการชุมนุม เหตุการณ์นั้นมีนักศึกษาและปัญญาชนเสียชีวิตมากมาย และนำไปสู่การลาออกของนายพลเน วิน จนกระทั่งปี 2007 ก็เกิดการปฏิวัติการลุกฮือของประชาชนครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในนาม Saffron Revolution หรือการปฏิวัติชายจีวรที่นำโดยพระสงฆ์

ปี 2010 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเมียนมา เมื่อกองทัพตัดสินใจจะปฏิรูปประเทศ มีการปล่อยตัวออง ซาน ซู จี และต่อมามีการจัดการเลือกตั้งในปี 2015 ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ของพรรค NLD

อ.ลลิตาบอกอีกว่า การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 พรรค NLD ชนะแบบแลนด์สไลด์ยิ่งกว่า แม้นักวิเคราะห์ต่างชาติบอกว่าจะไม่แลนด์สไลด์ เพราะมีปัญหาเรื่องโรฮีนจา ซู จี ไม่ได้เป็นคนที่น่านับถือขนาดนั้นอีกแล้ว ปรากฏว่านักวิเคราะห์ไม่เข้าใจคนเมียนมา เรื่องโรฮีนจาไม่มีผลกระทบต่อวิธีคิดของคนเมียนมาเลย เช่นกันกับการรัฐประหารที่เพิ่งเกิดขึ้นก็เป็นการรัฐประหารที่หักปากกาเซียน นักวิเคราะห์ล้วนมองว่าจะไม่มีรัฐประหาร เพราะรัฐธรรมนูญปี 2008 คุ้มครองสิทธิ์ของกองทัพเป็นอย่างดี กองทัพมีโควตาในสภาแล้ว 25% แต่ปรากฏว่ากองทัพยังไม่พอใจโควตา 25%

สำหรับปรากฏการณ์ที่ชาวเมียนมาออกมาต้านรัฐประหารและเรียกร้องให้ปล่อยตัวออง ซาน ซู จี ในครั้งนี้ อ.ลลิตาชี้ให้เห็นว่า คนที่อายุมากกว่า 40 ปี เติบโตมาพร้อมกับการต่อสู้ของ NLD คนวัยนั้นจึงอินมากกับเหตุการณ์นี้ ขณะที่คนเจน Z แม้จะไม่ได้อินกับออง ซาน ซู จี มาก แต่เขาออกมาต่อสู้ในฐานะที่เป็นประชาชนชาวเมียนมา เพราะอย่างไรก็ตาม ดอซูเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย และได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

อ.ลลิตาเปรียบเทียบการรัฐประหารในเมียนมากับไทยว่า รัฐประหารในเมียนมากับรัฐประหารในไทยอาจจะไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้ 100% รัฐเร้นลึกหรือ deep state ในประเทศไทยกับรัฐเร้นลึกในเมียนมาเป็นคนละอย่างกัน ฝั่งประชาชนที่ออกมาประท้วงหลัก ๆ ในไทยเป็นคนหนุ่มสาว แต่ในเมียนมาเป็นคนทุกวัย เพราะเป็นฉันทามติร่วมกันในประเทศเขาว่าไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาอำนาจที่อยู่ใต้กองทัพ

ถ้าถามว่าการประท้วงของชาวเมียนมาได้รับแรงบันดาลใจจากไทยหรือไม่ อ.ลลิตาแสดงความเห็นว่า ไม่ใช่ เพราะที่จริงแล้วชาวเมียนมามองสถานการณ์ในไทยว่าเป็นจุดที่ประเทศเขาผ่านมาแล้ว เขาคิดว่าประเทศเขาจะไม่มีรัฐประหารอีก แต่ตอนนี้เขาต้องกลับไปอยู่จุดนั้นอีก อาจจะมีเพียงบางอย่างที่ได้รับอิทธิพลจากไทย คือ การใช้สัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ซึ่งไทยนำมาจากภาพยนตร์

Photo by REUTERS

รู้จักและเข้าใจกองทัพพม่า

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยอิสระที่ศึกษาเรื่องกองทัพเมียนมา ให้ข้อมูลที่จะทำให้รู้จักกองทัพเมียนมามากขึ้นว่า กองทัพเมียนมาที่เรียกว่า “ทัตมาดอว์” มีอุดมการณ์แบบชาตินิยมและทหารนิยม ต้องการจะรักษาความเป็นเอกภาพของสหภาพเมียนมา

ภารกิจหลักของกองทัพเมียนมามี 2 อย่าง คือ 1.ป้องกันประเทศจากภัยคุกคาม 2.ปกครองและบริหารประเทศ

ภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของกองทัพเมียนมา คือ ปัญหาชาติพันธุ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ตะวันออก (มอญ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่) และตะวันตก (โรฮีนจา) ภัยคุกคามประเภทที่ 2 คือ ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างบังกลาเทศ อินเดีย

สุภลักษณ์บอกว่า ทหารเมียนมาอยู่ในการเมืองมาตลอดตั้งแต่ปี 1962 ในสถานการณ์ปกติ กองทัพมีพื้นที่ในสภา 25% อยู่แล้ว กระทรวงสำคัญที่เกี่ยวในเรื่องของความมั่นคงก็คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดน ล้วนอยู่ในโควตาของกองทัพ

เพื่อให้เห็นภาพความแตกต่าง สุภลักษณ์เปรียบเทียบกองทัพเมียนมากับกองทัพไทยว่า “กองทัพเมียนมาควบคุมการเมือง กองทัพไทยแค่เล่นการเมือง” โดยสรุปข้อเปรียบเทียบออกมาได้ 5 ข้อ ดังนี้

1.กองทัพเมียนมานั่งอยู่บนยอดสุดของพีระมิดทางสังคม มีเครื่องไม้เครื่องมือดีที่สุด ทำให้กองทัพเมียนมามีอำนาจที่จะควบคุมการเมืองได้สมบูรณ์แบบ ต่างจากกองทัพไทยที่ยึดโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์

2.สังคมชนชั้นนำของเมียนมายังค่อนข้างเล็กและจำกัด เฉพาะในกลุ่มที่เป็นระดับสูงของกองทัพเท่านั้น การที่มีชนชั้นนำกลุ่มเล็กก็ง่ายที่จะเจรจาต่อรอง แต่สังคมชั้นนำไทยค่อนข้างที่จะซับซ้อน

3.ภาคประชาสังคมของเมียนมายังอ่อนแออยู่ ในขณะที่ภาคประชาสังคมของไทยเติบโตมาก การออกมาประท้วงของนิสิตนักศึกษาไทยทำให้กองทัพไม่สามารถใช้อำนาจได้แบบกองทัพเมียนมา

4.เศรษฐกิจเมียนมาอยู่ระหว่างการพัฒนา และไม่ซับซ้อน ซึ่งต่างจากเศรษฐกิจของไทยที่กองทัพไม่สามารถบริหารได้

5.เมียนมาไม่ได้สนการประณามของชาติตะวันตกมากนัก ซึ่งประเทศไทยสนใจระเบียบของโลกมากกว่า

Photo by REUTERS

เมียนมากับนานาชาติ แรงกดดันจะช่วยให้เป็นประชาธิปไตย ?

ผศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ธรรมชาติของการเมืองพม่าเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการประนีประนอม กองทัพคือชนชั้นนำทางการเมืองที่อยู่คู่ประเทศมาตั้งแต่ปี 1948 จนกระทั่งปี 2010 เพราะประเทศนี้เกิดขึ้นได้ด้วยกองทัพ กองทัพเป็นสถาบันเดียวที่สร้างประเทศ

“การวิเคราะห์การเมืองเมียนมาต้องตั้งต้นจากจุดนั้น สำหรับผมแล้วเมื่อพูดถึงการเมืองเมียนมา เราไม่สามารถโลกสวยได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ”

อาจารย์พินิตพันธุ์วิเคราะห์ในมิติเมียนมากับต่างประเทศ ซึ่งสรุปได้ 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.แรงกดดันนานาชาติใช้ไม่ได้ผลกับเมียนมา : ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้เห็นแล้วว่าแรงกดดันจากนานาชาติจะไม่มีผล ไม่สามารถกดดันกองทัพเมียนมาได้ เพราะเมียนมาอยู่รายล้อมด้วยประเทศที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ผลประโยชน์ระหว่างอเมริกากับเมียนมามีน้อย แม้จะโดนคว่ำบาตรจากอเมริกาและยุโรปก็ยังมีประเทศอื่น ๆ ที่พร้อมเข้าไปลงทุนในเมียนมา ไม่ว่าจะปกครองโดยรัฐบาลทหารหรือพลเรือนก็ตาม

“แรงกดดันจากนานาชาติโดยเฉพาะจากฝั่งตะวันตก ไม่ใช่แค่เกราะกำบังสำหรับเมียนมา แต่เป็นทางเลือกให้เมียนมาด้วย ดังนั้นตอนนี้ เมียนมาไม่ได้มีทางเลือกที่จำกัดเลย ยังมีทางเลือกในการจะเล่นในเวทีระดับประเทศด้วยซ้ำ”

เรื่องที่น่าเป็นห่วงหากในท้ายที่สุดแล้วเมียนมาโดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและโดนยกเลิกความสัมพันธ์ คือ ความช่วยเหลือจากต่างประเทศจะถูกตัดลง ซึ่งประชาธิปไตยในเมียนมาได้รับการถูกสนับสนุนอย่างมากจากเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศ

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ที่กองทัพเลย กลับอยู่ที่คนธรรมดาซะมากกว่า”

2.ศึกระหว่างจีน-อเมริกา เมียนมาจะไม่อยู่ข้างไหนเลย : ที่ผ่านมาอเมริกาหา “ผู้เล่น” หรือ “ตัวแทน” ในการสู้กับจีน แต่หากอเมริกาจะใช้เมียนมาเป็นตัวแทนสู้กับจีนนั้นไม่ได้ เพราะผลประโยชน์ระหว่างอเมริกากับเมียนมาที่อเมริกาจะใช้กดดันเมียนมามีน้อย และเมียนมาก็ไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะเป็นผู้แทนของอเมริกาในการท้าทายอำนาจและอิทธิพลของจีน

ในทางตรงข้าม การคว่ำบาตรจากอเมริกาและยุโรปก็จะไม่เป็นการผลักเมียนมาไปหาจีน เพราะจีนเป็นประเทศใหญ่ที่เข้ามาแทรกแซงละเมิดอำนาจอธิปไตย ดินแดน ความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ ทำให้เมียนมากระอักกระอ่วนใจมากที่สุดตั้งแต่ปี 1948 เป็นต้นมา เมียนมาต้องการออกจากอิทธิพลของจีนให้ได้

“เมียนมาไม่น่าจะเข้าหาจีนง่าย ๆ โดยไม่คิดอะไรเหมือนเป็นประเทศเล็กที่ร่วมหัวจมท้าย ศิโรราบกับความยิ่งใหญ่ของจีน เพราะเมียนมาฉลาดกว่านั้น อาจจะย้อนกลับไปมองในช่วงการคว่ำบาตรทางการเมืองและเศรษฐกิจของอเมริกาและยุโรป มันผลักดันให้เกิดการพึ่งพาอำนาจของจีน แต่ถ้ามองภาพกว้างจะเห็นว่าเมียนมาพยายามอย่างมากที่จะเป็นสมาชิกอาเซียนด้วย เมียนมาพยายามอย่างมากในการที่จะมีความสัมพันธ์กับอินเดียด้วย เมียนมามีความพยายามอย่างมากที่จะสร้างเสถียรภาพในความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นด้วย เพราะเมียนมาไม่อยากอยู่ภายใต้อาณัติของจีนไปตลอด”

3.อาเซียนคือ game changer ที่ควร take action : อาเซียนควรมีมาตรการบางอย่าง ควรเจรจาหารือกันในเรื่องนี้ ในฐานะที่อาเซียนเป็น “คอมฟอร์ตโซน” ของเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมาเมียนมาเปิดและรับฟังอาเซียนพอสมควร ครั้งนี้ก็น่าจะเช่นกัน เพราะเมียนมาไม่ต้องการออกจากอาเซียนแน่นอน

“ผมคิดว่าถ้าเมียนมาเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค ก็น่าจะคุยกันตรง ๆ ได้บ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้น ผมคิดว่า game changer ที่อาจจะทำให้เกิดการตีกรอบความรุนแรงและความขัดแย้งไม่ให้ขยายตัวได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นอาเซียน”

การประท้วงที่ไม่มีทางชนะ ?

ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า แนวทางที่เหตุการณ์ในครั้งนี้จะจบลงเป็นไปได้มี 2 แนวทาง คือ 1.จะเป็นประชาธิปไตย 2.ทหารเมียนมาจะทำทุกอย่างเพื่อให้การรัฐประหารชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งแนวโน้มจะเป็นแบบที่ 2 มากกว่า

อาจารย์นฤมลอธิบายว่า คนที่ออกมาเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารมีอยู่สองแบบ ซึ่งทุกแบบเห็นตรงกันคือ คัดค้านการรัฐประหาร แต่วิสัยทัศน์ที่บอกว่าต้องการรัฐประชาธิปไตยแบบไหนอาจจะไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มชาติพันธุ์บอกว่า ต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริงที่เป็นระบบสหพันธรัฐ ส่วนกลุ่มที่เป็นผู้สนับสนุน NLD คิดอีกแบบหนึ่ง แต่ทั้ง 2 กลุ่มเหมือนกัน คือ คัดค้านการเข้ามาของกองทัพ

หนึ่งในนั้นคือกลุ่มเรียกร้องที่เรียกตัวเองว่า Civil Disobedience Movement (CDM) ได้เสนอให้มีการแสดงอารยะขัดขืน อย่างแรกคือ ให้นักการเมืองแสดงออกว่าได้รับการเลือกตั้งมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การสาบานตน สอง-ให้กลุ่มข้าราชการหรือพนักงานของรัฐออกมาประท้วงเพื่อให้ฟังก์ชั่นของรัฐบาลไม่สามารถทำได้ และสาม-ประชาชนทั่วไปออกมาทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทุก 2 ทุ่มให้บีบแตรตีหม้อไหกระทะ

แม้ว่าจะเป็นการประเมินที่เร็วไป แต่เมื่อมองอนาคตระยะใกล้ของ CDM อาจารย์นฤมลก็บอกว่า การเคลื่อนไหวแบบอารยะขัดขืนของ CDM ไม่มีโอกาสชนะเลย โดยได้ยกคำพูดของแกนนำกลุ่มมาเล่าให้ฟังว่า

“การทำ CDM มีประโยชน์ในแง่ของการป้องกันความรุนแรง แต่ถึงกระนั้นก็ยาก เพราะกองทัพเมียนมาถอยไม่ได้แล้ว ทำรัฐประหารมาแล้ว แต่ว่าการทำ CDM อาจจะส่งผลในแง่ของรูปแบบของการประนีประนอมที่จะเกิดขึ้น อาจจะไม่ใช่ปิดประเทศแบบ 8888 บางคนคิดว่านี่อาจจะเป็นช่องทางที่ทำให้มีรัฐประหารซ้อนไหม แต่เมียนมาไม่มียังเติร์ก สิ่งที่เราจะเห็นก็คือเขาจะใช้รูปแบบม็อบชนม็อบ แล้วใช้ในเงื่อนไขของการปราบปราม แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือการใช้ตำรวจและตำรวจปราบจลาจล ยังไม่เห็นการระดมกำลังพลของกองทัพ นี่คือสิ่งที่เปลี่ยน เขาอาจจะมองเรื่องภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลก”

“พูดแบบฟันธง CDM จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง หรือผลการรัฐประหาร คือไม่มีโอกาสกลับไปเป็นผลการเลือกตั้งเมื่อ 8 พฤศจิกายน แต่สถานการณ์ไม่น่าจะเหมือนปี 1990 ที่ NLD ได้แลนด์สไลด์แล้วทหารไม่ถ่ายโอนอำนาจ สิ่งที่เราจะเห็นคือเขาก็จะใช้ตำรวจและตำรวจปราบจลาจลเป็นด่านที่ 1 ในการจัดการ แล้วเขาจะบอกว่านี่ไงเป็น state of emergency พอมีความรุนแรงก็จะยิ่งบอกว่า รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เพราะมีสถานการณ์ฉุกเฉิน” อาจารย์นฤมลแสดงความเห็นแบบฟันธง


นี่คือมุมมองที่นักวิชาการผู้ศึกษาลงลึกเกี่ยวกับเมียนมามีต่อสถานการณ์รัฐประหารเมียนมาปี 2021 ซึ่งยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า เหตุการณ์จะยืดเยื้อกินเวลานานแค่ไหน หรืออาจจะจบภายในระยะเวลาอันใกล้ และเหตุการณ์จะจบลงอย่างไร