เป้าหมายต่อไปของ “ณรงค์ ปรางค์เจริญ” นักแต่งเพลงชาวไทยเจ้าของรางวัลระดับโลก

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

บางครั้งคำว่า “ระดับโลก” ถูกนำมาใช้อุปโลกน์ตัวเองหรือพวกพ้อง แต่ก็มีบางครั้งที่คำว่า “ระดับโลก” มีความหมายตรงตามนั้นจริง ๆ อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้มีคนไทยคนหนึ่งที่ทำงานในระดับโลกมานานหลายปี ปรากฏเป็นข่าวขึ้นมาในฐานะคนที่ได้รับการยอมรับในแวดวงที่เขาสร้างสรรค์ผลงานอยู่

คนไทยในเวทีโลกคนนั้นก็คือ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ นักประพันธ์เพลงคลาสสิกมืออาชีพชาวไทย ที่เพิ่งคว้ารางวัล The Charles Ives Awards สาขา Charles Ives Fellowship เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบโดย American Academy of Arts and Letters (AAAL) องค์กรอายุยาวนาน 123 ปี ซึ่งมีเป้าหมายสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ทั้งด้านดนตรีและศิลปะ

ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าแข่งขันเพื่อชิงรางวัลสาขาต่าง ๆ ใน The Charles Ives Awards จะต้องสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องมาหลายปี มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ และต้องถูกเสนอโดยสมาชิกกิตติมศักดิ์ของ AAAL เท่านั้น เมื่อเข้าร่วมแข่งขันแล้วก็ต้องสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง มีการวางแผนและเตรียมการเพื่อเก็บคะแนนสะสม จนกระทั่งได้รับการคัดเลือกในรอบสุดท้าย ซึ่งเพลงที่ ดร.ณรงค์ส่งเข้าประกวดเพื่อชิงรางวัลในครั้งนี้ คือ เพลง Luminary และ Volcanic Breath

“รางวัลนี้เหมือนแข่งโอลิมปิก มีหลายสาขา มีเหรียญทองของแต่ละสาขา” ณรงค์พูดถึงรางวัลที่เจ้าตัวเพิ่งคว้าเหรียญทองมาหนึ่งสาขา

ณรงค์ ปรางค์เจริญ เป็นใคร ? คนในแวดวงดนตรีคลาสสิกเมืองไทยรู้จักเขาอยู่แล้ว แต่เมื่อต้องแนะนำเขาให้คนทั่วไปนอกแวดวงดนตรีคลาสสิกรู้จัก ก็ต้องบอกว่า ปัจจุบัน ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ ดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเขากลับมาเมืองไทยเพื่อรับตำแหน่งนี้ต่อจาก รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข เมื่อปี 2560

ก่อนหน้านี้ ณรงค์ประกอบอาชีพนักประพันธ์เพลง (Music Composer) อยู่ในแวดวงดนตรีคลาสสิกระดับนานาชาติที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี เขามีผลงานมากมาย และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลสำคัญ ๆ ด้านการประพันธ์เพลงคลาสสิกในระดับนานาชาติ เช่น รางวัล Guggenheim Fellowship, Barlow Prize และ Music Alive

หลายปีแล้วที่เขากลับเมืองไทยมาทำงานบริหารสถาบันการศึกษา แต่การแต่งเพลงก็เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยทิ้ง เขายังแต่งเพลงอยู่อย่างต่อเนื่อง

“เป็นคณบดีมันเป็นหน้าที่ แต่เป็นนักแต่งเพลงมันคือความรัก เพราะฉะนั้น เราต้องทำสองด้านให้ดีพอกัน” นี่คือคำพูดของเจ้าตัว

ณรงค์เคยให้สัมภาษณ์ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อปี 2558 ซึ่งเขาเล่าเส้นทางสู่อาชีพนักประพันธ์เพลงคลาสสิกว่า เขาเรียนปริญญาตรี เอกดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่ออาจารย์เห็นว่าเขามีแววในการแต่งเพลง อาจารย์จึงฝากฝังให้ไปเรียนแต่งเพลงกับ อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร นักแต่งเพลงคลาสสิกรุ่นครูคนหนึ่งของเมืองไทย เรียนแต่งเพลงได้ 2 ปี ก็มีอาจารย์จากสหรัฐอเมริกาเห็นแวว จึงให้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Illinois State University แล้วได้ทุนต่อปริญญาเอกที่ University of Missouri-Kansas City

ตอนเรียนปริญญาเอก ณรงค์ส่งผลงานประกวดและได้รางวัลมาเรื่อย ๆ ซึ่งรางวัลเหล่านั้นเป็นกุญแจให้เขาไขประตูเข้าสู่อาชีพนักประพันธ์เพลง

“แต่การประกวดหรือการแข่งขันก็เป็นแค่กุญแจที่ไขประตู พอเข้าไปแล้วเราจะอยู่ได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมอาศัยหลักที่เราเป็นคนไทย อ่อนน้อมถ่อมตน มีน้ำใจ มันช่วยได้เยอะ พอมีคนชวนไปทำงาน เราทำตัวง่าย ๆ อัธยาศัยดี มันทำให้เขารู้สึกว่าอยากทำงานกับเราอีก” เจ้าตัวบอก

ณรงค์ถูกจัดเป็น Orchestra Composer หมายความว่า เขาเป็นนักแต่งเพลงที่แต่งเฉพาะเพลงขนาดใหญ่สำหรับวงออร์เคสตร้าเท่านั้น มีวงออร์เคสตร้ามากมายจากทั่วโลกที่นำเพลงของเขาไปบรรเลง

เขาบอกว่าตัวเองเป็นนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงระดับกลาง ๆ ในวงการ ซึ่งระดับกลางที่ว่านี้ เขาก็เป็นที่รู้จัก และมีสัญญาว่าจ้างชุกจนไม่มีเวลาเหลือแต่งเพลงเล่น ๆ

“หนูไม่คิดว่าอาจารย์ดังขนาดนี้ ทุกคนรู้จักเพลงอาจารย์หมดเลย” ณรงค์เล่าถึงคำพูดที่ลูกศิษย์ชาวไทยบอกกับเขา หลังจากที่ลูกศิษย์คนนั้นไปเรียนที่สถาบันสอนดนตรีในนิวยอร์ก ซึ่งพอจะทำให้เห็นภาพว่า ณรงค์อยู่ระดับไหนในวงการ และยังมีเนื้อหาทีี่สื่อดัง ๆ อย่าง The New York Times และ Washington Post เขียนถึงเขาช่วยยืนยันอีก

การทำตัวง่าย ๆ นั้นไม่ได้หมายความว่าเขาจะรับงานอะไรก็ได้ เพราะเพลงของนักแต่งเพลงที่ชื่อ “Narong Prangcharoen” มีแนวทางเฉพาะตัวที่ชัดเจน ฉะนั้นคนที่จะมาจ้างต้องรู้ว่า นักแต่งเพลงคนนี้แต่งเพลงค่อนข้างอาร์ต ไม่รับงานที่พ็อปเกินไป ไม่รับงานคอมเมอร์เชียลมากไป

“นักแต่งเพลงต้องทำ brand positioning ของตัวเองว่าเราทำงานแบบไหน เราควรมีความสามารถทำงานได้ทุกอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องรับทำงานทุกอย่าง เพราะถ้าเรารับทำงานทุกอย่าง เราจะไม่มีโพซิชั่นของเราเอง คนจะมองว่าอะไรที่เป็นงานจับฉ่ายโยนให้คนนี้ทำ เราอาจมีงานเยอะขึ้น แต่งานของเราจะไม่เป็นตัวตนของเราจริง ๆ แต่เมื่อไหร่ที่เรามีโพซิชั่นของตัวเอง คนที่จะมาจ้างเขาจะรู้ว่าเราทำงานแบบไหน”

ณรงค์บอกว่า วงการดนตรีคลาสสิกมีที่เสมอสำหรับคนเก่งและคนที่เอาจริงเอาจัง ซึ่งการจะเป็นคนเก่งนั้น “ไม่จำเป็นต้องเก่งด้วยพรสวรรค์เสมอไป พรสวรรค์สร้างไม่ได้ แต่ทักษะสร้างได้ คนที่เก่งอาจจะเกิดจากการฝึกฝน ยกตัวอย่างพ่อค้าขายอาหาร บางคนอาจจะไม่ได้เก่งเพราะมีพรสวรรค์ที่หยิบอะไรใส่ก็อร่อย แต่อาจจะเก่งเพราะทำบ่อย ๆ”

“การแต่งเพลงก็เหมือนกัน หลายคนมีพรสวรรค์ แต่หลายคนไม่มีพรสวรรค์ก็ต้องฝึกบ่อย ๆ เราบอกไม่ได้ว่า บ๊าค (Johann Sebastian Bach) มีพรสวรรค์หรือเปล่า แต่ที่รู้คือ บ๊าคตื่นมาเขียน fugue วันละหนึ่งบท ถ้าอยากเป็นนักแต่งเพลง ไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามว่าเรามีพรสวรรค์หรือเปล่า ถ้าเราทำงานหนัก เราก็จะเป็นนักแต่งเพลงได้”

หลังจากณรงค์คว้ารางวัล The Charles Ives Awards และมีข่าวว่าเขาเป็นคนไทยคนแรกที่คว้ารางวัลระดับโลก “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยสัมภาษณ์เขาอีกครั้ง

“ผมเป็นคนไทยคนแรก แต่ผมจะไม่เป็นคนไทยคนสุดท้าย” ณรงค์บอก แล้วอธิบายต่อว่า เขาภูมิใจที่ได้รางวัลนี้ เพราะเป็นรางวัลที่ได้ยากมาก แต่ไม่ได้ภูมิใจมากเป็นพิเศษกับการเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รางวัลนี้ เพราะทุกรางวัลที่เขาเคยได้รับมา เขาก็เป็นคนไทยคนแรกทั้งหมด สิ่งที่เขาให้ความสำคัญกว่าคือ จะทำอย่างไรที่จะไม่เป็นคนสุดท้าย จะทำอย่างไรให้คนไทยได้รับรางวัลระดับโลกอีกเยอะ ๆ

ณรงค์เคยใช้คำว่า “ผมกำลังสร้างกองทัพ” หมายถึงการช่วยเหลือนักแต่งเพลงรุ่นน้องชาวไทยให้มีผลงานและเป็นที่รู้จักในวงการ ถ้ามีคนมาจ้างเขาแต่งเพลงเล็ก ๆ เขาจะแนะนำให้รุ่นน้องแทน

ทุกวันนี้เขาก็ยังคงใช้คำว่า “สร้างกองทัพ” เพราะเขารู้สึกว่า ถ้ามีจำนวนไม่มากพอจะทำให้ต่อรองไม่ได้ เขาบอกว่าการเป็นคนไทยนั้นยากอยู่แล้วตรงที่ไม่มีฐานแฟนเพลง ถ้าเป็นนักแต่งเพลงชาวจีน ซึ่งมีแฟนเพลงชาวจีนติดตามจำนวนหลายล้านคน ก็สามารถเอาตัวเลขไปต่อรองกับวงดนตรีได้ วงดนตรีจะอยากเล่นเพลงของนักแต่งเพลงที่มีแฟนเพลงมาก เพราะดึงดูดผู้ชมได้มาก แต่เมืองไทยไม่มีฐานแฟนเพลงแบบนั้น นักแต่งเพลงชาวไทยจึงต้องต่อสู้ค่อนข้างลำบาก

ณรงค์ให้ข้อมูลว่า เท่าที่เขารู้ตอนนี้มีชาวไทยจำนวนหลายร้อยคนที่ทำอาชีพนักแต่งเพลงคลาสสิก มีทั้งที่ทำงานอยู่ในอเมริกา ยุโรป และในประเทศไทย

เขาเล่าลงรายละเอียดเรื่องค่าจ้างแต่งเพลงด้วยว่า ค่าจ้างคิดเป็นนาที อัตรานาทีละเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับระดับชื่อเสียงของนักแต่งเพลงคนนั้น ซึ่งในวงการมีการแบ่งระดับเป็น ระดับบิ๊กเนม ระดับกลาง และระดับเล็ก หรือบางทีค่าจ้างก็อาจจะไม่ตายตัวนัก ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้จ้าง คล้าย ๆ กับการซื้องานศิลปะแขนงอื่น ๆ สำหรับค่าจ้างของเขาเอง ก่อนจะกลับจากอเมริกาเมื่อปี 2560 เขาได้ค่าจ้างนาทีละเกือบ 2,000 เหรียญ และมีอยู่หนึ่งเพลงที่แต่งได้ในราคาสูงที่สุดนาทีละ 2,800 เหรียญ

“แต่ไม่อยากให้น้อง ๆ คิดถึงเงินก่อน เพราะว่าการแต่งเพลงคือเราเป็นศิลปิน เราไม่จำเป็นต้องร่ำรวย แต่เราต้องมั่นคง ต้องเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งตอนนี้ผมใช้ mindset นี้กับดุริยางคศิลป์ มหิดล เราเป็นสถาบันการศึกษา เราไม่แสวงหาผลกำไร แต่เราต้องเลี้ยงตัวเองได้”

ในบทบาทคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ตอนนี้ณรงค์มีเป้าหมายสามสี่อย่าง อย่างแรกคือ ผลักดันเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พยายามสร้างฐานข้อมูลวงการดนตรีคลาสสิกในไทย เพื่อจะต่อยอดไปสู่อะไรหลาย ๆ อย่าง สองคือ ทำให้นครปฐมได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็น Creative City of Music ซึ่งเข้าสู่กระบวนการเตรียมความพร้อมมาปีกว่าแล้ว และจะต้องยื่นให้ยูเนสโกพิจารณาในปีนี้

เป้าหมายที่สามคือการนำดนตรีเข้าไปสร้างสุขภาวะให้ชุมชน และเป้าหมายที่สี่คือ จะทำให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองหลักสูตรปริญญาเอกจาก MUSIQUE สถาบันรับรองคุณภาพหลักสูตรดนตรีของยุโรป ซึ่งก่อนหน้านี้หลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโทได้รับการรับรองแล้ว

“คนมักจะบอกว่าผมมีความเป็นฝรั่ง ลืมรากเหง้าของตัวเอง แต่ผมคิดว่าถ้าเราอยากให้รากเหง้าของเรายังอยู่ เราควรต้องเข้าใจบริบทโลก แล้วดูเราเป็นส่วนไหนของโลก” คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายสิ่งที่อยากให้คนเข้าใจทั้งเรื่องยูเนสโกและ MUSIQUE

ต้องยอมรับความจริงว่า ไม่ว่าในวงการอะไรก็ตาม การได้รับรางวัลเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เป็นที่รู้จัก สำหรับณรงค์ก็เช่นกัน เขาเล่าว่า หลังการประกาศรางวัลมีเฟรนด์รีเควสต์ในเฟซบุ๊กเข้ามาเพียบ

“การที่นักแต่งเพลงคนไทยได้รับการยอมรับในการแข่งขันระดับนานาชาติ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะจุดประกายให้กับนักดนตรีชาวไทยก้าวสู่เวทีต่าง ๆ ในระดับโลก และยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางด้านดนตรีให้ต่างชาติได้ประจักษ์ ก็หวังว่าจะนำไปสู่งานที่เรากำลังผลักดันเสนอให้จังหวัดนครปฐม เป็น Creative City of Music ในปีนี้” นักประพันธ์เพลงชาวไทยกล่าวหลังจากคว้ารางวัลระดับโลกมาครอง