อยากมีบ้านเมืองน่าอยู่อย่าง “ญี่ปุ่น” เราออกแบบได้ถ้าใส่ใจมากพอ

ปริพนธ์ นำพบสันติ : ภาพ

ถ้าพูดถึงบ้านเมืองที่น่าอยู่ ประเทศญี่ปุ่นน่าจะเป็นอันดับต้น ๆ ที่ผู้คนนึกถึง และถ้าพูดถึงประเทศญี่ปุ่น บ้านเมืองที่สะอาดสะอ้าน มีระเบียบวินัย สะดวกต่อการใช้ชีวิต หรือพูดรวม ๆ ว่า “บ้านเมืองน่าอยู่” ก็เป็นภาพลักษณ์อันดับต้น ๆ ของญี่ปุ่นที่คนนึกถึงเช่นกัน

ญี่ปุ่นทำให้บ้านเมืองน่าอยู่ด้วยการออกแบบ ไม่ใช่เพียงออกแบบพอให้เสร็จ ๆ ไป แต่เป็นการออกแบบด้วยความใส่ใจ ซึ่งการออกแบบที่ใส่ใจจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ และสามารถสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของคนในเมืองได้ ผลลัพธ์ก็คือ จะทำให้บ้านเมืองนั้นน่าอยู่

แล้วการออกแบบอย่างใส่ใจเป็นอย่างไร ? “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” คัดเอาเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง” เขียนโดย ปริพนธ์ นำพบสันติ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ broccoli book ที่ได้ตั้งข้อสังเกต “การออกแบบ” ใน “บ้านเมือง” ของญี่ปุ่น แล้วค้นคว้าและวิเคราะห์ลงไปถึงกลไกการทำงานของ “การออกแบบ” ที่ทำให้ญี่ปุ่นมีบ้านเมืองที่น่าอยู่ มาตอบคำถามว่าญี่ปุ่นออกแบบเมืองของเขาอย่างไร

การออกแบบสร้างระเบียบวินัย

ส่วนประกอบหนึ่งของการที่ญี่ปุ่นเป็นเมืองน่าอยู่ก็คือ คนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัย และโดยส่วนใหญ่เราคิดว่านั่นเป็นเพราะญี่ปุ่นปลูกฝังคนของเขาให้มีจิตสำนึกตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งก็จริงส่วนหนึ่ง แต่จิตสำนึกอย่างเดียวยังไม่พอ และไม่ใช่คำตอบทั้งหมด จริง ๆ แล้วเราสามารถบีบให้คนที่อาจจะยังไม่มีสำนึกในเรื่องนั้น ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้ด้วยการออกแบบ

ในหนังสือ “Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง” ตั้งข้อสังเกตกับกลไกที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัย นั่นก็คือ “การออกแบบ” เชิงกายภาพที่อยู่รอบตัวผู้คนนั่นเอง

“ชีวิตที่ดีย่อมไม่อาจแยกขาดจากเมืองที่ดี การออกแบบเมืองที่ดีจึงเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของชีวิตที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย ญี่ปุ่นจึงได้ออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเพื่อประกอบกันให้เป็นเมืองน่าอยู่”

ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างการที่ญี่ปุ่นใช้ “เส้น” มาวางระเบียบเมือง ถ้าประยุกต์ใช้ “เส้น” ให้ถูกจุดเราก็สามารถวางระเบียบแบบแผนให้เมืองได้ เช่น ญี่ปุ่นแก้ปัญหาให้ลูกค้าร้านสะดวกซื้อสามารถต่อคิวชำระเงินได้เป็นระเบียบและแฟร์ที่สุด โดยใช้ “เส้นต่อคิว” ซึ่งแนวเส้นที่ออกแบบให้แถวคิวเริ่มต้นที่จุดเดียว ก่อนจะกางองศากระจายตัวไปยังแต่ละช่องชำระเงิน ช่วยวางระบบ “มาก่อน-ได้ก่อน” ที่แฟร์และเรียบง่ายที่สุด อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ถ้าอยากให้รถเลี้ยวได้สะดวกถูกช่องในสี่แยกใหญ่ ญี่ปุ่นก็ออกแบบเส้นประนำทางรถเลี้ยวโค้ง (ขวา) กำกับเอาไว้บริเวณสี่แยกใหญ่ ๆ

อีกหนึ่งตัวอย่างการออกแบบ คือ การใช้ “สี” ญี่ปุ่นจะใช้สีสดเข้ม เด่นชัด เป็นตัวช่วยให้บ้านเมืองน่าอยู่ ถ้าอยากให้คนมองตามเส้นคิวในสถานีรถไฟก็ใช้สีสด ๆ หลายสีช่วยแบ่งประเภทรถไฟให้ผู้โดยสารสังเกตง่าย ลดความสับสน ถ้าอยากให้คนขับรถมองเห็นคนที่กำลังข้ามถนนชัด ๆ ก็ออกแบบทางม้าลายให้สว่างมาแต่ไกลและทำขนาดใหญ่ ๆ ใครขับรถมาก็ต้องเห็น เตรียมมองหาคนแล้วชะลอ

ที่ว่ามาเป็นการออกแบบระดับย่อย ๆ ทีนี้ถ้าไปมองภาพใหญ่จะเห็นว่าญี่ปุ่นออกแบบโครงสร้าง วางต้นทางของกฎระเบียบเอาไว้อย่างเฉียบคม อย่างเช่น คนญี่ปุ่นแยกขยะกันเป็นกิจจะลักษณะอย่างจริงจัง เนื่องจากทางการ “กำหนดวันเก็บขยะ” ว่าวันไหนเก็บขยะประเภทไหน เมื่อทางการวางระบบเอาไว้แต่ต้น ประชาชนก็ให้ความร่วมมือได้มากขึ้น

“…จิตสำนึกอย่างเดียวมันไม่เคยพอ โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์ต้องมาอยู่รวมกันเป็นหมู่มากแบบสังคมญี่ปุ่น แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็คิดแบบนี้กับคนของเขา การออกแบบถึงได้เกิดขึ้นนั่นเอง และเราจะเห็นว่าผลลัพธ์การออกแบบแต่ละเรื่องเกิดจากการตั้งคำถาม ทำอย่างไรให้คนทำอย่างโน้น-ทำอย่างนี้ ? เพราะการตั้งคำถามคือจุดเริ่มต้นของทุกคำตอบ คำถามที่ดีนำไปสู่คำตอบที่ดี” ปริพนธ์ เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้

อากาศดี ญี่ปุ่นก็สร้างได้

อากาศดูจะเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ยากสุด ๆ แต่ประเทศญี่ปุ่นก็สามารถสร้างอากาศที่ดีได้

หนังสือเล่มนี้เล่ารายละเอียดว่า ในอดีตนับตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ผลกระทบอย่างหนึ่งจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นต้องประสบ คือ ปัญหามลพิษทางอากาศ อันเป็นผลจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ใช้ในอุตสาหกรรม

ขณะที่เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ ปัญหามลพิษทางอากาศก็ค่อย ๆ ทวีและเผยผลลัพธ์อันรุนแรงออกมา ทำให้ชาวญี่ปุ่นในหลาย ๆ เมืองออกมารวมตัวกันประท้วง

ปี 1968 ญี่ปุ่นผ่านร่าง “กฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศ” (Air Pollution Control Law) เพื่อวางรากฐานสู่การมีคุณภาพอากาศที่ดี โดยควบคุมปริมาณการปล่อยสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงงาน และสารไนโตรเจนออกไซด์จากยานยนต์โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในตอนนั้น

โรงงานอุตสาหกรรมถูกตรวจสอบมาตรฐานสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด ขั้นตอนตรวจสอบก็ต้องเปิดเผยโปร่งใส มีการตั้งค่าปรับสูง ๆ และเริ่มเก็บตัวเลขข้อมูลอย่างจริงจัง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเดิม และสื่อมวลชนญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งพลังในการช่วยตรวจสอบ

จากนั้นก็เริ่มมีกฎหมายอื่น ๆ ตามมา เช่น ปี 1972 มีการออกกฎหมาย “Absolute Liability Law” โดยใช้หลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานยิ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการกระทำของตัวเอง

ปี 1973 มีการตั้งองค์กร “National Liaison Council for Pollution Victims Organizations” สำหรับประสานงานกันในกลุ่มระดับภูมิภาคเพื่อแชร์ข้อมูลและปัญหาในแต่ละพื้นที่ ประจวบเหมาะกับสื่อมวลชนช่วยรายงานข่าวให้สาธารณชนรับรู้และกดดันรัฐบาลไปในตัว จึงนำไปสู่การที่ภาครัฐริเริ่มมาตรการที่เอาจริงเอาจังมากขึ้น

บวกกับวิกฤตน้ำมันปี 1973 เป็นการกดดันทางอ้อมให้ญี่ปุ่นต้องสร้างเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อคุณภาพอากาศ โดยมีระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยตัวเอง ซึ่งภาครัฐก็เข้ามาช่วยอีกแรง เช่น ให้การสนับสนุนด้านการเงิน การยกเว้นภาษี การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่กิจการที่ลงทุนในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ทัศนคติฝั่งด้านผู้ประกอบการก็เริ่มปรับเปลี่ยน องค์กรยักษ์ใหญ่เริ่มแคร์สถานภาพและภาพลักษณ์ทางสังคมมากขึ้น เพราะไม่อยากถูกมองเป็น “ตัวสร้างมลพิษ” การรักษาระดับมลพิษให้อยู่ในเกณฑ์ได้ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งขององค์กร

ด้านการก่อมลพิษโดยรายย่อย รัฐบาลญี่ปุ่นก็ควบคุมโดยการออกกฎหมาย “ซื้อรถต้องมีที่จอด” เฉลี่ยแล้วประชากรในโตเกียวมีรถยนต์ 1 คันต่อ 2 ครัวเรือนเท่านั้น

ขณะเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ก็คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมาตลอด ทั้งเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและเพื่อให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการทำการตลาดในหลายประเทศ ไม่ว่าจะรถพลังงานไฮโดรเจนหรือรถยนต์ไฟฟ้า

ในอีกด้านหนึ่งญี่ปุ่นก็มีความพยายามสร้างพื้นที่สีเขียวควบคู่กันไป ที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายพัฒนาพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะทั้งในเมืองและนอกเมืองหลายฉบับ แม้แต่โตเกียวที่เป็นมหานครใหญ่ ผู้คนอาศัยอยู่อย่างแออัดยัดเยียดก็ยังมีพื้นที่สีเขียวในอัตราเฉลี่ยราว 12 ตารางเมตร/คน สูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ซึ่งควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตร/คน ขณะที่อัตราเฉลี่ยที่กรุงเทพฯอยู่ที่ 3.3 ตารางเมตร/คน

ถึงแม้บอกว่าญี่ปุ่นมีการจัดการที่ดี แต่บางครั้งปัญหาก็มาจากภายนอกที่ยากจะควบคุม ดังที่ในปี 2013 เมืองฟูกูโอกะประสบกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งพัดมาจากประเทศจีน เรื่องนี้ทำให้รู้ว่าการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อมทั่วไปต้องอาศัยประชาคมโลกช่วยกัน

จัดรูปที่ดิน การออกแบบพื้นฐานที่เปลี่ยนชีวิต

ทำไมที่ญี่ปุ่นรถไม่ค่อยติด แม้กระทั่งในเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นอย่างโตเกียวก็ตาม ?

ปริพนธ์มีคำตอบไว้ในหนังสือว่า เบื้องหลังพื้นฐานสุด ๆ ของเรื่องนี้ คือ “ผังเมือง” ซึ่งผังเมืองญี่ปุ่นแบบปัจจุบันเริ่มปรับเปลี่ยนมาตั้งแต่ต้น-กลางศตวรรษที่ 20 นี่เอง

เนื่องจากประชากรในเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวภายในช่วงเวลาราว 20 กว่าปี ระหว่างปี 1897-1920 ในช่วงเวลานั้นญี่ปุ่นเริ่มขยับตัวและเตรียมปรับผังเมืองรองรับผู้คนที่เข้ามาอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับประชากรที่เข้ามาจับจองพื้นที่ในเมืองเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โดยรัฐบาลกลางญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับผังเมือง ได้แก่ “City Planning Act” และ “Urban Building Standard Act” ขึ้นมาในปี 1919

ประจวบเหมาะกับที่กลุ่มสถาปนิกและนักวางแผนเมืองของญี่ปุ่นยุคนั้นได้รับการศึกษามาจากตะวันตกทั้งสิ้นพวกเขามีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ทัดเทียมชาติพัฒนาแล้ว ได้เห็นข้อผิดพลาดจากเมืองใหญ่อื่น ๆ เพื่อที่จะไม่ต้องดำเนินรอยตาม

วันที่ 20 พฤษภาคม ปี 1954 ญี่ปุ่นออกกฎหมายที่เปลี่ยนโฉมหน้าที่ดินทั่วประเทศจนถึงทุกวันนี้นั่นคือ มาตรการ “การจัดรูปที่ดิน” คือการจัดระเบียบ การวาดผังที่ดินขึ้นใหม่ อาจยอมลดพื้นที่ใช้สอยให้น้อยลงเพื่อแลกกับการขยายถนน-ตัดถนนใหม่ พร้อมใส่สาธารณูปโภคเข้าไป แปลงที่ดินเล็กลงแต่มูลค่าที่ดินใกล้เคียงเดิมหรือเพิ่มขึ้นในอนาคต

มาตรการนี้กลายเป็นรากฐานของผังเมืองในญี่ปุ่นก็ว่าได้ เพราะวินวินกันทุกฝ่าย มีการคาดการณ์ในปี 2013 ว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่เขตเมืองทั่วประเทศญี่ปุ่น (คิดเป็น 329,248 เฮกตาร์) ล้วนถูกผ่านการจัดรูปที่ดินมาแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการจัดรูปที่ดินยังมีบทบาทสำคัญช่วงหลังเกิดเหตุภัยพิบัติระดับประเทศเสมอ การที่ญี่ปุ่นต้องเจอกับความสูญเสียจากภัยพิบัติตลอดประวัติศาสตร์ของประเทศ ยิ่งเป็นแรงกดดันให้มาตรการจัดรูปที่ดินยิ่งต้องมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้ดีกว่า ดังในปี 1923 ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในแถบคันโต รัฐบาลได้รีบออกมาตรการจัดรูปที่ดิน (กฎหมายฉบับเก่า) ทันที

ผลปรากฏว่าหลังจากนั้นความหนาแน่นของถนนในเมืองเพิ่มขึ้นจาก 11% เป็น 25% เทียบชั้นระดับเดียวกับลอนดอน ปารีส และเบอร์ลิน มีการสร้างสวนสาธารณะขึ้นใหม่ 55 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 42 เฮกตาร์ ทำให้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวในเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 3.6%

ในปี 1945 กว่า 215 เมืองทั่วญี่ปุ่นได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคำสั่งให้จัดรูปที่ดินใหม่โดยด่วน ช่วงเวลานี้เองคือจุดเริ่มต้นของสภาพบ้านเมืองหลายแห่งที่เราเห็นในปัจจุบัน เช่น ถนนเฮวะ โอโดริ (Heiwa Odori Avenue) และแลนด์มาร์กสำคัญใจกลางเมืองฮิโรชิมา, ถนนฮิซายะ โอโดริ (Hisaya Odori Avenue) และผังเมืองตารางหมากรุกแทบทั้งเมืองนาโกยา, ถนนใหญ่พร้อมต้นไม้สองข้างทางสวยงามทุกเมืองใหญ่ทั่วญี่ปุ่น เป็นต้น