แนะนำหนังสือเข้มข้นน่าอ่าน ช่วงงานสัปดาห์หนังสือที่เราต้องกักตัวอยู่บ้าน

สถานการณ์ปัจจุบันทำให้เราเห็นพลังของ “การอ่านหนังสือ” ได้อย่างเด่นชัด จากการที่คนรุ่นใหม่มีความรู้ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์เรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเฉียบคม และออกมาขับเคลื่อนเพื่อจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นช่วยตอกย้ำว่า “การอ่าน” มีบทบาท มีอิทธิพลอย่างไรต่อสังคม

ระหว่างที่คุณผู้อ่านได้อ่านคอนเทนต์นี้ เป็นกำหนดการเดิมที่จะมีการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 49  ณ ไบเทค บางนา มีสำนักพิมพ์ทั่วฟ้าเมืองไทย 200 กว่าสำนักพิมพ์เตรียมขนหนังสือมาออกบูทให้นักอ่านได้เลือกสรรรวม 615 บูท แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงขึ้น ตอนนี้จึงปรับมาจัดงานในรูปแบบออนไลน์กันไปก่อน โดยแต่ละสำนักพิมพ์ยังมีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้อ่านเหมือนในงานออนกราวนด์

ในสถานการณ์อย่างตอนนี้ มีหนังสืออะไรน่าอ่านบ้าง “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้คัดเลือกหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชนและสำนักพิมพ์ Broccoli มาแนะนำเผื่อเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ที่คุณกำลังมองหาอยู่

สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว
ผู้เขียน : กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยมุมมอง และโลกทัศน์ทางการเมืองที่แตกต่างระหว่างคน 3 รุ่น ที่ปะทุขึ้นมาจากปรากฏการณ์ทางการเมืองสำคัญของไทยในปี พ.ศ. 2563

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ลงพื้นที่ชุมนุม สัมภาษณ์ เก็บสถิติ และศึกษาวิเคราะห์ความแตกต่างของคน 3 รุ่นจากพื้นที่การชุมนุมจริง เพื่อสร้างผลงานหนังสือที่จะฉายภาพกระจ่างชัด และสร้างความเข้าใจถึงความแตกต่างทางการเมืองของคน 3 เจเนอเรชั่น เพื่อหาทางออกว่า ในมุมมองการเมืองที่แตกต่างของคน 3 รุ่นนี้ จะมีวิธีอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

ปลดแอกชาติ จากศักดินา-(ราชา) ชาตินิยม
ผู้เขียน : ฐนพงษ์ ลือขจรชัย

ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสั้นกระชับ ฉายภาพเรื่องราวการแย่งชิงความหมายของ “ชาติ” ระหว่างกษัตริย์และประชาชนที่ยาวนานมานับตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่จะบอกเราว่า ชาติ ที่เคยเชื่อว่าหมายถึงประชาชน

แท้จริงแล้ว ในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมากลับถูกผสมเนียนแนบกับกษัตริย์ และความเปลี่ยนแปลงระดับความคิดทางการเมืองไทยตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมาโถมถั่งรุนแรง การยื้อแย่งชาติและสถาปนาความหมายของชาติจากกษัตริย์ และการยุดแย่งชาติคืนของประชาชน กลายเป็นสมรภูมิความคิดที่ต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะรู้ผล

หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง
ผู้เขียน : ชานันท์ ยอดหงษ์

ในประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 มักจะบันทึกเพียงเรื่องราวของคณะราษฎร “ผู้ชาย” ที่มีบทบาท “หน้าฉาก” ทางการเมืองเท่านั้น แต่หนังสือเล่มนี้สร้างข้อถกเถียงใหม่ว่า บทบาทการเป็นแม่บ้านแม่เรือนของภรรยาเข้ามามีส่วนในปฏิบัติการทางการเมืองที่สำคัญหลายต่อหลายครั้ง

การคืนพื้นที่ให้ “ผู้หญิง” ในหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นการตอบโต้ประวัติศาสตร์แบบ “ปิตาธิปไตย” เป็นการเปิดมุมมองใหม่เพื่อพิสูจน์ว่า “หลังบ้าน” ของคณะราษฎรนั้นสัมพันธ์กับการปฏิวัติ การสร้างชาติ และการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างมิอาจแยกออกจากกัน

ระหว่างบรรทัด บันทึกประวัติศาสตร์ ‘มหากาพย์บัตรทอง’
บรรณาธิการ : ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

การเกิดขึ้นของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เราคุ้นชินกันในชื่อ “บัตรทอง” และ “30 บาทรักษาทุกโรค” ทุกวันนี้ ยังคงมีความเคลือบแคลงว่าแท้จริงแล้วเป็นเพียงแนวคิด “ประชานิยม” หรือ “เครื่องมือทางการเมือง” เท่านั้น

การบันทึกคำบอกเล่าจากปากของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง ผู้ที่มีบทบาทในการเขียนประวัติศาสตร์หน้าสำคัญนั้น จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง บันทึกเล่มนี้คือความจริงระหว่างบรรทัดที่น่าค้นหา เป็นที่มาของหลักประกันด้านสุขภาพของคนไทยทุกคน

สังคมจีนในประเทศไทย : ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์
ผู้เขียน : จี. วิลเลียม สกินเนอร์
ผู้แปล : พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ชื่นจิตต์ อำไพพรรณ, ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข, ภรณี กาญจนัษฐิติ, ปรียา บุญญะศิริ, ศรีสุข ทวิชาประสิทธิ

จี. วิลเลียม สกินเนอร์ นักวิชาการอเมริกันได้ทำการวิจัยคนจีนในประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2490 และรวบรวมเรื่องราวคนจีนตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้นที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณอ่าวไทย จนถึงประเทศไทยในยุคต้นสงครามเย็น (พ.ศ. 2500) ซึ่งในช่วงเวลานั้น คนจีนและประเทศจีนกำลังเป็นที่สนใจของสหรัฐอเมริกา

นอกจากจะได้เห็นการวิเคราะห์และอธิบายถึงการที่คนจีนถูกกลืนเป็นไทยได้อย่างไร ยังจะได้เห็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมาย ซึ่งหลักฐานเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ไทย เศรษฐกิจไทย และประเด็นทางสังคม และในเล่มนี้ยังมีบทความพิเศษจากนักวิชาการชื่อดังอย่าง วรศักดิ์ มหัทธโนบล และสิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ อีกด้วย

แรงงานวิจารณ์เจ้า : ประวัติศาสตร์ราษฎร ผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3)
ผู้เขียน : ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่หาผู้หาญกล้าวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นปกครองได้ยาก ถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรรถรางที่หลายคนให้สมญานาม “วีรบุรุษคนแรกของขบวนการกรรมกรไทย” คือคนที่ยืนหยัดต่อสู้ในเชิงหลักการและเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา ด้วยการยื่นฎีกาเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ที่ชนชั้นกรรมกรพึงได้รับ และตั้งคำถามถึงความฉ้อฉลของผู้ถืออำนาจรัฐในขณะนั้น

หลังการปฏิวัติสยาม 2475 แม้กลุ่มผู้ถืออำนาจรัฐจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิม ถวัติยังคงเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมและความเท่าเทียม ไม่ให้รัฐบาลหรือนายทุนมากระทำการกดขี่และขูดรีดชนชั้นกรรมกร

กาดก่อเมือง : ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา
ผู้เขียน : วราภรณ์ เรืองศรี
คำนำเสนอ : นิธิ เอียวศรีวงศ์

การค้าไม่เคยแยกจากมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การค้าของรัฐดินแดนตอนใน (ไม่ติดทะเล) อย่างล้านนา มีส่วนอธิบายการก่อรูปของรัฐผ่านการปฏิสัมพันธ์กันของกลุ่มคนในระดับต่าง ๆ และพื้นที่ทางการค้าเหล่านี้เองที่สร้างเงื่อนไขของกระบวนการรับรู้ความต่างระหว่างชาติพันธุ์ ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเข้ามากระทบต่อโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าการแลกเปลี่ยนจึงส่งผลต่อการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงมิติความสัมพันธ์ด้านอื่นไปด้วยพร้อมกัน

หนังสือเล่มนี้จึงมุ่งชี้ให้เห็นว่าเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้าในล้านนาก่อนยุคเทศาภิบาล ไม่อาจแยกจากเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการเมือง ทว่า สามารถอธิบายกระบวนการการก่อรูปของรัฐจารีตและการสร้างเสถียรภาพภายในอาณาจักรผ่านการกลายเป็นศูนย์กลางการค้าได้ทางหนึ่ง

ยุคทองล้านนา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสามัญชน
ผู้เขียน : วิชญา มาแก้ว
คำเสนอ : ศาสตราจารย์เกียรติคุณสรัสวดี อ๋องสกุล

ในคริสต์ศตวรรษที่ 14-16 ล้านนาซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากร “ของป่า” ที่สำคัญได้เปิดประตูรับยุคสมัยแห่งการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้านนาที่ก่อตัวขึ้นจากเครือรัฐต่าง ๆ ในดินแดนหุบเขาทางตอนเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐตอนในที่ไม่ติดทะเล ได้อาศัยเครือข่ายระหว่างเมืองและรัฐในการกระจายสินค้าและทรัพยากรจากดินแดนหุบเขาไปสู่เมืองท่าชายฝั่ง เพื่อส่งออกไปขายในตลาดการค้าใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประกอบกับโครงสร้างสังคมและการปกครองของล้านนาที่เอื้อให้ชนชั้นล่างหรือไพร่มีอิสระในการทำการค้าและทำการผลิตหนังสือเล่มนี้จะเผยให้เห็นบทบาทของสามัญชนต่อเศรษฐกิจการค้าในล้านนายุคทอง

ความรักของวัลยา
ผู้เขียน : เสนีย์ เสาวพงศ์

วรรณกรรมชิ้นสำคัญจากปลายปากกาของเสนีย์ เสาวพงศ์ อีกหนึ่งเรื่องราว “ความรัก” ในห้วงเวลาที่ชีวิตของผู้คนกำลังเคลื่อนไหวไปผสานกับความหวัง ความฝัน และอุดมการณ์ ซึ่งถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของ “วัลยา” นักศึกษาสาวผู้รักในศิลปะและมวลชน และบรรดาหนุ่มสาวต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างวัย ต่างอาชีพ ต่างสถานะ ต่างทรรศนะ ณ ใจกลางเมืองปารีส มหานครแห่งชีวิต มหานครอันเป็นศูนย์กลางจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติและความเท่าเทียม…

Accidentally Wes Anderson
ผู้เขียน : Wally Koval
ผู้แปล : ปิยบุตร หล่อไกรเลิศ

ปรากฏการณ์ “ความเวส” จากแอ็กเคานต์ Instagram ที่มีผู้ติดตามกว่าหนึ่งล้านคน เบื้องหลังภาพถ่ายจากสถานที่จริง ที่เหมือนหลุดมาจากโลกในหนังของ WES ANDERSON ผู้กำกับระดับไอคอนแห่งโลกภาพยนตร์ สู่หนังสือภาพในฉบับภาษาไทยพร้อมรูปเล่มสวยละลายใจ จนไม่มีไว้ในครอบครองไม่ได้แล้ว… โดยเฉพาะคนที่กำลังคิดถึงทริปเที่ยวต่างประเทศ ที่การดูภาพสวย ๆ ก็น่าจะช่วยให้หายคิดถึงได้ระดับหนึ่ง

Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง
ผู้เขียน : ปริพนธ์ นำพบสันติ

หนังสือที่ชวนสำรวจเบื้องหลัง “หัวใจ” ที่ซ่อนไว้ในการออกแบบเมืองของญี่ปุ่น ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นทางเท้าที่เราเดิน ถังขยะหน้าตาน่ารัก กรวยติดไฟ ป้ายบอกทาง ไปจนถึงผังเมืองอันแสนสมมาตร และแผนรับมือภัยพิบัติที่รัดกุมและเป็นระเบียบอย่างเหลือเชื่อ