“ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์” ซีอีโอผู้เปิดโลกทัศน์และสร้างพลังบวกด้วยการถ่ายภาพ

ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์
รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

แทบทุกคนมีงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชอบทำเพื่อผ่อนคลายจิตใจในเวลาว่าง แต่สำหรับนักธุรกิจ นักบริหาร เวลาว่างนอกเหนือเวลางานของหลายคนก็ยังคงใช้ไปกับกิจกรรมที่กึ่ง ๆ งานอยู่ดี อย่างภาพที่ผูกติดกับนักธุรกิจ-ผู้บริหารธุรกิจก็คือการตีกอล์ฟเพื่อหาคอนเน็กชั่นและเจรจาธุรกิจไปในตัว

การถ่ายภาพ ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ในระยะหลัง ๆ มานี้เราได้ยินมาว่าผู้บริหารธุรกิจหลายคนชื่นชอบกัน หนึ่งในนักบริหารที่ชื่นชอบกิจกรรมการถ่ายรูปในระดับที่ทุ่มเท-จริงจังก็คือ ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทาเนีย จำกัด ที่แบกกล้องออกทริปอย่างสม่ำเสมอมาเป็นเวลา 11 ปี เช่นกันกับการทำงานที่เธอยังเต็มเปี่ยมด้วยพลัง ซึ่ง ณ เวลานี้เจ้าตัวบอกว่า ไม่มีคำว่าเกษียณ

ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ หรือ “พี่จี๊ด” ของน้อง ๆ ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ผ่านการบริหารธุรกิจอสังหาฯมาหลายค่าย ทั้งพฤกษาฯ เอพี อนันดาฯ และบริทาเนีย (ในเครือออริจิ้นฯ) ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก่อนจะมาทำอสังหาฯ เธอเคยทำงานในธุรกิจก่อสร้างที่บริษัท ซิโน-ไทยฯด้วย

ด้านการศึกษาศุภลักษณ์ก็เอาจริงเอาจังไม่แพ้การทำงานและการถ่ายภาพ เธอเรียนจบปริญญาตรี สถาปัตย์ จุฬาฯ ปริญญาโท บริหาร จากธรรมศาสตร์ และปริญญาเอก การจัดการเชิงกลยุทธ์ จากศรีปทุม

11 ปีที่แล้ว ในขณะที่บริหารธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันที่ไม่ง่าย อยู่ ๆ ก็มีเหตุให้ศุภลักษณ์สนใจการถ่ายภาพอย่างจริงจังขึ้นมา

ศุภลักษณ์เล่าว่า เดิมทีเธอมีเพียงกล้องคอมแพ็กต์เอาไว้ถ่ายรูปในครอบครัว อยู่มาวันหนึ่งเมื่อปี 2553 ขณะทำงานอยู่ที่พฤกษาฯ เพื่อนของเธอจะไปซื้อกล้อง DSLR เธอก็ไปช่วยเพื่อนเลือก แต่ดูไปดูมาตัวเองก็ซื้อกล้อง Canon 7D มาหนึ่งตัว

“ตอนนั้นราคา 3-4 หมื่นบาท เราคิดเยอะมาก ไม่เคยเสียเงินเท่านี้ เราใช้กล้องคอมแพ็กต์อย่างมากก็หลักพัน แล้วยังไม่รวมเลนส์อีก ฟิลเตอร์อีก มีอะไรตามมาอีกตั้งหลายอย่าง”

ด้วยความสนใจการถ่ายรูปเป็นทุนเดิม พอซื้อกล้องใหญ่ตัวแรกในชีวิต ศุภลักษณ์คิดว่า “ซื้อมาแล้วต้องใช้ให้คุ้ม” และด้วยความที่ชอบดูสารคดีเนชั่นแนล จีโอกราฟิก แล้วเห็นเนชั่นแนล จีโอกราฟิก จัดเวิร์กช็อปถ่ายภาพแนวสารคดี เธอจึงสมัครไปร่วมด้วย และนั่นเหมือนเป็นการเปิดประตูเข้าสู่วงการให้เธอได้พบเจอสังคมคนที่รักในสิ่งเดียวกัน

“การถ่ายรูปสายสารคดีจะได้ไปในธรรมชาติ ได้ไปดูชนเผ่าต่าง ๆ ครั้งแรกไปถ่ายผีเสื้อที่แก่งกระจาน ไปนอนในโรงเรียนปูที่นอนนอนรวมกัน ก็รู้สึกว่ามันดีมาก ๆ เลย ก็เริ่มจากตรงนี้ แล้วทำให้ได้ เพื่อนที่เป็นเด็ก ๆ วัยรุ่นและเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกับเราบ้างนิดหน่อย ตอนหลังเนชั่นแนล จีโอกราฟิกเขาไม่ได้จัดแล้ว เราก็ไปกับกลุ่มที่ทำทริปถ่ายภาพเป็นประจำ อย่างเช่น ของสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ หรือสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เขาเรียกว่าสมาคมใหญ่”

“เราไม่ได้ไปเรียน แต่เราใจรัก และเรามีความคิดเหมือนแม่บ้านว่าซื้อกล้องมาแล้วต้องใช้ให้คุ้ม เราไม่ได้มีสังคมอย่างอื่นอย่างที่ผู้หญิงเขาไปกัน เราก็ได้ไปถ่ายรูปในที่ที่เราไม่เคยไป และมีเพื่อนมีสังคม มีงานอดิเรกแบบใหม่ พอถ่าย ๆ ไปก็เริ่มมีเวลามองว่ารูปนี้สวย รูปนี้ไม่สวย อะไรประมาณไหน ก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าเราก็มีสไตล์ของเรา เรารู้เลยว่าเราชอบถ่ายรูปสารคดี เราไม่ได้เน้นถ่ายบุคคล เราชอบอะไรที่มันเป็นของจริง ไม่จัดฉาก แล้วเราก็อินไปกับตรงนั้น”

เธอร่วมทริปถ่ายภาพอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีวันหยุด-มีเวลาว่าง ไม่ว่าจะเป็นทริปใกล้หรือไกล จากตอนเริ่มแรกที่ชอบถ่ายภาพด้วยความรู้สึกว่าได้พักผ่อน-ผ่อนคลายพอไปถ่ายบ่อย ๆ เธอก็พบสิ่งดี ๆ อีกหลายอย่างนอกเหนือจากการได้ถ่ายภาพ

ศุภลักษณ์บอกเล่าถึงสิ่งที่เธอประทับใจและได้รับจากการถ่ายภาพว่า หนึ่งคือ การได้มิตรภาพและสังคมที่ดี สังคมของคนที่รักในสิ่งเดียวกัน

 

“สังคมที่เราอยู่เป็นสังคมของคนที่รักการถ่ายภาพ หรือใช้การถ่ายภาพเป็นการพักผ่อนจริง ๆ ไม่ได้เน้นเอารูปไปขาย ซึ่งในสังคมนี้เขาไม่สนใจว่าเราเป็นตำแหน่งอะไร ทำอาชีพอะไร รวย-ไม่รวย เขาไม่สนใจว่าคุณใช้กล้องตัวท็อป ถ้าจะพูดถึงก็จะถามแค่ว่ามันดีไหม มันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ไหม จะเป็นเชิงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันมากกว่า และเราก็คอยให้กำลังใจกัน ลองทำแบบนี้ดูสิ ลองใช้อันนี้ดูสิ มันได้มิตรภาพผ่านการถ่ายภาพ เวลาคุยกันเราจะไม่พูดเรื่องส่วนตัวเลย มันก็เลยทำให้รู้สึกว่าเวลาไปกับพวกเพื่อน ๆ ถ่ายภาพมันรีแลกซ์ ทุกคนโฟกัสในเรื่องเดียวกัน และมันทำให้เราเป็นอิสระจากหัวโขนที่เรามีอยู่”

อย่างที่สองคือ การถ่ายภาพทำให้เธอได้ไปเจอโลกที่ชอบ ได้เดินทางไปยังที่ที่ไม่เคยไป และได้สังเกตสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ได้เปิดโลกทัศน์ และทำให้เข้าใจคำพูด-คำกล่าวต่าง ๆ ที่เคยได้ยินมาอย่างแจ่มแจ้ง

“หลาย ๆ เรื่องที่เราเคยได้ยินมา มันพิสูจน์ได้ตอนที่เราได้ใช้ชีวิตกับการถ่ายรูป เช่น ‘คุณจะเห็นดวงดาวสวยที่สุดเวลาที่ฟ้ามืดที่สุด’ มันเป็นคำพูดปลอบใจคนเวลาที่เราอยู่ในช่วงที่ตกต่ำที่สุด พอเราถ่ายรูปเราจะอินเข้าไปอีก หรือประโยคที่ว่า ‘ในน้ำเน่ายังมีเงาจันทร์’ เวลาที่เราถ่ายรูปออกมาเราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นน้ำเน่าหรือเปล่า แต่เราต้องการให้มันเป็นกระจกธรรมชาติที่สะท้อนภาพให้เกิดองค์ประกอบภาพที่ดี ถึงจะเป็นน้ำเน่ามันก็สะท้อนภาพได้เหมือนกับน้ำดี เพราะฉะนั้น บางครั้งในสิ่งแวดล้อมที่แย่ที่สุด ถ้าเรารู้จักเลือกใช้ธรรมชาติของมัน มันก็ยังสามารถทำประโยชน์ให้เราได้ ซึ่งถ้าเราไม่เป็นตากล้องเราก็ไม่รู้ ก็ได้แต่ฟังว่าคำพูดมันสวยดี”

อีกอย่างที่สำคัญคือ การถ่ายภาพทำให้รู้จักทำใจยอมรับในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ปลง” เพราะการถ่ายภาพขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อม สภาพดินฟ้าอากาศ และอีกหลายปัจจัยที่คนถ่ายภาพไม่สามารถควบคุมได้เลย

“เราตั้งใจจะไปถ่าย แต่พอถึงเวลาฝนตก หรือเราตั้งใจไปตามรูปที่เขาบอกว่าตรงนี้มีนกฮูกมีนกเค้าแมวอยู่ แต่พอถึงเวลามันย้ายรังไปแล้ว ก็ไม่เป็นไร เราก็ถ่ายใบไม้แทน ถ้าคนที่ทำใจไม่ได้หรือไม่รู้จักปลงไม่รู้จักปรับตัวก็จะอารมณ์เสีย คิดบวกลบความคุ้มค่าเป็นตัวเงินเลยว่าค่าน้ำมันมาเท่าไหร่ ค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาส แต่กลุ่มเราทุกคนพูดว่าเรามาถ่ายรูปคือเรามาพักผ่อน ไม่ได้รูปก็ไม่ซีเรียส ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่เขาคิดว่าต้องไปให้ได้ ต้องไปเก็บมุมนี้ ซึ่งในแก๊งเราไม่เป็นเลย ถ้าไปถึงแล้วฝนตกไม่มีแดดหรือมีอะไรที่ทำให้ถ่ายไม่ได้ก็ไม่ว่ากัน ถ่ายรูปไม่ได้เราก็กินก็นั่งคุยกัน เราไม่อารมณ์เสีย”

จากกล้อง 1 ตัวในตอนแรก ก็งอกเป็นเลนส์ เป็นอุปกรณ์ และกล้องตัวที่ 2-3-4… ตามมาอีกมากมาย

“การซื้อกล้องและการถ่ายภาพเหมือนเป็นการให้รางวัลตัวเอง” เธอว่า

หลังจากเข้าสมาคมและออกทริปถ่ายรูปมาหลายปี ศุภลักษณ์ได้รับโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตในปี 2560 คือ ได้รับเลือกให้ถ่ายภาพในงานพระราชพิธีพระบรมศพของในหลวงรัชกาลที่ 9 และตามมาด้วยการถ่ายภาพขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ 10 ในปี 2562

โอกาสทั้งสองนี้มาจากการที่เธอไปเป็นช่างภาพอาสาสมัครถ่ายภาพประชาชนที่ไปกราบพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้วภาพของเธอได้รับเลือกเป็น 1 ใน 99 ภาพที่กรมประชาสัมพันธ์เลือกไปจัดแสดง และจากนั้นก็ได้รับเลือกให้ถ่ายภาพในพระราชพิธี

“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสิริมงคลในชีวิต แต่ไม่ใช่ว่าเราประสบความสำเร็จในการเป็นตากล้อง เพราะไม่ได้คิดว่าจะถ่ายรูปไปเอารางวัล หรือทำให้เราเป็นคนเหนือกว่าคนอื่น ไม่คิดว่าการถ่ายรูปมันจะทำให้ฉันเป็นผู้บริหารที่เลิศกว่าคนอื่น ไม่ได้คิดแบบนั้น คนอื่นเขาอาจจะเล่นเปียโน หรือทำอะไรเราก็ไม่รู้กับเขาหรอก บางคนตีกอล์ฟ บางคนไปทำอะไรที่มันหรู ๆ รวย ๆ แต่เราไม่ใช่ เราลุย ๆ ยังไงก็ได้ แล้วก็ไม่ได้เอามาอวดใคร อย่างมากก็มาลงใน Facebook”

ศุภลักษณ์เล่านอกเหนือจากเรื่องถ่ายภาพไปนิดหนึ่งว่า เธอและครอบครัวไม่เสพติดของหรูหรา ยอมจ่ายตังค์กับของสวยงามบ้างแต่ไม่ถึงขนาดต้องเป็นแบรนด์เนมราคาหลักแสนหลักล้าน อย่างมากก็หลักหมื่นเท่านั้น เน้นที่ดีไซน์สวยถูกใจ ไม่ได้เน้นที่แบรนด์ ส่วนรถยนต์ไม่เคยซื้อใช้เองเลย ใช้รถประจำตำแหน่งมาตลอด ซึ่งเวลาออกทริปถ่ายรูปเธอจะบอกให้คนขับรถจอดส่งไกล ๆ แล้วเดินเข้าไปที่จุดนัดพบเอง เพราะไม่อยากรู้สึกแตกต่าง ไม่อยากให้คนอื่นเห็นว่านั่งรถที่ราคาสูง

เช่นกันกับการซื้อกล้อง เธอก็ไม่ได้คิดว่าต้องซื้อกล้องรุ่นใหม่รุ่นท็อป ถ้าจะซื้อกล้องดี ๆ ก็เพราะว่ามีเหตุจำเป็นต้องใช้งานให้ได้ความแม่นความเป๊ะ “สำหรับเราถ้าอยากถ่ายรูปวันนี้ใช้มือถือถ่ายก็ได้ กระบี่อยู่ที่ใจ เราก็ไม่ใช่สุดยอดฝีมือนะ แต่เราไม่ได้ยึดติดว่าฉันต้องได้ภาพที่ดีที่สุด เราถ่ายรูปเพราะเราอยากพักผ่อน แค่เดินออกไปนอกบ้านเจออะไรก็ถ่าย”

หลายครั้งที่ศุภลักษณ์ไปเที่ยวกับครอบครัว การถ่ายภาพของเธอก็จะกลายเป็นเหมือนกิจกรรมกระชับสัมพันธ์ในครอบครัวที่ลูกจะเข้ามามีส่วนร่วมโดยการช่วยแบกช่วยถืออุปกรณ์การถ่ายรูปของคุณแม่

“ถึงขั้นไข้ขึ้นต้องกินยาแก้ไข้ ต้องกินยาคลายกล้ามเนื้อเลย” เธอเล่าถึงสิ่งที่ร่างกายต้องแลกเมื่อออกทริปถ่ายภาพ และที่มากกว่านั้นเธอเคยเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มบนโขดหินในป่า ตามมาด้วยอาการแผลบวม ติดเชื้อในกระแสเลือด และต้องผ่าตัดคว้านเนื้อบริเวณแผลทิ้งขนาดประมาณก้นถ้วย นอนอยู่ในโรงพยาบาล 8 วัน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เข็ดแต่อย่างใด

“แม่ไปถ่ายรูปในที่อันตราย อย่างเช่น ที่ไปอินเดีย มองโกเลีย ไปบนดอยบนเขา เราก็ไม่อยากให้ไป มันอันตราย อยู่ที่นั่นก็ไม่สบาย กางเต็นท์นอนอากาศหนาว ๆ” ซินดี้-ปณิธิ ลูกสาวที่นั่งอยู่ข้าง ๆ เล่าวีรกรรมของคุณแม่ด้วยความเป็นห่วง

เจ้าตัวเล่าว่าทริปที่โหดที่สุดในชีวิตคือ ทริปลาดักห์ ตอนเหนือสุดของประเทศอินเดีย ที่รถต้องค่อย ๆ เคลื่อนไปตามถนนที่สูงที่สุดในโลก ทั้งแคบและคดเคี้ยวไปตามเทือกเขาและอยู่ริมหน้าผาไร้ที่กั้น เสี่ยงจะตกหน้าผาลงไปได้ทุกเมื่อ

“ระหว่างทางที่ไปก็เห็นว่ามีรถตกเหว” เธอว่า แต่ถึงแม้จะเห็นภาพน่ากลัวขนาดนั้นเธอก็ยังกลับไปอีกเป็นครั้งที่สอง

“ครั้งแรกถ่ายรูปเด็กที่ทะเลสาบแปงกอง เป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่อยู่สูงที่สุดในโลก ไปครั้งแรกหนาวมาก ๆ พอไปครั้งที่สองเตรียมตัวไปอย่างดี ไม่เป็นไข้ เราล้างอัดรูปเด็ก ๆ ที่เคยถ่ายไว้จะเอาไปให้เขา แต่ 3 ปีต่อมาเด็กโตหมดแล้ว และหาไม่เจอตัวเด็ก เจอหัวหน้าหมู่บ้านก็ฝากเขาไปแจก เราก็จะถ่ายรูปแบบไม่เสี่ยงเกิน มีเคสที่ภูฏานที่ถ่ายรูปแล้วตกลงไป แต่เราไม่ถึงขนาดนั้น ถ้าเสี่ยงมากก็คงไม่ เพราะอายุเยอะแล้ว” ศุภลักษณ์เล่าอย่างสนุกสนาน

“อันนั้นก็เสี่ยงมากแล้ว แต่ที่บ้านไม่มีใครว่า เพราะเรามองว่าเป็นสิ่งที่แม่ไม่ได้ทำเลยมาหลายปี” ลูกสาวแสดงความเห็น

ส่วนทริปที่ประทับใจที่สุดคือ ทริปราชสถาน ประเทศอินเดีย “ชอบมาก ชอบเพราะว่าเพื่อนร่วมทริปด้วยและวัฒนธรรมด้วย สถานที่ด้วย ไกด์เราเป็นเจ้าชาย ทุกที่ที่เราไปเหมือนเราได้นอนในวัง มันสวยมากและราคาไม่แพง ยิ่งเราชอบสถาปัตยกรรมเราจะชอบมาก มีตั้งแต่เห็นงานหิน งานปูน งานสี งานพุทธ งานอิสลาม

เราอยากจอดตรงไหนเราก็ชวนกันจอด ทริปนี้มันถูกใจ เพราะมันเป็นอย่างที่เราอยากเป็น แบบเนชั่นแนล จีโอกราฟิก คือเข้าไปถ่ายบ้านคนเลี้ยงวัวเลี้ยงแพะโบราณของอินเดียในย่านนั้น ซึ่งไกด์ไปติดต่อขอให้โดยไม่ต้องจ่ายตังค์ให้เขา แต่ว่าเราต้องเคารพเขาเท่านั้นเอง เราได้ไปเห็นของจริงว่าเขาอยู่ยังไง มันเป็นภาพวิถีชีวิตของคนตรงนั้นจริง ๆ ก็ชอบมาก

ที่ประทับใจมากเพราะว่าญาติของไกด์เรากำลังแต่งงาน เขาถามว่าอยากไปดูงานไหม เรายกมือคนแรกเลยว่าไป เพราะรู้ว่างานแต่งงานของอินเดียมันสวยมาก เขาจัดงาน 5 วัน วันที่เราไปเป็นวันที่ 3 เขาฉลองกันที่ fort ประดับไฟทั่วทั้ง fort เขารวยจริง ๆ ทุกคนแต่งตัวหล่อสวยมาก ๆ

พวกเราไปกัน 8 คน เราก็วางแผนกันว่าใครจะอยู่ตรงไหน แบ่งกันถ่าย พอวันที่เราจะกลับเราก็คัดภาพส่งให้เขา ญาติเขาฮือฮามากหลังจากที่เห็นรูปที่พวกเราส่งให้ พวกเราชอบถ่ายสารคดี มันได้ภาพที่เป็นภาพธรรมชาติและทีเผลอ หลังจากนั้นเราก็โด่งดังมาก มีแขกมาแอดเป็นเฟรนด์ใน Facebook เยอะมาก บางคนส่งข้อความมาคุยว่าจะไปอีกเมื่อไหร่ ยินดีมากเลย ไกด์ก็ยังทักมาถามว่าจะไปอีกไหม กำลังจะมีงานแต่งงานอีกแล้วนะ อันนี้คือทริปที่ประทับใจ” เธอเล่าพร้อมมีประกายในดวงตาสะท้อนความประทับใจสุด ๆ

“แต่เราก็ไม่ได้ขาดอีกฝั่งหนึ่งนะ ไม่ใช่ว่าเลิกทำงานแล้วไปเลย อันนี้เราไปเฉพาะเสาร์-อาทิตย์และวันหยุด เหมือนเรากลับมามีชีวิตวัยรุ่นอีกทีตอนได้ถ่ายรูป” เธอยืนยันว่ายังทำงานเต็มที่ แต่แบ่งเวลาวันหยุดไปเดินทางท่องโลกหลังจากที่ทำงานหนักและไม่ค่อยได้เดินทางในช่วงเวลาที่ลูก ๆ ยังไม่โต

นอกจากนั้นการถ่ายรูปยังส่งผลบวกต่อการทำงานด้วย ซีอีโอบริทาเนียบอกว่า เธอไปถ่ายภาพบ้านของบริทาเนียทุกโครงการ ซึ่งบางภาพที่เธอถ่ายก็ได้นำไปใช้ในการโปรโมตจริง

“การที่เราเป็นคนถ่ายภาพทำให้เราคุยกับทีมมาร์เก็ตติ้งได้ว่าชอบแบบนี้ไหม แบบนั้นไหม เราจะนำเสนอได้ แต่ขั้นตอนทำจริง ๆ ก็ใช้มืออาชีพ ส่วนที่เราใช้เรื่องการถ่ายภาพกับการทำงานก็คือ การสร้างทีม เวลามีประชุมใหญ่เรามาถ่ายรูปทีมของเรา มีแบ็กกราวนด์เป็นคลับเฮาส์สวย ๆ เขาก็ชอบกันมาก”

 

“ถ้าถามว่าหลักของการถ่ายภาพเอามาใช้ในการทำงานบริหารได้ไหม เราว่าได้นะ เหมือนที่เขาบอกว่าการทำกับข้าวก็นำมาปรับใช้ในการบริหารงานได้ คือคุณต้องวางแผนต้องเตรียมการและต้องมีกระบวนการที่ถูกต้องเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ต้องตรวจสอบว่าผลลัพธ์เป็นไปอย่างที่ว่าไหม ถ้าไม่ใช่ก็เป็นกระบวนการย้อนกลับไปปรับปรุงแก้ไข ตรงไหนที่มันไม่ใช่ เราวางแผนผิดหรือเปล่า หรือวิธีการผิด หรือองค์ประกอบที่เราใส่มันไม่ครบ มันขาดอะไรไป”

ในช่วงโควิด-19 ระบาด ออกทริปต่างประเทศไม่ได้ เธอก็ยังมีทริปถ่ายรูปในประเทศ หรืออาจจะแค่ในกรุงเทพฯ อย่างการไปถ่ายภาพหัวลำโพงเก็บบันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้ ก่อนที่สถานีรถไฟแห่งนี้จะปิดบริการ


“สำหรับตัวพี่ การถ่ายรูปเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการสร้างพลังบวกให้ชีวิตตัวเอง” คือคำสรุปสุดท้ายจริง ๆ ของผู้บริหารหญิงวัย 62 ที่ยังมีพลังทำงานและแบกกล้องอย่างกระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวา