ความฝันของคนรุ่นใหม่ อยากย้ายไปอยู่ต่างประเทศ มีทางไหนเป็นไปได้บ้าง

ไปต่างประเทศ

ในระยะหลังมานี้เห็นหลายคนออกมาแชร์ประสบการณ์การย้ายไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากคนรุ่นใหม่ ด้วยปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ เด็กจบใหม่มีรายได้ต่ำสวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ไหนจะปัญหาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่สั่งสมมานาน ทำให้ประเทศของเราเป็นประเทศที่ไม่น่าอยู่ สำหรับหลาย ๆ คน พอมาเจอกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกสิ้นหวัง มองไม่เห็นอนาคต การไปอยู่ในประเทศที่ดีและพัฒนากว่าจึงเป็นความฝันของหลาย ๆ คน

เมื่อพูดถึงเรื่องการย้ายประเทศซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ง่าย ๆ เหมือนการเก็บกระเป๋าเดินทางไปเที่ยว สำหรับคนที่มีแพลนจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

การเตรียมตัวและการวางแผนที่ดีถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แล้วการที่จะย้ายไปอยู่ต่างประเทศได้ควรเริ่มต้นอย่างไร “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวม 4 หนทาง ที่คุณจะสามารถย้ายไปอยู่ต่างประเทศได้

1.การลงทุนในต่างประเทศ

การได้มาซึ่งสิทธิการเป็นพลเมืองของประเทศที่เรามุ่งหวังจะไปพำนักอยู่แบบง่าย ๆ แต่ใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งน่าจะไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ครอบครัวไม่ได้ร่ำรวยมาแต่เดิม นั่นคือการเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หุ้นสามัญ ธุรกิจ หรือบริจาคเงินให้กับประเทศปลายทาง ซึ่งรัฐบาลของหลายประเทศมีโครงการมอบสัญชาติหรือวีซ่าให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในประเทศ โดยแต่ละประเทศก็จะมีเกณฑ์การลงทุนที่แตกต่างกัน

ยกตัวอย่าง ประเทศออสเตรเลีย จะต้องลงทุน 1.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 36 ล้านบาทขึ้นไป และมีความมั่งคั่งสุทธิ 2.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 60 ล้านบาท สำหรับการอยู่อาศัยและนำไปสู่การเป็นพลเมืองในที่สุด ขณะที่นิวซีแลนด์อีกหนึ่งประเทศที่เป็นที่นิยมในการย้ายถิ่นที่อยู่จะต้องลงทุนสูงถึง 10 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือประมาณ 225 ล้านบาท

สำหรับ สหรัฐอเมริกา นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนผ่าน Regional Center เริ่มต้นที่ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15 ล้านบาท จะได้วีซ่าประเภท EB-5 จากนั้นนักลงทุนและครอบครัวจะได้รับกรีนการ์ดสำหรับพักอาศัยในอเมริกา 2 ปี เมื่อผ่านไป 2 ปี การลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด สามารถสมัครขอเป็นผู้อยู่อาศัยอย่างถาวร (permanent resident) ในสหรัฐได้

นอกจากนี้หลายประเทศในสหภาพยุโรปมีโครงการอยู่อาศัยเพื่อการลงทุนบางประเภท เช่น ประเทศมอลตา บริจาคเงินให้กับกองทุนพัฒนาประเทศจำนวน 675,000 ยูโร หรือประมาณ 25 ล้านบาท และการซื้ออสังหาริมทรัพย์ 350,000 ยูโร หรือประมาณ 13 ล้านบาท จะได้รับสิทธิเป็นพลเมือง

2.การไปทำงานต่างประเทศ

วิธีย้ายไปอยู่ต่างประเทศอีกวิธีที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี คือการเข้าไปทำงานในประเทศนั้น ๆ ทำได้ด้วยการสมัครเข้าทำงานในบริษัทของต่างประเทศ หรืออาจจะใช้ทุนตัวเองในการเดินทางไป แล้วค่อยหางานทำต่อที่ประเทศปลายทาง เมื่อได้ทำงานตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และพักอาศัยอยู่ตามกำหนดของแต่ละประเทศก็สามารถสมัครเป็นพลเมืองได้

อย่างไรก็ตามการจะย้ายประเทศด้วยวิธีการเข้าไปทำงาน จะต้องดูทักษะที่ประเทศนั้น ๆ ต้องการ หากย้อนไปดูเมื่อ 30 ตุลาคม 2020 นายมาร์โค เมนดิซิโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และสิทธิพลเมืองแห่งแคนาดา (IRCC) ได้ประกาศแผนเปิดรับผู้อพยพชาวต่างชาติ ระหว่างปี 2021-2023 โดยเน้นไปที่แรงงานชั่วคราวในกลุ่มสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ปฏิบัติงานแนวหน้าเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และแรงงานชั่วคราวอื่น ๆ ที่จำเป็น รวมแล้วกว่า 1.2 ล้านคน เพื่อปูทางนำไปสู่การเป็นผู้พำนักถาวร (permanent residents) ในแคนาดา

ออสเตรเลีย ประเทศที่เปิดรับผู้คนจากทั่วโลก มีต่างชาติเข้าไปทำงานเป็นระยะเวลา 3 ปี สามารถทำเรื่องขอเป็นผู้พักอาศัยถาวร จากนั้นจึงจะสามารถสมัครเป็นพลเมืองได้ ซึ่งการได้มาซึ่งสัญชาติออสเตรเลียนอกจากจะได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่ภาครัฐมอบให้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ยังสามารถย้ายที่อยู่อาศัยไปประเทศนิวซีแลนด์ได้อย่างถาวรด้วย

ประเทศเยอรมนี ดินแดนที่หลายคนอยากไปเยือนและอยากอยู่อาศัยระยะยาว นอกจากการพักอาศัยจนครบ 3 ปี และการได้วีซ่าถาวรแล้ว สิ่งที่สำคัญสำหรับการยื่นขอสัญชาติเยอรมันเลยคือ การสอบ Einburgerungstest ให้ผ่าน ซึ่งเป็นข้อสอบวัดความรู้เกี่ยวกับการอยู่เยอรมนี โดยปกติแล้วกฎหมายเยอรมนีไม่อนุญาตให้ถือสองสัญชาติ แต่ปี 2012 ทางการเยอรมนีมีข้อยกเว้นให้คนไทยสามารถถือสองสัญชาติได้

นอกจากนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ประกาศจะให้สัญชาติแก่ชาวต่างชาติเป็นครั้งแรก โดย ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มัคตุม รองประธานาธิบดี ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมาว่า ได้แก้ไขกฎหมายเพื่อมอบสัญชาติให้กับนักลงทุน ผู้มีความสามารถพิเศษ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ วิศวกร ศิลปิน นักเขียน และครอบครัว ทั้งนี้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับรัฐกัลฟ์ ในฐานะศูนย์กลางการเงินและการท่องเที่ยว

3.การไปเรียนต่อต่างประเทศ

การไปเรียนต่อต่างประเทศและทำเรื่องขอสัญชาติ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่มีแพลนจะไปอยู่ต่างประเทศแบบถาวร อาจจะใช้ทุนตัวเองในการไปเรียนต่อ หากมีงบฯไม่มากพอในปัจจุบันหลายประเทศก็มอบทุนการศึกษาให้กับคนต่างชาติเข้าศึกษาต่อในสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศนั้น ๆ ทั้งในรูปแบบของทุนเต็มจำนวน ทุนที่ให้เฉพาะค่าเล่าเรียน ซึ่งอาจจะต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเทศที่เราจะไปเรียนต่อ เพราะมีเงื่อนไขที่ต่างกันออกไป

สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความหลากหลาย มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่งตั้งอยู่ที่นี่ เป็นโอกาสที่หลายคนอาจจะได้ทำงานต่อ อย่างไรก็ตามนักเรียนต่างชาติจะต้องออกจากสหรัฐอเมริกาทันทีหลังสำเร็จการศึกษา หรือสามารถอยู่ต่อได้อีก 1 ปี สำหรับการฝึกงาน ส่วนการขอสัญชาติของนักเรียนต่างชาติ ทำได้โดยการขอวีซ่าประเภท H1B เป็นวีซ่าทำงานสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแขนงต่าง ๆ จากนั้นจึงจะสามารถสมัครกรีนการ์ดได้

ออสเตรเลีย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศที่เหมาะกับการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แม้ว่ามหาวิทยาลัยในออสเตรเลียจะมีค่าเล่าเรียนสูง แต่ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำหรับนักเรียนต่างชาติในการย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะชาวเอเชียใต้ เนื่องจากในปี 2013 ออสเตรเลียเปลี่ยนนโยบายวีซ่าสำหรับนักเรียนที่จะอนุญาตให้ทำงานนอกเวลา และอาศัยอยู่ในออสเตรเลียได้นานถึง 5 ปี

สิงคโปร์ ประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว มีระบบการศึกษาที่ไม่แพ้ชาติไหนในโลก และอยู่ไม่ไกลจากประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับคนไทยที่ต้องการย้ายไปเรียนต่อและอยู่ถาวร จากสถิติตั้งแต่ปี 2008-2017 มีนักศึกษาต่างชาติ 7,251 คน สมัครเป็นผู้พำนักถาวร ซึ่ง 5,932 คน หรือเกือบ 82% ของผู้สมัครได้เป็นผู้พำนักถาวร และต่อมานักศึกษาต่างชาติ 1,072 คน ในจำนวนนั้น หรือคิดเป็น 18% ได้เปลี่ยนสถานะเป็นพลเมืองในปลายปี 2017

4.การแต่งงาน และ/หรือให้ญาติสัญชาตินั้นรับรอง

วิธีสุดท้ายในการย้ายประเทศและกลายเป็นพลเมืองของประเทศที่เราตั้งใจไว้คือ การแต่งงานกับคนสัญชาตินั้น ๆ หรือให้ญาติใกล้ชิดทางสายเลือดที่ถือสัญชาตินั้นอยู่แล้วเป็นผู้ยื่นเรื่องขอสัญชาติให้ อย่างการขอกรีนการ์ดในอเมริกา ฟังดูเหมือนจะง่าย ซึ่งแต่ละประเทศก็มีข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ที่ต่างกัน

สวิตเซอร์แลนด์ ดินแดนในฝันของใครหลาย ๆ คน นอกจากธรรมชาติที่สวยงามแล้ว เรื่องของรัฐสวัสดิการก็ถือว่าดีติดอันดับต้น ๆ ของโลก การแต่งงานกับชาวสวิสทำให้เราได้วีซ่าเข้าไปพักอาศัย แต่การได้สัญชาติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยมีข้อกำหนดว่า จะต้องแต่งงานกับชาวสวิสมาแล้วนานกว่า 3 ปี และต้องพักอาศัยอยู่สวิตเซอร์แลนด์นานกว่า 5 ปี จึงจะสามารถยื่นขอสัญชาติได้ ทั้งนี้ยังต้องผ่านการสอบ การสัมภาษณ์กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ก็คุ้มค่าหากเทียบกับสิทธิประโยชน์ในการเดินทางเข้าออกมากกว่า 155 ประเทศโดยไม่ต้องใช้วีซ่า รวมถึงสามารถเรียน ทำงาน และพำนักอาศัยใน 27 ประเทศทั่ว EU

สวีเดน หนึ่งในประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสูงมาก การยื่นขอเป็นพลเมืองสวีดิชจากการแต่งงาน มีข้อกำหนดว่า จะต้องอยู่กินกับคู่สมรสมากกว่า 2 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถยื่นขอวีซ่าอยู่อาศัยถาวร Permanent Residence Permits (PUT) ได้ และจะต้องทำใหม่ทุก ๆ 5 ปี เหมือนกับบัตรประชาชน