ก้าวใหญ่ ๆ ใช้ใจเริ่ม กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร

กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร
สาโรจน์ มณีรัตน์ : เรื่อง 
สุทธิพจน์ เพชรแสน : ภาพ

อาจเป็นเพราะแบ็กกราวนด์ของ “กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร” ผู้เขียนหนังสือ “ก้าวใหญ่ ๆ ใช้ใจเริ่ม” ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่ 5 ในชุดธุรกิจพอดีคำ อันเป็นชื่อเดียวกับคอลัมน์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ที่เขาเป็นผู้เขียน ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจ 8 บรรทัดครึ่ง, พอดแคสต์, บล็อกดิท, ช่องยูทูบ และอื่น ๆ ในชื่อเดียวกันที่มีแฟนานุแฟนติดตามเป็นจำนวนกว่าล้านครั้ง เคยผ่านโครงการบ่มเพาะนวัตกร Design Leadership จาก Stanford d.school ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทั้งยังเคยเป็นหัวหน้าทีม Express Solution (Innovation Lab) ของกลุ่ม ปตท. ด้วยการนำกระบวนการสร้างนวัตกรรมจากซิลิคอน วัลเลย์ โดยเฉพาะเรื่อง “design thinking” มาปรับใช้กับการสร้างธุรกิจใหม่ให้กับองค์กร ที่สำคัญเขายังเป็นหนึ่งในทีมงานก่อตั้งกองทุน Venture Capital เพื่อเสาะแสวงหาเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับ ปตท.อีกด้วย

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ “กวีวุฒิ” เสมือนเป็น “ผลผลิต” ทางด้าน “นวัตกร” คนแรก ๆ ของประเทศไทย เพราะต่อจากนั้นไม่นาน จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เขานำวิชาความรู้ดังกล่าวเข้ามารับหน้าที่หัวหน้าทีมนวัตกรสร้างธุรกิจใหม่ (venture builder) ให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในส่วนงานที่มีชื่อว่า “SCB 10 X”

 

ขณะที่อีกทางหนึ่ง “กวีวุฒิ” ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและออกแบบแนวทางการสอนของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษเพื่อสอนวิชานวัตกรรม (Design Thinking for Business Innovation) ให้แก่เหล่าบรรดานิสิตที่สนใจเรื่องเหล่านี้

ผลเช่นนี้จึงทำให้เขานำประสบการณ์ที่มีมาทั้งหมด ทั้งจากการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีมาผนวกเข้ากับองค์ความรู้ทางด้านนวัตกรจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และอื่น ๆ เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านี้มาย่อยลงในเฟซบุ๊กเพจ 8 บรรทัดครึ่ง, พอดแคสต์, บล็อกดิท, ยูทูบ และในคอลัมน์ธุรกิจพอดีคำ

กระทั่งกลายเป็นหนังสือต่าง ๆ มากมาย

แต่สำหรับ “ก้าวใหญ่ ๆ ใช้ใจเริ่ม” เป็นผลงานลำดับที่ 5 ของชุดธุรกิจพอดีคำที่ “กวีวุฒิ” บอกว่า…ก้าวใหญ่ ๆ ของมนุษยชาติมิได้เริ่มด้วยคนตัวใหญ่ที่มีอำนาจทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เกิดจากหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็ก ๆ ทุกคนต่างหาก

สำคัญกว่านั้น “กวีวุฒิ” เชื่อว่า…มหาสมุทรแห่งโอกาสใหม่ ๆ โดยเฉพาะในท่ามกลางวิกฤตขณะนี้ จะถูกแหวกออกเพื่อต้อนรับคนที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น

ฟังดูแล้วเหมือนเป็นปรัชญาที่ใคร ๆ ก็พูดเอาเท่ได้

แต่ทางกลับกัน “กวีวุฒิ” บอกว่า…ยุคนี้เรื่องของทักษะหาไม่ยาก แต่คนที่จะสามารถทำอะไรได้จริง ๆ คือคนที่กล้าลอง ถามว่าในท่ามกลางวิกฤตขณะนี้ จะมีคนกล้าลองอะไรใหม่ ๆ สักกี่คน เพราะผ่านมาเรา ๆ ท่าน ๆ ต่างเห็นแล้วว่าขนาดคนที่เคยประสบความสำเร็จ ยังล้มเหลวไม่เป็นท่า แล้วใครจะกล้าลองของใหม่

“สำหรับความคิดของผม, ผมอยากยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งให้ฟัง เขาชื่อ แลร์รี เพจ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท กูเกิล ที่อธิบายบอกว่า หลายครั้งการทำอะไรให้ดีขึ้น 10 เท่า อาจจะง่ายกว่าการคิดจะทำให้ดีขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ หลายคนงงว่า 10 เท่ามันจะง่ายกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ได้อย่างไร ผมอธิบายอย่างนี้ ถ้าคุณเป็นเจ้าของโรงน้ำแข็ง คุณอยากมีกำไรเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ คุณต้องทำอย่างไร”

“แน่นอน คุณคิดว่าจะหาลูกค้าเพิ่มได้อย่างไรอีก 10 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะหาวิธีลดค่าใช้จ่ายอย่างไรให้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับธุรกิจโรงน้ำแข็งนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันง่าย ๆ แต่ถ้าลองนึกใหม่ว่าเราอยากจะเพิ่มกำไรให้ได้ 10 เท่า สำหรับโรงน้ำแข็งที่ทำอยู่ทุกวันนี่แหละ เมื่อได้รับโจทย์ที่ดูบ้าบอนี่แล้ว สมองจะสั่งการทันที ลดค่าใช้จ่ายให้ตายยังไง เพิ่มฐานลูกค้าให้ได้สักแค่ไหน ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 10 เท่า”

ทางเดียวที่ทำได้คือคิดนอกกรอบ

“กวีวุฒิ” อธิบายแนวคิดของ “แลร์รี เพจ” ให้ฟังต่อว่า…ลูกค้าต้องการน้ำแข็งใช่ไหม ?

“ลูกค้าไม่ได้ต้องการซื้อน้ำแข็งจากโรงน้ำแข็ง เหมือนช่างก่อสร้างไม่ได้ต้องการสว่าน แต่เขาต้องการรูที่กำแพงต่างหาก ก็เหมือนลูกค้าต้องการน้ำแข็งทุกที่ ทุกเวลา ทำไมเราถึงไม่ทำตู้เย็นขายล่ะ ธุรกิจใหม่ โอกาสเติบโตย่อมมีมากกว่า แน่นอนว่าอาจมีอุปสรรค แต่ความเป็นไปได้ของกำไร 10 เท่า ก็เริ่มจะเห็นราง ๆ เพราะการคิดใหญ่ไม่ได้ทำให้งานง่ายขึ้น แต่ทำให้กรอบความคิดเดิม ๆ หายไปต่างหาก นี่คือสาเหตุว่าทำไมการคิดใหญ่ 10 เท่า จึงทรงพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงมาแล้วนักต่อนัก”

นอกจากนั้น “กวีวุฒิ” ยังยกตัวอย่างของ “อีลอน มัสก์” ผู้ประกอบการ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ธุรกิจหลายประเภทมานักต่อนัก ไม่ว่าจะเป็นเพย์พาล (PayPal) บริการโอนเงินโดยไม่ต้องผ่านธนาคาร, เทสลา (Tesla) รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ และที่คนทั่วไปอาจไม่ได้พูดถึงกันมากเท่าที่ควรคือสเปซเอ็กซ์ (SpaceX)

“อีลอน มัสก์เชื่อสนิทใจว่ามนุษยชาติไม่ควรจะมีชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์ดวงเดียว มันมีความเสี่ยงเกินไป มนุษย์ควรจะสามารถเดินทางข้ามอวกาศไปสู่ดาวดวงใหม่ได้ ไป ๆ กลับ ๆ ย้ายไป ย้ายมา เหมือนย้ายบ้านได้ สิ่งนี้จะทำให้มนุษยชาติอยู่รอดได้ไปอีกนานแสนนาน เขาเชื่อว่าดาวอังคารเป็นปลายทางเหมาะสมที่สุด เขาอยากจะไปใช้ชีวิตบั้นปลายของตัวเองที่ดาวอังคาร เพราะทุกวันนี้ จรวดที่ส่งคนออกไปนอกโลกนั้น ราคาแพงจนเกินจริง”

“เขาทนไม่ได้ ก็เลยก่อตั้งสเปซเอ็กซ์ขึ้น ด้วยการทำจรวดที่สามารถใช้ใหม่ได้ จุดระเบิด ติดจรวด ส่งยานอวกาศออกไปนอกโลก แล้วจรวดนั้นก็สามารถจะบินกลับมาจอดที่เดิมได้ เติมเชื้อเพลิงใหม่ ก็สามารถใช้ปล่อยยานอวกาศออกไปได้อีกรอบ ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายการปล่อยจรวดได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน และตอนนี้ลูกค้าหลักของเขาคือนาซ่า (Nasa) นั่นเอง”

“กวีวุฒิ” บอกต่อว่า ปัจจุบันอีลอน มัสก์อยากทำจรวดส่งคนเดินทางข้ามทวีป จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ที่ไหนก็ได้ในโลก เดินทางถึงกันภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที สำหรับดาวอังคารคงไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะเขาอยากสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่การจะสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ต้องเริ่มต้นที่การคิดใหญ่ด้วย

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่รากฐานความคิดของหนังสือ “ก้าวใหญ่ ๆ ใช้ใจเริ่ม” จึงล้วนมาจากการมองไปข้างหน้าทั้งสิ้น เพียงแต่การมองไปข้างหน้าในแต่ละบทที่มีเนื้อหาซุกซ่อนความคิดอยู่ทั้งหมด 20 บทด้วยกัน ไม่ได้มาจากรากฐานความคิดของ “กวี” แต่เพียงถ่ายเดียว

หากมาจากประสบการณ์การอ่านหนังสือตลอดมา, ประสบการณ์การทำงาน และประสบการณ์จากการนำตัวเองเป็น “คนกล้าลอง” จึงทำให้เขานำมาต่อยอดทางความคิด กระทั่งทำให้หนังสือ “ก้าวใหญ่ ๆ ใช้ใจเริ่ม” ไม่เพียงเป็นหนังสือฮาวทูที่มีหลากรสชาติ

หากยังเป็นคัมภีร์บริหารคน

บริหารตัวเอง

และบริหาร “ความฝัน” ของคนทุกรุ่น ที่ล้วนไม่ยอมหยุดแพ้ “ความท้าทาย” ในกาลข้างหน้า

ซึ่งคงเป็นดั่งที่เขาบอก…ก้าวใหญ่ ๆ ของมนุษยชาติ มิได้เริ่มด้วยคนตัวใหญ่ที่มีอำนาจทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เกิดจากหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็ก ๆ ทุกคนต่างหาก

คนตัวเล็ก ๆ ที่ใช้ใจเริ่มต้นเพื่อก้าวไปสู่สิ่งใหญ่ ๆ