คิว ไบโอซายน์ พลิกเกมธุรกิจชุดตรวจหาเชื้อ เกาะโควิด-19 สร้างโอกาสใหม่

ใคร ๆ ก็ว่าช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น น่าจะเป็นโอกาสทองของธุรกิจอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่อาจได้รับอานิสงส์นี้ไปเต็ม ๆ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะธุรกิจในกลุ่มนี้ก็มีส่วนที่ “ได้ประโยชน์” และ “ได้รับผลกระทบ” จากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน

“ดีไลฟ์ ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักธุรกิจที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ได้รับผลกระทบ” แต่สามารถพลิกกระแสจากลบมาเป็นบวกได้

ธีราพงศ์ สุทธิพงศ์ธนาภัทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิว ไบโอซายน์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า บริษัทในฐานะตัวแทนจำหน่ายกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่แรกเริ่มเดิมทีก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้หลัก ๆ กว่า 50% ของบริษัท มาจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุปกรณ์ชุดตรวจเชื้อต่าง ๆ อาทิ ชุดตรวจหาเชื้อไวรัส HIV (เอดส์), ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี, ชุดตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย และชุดตรวจเชื้อ HPV (คัดกรองมะเร็งปากมดลูก) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ Abbott Molecular

ธีราพงศ์ สุทธิพงศ์ธนาภัทร

พอเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานการณ์ของบริษัทก็เริ่มเปลี่ยนไป เนื่องจากโรคต่าง ๆ ข้างต้นนั้นเป็นโรคที่อาจจะยังไม่ฉับพลันทันด่วนในการตรวจหาเชื้อ เมื่อเทียบกับโควิด-19 ที่ต้องเร่งตรวจและรับการรักษา ดังนั้น แพทย์จึงเลื่อนการตรวจรักษาออกไป ส่งผลให้ปริมาณความต้องการชุดตรวจเชื้อต่าง ๆ ในโรงพยาบาลจึงลดลงโดยปริยาย

ทำให้บริษัทต้องขยับขยายธุรกิจไปยังกลุ่มชุดตรวจคุณภาพอาหารในโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่หลัก ๆ ยังคงโฟกัสในกลุ่มเฮลท์แคร์ (health care) อยู่ และมองโอกาสที่จะขยายไปยังผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค

กระทั่งล่าสุดบริษัทได้แนะนำโซลูชั่นของแบรนด์ Abbott Molecular ซึ่งสามารถขยายการทดสอบบนเครื่องมือที่มีอยู่เดิม และเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบัน สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคในกลุ่มโควิด-19 (COVID-19 solution) ซึ่งประกอบด้วย 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่

1.ชุดจัดเก็บสิ่งส่งตรวจ

2.ชุดตรวจหาเชื้อไวรัส

3.ชุดตรวจภูมิคุ้มกันแบบรวดเร็ว

4.ชุดควบคุมคุณภาพระหว่างทดสอบ

ทั้งนี้ โซลูชั่นดังกล่าวช่วยสนับสนุนการทำงานทางห้องปฏิบัติการของทีมแพทย์ให้สามารถตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทีมแพทย์สามารถตรวจผู้ป่วยเชิงรุกและรับมือการแพร่ระบาดทั้งในรูปแบบ วงจำกัด และวงกว้าง โดยมีประสิทธิผลด้านความรวดเร็วและแม่นยำในการคัดกรองโรค

ทั้งนี้ ชุดตรวจภูมิคุ้มกันแบบรวดเร็วของบริษัทถูกนำไปใช้ที่สนามบินบุรีรัมย์ และบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต, อุดรธานี, สกลนคร ซึ่งใช้ในการตรวจคัดกรองคนเข้าจังหวัด หรือใช้ก่อนเข้าสถานพินิจ

“ที่สำคัญ คือโซลูชั่นดังกล่าวของบริษัทจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ดีขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ เนื่องจากปกติตัวอย่างเชื้อที่เก็บมามีโอกาสที่จะกระจายและแพร่เชื้อต่อทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยง แต่ด้วยโซลูชั่นของบริษัทมีนวัตกรรมครบทั้งกระบวนการทำให้ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์”

นอกจากนั้นยังได้มีการรับรองจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยได้มีการแถลงข่าวร่วมกัน ในวันที่ 17 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา

นายแพทย์อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัจจุบันชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 (SARS CoV-2) ได้รับการขึ้นทะเบียน (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มิ.ย. 2564) ทุกชนิดรวมกันมากกว่า 100 ยี่ห้อ ซึ่งการเลือกใช้เครื่องมือการตรวจโควิด-19 ในรูปแบบต่าง ๆ จะถูกปรับให้เหมาะสมตามแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา และปัจจุบันในประเทศไทยมีแล็บกว่า 315 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้มีการประสานงานในการสำรวจสต๊อกชุดตรวจให้มีการรายงานทุกวันศุกร์ ซึ่งยังมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ

ถ้าจะกล่าวสรุปทิ้งท้าย โซลูชั่นดังกล่าวถือเป็นอีกทางเลือกในการใช้ตรวจหาเชื้อและหาภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งคิว ไบโอซายน์ โฟกัสไปยังกลุ่มโรงพยาบาล และหน่วยบริการทางการแพทย์จำนวนกว่าร้อยแห่งทั่วประเทศ

หากลองมองย้อนกลับไปที่ คิว ไบโอซายน์ ในมุม “ได้รับผลกระทบ” จากสถานการณ์โควิด-19 และพลิกเกมให้เป็นโอกาสต่อยอดธุรกิจจนถึงนาทีนี้ ถือว่า “สำเร็จ” ในการเพิ่มขีดความสามารถและช่วยดูแลคุณภาพชีวิตบุคลากรทางการแพทย์ได้