เปิดน่านฟ้าอันดามัน ภูเก็ต…ไข่มุกแห่งเอเชีย Next & New Normal

สองเราเคียงคู่ : เรื่อง

นับเป็น “ข่าวดี” ของนักเดินทางและนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่จะมีโอกาสได้มาสัมผัส “ภูเก็ต” เกาะสวรรค์อีกครั้ง เมื่อรัฐบาลไทยประกาศแผนเปิดน่านฟ้าครั้งแรก “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ : Phuket Sandbox” วันที่ 1 กรกฎาคม 2564

จังหวัดภูเก็ตถูกเลือกให้เป็น “โมเดลต้นแบบ” เพื่อต้อนรับนักเดินทางจากทั่วโลกที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว และแสดงผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19

ทำไมต้องภูเก็ต

ย้อนไปเมื่อ 26 มีนาคม 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เห็นชอบ “ข้อเสนอ” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบแล้ว และมีผลตรวจเป็นลบ โดยให้เดินทางเข้าไทยได้ในพื้นที่นำร่อง คือ จังหวัดภูเก็ต โดยไม่มีการกักตัวและอยู่ในภูเก็ตเป็นเวลา 7 วัน (ล่าสุด 14 วัน) ก่อนออกเดินทางไปพื้นที่อื่น ๆ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

ทั้งย้ำให้เป็น “วาระจำเป็นเร่งด่วน” เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ พร้อมผลักดันทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมโดยเฉพาะภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็น “ฟันเฟือง” หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนกลับมาโดยเร็ว

ต้องยอมรับว่า จากมาตรการปิดน่านฟ้ารับมือโควิด-19 ระบาด อุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ตได้รับผลกระทบหนักที่สุดเท่าที่เคยเจอ จากที่เคยช้ำหนักจากภัยธรรมชาติ “สึนามิ” แต่รอบนี้รุนแรงเกินคาด เหมือนเลือดไหลไม่หยุด

เพราะภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลักที่สร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมหาศาล รองแค่กรุงเทพฯเมืองหลวงเท่านั้น จากข้อมูล ททท.ระบุว่า ก่อนโควิดระบาดภูเก็ตเคยทำเงินในปี 2562 สูงถึง 4.7 แสนล้านบาทจากนักท่องเที่ยวรวม 14 ล้านคน แยกเป็นชาวต่างชาติ 10 ล้านคน ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวคนไทย เท่ากับ “ภูเก็ต” ต้องพึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 80%

เมื่อไทยจำใจต้องปิดน่านฟ้าแบบหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาภูเก็ตจึงแทบเป็นศูนย์ รายได้นับแสนล้านบาทหายวับไปทันที ส่งผลให้อุตสาหกรรม “บริการ” กระทบเป็นโดมิโน ตั้งแต่สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร รถตู้ รถทัวร์ เรือท่องเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก มัคคุเทศก์ รวมไปถึงร้านสปา-ร้านนวดแผนไทยที่มีมากที่สุดในจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

เฉพาะธุรกิจโรงแรมมีซัพพลายมากกว่า 2,000 แห่ง รวมจำนวนห้องมีมากกว่า 1 แสนห้อง แม้ราคาห้องพักของที่นี่จะสูงเป็นพิเศษ แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมรับได้เมื่อเทียบกับราคาจากตลาดโลก สะท้อนว่าภูเก็ตต้องมีอะไรดี และนักท่องเที่ยวล้วนตั้งใจจะมาเที่ยวซ้ำ และอยู่นานเป็นสัปดาห์เป็นเดือน

ทำให้ “อสังหาริมทรัพย์” ในภูเก็ตเติบโตตามภาคบริการ

บ้านหรู คอนโดฯเริด ราคา 10 ล้านอัพ 50 ล้าน และ 100 ล้าน นับพันนับหมื่นหน่วย ถูกพัฒนาขึ้นเป็นดอกเห็ด ราวกับเป็น “เกาะสวรรค์” ของต่างชาติ จนกลายเป็นโซนนิ่งต้อนรับ “นักลงทุน-นักธุรกิจ” นอกจากนักท่องเที่ยว

เป้าหมายหนึ่งของการฟื้นเศรษฐกิจในภาพใหญ่ รัฐบาลต้องการดึงต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ภายใต้เงื่อนไขที่เปิดกว้าง โดยถือครองที่ดินได้ในระยะยาว เหมือนการเช่าเซ้ง ซึ่งภูเก็ตถือเป็นเป้าหมายหนึ่งเช่นกัน

เที่ยววิถีใหม่

การท่องเที่ยวรอบใหม่จะเป็นในสไตล์ next & new normal ที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตปกติได้อย่างอิ่มเอมและสนุกสนาน แต่ต้องดูแลตัวเองให้ปลอดโรคปลอดเชื้อตามมาตรฐานสาธารณสุข

ที่สำคัญทุกคนต้องเปิดใช้งานแอปพลิเคชั่นมือถือ ThailandPlus

นักเดินทางที่เข้าร่วม Phuket Sandbox ต้องยื่นขอ Certificate of Entry (COE) หรือใบรับรองในการเดินทางเข้าประเทศไทย เช่นเดียวกับทุกคนที่เดินทางมาไทยในช่วงโควิด-19

ผู้โดยสารต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทาง โดยวัคซีนต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของไทย หรือได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และต้องส่งหลักฐานการฉีดวัคซีนเมื่อลงทะเบียน COE

ชาวต่างชาติต้องมีวีซ่าและกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ในจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้ที่เดินทางเข้าไทยสามารถคลิกซื้อแพ็กเกจประกันภัยพิเศษ AXA Thailand insurance ทางออนไลน์ได้ง่าย ๆ

ความสำเร็จของ Phuket Sandbox ขึ้นอยู่กับผลการฉีดวัคซีนด้วย ภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้คนภูเก็ตต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ประมาณ 70% ของประชากร เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หรืออย่างน้อย 466,000 คนที่อาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ตควรได้รับการฉีดวัคซีน 933,000 โดส ภายในเดือนมิถุนายน 2564 โดยเฉพาะประชาชนภาคการท่องเที่ยวรัฐตั้งเป้าฉีดให้ครบ 100%

แม้ภูเก็ตจะเป็นพื้นที่ทดลองการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว แม้จะมีความมั่นใจผสมความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่รัฐบาลมองว่า “เอาอยู่” เพราะภูเก็ตเป็นเกาะสามารถควบคุมการเข้าออกได้ ถ้าเกิดอะไรขึ้น

ซึ่งไทยจะเปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และต้องพักอาศัยในภูเก็ตอย่างน้อย 14 วันก่อนจะไปเที่ยวในพื้นที่อื่นต่อ และต้องมีระบบตรวจโรค ระบบติดตามตัวตามนโยบายที่เข้มข้น

ภูเก็ตดังกว่าไทยและกรุงเทพฯ

ชื่อชั้นของ “ภูเก็ต” ในสายตานักท่องเที่ยวทั่วโลก ถ้าจะพูดแบบตรงไปตรงมา คนทั่วโลกอาจรู้จัก “ภูเก็ต” มากกว่า “กรุงเทพฯ” และ “ประเทศไทย”

เพราะความที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย ทั้งแหล่งธรรมชาติ, สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมทางอาหาร ภูเก็ตจึงถูกขนานนามว่า “ไข่มุกอันดามัน”

จากผลสำรวจ The World’s 30 Best Places to Visit in 2020-21 ซึ่งเป็นการจัดอันดับ 30 สถานที่ท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก โดย US News & World Report สำรวจความเห็นของประชากรชาวอเมริกัน ซึ่งได้วิเคราะห์ปัจจัยด้านต่าง ๆ ของการจัดอันดับในแต่ละสถานที่ อาทิ แหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม, อาหาร, ความสะดวกสบายในการเดินทาง ฯลฯ พบว่า

ภูเก็ต ติดอันดับ 1 ใน 10 หรือ top 10 สถานที่ท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2563-2564

1.เกาะใต้, ประเทศนิวซีแลนด์ (South Island, New Zealand)

2.ปารีส, ประเทศฝรั่งเศส (Paris, France)

3.เกาะโบรา โบรา, ประเทศเฟรนช์โปลินีเซีย หรือดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส (Bora Bora Island, French Polynesia)

4.อุทยานแห่งชาติเกลเชอร์, ประเทศสหรัฐอเมริกา (Glacier National Park, United States of America หรือ USA)

5.ลอนดอน, ประเทศอังกฤษ (London, England)

6.เกาะเมาวี, ประเทศสหรัฐอเมริกา (Maui Island, United States of America หรือ USA)

7.เกาะตาฮิติ, ประเทศเฟรนช์โปลินีเซีย หรือดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส (Tahiti Island, French Polynesia)

8.โตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น (Tokyo, Japan)

9.โรม, ประเทศอิตาลี (Rome, Italy)

10.ภูเก็ต, ประเทศไทย (Phuket, Thailand)

3 จุดเช็กอิน ถ้าไม่มาเหมือนมาไม่ถึง

จุดแรก “แหลมพรหมเทพ” จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่ถือว่าสวยที่สุดในไทย ตั้งอยู่ตอนใต้ของเกาะ มีลักษณะเป็นแหลมโขดหินลาดลงสู่ทะเล เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งประดิษฐานที่บริเวณประภาคารกาญจนาภิเษก แหลมพรหมเทพ และประภาคารแห่งนี้ยังใช้เป็นเครื่องหมายในการเดินเรือ เนื่องจากภูเก็ตเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของเส้นทางคมนาคมทางทะเล และบอกถึงเวลาพระอาทิตย์ตกดินของไทย

จุดที่สอง คือ “พระใหญ่เมืองภูเก็ต” พระพุทธรูปประจำเมือง ปางมารวิชัย ศิลปะแบบร่วมสมัย ขนาดหน้าตักกว้าง 25.45 เมตร สูง 45 เมตร ประดับผิวด้วยหินอ่อนหยกขาว “สุริยกันต” (สุริยกันตะ) จากพม่า น้ำหนักเฉพาะหินอ่อนหยกขาว 135 ตัน ประดิษฐาน ณ พุทธอุทยานยอดเขานาคเกิด ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต

จุดที่สาม คือ “ย่านเมืองเก่าภูเก็ต” ชมประวัติศาสตร์และความรุ่งเรืองในอดีต อาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีส เอกลักษณ์ที่โดดเด่นตามถนนในตัวเมือง ล่าสุดคนไทยรุ่นใหม่นิยมมาเช็ก (อิน) แชะ ชิม มากขึ้นเรื่อย ๆ

อาหารอร่อย

มาถึงภูเก็ตแล้วอาหารที่ต้องลิ้มลองมีทั้งสตรีตฟู้ด, อาหารพื้นบ้านขึ้นชื่อ เมนูตระกูลแกง แกงไตปลา, แกงเหลือง, ขนมจีนน้ำยาปู ให้รสชาติร้อนแรง ถูกปากถูกใจผู้มาเยือน

เมนูเส้น หมี่ฮกเกี้ยน เป็นเส้นหมี่เหลืองเหนียวนุ่มผัดกับเครื่องและใส่ไข่ รสชาติออกแนวกึ่ง ๆ ราดหน้า แต่มีรสชาติเฉพาะตัว ควรค่าแก่การชิมมาก

เมนูสตรีตฟู้ดที่หารับประทานได้ง่าย สะดวก เช่น ข้าวต้มแห้ง, ติ่มซำ ร้านดังของที่นี่ต้องต่อคิว เข้าแถวรอเลยทีเดียว

ของฝากที่ทุกคนต้องซื้อมี น้ำพริกกุ้งเสียบ, ไตปลาแห้ง, ขนมเต้าส้อ, อาหารทะเลสดแปรรูป และถั่วอบแห้ง ทั้งเม็ดมะม่วงหิมพานต์, อัลมอลด์, พิสตาชิโอ ผลิตผลพื้นถิ่นที่ชาวบ้านหอบหิ้วมาขาย หรือนำส่งร้านค้า

ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ถือเป็น “พิมพ์เขียว” ชิ้นประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่ลุ้นตามไทม์ไลน์ แต่หมายถึง “เม็ดเงิน” ที่คาดหวังจะหลั่งไหลเข้ามามหาศาลเหมือน 15 ปีที่ผ่านมา