ล้ง 1919 ท่าเรือประวัติศาสตร์ เล่าขานตำนานจีนบนแผ่นดินสยาม

“ล้ง 1919” หรือว่า ล้ง มาจากชื่อเดิม “ฮวย จุง ล้ง” ที่แปลจากภาษาจีนว่า ท่าเรือกลไฟ ซึ่งชาวจีนในอดีตนิยมมาเทียบท่าเพื่อทำการค้าและย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในเมืองไทย ส่วนตัวอาคารของท่าเรือใช้ทำเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง และอีกหลายประเทศ โดยล้ง อยู่บริเวณสุดถนนเชียงใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย-เยาวราช ปัจจุบันเป็นที่รู้จักในนามโกดังบ้าน “หวั่งหลี” ตระกูลที่เคยทำธุรกิจค้าข้าวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ล้งถูกสร้างขึ้นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ปี พ.ศ. 2393 (ค.ศ. 1850) ในรัชกาลที่ 4 โดย พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) แต่ต่อมาการท่าเรือเข้ามามีบทบาททางการค้ามากขึ้น ท่าเรือล้ง จึงลดบทบาทลงในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่ นายตัน ลิบ บ๊วย (ต้นตระกูลหวั่งหลี) เข้ามาถือครองและรับช่วงต่อจาก “ตระกูลพิศาลบุตร” หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีการปรับเปลี่ยนท่าเรือให้กลายเป็นอาคารสำนักงานและโกดังเก็บสินค้า สำหรับกิจการการค้าด้านการเกษตรของตระกูลหวั่งหลี ที่ขนมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา

“ล้ง” แห่งนี้ถือว่ามีความเก่าแก่มาก ออกแบบลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมจีน คือมีหมู่อาคารแบบ “ซาน เหอ หยวน” ที่ได้รับความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นสร้างจากไม้ หลังคาสร้างจากกระเบื้อง ส่วนผังอาคารออกแบบสไตล์จีนโบราณ ในลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกันเป็นรูปตัวยู โดยมีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารใช้เป็นลานอเนกประสงค์

ภายในอาคารมีจิตรกรรมฝาผนังลวดลายอันมงคลและภาพวิถีชีวิต จากการสำรวจพบว่าที่ผ่านมาถูกทาสีทับไว้หลายชั้น เมื่อมีการใช้น้ำยาลอกสีผนัง ทำให้ค้นพบจิตรกรรมฝาผนังจีนโบราณที่ซ่อนอยู่ด้านใน

“สุจินต์ หวั่งหลี” สมาชิกตระกูลหวั่งหลีรุ่นที่ 4 เล่าว่า ในอดีตช่วงรัชกาลที่ 3 ถึง 4 เรือสินค้าส่วนใหญ่ต้องมาจอดขึ้นที่ท่านี้ โดยทวดของเขา (ตัน ลิบ บ๊วย) ได้ขึ้นที่ท่าเรือนี้เช่นกัน ซึ่งต่อมา

Advertisment

ประกอบการค้าและประสบความสำเร็จ จึงสร้างบ้านข้าง ๆ ล้ง ต่อมาหลังปี ค.ศ. 1911-1919 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ตระกูลพิศาลบุตรประกาศขาย ทำให้ตระกูล “หวั่งหลี” เข้ามาดูแลท่าเรือล้ง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจหวั่งหลี

“ก่อนที่ท่าเรือคลองเตยจะเกิดขึ้น ล้งแห่งนี้เคยคึกคัก มีการประกอบกิจการค้าของตระกูลหวั่งหลี พวกเราเริ่มต้นกันที่ตรงนี้ ทั้งการค้าพืชผลและธนาคาร ในส่วนของอาคารเก่าแก่ให้พนักงาน

Advertisment

อาศัยอยู่กันมา 3-4 ชั่วอายุคน ภายหลังอาคารเริ่มทรุดโทรมมาก เกรงว่าจะเกิดอันตราย จึงได้ย้ายทุกอย่างออกไป และปรับปรุงใหม่อย่างที่เห็น” สุจินต์กล่าว

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า “ล้ง 1919” นอกจากจะเป็นสำนักงานและที่เก็บสินค้าแล้ว ที่แห่งนี้ยังมี ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) รูปปั้นศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจีนโบราณนับถือ ซึ่งเป็นองค์ที่ชาวจีนนำขึ้นเรือเดินทางมาขึ้นที่ฝั่งประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งรูปปั้นเจ้าแม่ทั้ง 3 ปาง อายุมากกว่า 167 ปี โดยมีความเชื่อว่า เจ้าแม่หม่าโจ้วมีพลังและความศักดิ์สิทธิ์ในด้าน “มั่งมีพลัง มั่งคั่งความสำเร็จ” เนื่องจากผู้ที่อัญเชิญเจ้าแม่หม่าโจ้วตั้งแต่เริ่มได้ประสบความสำเร็จเจริญรุ่งเรืองตลอด 6 ชั่วอายุคน นับจากรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 10

“รุจิราภรณ์ หวั่งหลี” ผู้บริหารโครงการ “ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เล่าว่า นอกเหนือจากสถาปัตยกรรมและงานศิลปะไทย-จีนโบราณที่ทรงคุณค่าแล้ว ล้ง 1919 ได้เปิดทำการใหม่อีกครั้งเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปซึมซับบรรยากาศยุคโบราณ พร้อมทั้งจัดโซนอาคารสำหรับจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ เวทีการแสดงและกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึง

ร้านอาหาร ร้านค้าระดับพรีเมี่ยม และที่นั่งพักผ่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ล้ง 1919 เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป เวลา 08.00-20.00 น. ส่วนโซนอีทเธอรี่ โซน เปิดเวลา 10.00-22.00 น.