ธุรกิจกีฬา NIKE กลการเงิน-เกมซ่อนภาษี

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ – เรื่อง

แวดวงธุรกิจและคนสาธารณะหลายวงการสะดุ้งกันทั่ว เมื่อเอกสาร “พาราไดส์ เปเปอร์ส” ที่สื่อเยอรมันได้รับและแชร์ร่วมกับกลุ่มสื่อมวลชน

ด้านสืบสวนสอบสวนทั่วโลก มีรายละเอียดแฉข้อมูลด้านการเงินหลังฉากทางธุรกิจ ซึ่งเอกสารนี้มีชื่อบุคคลตั้งแต่ระดับราชวงศ์ยุโรป จนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการต่าง ๆ รวมนับแสนติดไปในรายชื่อที่ถูกพูดถึงในเอกสารดิจิทัลความจุมากถึง 1.4 เทราไบต์

ในรายชื่อจำนวนนี้มีบริษัทและกลุ่มบุคคลในวงการกีฬาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่รายชื่อของสโมสรฟุตบอลชื่อดังจนถึงบริษัทผู้ผลิตสินค้ากีฬายักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง “ไนกี้”

จากข้อมูลในเอกสาร “พาราไดส์ เปเปอร์ส” สะท้อนภาพให้เห็นคำตอบของคำถามว่า ทำไม “ไนกี้” ถึงสามารถทำกำไรมหาศาลจากการขายสินค้าในโลกกีฬาได้ ซึ่งจากข้อมูลในเอกสารสามารถอธิบายกระบวนการคร่าว ๆ ว่า แบรนด์ดังเล่นกลทางการเงินด้วยการโยกย้ายกำไรจากแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่ออัตราการจัดเก็บภาษี

สำหรับผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านกฎหมายระดับท็อปของโลกซึ่งทำงานให้บริษัทที่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับภาษีแบบลงลึก กระบวนการเหล่านี้ไม่ผิดกฎหมายภายใต้ระบบกฎหมายการเงินและความแตกต่างของระบบการจัดเก็บภาษีในแต่ละรัฐ

จากข้อมูลในเอกสารซึ่งสื่อต่างประเทศนำมาใช้ประกอบกันเป็นขั้นตอนจำลองกลทางการเงินของบริษัทดัง ค่อนข้างน่าสนใจพอ ๆ กับที่ตัวแทนของไนกี้ออกมายืนยันว่า บริษัททำตามระเบียบด้านภาษีอย่างเข้มงวดทุกประการ แน่นอนว่าบริษัททำตามระเบียบจริง และสิ่งที่ไนกี้ทำก็สอดคล้องกับข้อกฎหมายทุกอย่างด้วย

กระบวนการโดยรวมคือ ไนกี้ โอนย้ายกำไรของบริษัทที่เป็นเม็ดเงินนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ควรจะอยู่กับบริษัทแม่ในเนเธอร์แลนด์ ไปยัง “ไนกี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด” บริษัทลูกในเบอร์มิวดา (ดินแดนของสหราชอาณาจักร) ที่เป็นผู้จดทะเบียนสิทธิ์เครื่องหมายการค้าของไนกี้ ซึ่งคนทั่วโลกคุ้นเคยจนถึงลักษณะจำเพาะในสินค้ารุ่นต่าง ๆ ของไนกี้

แม้รายงานข่าวเผยว่า บริษัทในเครือไนกี้ที่อยู่ในเบอร์มิวดา ไม่มีพนักงาน และไม่มีออฟฟิศ แต่เงินที่โอนย้ายไปให้นี้ ไนกี้ย้ายในฐานะ “จ่าย” ให้บริษัทลูกซึ่งถือครองทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้การนิยามว่า ถูกชาร์จค่าลิขสิทธิ์

ระหว่างปี 2005-2014 ไนกี้ “จ่าย” ค่าลิขสิทธิ์ให้บริษัทลูกในเบอร์มิวดาเป็นเม็ดเงินมหาศาลต่อปี ในอีกความหมายคือ ไนกี้โอนย้ายเม็ดเงินที่เป็นกำไร ซึ่งเป็นตัวเลขที่จะถูกหยิบมาคำนวณภาษี โดยย้ายจากบริษัทแม่ในเนเธอร์แลนด์ ไปบริษัทลูกในเบอร์มิวดา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาณาเขตปลอดภาษี วิธีนี้ทำให้ไนกี้เหลือเม็ดเงินที่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาลในแต่ละประเทศไม่มากนัก

สมมุติว่า รองเท้าไนกี้ ในออสเตรเลีย ราคาคู่ละ 100 ดอลลาร์

หักค่าต้นทุนการผลิตในเอเชีย ค่าลิขสิทธิ์ที่โอนย้ายไปให้บริษัทลูก รวมแล้วประมาณ 80 ดอลลาร์ ค่าจัดจำหน่ายและการตลาดรวมอีกประมาณ 18 ดอลลาร์ ไนกี้เหลือเม็ดเงินที่เป็น “กำไร” 2 ดอลลาร์ เท่ากับจ่ายภาษี 59 เซนต์ต่อคู่ นั่นคือภาพสะท้อนว่าทำไม ไนกี้ ออสเตรเลีย มีรายได้ 500 ล้านดอลลาร์ แต่มีกำไร 11 ล้านดอลลาร์ในปี 2016 คาดว่าตัวเลขค่าลิขสิทธิ์ที่ไนกี้ โอนถ่าย (จ่าย) ให้บริษัทลูก อยู่ที่ประมาณคู่ละ 17 ดอลลาร์

หลังปี 2014 เมื่อไนกี้หมดสัญญาการยกเว้นภาษีกับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ แบรนด์ดังทำสัญญากับรัฐเนเธอร์แลนด์ใหม่ ย้ายการถือครองทรัพย์สินทางปัญญาจากบริษัทในเบอร์มิวดา มาอยู่ในบริษัทลูกอีกแห่งชื่อ “ไนกี้ อินโนเวต ซีวี” แม้จะเป็นบริษัทสัญชาติดัตช์ แต่ไม่มีที่อยู่ ทำให้สามารถเลี่ยงภาษีท้องถิ่นในแดนกังหัน และไม่ถูกเก็บภาษีในที่ใดอีกด้วย

แน่นอนว่าไนกี้ไม่ได้เป็นบริษัทข้ามชาติบริษัทเดียวที่ใช้โมเดลนี้ บริษัทอีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ใช้วิธีลักษณะเดียวกันนี้ด้วย รูปแบบนี้ช่วยให้ไนกี้ลดอัตราการเสียภาษีลงทั่วโลก อัตราการเสียภาษีของไนกี้อยู่ที่ 34.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2007 แต่ในปี 2016 ตัวเลขลดลงเหลือ 13.2 เปอร์เซ็นต์

กระบวนการที่ถูกเปิดเผยจากข้อมูลในเอกสารเป็นกระบวนการที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ทำให้คนแต่ละประเทศไม่พอใจ จากที่ผลกำไรของบริษัทที่จะกลายมาเป็นภาษีซึ่งถูกเก็บมาพัฒนาประเทศ กลับถูกเคลื่อนย้ายไปสู่ประเทศที่เก็บภาษีต่ำจนถึงไม่เก็บภาษี

ไนกี้ ไม่ใช่แบรนด์ที่มีชื่อเสียงในโลกกีฬาเพียงแห่งเดียวที่ถูกแฉเรื่องข้อมูลการเงิน ในเอกสารยังพูดถึงการโอนย้ายหุ้น สโมสรเอฟเวอร์ตัน ซึ่งเอกสารพยายามชี้ว่า การซื้อ-ขายหุ้นสโมสร

ครั้งล่าสุดที่ ฟาร์ฮัด โมชีรี กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ฟาร์ฮัดได้เงินทุนหลายล้านปอนด์ มาจาก อลิเชร์ อุสมานอฟ ผู้อำนวยการและผู้ถือหุ้นสโมสรอาร์เซนอล

และสัญญาซื้อ-ขายในสโมสรเอฟเวอร์ตัน ดำเนินการโดยบริษัทที่อยู่ในไอล์ออฟแมน (เกาะของสหราชอาณาจักร) ซึ่งบริษัทนี้ถูกอุสมานอฟ เทกโอเวอร์แบบลับ ๆ เมื่อปี 2011 ซึ่งกฎของพรีเมียร์ลีก

ระบุว่า ผู้ที่ถือหุ้นสโมสรในลีกสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า 10 จะไม่สามารถถือหุ้นในสโมสรอื่น เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างสโมสร โดยเฉพาะการซื้อ-ขายนักเตะแม้ว่าผู้ที่ตกอยู่ในรายชื่อของเอกสารจะยืนยันว่า ทำตามกฎหมาย และปฏิเสธการละเมิดกฎ แต่เชื่อว่าประชาชนเข้าใจสารที่แปลออกมาจากกระบวนการทางเทคนิคเหล่านี้ดี ซึ่งนั่นทำให้รัฐบาล หรือบริษัทต่าง ๆ ถูกกดดันมากขึ้น สัญญาทางธุรกิจระหว่างรัฐ

แดนกังหันกับบริษัทไนกี้ก็แสดงให้เห็นว่า ทางการไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ให้ประชาชนมากพอ ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้กำไรมหาศาลต่อปี ก็ถูกกดดันให้เลือกระหว่างหาช่องทางใหม่ ๆ ในอนาคต หรือจะยินยอมจ่ายภาษีแบบตรงไปตรงมาในจำนวนมากกว่าที่เคยจ่าย