9 ความทรงจำในยูโร 2020 จากกระป๋องเครื่องดื่ม ถึงอิตาลีคืนชีพ

Photo by AFP
อาฮุย แผ่นดินใหญ่

ฟุตบอลยูโร 2020 กลายเป็นอีกหนึ่งทัวร์นาเมนต์ที่อยู่ในความทรงจำของแฟนบอลทั่วโลก มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาร่วมเดือนที่แข่งกันกลางปี 2021 และเป็นอีกครั้งที่ฟุตบอลพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ได้เป็นแค่การแข่งขันกีฬาเพื่อหาผู้ชนะเท่านั้น ฟุตบอลเกี่ยวข้องกับหลากหลายมิติและใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของผู้คน

ดีไลฟ์-ประชาชาติ ชวนมาทบทวนเหตุการณ์และบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับทัวร์นาเมนต์ประวัติศาสตร์ ซึ่งแข่งกันท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ เป็นการปิดฉากมหกรรมลูกหนังทวีปยุโรป และมีหลายสิ่งแตกต่างจากครั้งก่อน ๆ

9.เพลงโฆษณาดังติดหู

ยูโร 2020 มีเพลง We Are The People เป็นเพลงประจำการแข่ง แต่สำหรับชาวไทยแล้ว เพลงที่ติดหูมากที่สุด ไม่ใช่เพลงของมาร์ติน การ์ริกซ์ (Martin Garrix) กลับเป็นเพลงประกอบโฆษณา แอโร่ซอฟต์ (Aerosoft) ผู้สนับสนุนหลักของการถ่ายทอดสด

เพลง “เชียร์ยูโร Aerosoft 2020” ถูกเปิดบ่อยครั้งขณะถ่ายทอดสดจนติดหูแฟนบอลกันไปทั้งประเทศ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าเพลงนี้ใช้เวลาผลิตไม่เกิน 24 ชั่วโมงเท่านั้น เป็นผลงานจากการดำเนินการของ ปอ-ณัฐภูมิ รัฐชยากร กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท Newspective และ Executive Producer ของ Kit Music ได้ พลพล พลกองเส็ง มาร้อง และนำเพลงมาประกอบกับภาพสำเร็จรูป กลายเป็นโฆษณา “เชียร์ยูโร แอโร่ซอฟต์” ซึ่งประสบความสำเร็จ ติดหูคนไทย ใครก็ร้องได้

8.เรื่องราวของแฟนบอล

ฟุตบอลไม่มีทางแข่งได้โดยปราศจากแฟนบอล แต่สำหรับช่วงโรคระบาดหนัก การแข่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามสถานการณ์ หลายสนามจำกัดจำนวนผู้ชม บรรยากาศในสนามทัวร์นาเมนต์ระดับทวีปต่างกับบรรยากาศซึ่งแฟนบอลคุ้นชินกัน แต่ถึงจะมีแฟนบอลเข้าชมไม่เหมือนเดิม เรื่องราวเกี่ยวกับแฟนบอลก็ยังมีปรากฏให้เป็นสีสันกันไม่แพ้ครั้งก่อน ๆ

ภาพของแฟนบอลเยอรมันวัยเยาว์ที่ร้องไห้ในสนามนัดเยอรมนีโดนอังกฤษเขี่ยตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย โดนแฟนบอลอังกฤษล้อเลียน แต่มีหนุ่มอังกฤษตั้งแคมเปญระดมทุนเพื่อแสดงให้เห็นว่า แฟนบอลอังกฤษไม่ได้เลวร้าย เมื่อได้เงินมา ครอบครัวของสาวน้อยในภาพก็ออกแถลงการณ์ว่า จะนำเงินไปบริจาคให้ยูนิเซฟ (Unicef) แต่ใช่ว่าแฟนบอลที่ถูกกล้องจับภาพจะเป็นเรื่องดีเสมอไป ในยูโร 2020 มีรายงานข่าวว่า แฟนบอลอังกฤษรายหนึ่งถูกไล่ออกจากงาน เพราะกล้องจับภาพเธอในเกมอังกฤษกับเดนมาร์ก ทั้งที่แจ้งลาป่วยไว้

7.ดาวรุ่งและตัวเก๋าประจำทัวร์นาเมนต์

เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทัวร์นาเมนต์ระดับนี้ที่จะมอบรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมให้กับแข้งหนุ่มซึ่งโชว์ฟอร์มโดดเด่น รางวัลนี้ตกเป็นของเปดรี้ (Pedri) เพลย์เมกเกอร์วัย 18 ปี จากสโมสรบาร์เซโลน่า คือนักเตะที่โดดเด่นมากสุด ทั้งในบรรดาขุมกำลังสเปนยุคใหม่ และบรรดาดาวรุ่งที่ได้มาเล่นในยูโร 2020 เขากลายเป็นตัวหลักที่ หลุยส์ เอ็นริเก้ (Luis Enrique) กุนซือสเปน เลือกใช้งาน แม้อาจไม่ได้มีชื่อในสกอร์และผ่านบอลให้เพื่อนทำประตู แต่ฟอร์มการเล่นโดยรวมถือว่าดีเกินคาด

ขณะที่เหล่าผู้เล่นตัวเก๋าที่อายุเกิน 35 ขึ้นปี ส่วนใหญ่ผลงานก็ได้ใกล้เคียงตามมาตรฐานเดิม จะมีก็แต่คู่กองหลังทีมชาติอิตาลีอย่าง ลีโอนาร์โด โบนุชชี่ (Leonardo Bonucci) และ จอร์โจ คิเอลลินี (Giorgio Chiellini) ซึ่งช่วยให้อิตาลีชูแชมป์ยูโร 2020 ที่รอคอย และเพิ่มสถิติไม่แพ้ใครติดต่อกัน 34 นัด

Photo by AFP

6.โควิด-19

ปฏิเสธได้ยากว่าโรคระบาดครั้งนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อฟุตบอลหลายแง่มุม ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดคือโปรแกรมแข่งต้องเลื่อนมาจากปี 2020 และจำกัดผู้ชมในแต่ละสนามแตกต่างกันตามสถานการณ์ ไปจนถึงเรื่องผู้เล่นที่มีชื่อมาเล่นมหกรรมนี้อย่าง เซร์คิโอ บุสเก็ตต์ (Sergio Busquets) มิดฟิลด์สเปน ติดเชื้อช่วงใกล้วันแข่งจนวุ่นไปสักพัก ยังโชคดีที่ไม่มีผู้เล่นอื่นในทีมติดเชื้อไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาจาก Imperial College London ศึกษากลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครกว่า 47,000 รายทั่วอังกฤษ ระหว่าง 24 มิ.ย.ถึง 5 ก.ค. พบข้อบ่งชี้ว่า ผู้ชายติดเชื้อมากกว่าผู้หญิง 30% อัตราการแพร่เชื้อไวรัสเพิ่มจาก 0.15% ในต้นเดือน มิ.ย. มาเป็น 0.59% ในต้นเดือน ก.ค. ผู้เขียนรายงานการศึกษาชิ้นนี้ถึงกับสันนิษฐานว่า ที่มาของผลศึกษานี้อาจเป็นผลจากการชมฟุตบอล ซึ่งมักทำให้เกิดกิจกรรมทางสังคมมากกว่าช่วงปกติ

5.ผลงานของทีมชาติชื่อดัง

ในภาพรวมแล้ว ผลงานของทีมชาติที่เป็นตัวเต็ง และทีมเด่นล้วนทำผลงานได้ดีในรอบแบ่งกลุ่ม แต่เมื่อมาถึงรอบน็อกเอาต์ มีไม่กี่ทีมยังรักษามาตรฐานของตัวเองไว้ได้ เมื่อต้องมาเจอกับทีมระดับไล่เลี่ยกัน แฟนบอลจึงเห็นทีมเต็ง ทีมเด่น ที่กูรูเชื่อกันว่าจะผ่านเข้าถึงรอบลึก ๆ ต่างทยอยกลับบ้านกันก่อนกำหนด ไล่มาตั้งแต่โปรตุเกส แชมป์เก่า ฝรั่งเศส ดีกรีแชมป์โลก เบลเยียม ที่เต็มไปด้วยนักเตะฝีเท้าจัดจ้านแห่งยุค มาจนถึงเยอรมนี ซึ่งฟอร์มย่ำแย่ที่สุดในรอบทศวรรษ

บรรดาทีมดังที่จองตั๋วกลับบ้านก่อนคาดเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ทัวร์นาเมนต์มีเสน่ห์ ผลแข่งปีนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์อันชัดเจนอีกครั้งว่า ทีมเต็ง ทีมเด่นทั้งหลาย ไม่ได้อยู่ในช่วงสมบูรณ์ บางทีมขาดองค์ประกอบสำคัญหลายอย่าง ผลงานที่ทำได้ก็พึ่งพาองค์ประกอบที่มีมาและใช้ให้ได้ประสิทธิผลมากที่สุด แต่บางครั้งเมื่อองค์ประกอบเหล่านั้นไม่สามารถทำผลงานได้เต็มที่ก็เหลือเพียงแค่ทีมที่ประคองตัวได้ หรือไม่ก็เป็นทีมที่มีองค์ประกอบสมบูรณ์กว่าเข้ารอบไป

4.สปอนเซอร์สายเครื่องดื่ม

ยูโรครั้งนี้เกิดพฤติกรรมแปลกอย่างหนึ่ง เริ่มต้นจากคริสเตียโน่ โรนัลโด้ (Cristiano Ronaldo) ดาวเตะโปรตุเกส ขยับขวดเครื่องดื่มน้ำดำอัดลมฝั่งสีแดงออกจากโต๊ะขณะแถลงข่าว แถมเปรยว่าเลือกดื่มน้ำเปล่า ก่อนหน้านี้แทบไม่มีนักกีฬาหรือบุคลากรมาปฏิสัมพันธ์ยุ่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากสปอนเซอร์มาก่อน หลังเกิดเหตุมีรายงานว่า หุ้นของบริษัทผู้ผลิตน้ำดำอัดลมถึงกับดิ่งลงเลยทีเดียว

แค่ขยับขวดครั้งเดียว กลับตามมาด้วยพฤติกรรมปฏิสัมพันธ์กับขวดเครื่องดื่มจากสปอนเซอร์รายการอีกเพียบ ตั้งแต่ พอล ป็อกบา (Paul Pogba) ยกขวดเครื่องดื่มจากบริษัทผู้ผลิตเบียร์ลงจากโต๊ะ เพราะเขาเป็นมุสลิม จนถึงกุนซือทีมชาติรัสเซียที่ยกขวดน้ำดำอัดลมมากระดก และตบท้ายด้วยภาพโบนุชชี่ ปราการหลังทัพอัซซูรี่ หยิบทั้งขวดเบียร์และน้ำดำอัดลมมาดื่ม ขณะนั่งแถลงข่าวหลังอิตาลีคว้าแชมป์ เป็นอันปิดฉากซีรีส์ “ขวดเครื่องดื่ม”

3.วลี “Football’s Coming Home” และจุดโทษ

อังกฤษในยุคกุนซือแกเร็ธ เซาธ์เกต (Gareth Southgate) โชว์ผลงานยอดเยี่ยมมาตลอดจนทะลุเข้าถึงรอบชิงแชมป์รายการนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ วลีฮิตเมื่อครั้งอังกฤษเป็นเจ้าภาพยูโร 1996 ว่า “Football’s Coming Home” หรือ “ฟุตบอลกำลังคืนบ้านเกิด” สื่อถึงทั้งแง่เชิง “เจ้าภาพ” (นัดชิงยูโร 2020 เตะที่สนามเวมบลีย์ ในลอนดอน) และคาดหวังคว้าแชมป์ โดยมองว่า “อังกฤษ” คือแหล่งกำเนิดฟุตบอล (สมัยใหม่) ตามกติกาสากลที่ใช้กันในทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม อังกฤษพลาดดวลจุดแพ้ให้กับอิตาลี นักเตะอังกฤษสังหารจุดโทษ 3 คนสุดท้ายยิงไม่เข้าทั้งหมด อังกฤษและเซาธ์เกต ยังไม่สามารถลบฝันร้ายเมื่อปี 1996 ซึ่งอังกฤษตกรอบตัดเชือกคาบ้าน เพราะแพ้จุดโทษเยอรมนี โดยเซาธ์เกต คือ ผู้สังหารจุดโทษคนที่ 5 และยิงไม่เข้านั่นเอง แต่สื่อและคนวงการลูกหนังล้วนมองว่า ในภาพรวม อังกฤษมาถูกทางแล้ว เหลือแค่ขัดเกลารายละเอียดเล็กน้อย (แต่เป็นตัวชี้วัดสำคัญ) เท่านั้น

2.อิตาลีกลับมาในโฉมใหม่

ก่อนทัวร์นาเมนต์เริ่มต้นขึ้น ไม่มีใครมองว่าอิตาลีจะมีโอกาสไปถึงแชมป์ เมื่อเทียบขุมกำลังกับทีมเด่นในครั้งนี้ หลายคนยังมองว่าอิตาลีเป็นรอง แต่เมื่อเริ่มต้นขึ้น ทีมของโรแบร์โต้ มันชินี่ (Roberto Mancini) ทำผลงานเหนือความคาดหมาย อิตาลีชุดนี้โยนภาพจำเดิม ๆ เรื่องเน้นเกมรับเหนียวแน่นทิ้งโดยสิ้นเชิง ทัพอัซซูรี่เติมความเข้มข้นในเกมรุกให้สมบูรณ์ขึ้น ผสมผสานผู้เล่นมากประสบการณ์กับพลังหนุ่มออกมากลมกล่อม

ผลลัพธ์ที่ออกมาในยุคนี้ ทำให้อิตาลีสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ไม่เพียงแค่ชูแชมป์ยูโรสมัยที่ 2 ได้สำเร็จ ยังทำสถิติไม่แพ้ใครติดต่อกัน 34 นัด กินเวลายาวนานหลายปี แชมป์ครั้งนี้บ่งชี้ว่า ยิ่งเต็มที่-ใส่ใจรายละเอียดครอบคลุมแต่ละจุดมากเท่าไหร่ ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น

1.อีริคเซ่น และการรวมใจของโลกฟุตบอล

ภาพ คริสเตียน อีริคเซ่น (Christian Eriksen) เพลย์เมกเกอร์ทีมชาติเดนมาร์ก หัวใจหยุดเต้นจนวูบกลางสนามช็อกแฟนบอลทั่วโลก วงการฟุตบอลเคยเกิดเหตุการณ์สูญเสียลักษณะใกล้เคียงกันแบบนี้มาแล้ว ครั้งนี้ด้วยความร่วมใจกันของทุกฝ่าย เอริคเซ่นได้รับความช่วยเหลือจนพ้นขีดอันตรายได้

มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในช่วงเวลาคับขัน บทบาทของทั้งผู้เล่นเดนมาร์ก ฝ่ายตรงข้าม ทีมเจ้าหน้าที่ รวมถึงแฟนบอลในสนามล้วนประกอบกันจนช่วยอีริคเซ่นได้สำเร็จ หลังเกิดเหตุยังมีพลังใจจากผู้คนจากทั่วโลกมาเพิ่มเติมอีก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สมควรเป็นความทรงจำที่บ่งชี้ถึงพลังของคนลูกหนังได้เป็นอย่างดี

เชื่อว่าเรื่องราวทั้งหมดในยูโร 2020 ยังมีอีกมากมาย ไม่อาจเล่าได้ครบถ้วน แต่ละคนล้วนมีความทรงจำของตัวเอง ทั้งสมหวังและผิดหวัง ล้วนเป็นธรรมชาติและเป็นความสวยงามของโลกฟุตบอลอันกินความได้หลากหลายมิติ


สำหรับแฟนบอลที่ร่วมสนุกตอบคำถามในกิจกรรม “ข่าวสด-มติชน ยูโร 2020” ลุ้นชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่าล้านบาท สามารถติดตามผลจับรางวัลซึ่งจัดขึ้นที่บริษัท ข่าวสด จำกัด ในวันที่ 21 ก.ค. และประกาศรายชื่อผู้โชคดีวันที่ 28 ก.ค. ทางหนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน ประชาชาติธุรกิจ รวมถึงเว็บไซต์ข่าวสด มติชน และประชาชาติธุรกิจด้วย