ฮีโร่โควิด 2021 สะพานบุญในยุคโซเชียล

Photo by pixabay
พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2019 และเข้าสู่ประเทศไทยเป็นทางการเมื่อเดือน ก.พ. 2020 จากวันนั้นถึงวันนี้สิ่งหนึ่งที่สะท้อนภาพชัดเจน นอกเหนือจากปัญหาแล้ว เรายังเห็น “ความสามัคคี” ของคนในชาติ

การระบาดระลอก 2-3-4 และการกลายพันธุ์สู่สายพันธุ์เดลต้า ทำให้ทุกอย่างดูโกลาหลเพราะความรุนแรงของเชื้อ แม้วัคซีนลอตแรกก็เอาไม่อยู่ และเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ตามมาไม่หยุด ตั้งแต่เคสแพกุ้งสมุทรสาคร, เคสลักลอบเข้าประเทศ, เคสทองหล่อ 1-2 ฯลฯ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งทะลุหลักหมื่น เสียชีวิตหลักร้อยเป็นครั้งแรกในเดือน ก.ค. 2021

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทุกคนล้วนโหยหาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ขณะที่รอวัคซีนกันนั้น ประชาชนจำนวนมากต่างทยอยเจ็บป่วยเพราะติดเชื้อ และประสบปัญหาเรื่องข้อจำกัดของการรักษา เข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขที่มีไม่เพียงพอ ทั้งการขนส่งเคลื่อนย้าย, เตียงผู้ป่วย, เครื่องมือเวชภัณฑ์ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์

จากวิกฤตซ้อนวิกฤตทำให้เกิดความช่วยเหลือจากภาคประชาชน รวมเป็นกลุ่มจิตอาสาในยุคโควิด เป็นฮีโร่ที่ทุกคนรอคอย พร้อมช่วยคนทุกระดับตั้งแต่ชุมชน, หมู่บ้าน, ครัวเรือน หรือจุดที่หน่วยราชการเข้าไม่ถึง มองไม่เห็น “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมเพจจิตอาสาที่ทุกคนเริ่มรู้จักและรักพวกเขาบ้างแล้ว

เส้นด้าย-Zendai

กลุ่มช่วยเหลือสังคมที่สร้าง Facebook fanpage เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2021 ที่ผ่านมา โดยมี page like แล้วกว่า 1.6 แสนคน โดยข้อมูลถึงวันที่ 8 ก.ค. 2021 รับเคสทั้งหมดแล้วกว่า 1,600 เคส และมีการรับ-ส่งเคสแล้วกว่า 2,200 รอบ

คริส โปตระนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย กล่าวไว้ถึงจุดประสงค์การก่อตั้งเพจดังกล่าวขึ้นมา เราทำสิ่งที่ไม่มีใครทำ คือเราทำรถรับส่งสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูงเพื่อไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งการทำเช่นนี้เพื่อที่จะลดการติดเชื้อในระบบสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้มีรายได้น้อยในการเดินทางไปหาจุดตรวจ รวมถึงมีบริการหาเตียงในการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นอกจากนั้น หากผู้ที่มีความเสี่ยงกักตัวอยู่ที่บ้านไม่มีข้าวกิน เรามีข้าวไปส่ง ถ้าสมมุติเสียชีวิตจากโควิด-19 แล้วไม่มีเงินทำศพ กลุ่มเส้นด้ายมีบริการที่จะช่วยเหลือในสิ่งเหล่านี้ ตอนนี้ผมเชื่อว่ามีคนที่ยังไม่ได้ตรวจโควิด-19 อยู่อีกเยอะ กลุ่มเส้นด้ายวิ่งรับส่งผู้ป่วยทุกวันเพื่อไปตรวจ ซึ่งสถานการณ์เวลานี้มีการปฏิเสธการตรวจ หลายที่คิวเต็ม หลายที่ปฏิเสธการตรวจคนต่างชาติ หลายที่ให้บริการเฉพาะบุคคลบางประเภท

ปัญหาการปฏิเสธการตรวจเท่ากับกำลังทำให้คนติดเชื้อจำนวนหนึ่งยังไม่ได้อยู่ในระบบ และคนติดเชื้อจำนวนหนึ่งยังไม่ได้ถูกรักษา ยังไม่ได้ถูกกักตัว และยังเป็นคนติดเชื้อที่ยังแพร่กระจายเชื้ออยู่ทุกวัน เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้แล้ว จึงเกิดเป็นกลุ่มเส้นด้ายขึ้นมา

“เพราะสังคมเราขณะนี้มีหลายคนมีสิทธิมีโอกาสที่ไม่เท่ากัน ‘คนที่มีเส้นเท่านั้นถึงจะได้’ จึงตั้งชื่อกลุ่มเส้นด้าย เราเป็นเส้นของคนไม่มีเส้น”

วันนี้การระบาดเกิดขึ้นกับประชากรผู้มีรายได้น้อย ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอะไรบางอย่าง และประชาชนกลุ่มนี้ยังไม่มีใครเหลียวแล และยังไม่ได้รับวัคซีน โดยมองว่าวันนี้รัฐต้องมีความกล้าในการยอมรับผิดและแก้ไขนโยบาย ซึ่งมีคำถามมากมายถึงวิธีการตรวจ วิธีการรักษา การจำกัดจำนวนวัคซีนหรือระยะเวลาการฉีด ซึ่งรัฐควรมีการจัดการข้อมูลกลางอย่างเป็นระบบ ประชาชนทุกคนที่ตรวจรัฐต้องมีข้อมูลจากการรายงานส่งกลับมาเป็นฐานข้อมูลกลาง จึงอยากให้นึกถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นอันดับแรก

3 ช่องทางในการขอรับความช่วยเหลือ 1.ทางโทรศัพท์ 0-2096-5000 2.inbox Facebook และ 3.บอกผ่านเพื่อน, เครือข่าย หรือ hastag

Drama-addict

Facebook fanpage ที่มี page like กว่า 2.7 ล้านคน ผู้เป็นกระบอกเสียงทางสังคมในการกระจายข่าวสารและขยี้ประเด็นต่าง ๆ ในวงกว้าง ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด 19 เพจ Drama-addict เป็นผู้จุดหลายประเด็นส่งเสียงจากฝั่งประชาชนไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกระแสเสียงการกลับตัวกลับใจจากฝ่ายเชียร์รัฐบาลเป็นฝ่ายตรวจสอบการทำงานรัฐแล้วนั้น แต่ถึงวันนี้การประสานงานด้านข่าวสารใด ๆ ทั้งการขอการสนับสนุนความช่วยเหลือของเพจต่าง ๆ ที่กำลังขอรับการสนับสนุนช่วยผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

หลายต่อหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา โพสต์หนัก ๆ แรง ๆ ในการตั้งคำถามและกดดันการทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพจ Drama-addict ก็ยิงตรงเข้าประเด็นได้รุนแรงชัดเจน หรือแม้กระทั่งการกระจายข่าวสารด้านการแพทย์-สาธารณสุขของโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงแนวการปฏิบัติตนขณะกักตัวอยู่บ้าน

องค์กรทำดี

เพจ Facebook ที่มีผู้กดถูกใจกว่า 1.2 หมื่นคน โดยมีเจ้าของเพจคืออดีตนางสาวไทยอย่าง “บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี” ประธานองค์กรทำดี (Goodness Foundation) ที่แสดงเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือสังคมและผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในการประสานงานรับ-ส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่การระบาดระลอก เม.ย. หรือระลอก 4 ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับเตียงแล้วจะมีการจัดรถพยาบาลที่มีระบบความดันลบโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมถึงเป็นตัวกลางในการรวบรวมการบริจาคจากเหล่าคนบันเทิงเพื่อไปช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

ล่าสุดยังคงดำเนินงานตามแนวทางอย่างต่อเนื่องด้วยการเป็นผู้ประสานงานในการนำชุด PPE, อุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษา รวมถึงข้าวสาร, น้ำดื่ม อาหารแห้ง ส่งไปช่วยเหลือผู้ที่กักตัวอยู่บ้านหรือผู้ที่ขาดแคลนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

เราต้องรอด

เพจ Facebook ของ 2 นักร้อง-นักแสดงสาวอย่าง “ได๋” ไดอาน่า จงจินตนาการ กับ “จ๊ะ” นงผณี มหาดไทย ที่สร้างเพจ “เราต้องรอด” ในวันที่ 24 เม.ย. 2021 ถึงปัจจุบันมีผู้กดถูกใจเพจแล้วกว่า 3.7 แสนคน โดยเพจดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งเพจที่ช่วยเหลือสังคมและผู้ป่วยโควิด-19 จากจุดเริ่มต้นที่มีผู้ส่งข้อความส่วนตัวเข้ามาถึง “จ๊ะ” จากนั้นก็เกิดการเริ่มประสานงานช่วยเหลือจนมาเป็นที่มาของเพจในปัจจุบัน

ซึ่งมีการให้ข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนพื้นฐานการได้สิทธิในการรับการรักษา อาทิ โรงพยาบาลที่รับการรักษา, สิทธิประกัน รวมถึงการมอนิเตอร์คอยติดตามอาการ รวมถึงการจัดยาสามัญประจำบ้าน, เครื่องออกซิเจน, อุปกรณ์จำเป็น โดยมีคนรู้จัก-เพื่อนร่วมวงการรวมถึงคนที่มีจิตใจในการช่วยเหลือสังคม ยื่นมือเข้ามาช่วยกันทำให้เพจดังกล่าวนี้สามารถช่วยเหลือคนได้มากยิ่งขึ้น กระทั่งล่าสุดได้เป็นตัวกลางประสานความช่วยเหลือระหว่างผู้บริจาคนำเงินไปซื้ออาหารกับร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบ และส่งไปยังบ้านผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยที่กักตัวอยู่บ้าน

หมอแล็บแพนด้า

หมอแล็บแพนด้า เพจ Facebook ของ “ภาคภูมิ เดชหัสดิน” นักเทคนิคการแพทย์อารมณ์ดี ที่อธิบายเรื่องสุขภาพที่อาจจะเป็นเรื่องเข้าใจยากและซับซ้อน ให้เข้าใจง่ายจนกลายเป็นที่รู้จักบนโลกออนไลน์ ปัจจุบันมีผู้ติดตามแล้วกว่า 3.1 ล้านคน ซึ่งตลอดช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หมอแล็บแพนด้าเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการประสานงานข้อมูลทางการแพทย์จากการประกาศของ ศบค. หรือการหยิบยกมาตรการดูแลตัวเองมาบอกเล่าให้กับประชาชนได้รับรู้

ที่สำคัญการประสานงานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐโดยมีหมอแล็บแพนด้าเป็นหนึ่งในผู้ที่สื่อสารข้อมูลและจัดการ ตัวอย่างเช่น การทำ community isolation โดยนำอาคารเก่าของ “ตัน ภาสกรนที” แห่งอิชิตันมาปรับปรุง ซึ่งยังร่วมมือกับเรื่องเล่าเช้านี้ และ กทม. เป็นต้น รวมถึงโครงการต่าง ๆ ในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้คนไทยป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19


เหล่าบรรดาเพจประสานงานช่วยเหลือโควิด-19 ซึ่งเกิดจาก “ภาคประชาชน” เป็นมุมดีมุมหนึ่งในสถานการณ์ที่เลวร้ายในเวลานี้ แสดงให้เห็นถึงพลังที่ร่วมกันช่วยผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน