อิทธิพลของ นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสดาวรุ่งแห่งยุคต่อสังคมญี่ปุ่น

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

โอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้ดำเนินแบบเต็มรูปแบบอย่างที่หวังไว้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในแดนซามูไรกลับมาน่ากังวลอีกครั้ง สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว พวกเขามีความหวังเสมอ เช่นเดียวกับการลุ้นเหรียญรางวัลในมหกรรมครั้งนี้ และบรรดานักกีฬาซึ่งเป็นที่จับตาทั้งสำหรับชาวญี่ปุ่นและนานาชาติมีชื่อ นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสหญิงเชื้อสายอเมริกัน-ญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย

นักกีฬาชาวญี่ปุ่นโลดแล่นแข่งขันในกีฬาประเภทต่าง ๆ และประสบความสำเร็จกันมากมาย หากพูดถึงในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีชื่อนักกีฬาดาวรุ่งหญิงได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องฝีมือกับวัยที่มีอยู่เพียง 23 ปีเท่านั้น ประเด็นที่ทำให้คนสนใจอีกมิติหนึ่งคือเรื่องเชื้อชาติผสมของเธอ

บิดาของนาโอมิ โอซากะ มาจากเฮติ มารดาของเธอมาจากญี่ปุ่น ส่วนตัวเธอเองไปเติบโตในสหรัฐอเมริกา โดยโอซากะเริ่มต้นแข่งขันเทนนิสตั้งแต่วัยทีน และเล่นระดับอาชีพเมื่อปี 2013 เวลานั้นเธออายุเพียง 16 ปีเท่านั้น

ผ่านไปไม่นาน เธอผ่านเข้ารอบได้เล่นในรายการแกรนด์สแลมแรกเมื่อปี 2016 ผลงานของเธอมาโดดเด่นที่สุดเมื่อปี 2018 เมื่อนาโอมิ โอซากะ เอาชนะ เซเรน่า วิลเลียมส์ นักเทนนิสไอดอลของตัวเธอเองในรอบชิงแชมป์ยูเอส โอเพ่น กลายเป็นนักเทนนิสญี่ปุ่นคนแรกที่สัมผัสแชมป์เทนนิสแกรนด์สแลมประเภทเดี่ยว และตั้งแต่ปี 2019 ถึงต้นปี 2021 โอซากะทำผลงานยอดเยี่ยมคว้าอีก 3 แกรนด์สแลม

สำหรับในนามทีมชาติ แม้ว่าเธอจะเติบโตในสหรัฐ แต่เธอก็ลงแข่งในนามทีมชาติญี่ปุ่นเสมอมา แม้ว่าเธอจะไม่ได้ชำนาญภาษาญี่ปุ่นมากถึงขั้นพูดคล่องแบบคนท้องถิ่นก็ตาม เมื่อมาถึงวาระโอลิมปิก 2020 เธอจึงกลายเป็นอีกหนึ่งเป้าสายตาในสังคมญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม สถานะความเป็นนักกีฬาคนดังของเธอค่อนข้างแตกต่างจากความคาดหวังจากชาวญี่ปุ่นบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนสูงวัยซึ่งมีค่านิยมแบบดั้งเดิมซึ่งต้องการเห็นนักกีฬาญี่ปุ่นพูดภาษาของตัวเองได้ และนำเสนอตัวเองต่อสาธารณะได้สอดคล้องกับวิถีคนท้องถิ่น

แม้แต่สื่อญี่ปุ่นเองก็มองว่าความแตกต่างของนาโอมิ โอซากะ สร้างหัวข้อประเด็นถกเถียงขึ้นมาในสังคม หัวข้อที่เด่นชัดมากคือเรื่องเชื้อชาติและอัตลักษณ์ของตัวบุคคลท้องถิ่น นาโอมิ โอซากะ เป็นคนดังอีกรายที่แสดงออกทางการเมือง เรียกร้องความยุติธรรมให้กับจอร์จ ฟลอยด์ และชายผิวดำรายอื่นอีก 6 รายซึ่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือในเหตุการณ์ความรุนแรงต่อคนผิวดำ หัวข้อเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติเองก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นทางสังคมซึ่งเกิดขึ้นในญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง

ภายหลังจากประสบความสำเร็จ นาโอมิ โอซากะ ต้องรับมือกับสภาพปัญหาทางจิตใจ เธอถอนตัวจากรายการเฟรนช์โอเพ่นในปีนี้ และโดนปรับจากที่เธอปฏิเสธร่วมงานแถลงข่าวแกรนด์สแลมรายการที่ 3 ของปีอย่างวิมเบิลดันก็ไม่ได้เข้าร่วม ด้วยเหตุผลเรื่องปัญหาสุขภาพจิตซึ่งเกิดขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตนี้มีตัวอย่างในสารคดีชุด “นาโอมิ โอซากะ” (Naomi Osaka) ทางเน็ตฟลิกซ์ สารคดีที่มี 3 ตอน เริ่มต้นฉายภาพชีวิตของเธอหลังดรีมแมตช์ที่ล้มเซเรน่า วิลเลียมส์ ในยูเอสโอเพ่นเมื่อปี 2018 เธอมีอาการนอนไม่หลับหลังจากย้ายบ้าน กังวลเกี่ยวกับผลงานและอาชีพนักเทนนิสของเธอ นักกีฬาต่างต้องรับมือภาวะทางจิตใจและอารมณ์ของตัวเองเสมอ

การกล่าวถึงปัญหาเหล่านี้คืออีกสิ่งหนึ่งที่โอซากะ ปลุกสังคมญี่ปุ่นให้หันมารับรู้เรื่องสุขภาพจิตมากขึ้นอีกระดับ มุมมองแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่คิดว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องน่าละอายจนไม่ค่อยมีใครหยิบเรื่องนี้มาพูดถึงก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป หลังจากเยาวชนรุ่นใหม่อย่างโอซากะ แสดงออกให้เห็นสำหรับเทนนิสโอลิมปิก 2020 ที่จะแข่งวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ เป็นรายการแรกที่แฟน ๆ จะได้ชมนาโอมิ โอซากะ กลับมาลงสนามอีกครั้งหลังหายหน้าจากเกมไปถึง 2 เดือน


ซึ่งเธอก็บอกเองว่า การแข่งโอลิมปิกเป็นเหมือนฝันที่เป็นจริงด้วย จึงควรกล่าวว่า นาโอมิ โอซากะ เป็นนักกีฬาที่น่าติดตามผลงานรายหนึ่งในโอลิมปิก ไม่ใช่แค่ในฐานะดาวเด่นเจ้าถิ่น แต่ยังเป็นในสถานะนักกีฬารุ่นใหม่แห่งยุคด้วย