ปมกฎคุมการเงินในโลกลูกหนัง จากกรณี เมสซี่ ย้ายทีมครั้งประวัติศาสตร์

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

วงการกีฬาปีนี้พบปรากฏการณ์ใหญ่หลายหน ครั้งล่าสุดคือช่วงที่แฟนบอลทั่วโลกทราบข่าวการย้ายทีมของ ลิโอเนล เมสซี่ ดาวเตะอาร์เจนไตน์แห่งยุคย้ายจากบาร์เซโลนา สโมสรแจ้งเกิดในลาลีกาสเปน ไปร่วมทีมปารีส แซงต์ แชร์กแมง ในลีกเอิง ฝรั่งเศส เบื้องหลังของเรื่องนี้มีหลายประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกัน หัวข้อสำคัญเรื่องหนึ่งคือ กฎระเบียบเกี่ยวกับการเงินต่าง ๆ ในโลกลูกหนังซึ่งดูจะมีช่องโหว่ในทางปฏิบัติ

จนถึงตอนนี้ แฟนบอลหลายคนอาจทราบเหตุผลเบื้องต้นที่ทำให้เกิดการย้ายทีมครั้งประวัติศาสตร์ขึ้น จากสถานการณ์ล่าสุด ฝั่ง เมสซี่ ที่สัญญากับต้นสังกัดหมดลงเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ตกลงใจว่าจะปักหลักที่บาร์ซ่า หลังร่วมงานกับสโมสรแห่งนี้นานร่วม 2 ทศวรรษ

ข้อติดขัดของการเซ็นสัญญากับเมสซี่ มาพัวพันกับกฎทางการเงิน จากสภาพการเงินของบาร์เซโลนา ซึ่งมีปัญหาเรื่องบริหารจัดการมาระยะหนึ่งแล้ว สโมสรต้องแบกภาระจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะในทีม มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ เกิดภาวะหนี้สิน สภาพการเงินของสโมสรเข้าข่ายไม่สามารถทำตามกฎทางการเงินของลาลีกา

ลาลีกา สเปน มีกฎกำหนดว่า ตัวเลขค่าเหนื่อยของผู้เล่นในทีมเมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกินเลขตามเกณฑ์ โดยตัวเลขที่ใช้เป็นเกณฑ์ค่าเหนื่อยจะอิงกับสภาวะทางการเงินของแต่ละสโมสร สำหรับบาร์ซ่าซึ่งมีปัญหาการเงิน พวกเขาจำเป็นต้องหั่นค่าเหนื่อยนักเตะในทีมลง เพื่อให้เลขค่าเหนื่อยรวมออกมาตามเกณฑ์

เมสซี่กล่าวระหว่างแถลงข่าวว่า เขาทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่ออยู่กับสโมสร และระบุว่า เขาเสนอลดค่าเหนื่อยตัวเอง 50% แล้ว (บางรายงานเผยว่า สัญญาค้าแข้งของเมสซี่ ฉบับหลังสุดกับบาร์ซ่าเป็นเวลา 4 ปี มีมูลค่าประมาณ 555 ล้านยูโร เป็นสัญญาสำหรับนักกีฬาซึ่งมีมูลค่ามากที่สุดติดอันดับต้น ๆ ของโลก)

ขณะที่ผู้บริหารใหญ่ของบาร์ซ่าชี้นิ้วไปที่ลาลีกาว่า ไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนปรนระเบียบช่วยทีม ที่ประสบปัญหาการเงินอย่างหนักในช่วงโรคระบาด แต่ถ้ามองอีกมุม บาร์ซ่ากลับเป็นสโมสรหนึ่งที่ลงนามเห็นชอบใช้กฎทางการเงินของลาลีกา เมื่อครั้งลีกประกาศใช้กฎเมื่อปี 2013 ด้วยซ้ำ

ที่ผ่านมาลาลีกามีท่าทีพยายามช่วยเหลือสโมสร มีข่าวเรื่องแผนขายหุ้น 10% ให้กลุ่มทุนเอกชน เพื่อนำเงินมาแบ่งให้ทีมในลีกไปใช้บรรเทาปัญหาการเงินในช่วงเผชิญโรคระบาด หากคิดในมุมของลาลีกา เชื่อว่าน่าจะอยากเก็บดาวเตะดังแห่งยุคให้เล่นในลีกต่อเพื่อช่วยดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนสนับสนุนหลากหลายรูปแบบจากช่องทางต่าง ๆ เข้ามาสู่ลีกโดยรวม

โลกยุคทุนนิยมยุคนี้ แทบทุกระบบมีแง่มุมทางธุรกิจมาเกี่ยวข้อง ทุกอย่างมีมูลค่า (ราคา) ในตัวเองเสมอ ฟุตบอลยุคใหม่จึงไม่ได้มีแค่ระเบียบกติกาการแข่งและการเล่นในสนาม รอบทศวรรษที่ผ่านมา กฎระเบียบทางการเงินปรากฏขึ้นหลายแห่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กฎ “แฟร์เพลย์ทางการเงิน” (Financial Fair Play) ของสหพันธ์ฟุตบอลแห่งทวีปยุโรป (ยูฟ่า) ซึ่งเริ่มถูกหยิบมาพูดถึงตั้งแต่ปี 2009

“แฟร์เพลย์ทางการเงิน” เกิดขึ้นเพื่อจำกัดการลงทุนในด้านนักเตะของสโมสรกระเป๋าหนา หลักโดยคร่าว ๆ คือ มีขึ้นเพื่อป้องกันทีมใช้จ่ายเงินเกินไปกว่าตัวเลขรายได้ สโมสรต้องจัดระเบียบการลงทุนด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การควักเงินซื้อนักเตะ จนถึงค่าเหนื่อยให้สอดคล้องกับรายรับ

จากปมการเงินอลเวงระหว่างลาลีกา, สโมสรบาร์เซโลนา และนักฟุตบอลระดับโลก อันลงเอยด้วยการย้ายทีมครั้งประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจต่อมาว่า หากเมสซี่มีราคาค่าเหนื่อยระดับมหาศาล แล้วปารีส แซงต์ แชร์กแมง สโมสรจอมทุ่มทุนซื้อนักเตะอันดับต้น ๆ ของยุคนี้ สามารถรองรับนักเตะระดับโลกที่มีค่าเหนื่อยมหาศาลหลายรายมาร่วมทีมในฤดูกาลเดียวกันได้อย่างไร

ก่อนหน้านี้ สโมสรที่ทุ่มทุนเสริมทีมต่อเนื่องเคยถูกยูฟ่าคาดโทษกรณี ทำสัญญารับทุนจากบริษัทที่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับเจ้าของทีม โดยอธิบายว่าเป็นเงินประเภท “สปอนเซอร์” แต่ไม่ได้โดนลงโทษขั้นรุนแรง เพราะชนะอุทธรณ์คดี

ฤดูกาลนี้เปแอสเชเซ็นดาวดังเข้าสังกัดแบบไม่มีค่าตัวหลายราย ตั้งแต่ เมสซี่, จานลุยจิ ดอนนารุมม่า, จอร์จินโญ ไวนัลดุม และ เซร์คิโอ รามอส ในส่วนเมสซี่แม้จะไม่ได้จ่ายค่าตัว แต่ค่าเซ็นสัญญาก็หลัก 20 ล้านยูโรแล้ว บวกกับซื้อ อัชราฟ ฮาคิมี ดาวรุ่งฝีเท้าเด่นเป็นเงินอีกกว่า 60 ล้านยูโร ตัวเลขค่าเหนื่อยของเป แอส เช น่าจะยิ่งพุ่งสูง

ขณะที่รายได้ของสโมสรใหญ่ไม่เว้นแม้แต่เป แอส เช ล้วนดิ่งลงจากสถานการณ์โควิด-19 ในยุคโรคระบาดกระทบทุกแวดวง ยูฟ่ามีท่าทีผ่อนปรนมาตรการควบคุมทางการเงินหลายอย่าง ซึ่งอาจทำให้เป แอส เช ที่เพิ่งดึงแข้งดังเข้าทีมหลายราย ไม่จำเป็นต้องวิตกเรื่องกฎทางการเงิน

ขณะเดียวกัน สื่อต่างประเทศก็รายงานว่า ยูฟ่ามีแนวโน้มพิจารณาใช้กฎกำหนดเพดานค่าจ้างมาแทนที่แฟร์เพลย์ทางการเงิน ซึ่งไม่อาจลงโทษหนักต่อสโมสรใหญ่ที่ทุนหนาได้


ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างชุลมุนในระดับรายละเอียดอยู่แล้ว ยิ่งเจอผลกระทบจากโรคระบาดอีก ยิ่งทำให้เกิดตัวแปรมากขึ้น เพิ่มระดับความซับซ้อนในแต่ละแง่มุม แต่ละมิติ เรื่องนี้มีผลต่อหลายด้าน ต้องพิจารณากันให้ดี ที่สำคัญคือ หากตั้งใจให้กฎส่งผลตามวัตถุประสงค์จริง ควรอุดช่องโหว่ต่าง ๆ โดยพิจารณาถึงสถานการณ์ระยะสั้น ไปจนถึงระยะยาวด้วย