มนต์เสน่ห์ของ อัฟกานิสถาน มรดกทางวัฒนธรรมเก่าแก่

ภายหลังการประกาศชัยชนะของกลุ่มตาลิบัน ในช่วงต้นสัปดาห์ และประกาศการสิ้นสุดสงครามในประเทศอัฟกานิสถาน ที่มีมายาวนานกว่า 20 ปี ทำให้ตลอดหลายวันที่ผ่านมาประเทศดังกล่าวถูกจับตามอง และกล่าวถึงจากทั่วโลก

ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ ชวนผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักอีกด้านหนึ่งของประเทศนี้ ที่ไม่ได้มีเฉพาะแต่เพียง “สงคราม” และ “การก่อการร้าย” แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีความสวยงามของสถาปัตยกรรมและธรรมชาติที่สะท้อนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนไว้อย่างน่าค้นหา

อัฟกานิสถาน เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา แหล่งท่องเที่ยวสำคัญส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่สำคัญเชิงประวัติศาสตร์

มัสยิดบลู (Blue Mosque) เป็นหนึ่งในจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม สร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 3 โดยมัสยิดแห่งนี้มีเอกลักษณ์ความโดดเด่นในการออกแบบด้วยโทนสีฟ้า และการออกแบบสไตล์สถาปัตยกรรมเปอร์เซียน

มัสยิดวันศุกร์ (Friday Mosque) อีกหนึ่งมัสยิดใหญ่ของเมือง Herat เมืองโบราณทางตะวันตกของอัฟกานิสถาน มัสยิดแห่งนี้มีอายุเก่าแก่มาก แต่ยังคงมีการรักษาสถาปัตยกรรมเดิมบางส่วนไว้ ตัวมัสยิดมีสีฟ้าอ่อน

หอกระจายเสียงและซากโบราณคดีแห่งญาม (Minaret and Archaeological Remains of Jam) ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ทางตะวันตกของอัฟกานิสถาน โดยเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ตัวอาคารที่สูงเป็นรูปกรวย สร้างจากหินทรายเเละมีการเเกะสลักอย่างสวยงาม ปัจจุบันนี้สถานที่แห่งนี้ยังคงตั้งอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อย่างมาก

พิพิธภัณฑ์เเห่งชาติอัฟกานิสถาน (National Museum of Afghanistan) ตั้งอยู่ในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน ที่นี่เป็นที่รวบรวมวัตถุโบราณที่ถูกขุดค้นพบในประเทศ เเละสามารถรอดพ้นจากภัยคุกคามต่าง ๆ มาได้ ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนไม่มากชิ้นเท่ากับในพิพิธภัณฑ์ประเทศอื่น แต่นับว่าเป็นวัตถุโบราณที่มีความล้ำค่าเป็นอย่างมาก

หุบเขา Panjshir อยู่ในเชิงเขาของเทือกเขาฮินดูกูช ทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน ที่หุบเขานี้มีความสวยงามของวิวเทือกเขา ผสมกับวิวแม่น้ำที่คดเคี้ยว ที่ล้อมรอบหมู่บ้านชนบทเล็ก ๆ ที่มีความเขียวขจีของทุ่งหญ้า

พระพุทธรูปบามิยัน (Buddhas of Bamiyan) ตั้งอยู่ที่หุบเขาเมืองบามิยัน ห่างจากกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศอัฟกานิสถาน ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 240 กิโลเมตร ภายในหุบเขามีพระพุทธรูปยืนจำนวน 2 องค์ ที่สลักอยู่บนหน้าผาสูง 2,500 เมตร ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “พระพุทธรูปแกะสลักฝาผนังที่ใหญ่ที่สุดในโลก” แต่ในปี 2544 พระพุทธรูปนี้ถูกทำลายจากกลุ่มตาลิบัน เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งนอกจากความสวยงามของงานแกะสลักแล้ว รอบหุบเขาบามิยันยังเต็มไปด้วยความสวยงามของธรรมชาติอีกด้วย

และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ กรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน เป็นหนึ่งในเมืองที่เคยได้รับฉายาว่า ปารีสเเห่งตะวันออก ก่อนที่จะโดนพิษของสงครามทำลายลง เเต่ในปัจจุบันก็กำลังมีการฟื้นฟูเมืองให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง

ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของอัฟกานิสถานว่า ประเทศดังกล่าวเป็นประเทศยุทธศาสตร์ มีทางเชื่อมต่อในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ เอเชียกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง รวมถึงมีดินแดนส่วนหนึ่งติดกับประเทศจีน ซึ่งที่ตั้งของประเทศดังกล่าวมีความสำคัญมาก เสมือนหนึ่งเป็นประตูไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ

ขณะเดียวกัน อัฟกานิสถานก็เป็นประเทศที่มีทรัพยากรอยู่มาก แร่ธาตุต่าง ๆ แต่ประเทศดังกล่าวอยู่ภายใต้ภาวะสงครามมายาวนาน ไม่มีใครสำรวจอย่างจริงจังนัก โดยการคาดการณ์นั้นมากกว่าที่นักวิชาการและประเทศมหาอำนาจทั้งหลายประเมินไว้ จึงเป็นพื้นที่แข่งขันของประเทศมหาอำนาจ นอกเหนือจากเป็นแหล่งทรัพยากร อัฟกานิสถานจึงมีความสำคัญและถูกจับตามองจากทั้งโลก

อัฟกานิสถาน ถือเป็นประเทศที่มีมนต์เสน่ห์ที่ยังถูกรอให้ผู้ที่หลงใหลด้านวัฒนธรรมเดินทางไปพิสูจน์ ซึ่งภายหลังที่กลุ่มตาลิบันครองอำนาจในการบริหารประเทศ จึงน่าจับตาการเปิดประเทศและการใช้ทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดหลังจากนี้