โรคโควิด-19 พบได้ในสุนัขและแมวที่คนเลี้ยงติดเชื้อ

สุขภาพดีกับรามาฯ
อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

ช่วงนี้มีการระบาดในประเทศไทยเป็นอย่างมากในวงกว้าง หลาย ๆ บ้านเป็นกันทั้งครอบครัว จนมีคนไข้หลายคนตั้งคำถามว่า แล้วสัตว์เลี้ยงที่บ้านจะติดหรือไม่ ต้องอยู่ห่างจากสัตว์ไหม ถ้าติดต้องรักษาด้วยหรือไม่ ด้วยวิธีการใด อีกข้อข้องใจคือ หากคนทั้งบ้านไปนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้ว การฝากสัตว์เลี้ยงไว้กับคนอื่นนั้น สัตว์เลี้ยงจะเป็นพาหะในการนำโรคไปสู่ผู้อื่นได้หรือไม่ มาดูกันค่ะว่า ทางด้านวิชาการ มีหลักฐานอะไรมาสนับสนุนกันบ้าง

สัตว์เลี้ยงที่เจ้าของติดเชื้อโควิด-19 สามารถติดด้วยได้หรือไม่

มีการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Utrecht ในประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่า โรคโควิด-19 พบได้บ่อยในสุนัข และแมว ที่คนเลี้ยงติดเชื้อ โดยมีการตรวจในโพรงจมูก และตรวจเลือดของสัตว์เลี้ยง 310 ตัว ในบ้าน 196 หลัง ที่คนเลี้ยงติดเชื้อโควิด-19 พบว่ามีสุนัข 7 ตัว และแมว 6 ตัว พบว่ายังมีเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อเชื้ออยู่ในโพรงจมูก คิดเป็นร้อยละ 4.2 ขณะที่สัตว์ทั้งหมด 54 ตัว (ร้อยละ 17.4) พบว่ามีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้

อาการของสัตว์เลี้ยง

ส่วนมากมักไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย คนเลี้ยงมักสังเกตว่า สุนัขหรือแมวทานอาหารได้น้อยลง และบางรายหายใจเหนื่อยหอบ มีบางการศึกษาพบว่า มีสัตว์บางส่วนประมาณร้อยละ 3 มีอาการรุนแรง

สุนัขหรือแมวมีโอกาสติดมากกว่า

มหาวิทยาลัย Guelph ในประเทศแคนาดา ยังพบว่า แมวที่นอนเตียงเดียวกับเจ้าของมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด-19 โดยทำการศึกษาในบ้าน 77 หลัง พบว่าร้อยละ 43 ของสุนัขที่เลี้ยงที่บ้าน และร้อยละ 67 ของแมวที่เลี้ยงในบ้าน มีโอกาสที่มีภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่า โดยเทียบกับร้อยละ 9 สุนัขและแมวที่พักในสถานรับเลี้ยงสัตว์ และร้อยละ 3 ในสัตว์จรจัด โดยผู้วิจัยคาดว่า ชีววิทยาบางอย่างในตัวแมวน่าจะทำให้ติดเชื้อง่ายกว่า หรืออาจเป็นเพราะแมวชอบนอนใกล้กับหน้าคนเลี้ยงมากกว่าสุนัข ทำให้มีการสัมผัสเสี่ยงสูงมากกว่านั่นเอง

สุนัขและแมวสามารถหายเองได้หรือไม่

จากการศึกษาในประเทศเนเธอแลนด์ และแคนาดาข้างต้น พบว่าสัตว์เลี้ยงสามารถกำจัดเชื้อและสร้างภูมิต้านทานได้เช่นเดียวกันกับคน

มียาหรือวัคซีนสำหรับสัตว์เลี้ยงหรือไม่ ควรทำอย่างไรเพิ่มเติมดี

ขณะนี้ยังไม่ได้มียารักษาสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรัสเซีย มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับสัตว์บางชนิดด้วย แต่ยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายทั่วไป

ดังนั้น จึงมีคำแนะนำว่า หากคุณติดเชื้อโควิด-19 คุณควรหลีกเลี่ยงที่จะใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง ใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ ขณะสัมผัสสัตว์ เช่นเดียวกันกับที่คุณควรจะออกห่างจากคนอื่น ๆ โดยความกังวลหลักไม่ได้อยู่ที่ว่าสัตว์เลี้ยงจะติดเชื้อร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากสัตว์เลี้ยงนั้นอาจเป็นแหล่งเก็บเชื้อโรคที่อาจเป็นพาหะที่ทำให้เกิดการระบาดในคนมากขึ้น

หมายเหตุ : อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล