สนั่น อังอุบลกุล อายุเป็นเพียงตัวเลข กับภารกิจ Connect the dots

สนั่น อังอุบลกุล
กษมา ศิริกุล

เมื่อโรคภัยเข้ามาใกล้ตัว ใครหลาย ๆ คนจึงรู้สึกว่า “การดูแลสุขภาพ” สำคัญที่สุด แต่นั่นไม่ใช่สำหรับคนชื่อ “สนั่น อังอุบลกุล” เพราะสำหรับเขา การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่ต้องทำทุกวัน ไม่ใช่แค่ช่วงที่มีโรคภัยไข้เจ็บหรือจวนตัวเท่านั้น สูตรนี้เองที่ทำให้อายุกลายเป็นแค่ตัวเลข

มาทำความรู้จักชายผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมานับไม่ถ้วน ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ผู้นำภาคเอกชน “ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” คนที่ 25 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 พร้อมแบกรับภารกิจนำพาภาคธุรกิจนับแสนราย ฝ่ามรสุมโควิดที่กำลังกระหน่ำเศรษฐกิจไทย ด้วยวัย 74 ปี

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังรับบทบาทในองค์กรต่าง ๆ อีกจำนวนมาก อาทิ ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ประธานกรรมการมูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ เป็นต้น

ในอีกหมวกหนึ่ง ยังเป็นกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด แบรนด์ดังที่อยู่คู่สังคมไทยมานานนับ 40 ปี และบริษัทในเครือมากกว่า 17 บริษัท

เรื่องราวในชีวิตของชายผู้นี้ที่เต็มไปด้วยสีสัน

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยกับ “สนั่น” หรือในวงการธุรกิจเรียกว่า “พี่หนั่น” ถึงชีวิตนอกเวลางาน ทำให้เราพบว่า ความมหัศจรรย์ของการดูแลสุขภาพเปล่งประกายด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใส “สนั่น” เล่าให้เราฟังว่า

“ทุกเช้าผมจะตื่นตอนตี 5 ออกจากบ้านย่านดอนเมืองไปตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟราชพฤกษ์ ที่อยู่ใกล้บ้าน จะเริ่มทีออฟประมาณ 6 โมงเช้า โดยจะใช้เวลาตีกอล์ฟราว 1 ชั่วโมง ถึงประมาณ 7.10 น. จากนั้นจะอาบน้ำทานมื้อเช้าก่อน เริ่มภารกิจในแต่ละวัน เช่น ไปประชุมตามที่ต่าง ๆ กระทั่งเข้านอนประมาณเที่ยงคืน”

“ไลฟ์สไตล์ผมง่าย ๆ คือ 1.ออกกำลังกายเป็นประจำ ให้เวลากับตัวเองวันละ 1 ชั่วโมง และประการที่ 2 ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณหมอของผมชอบมากคือ การที่ผมเป็นคนไม่ค่อยเครียด ถือเป็นยาที่วิเศษสุด บวกกับผมเป็นคนหลับง่าย ซึ่งปกติผมจะให้เวลากับการนอนประมาณวันละ 5 ชั่วโมง ซึ่งนับว่าเพียงพอ”

เขาทำเช่นนี้มาอย่างสม่ำเสมอนานกว่า 30 ปี จนเรียกได้ว่าเป็น “กิจวัตร”

ตีกอล์ฟกับตัวเอง

“สนั่น” เล่าว่า จุดเริ่มต้นกีฬากอล์ฟมาจากการสังคมในสมัย 40-50 ปีก่อน สมัยนั้นใครอยากรู้จักคนดัง แวดวงการเมือง นักธุรกิจก็ต้องไปสนามกอล์ฟ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นกีฬาของคนรวยที่ใช้สร้างคอนเน็กชั่น กระทั่งช่วงหลังมีจำนวนสนามมากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงกีฬาประเภทนี้มากขึ้น

“ประมาณ 15 ปีมานี้ ผมเริ่มมาเดินคนเดียว คือช่วงที่อายุเกือบ 60 ปี ก็คิดว่าพอแล้ว ไม่ต้องมีอะไรในสังคมมาก เพราะตอนเล่นกอล์ฟกับคนอื่นจะไม่เหมือนกับการได้ออกกำลังกาย มันเหมือนเป็นกีฬาเพื่อสังคมมากกว่า ได้รู้จักคน มีเพื่อน

แต่ว่าเดินคนเดียวจะต่างกัน ทำให้เราสามารถตีในเวลาไหนก็ได้ จะอายุเท่าไหร่ก็ได้ เดินไม่ค่อยไหวก็ยังนั่งรถได้ ทำให้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองได้มากขึ้นในแต่ละวัน”

เสน่ห์ของกอล์ฟ เกมอ่านคน

คนที่ไม่เล่นกอล์ฟอาจไม่รู้ว่าเสน่ห์ของกีฬานี้คืออะไร ซึ่ง “สนั่น” เล่าว่า กีฬานี้ทำให้เราได้เรียนรู้นิสัยของเพื่อนหรือคู่ต่อสู้ได้

“กอล์ฟคือกีฬาที่ต้องมีมารยาท กฎเกณฑ์ เราจะใจร้อนไปตีก่อนไม่ได้ เพราะจะทำให้คนอื่นเดือดร้อน คนไหนตีแบบใจร้อน ไม่มีสมาธิ ก็จะตีลูกไปซ้ายไปขวา ลงน้ำ ลงทราย กอล์ฟต้องตีตามวง หรือบางคนใจร้อนถึงขั้นเขวี้ยงไม้กอล์ฟไปเลย อย่างนี้ถือว่าใช้ไม่ได้

หรือการพัตกอล์ฟ (การกลิ้งลูกด้วยพัตเตอร์ให้ได้ความเร็วที่เหมาะสม และให้ลูกอยู่บนทิศทางที่ถูกต้อง) จะต้องดูว่าไลน์ของหญ้า จะแทงซ้ายแทงขวาจะเข้าอย่างไรถึงจะลงหลุม ซึ่งเป็นความละเอียดอ่อน ฝึกคนให้มีสมาธิ แชมป์โลกคนไทยอย่างไทเกอร์ วูดส์ ผมเคยถามเขาบอกว่า ที่ได้เปรียบ เพราะว่าได้ฝึกสมาธิจนชนะ”

ล็อกดาวน์สนามกอล์ฟชีวิตเปลี่ยน

แล้วช่วงโควิดแบบนี้ สนามกีฬาต่าง ๆ ต้องปิด “สนั่น” เลยต้องหยุดกีฬาโปรดไว้ แต่นั่นไม่ทำให้เขาเลิกออกกำลังกาย

“ช่วงล็อกดาวน์ สนามกอล์ฟถูกสั่งปิด ผมก็ปรับเป็นการเดินในบ้านใช้เวลาวันละ 40 นาที ตอนเย็น หนึ่งทุ่มหลังทานมื้อค่ำ ถือเป็นการย่อยอาหาร เป็นการให้เวลาตัวเอง 1 ชั่วโมง สำหรับชีวิตประจำวันไม่ได้เดินเร็ว เป็นการเดินไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสออกกำลังกายให้เหงื่อออก”

การดูแลสุขภาพใจฝ่าโควิด

ไม่เพียงสุขภาพกายเท่านั้น แต่ “สุขภาพใจ” ก็สำคัญ ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด คนทั่วไปคร่ำเครียด “สนั่น” แนะหลักคิดว่า

“ทุกอย่างล้วนมีปัญหาและอุปสรรค แต่ปัญหามีไว้เพื่อแก้ ไม่ใช่กังวลตลอดเวลา คิดอย่างนี้จึงทำให้ปล่อยวางได้ อีกประการหนึ่ง เราคิดว่าทุกอย่างต้องมีโซลูชั่น หากเรามองข้ามปัญหาไปได้ ไม่ยึดติดกับปัญหานั้น เราก็จะหาทางออกได้”

“ในการทำงานหนึ่ง ๆ ตัวเราเองต้องมีความรู้พอสมควร แต่ต้องยอมรับว่าตัวเราไม่ได้เก่งทุกอย่าง อาจไม่ได้ลงลึก แต่มองภาพกว้างได้ และเข้าใจในสัจธรรม ด้วยความที่เราเป็นคนมีเพื่อนเยอะ ใครเก่งตรงไหนก็ไปหา ไปปรึกษาให้เขาสนับสนุนในส่วนนั้น ๆ

เมื่อมาทำงานในหอการค้าก็ใช้แนวคิดแบบนี้ จึงเป็นที่มาของแนวทางการทำงาน Connect the dots ทำ 3 ภารกิจหลักให้เสร็จใน 99 วันแรกหลังรับตำแหน่ง”

3 ผลงานหลัก 99 วัน

“วันแรกเราเริ่มตั้งคำถามกับพวกเราเองก่อนว่า why หรือ ทำไม ? เช่น ทำไมเศรษฐกิจถดถอย ทำไมความเชื่อมั่นในการลงทุนจึงลดลง

ตามด้วยคำถามว่า “what หรืออะไร เช่น อะไรคือสิ่งที่เราต้องแก้ไข หรืออะไรคือสิ่งที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น แล้วนำมาสู่คำถามข้อที่ว่าทำอย่างไร หรือ how เพื่อหาทางออก”

3 เรื่องหลักที่ได้ขับเคลื่อน คือ1.ต้องจัดหาวัคซีน รัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านโดสในปีนี้ให้กับคนไทยไม่ต่ำกว่า 50 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

จากตอนนั้นที่คนไทยได้วัคซีนแค่ 0.4% ไม่อย่างนั้น เศรษฐกิจก็ฟื้นฟูไม่ได้ ไม่สามารถจะเปิดประเทศได้ ซึ่งตอนนี้ถือว่ามีความชัดเจนแล้วในข้อแรก

2.การลงทุนต่างประเทศและในประเทศก็ถดถอย ทำให้การจ้างงานลดลง แล้วนักลงทุนจะย้ายการลงทุนไปประเทศอื่นอีก ฉะนั้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะต้องใช้ “digital transformation” มาช่วยการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลทุกด้าน

“หอการค้าจึงเข้าไปเป็นสะพานเชื่อม นำร่องนำข้อมูลเอสเอ็มอี ซัพพลายเออร์ของค้าปลีกให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เริ่มจากกลุ่มเซ็นทรัลและ K-Bank ต่อด้วยอีก 5-6 ธนาคาร

การเชื่อมโยงข้อมูลสร้างความเชื่อมั่นให้ธนาคาร ซึ่งเดิมยังไม่รู้จักเอสเอ็มอี ทำให้ไม่กล้าปล่อยเงินกู้ในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อเซ็นทรัลช่วยทำให้เกิดความมั่นใจ ทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเงินกู้ได้มากขึ้น”

และเรื่อง 3. Ease of Doing Business ได้เข้าไปผลักดันให้รัฐแก้กฎระเบียบ ให้การทำธุรกรรมเกิดความคล่องตัวขึ้น สะดวกในการประกอบธุรกิจ ทำให้ทะลุทะลวงปัญหาต่าง ๆ ได้

“วิธีการทำงานของหอการค้าฯ เราไม่มีอำนาจเหมือนรัฐบาล เราเป็นศูนย์รวมของภาคเอกชน 1 แสนรายด้านเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนของเราจึงต้องไป Connect the dots เชื่อมโยงกับภาคเอกชนด้วยกัน ในคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ให้ทำงานกลมกลืน ร่วมงานกับภาครัฐได้


เน้นว่าอย่าไปสร้างความขัดแย้ง เราต้องทำเพื่อให้งานออกมาดี ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ ตามสโลแกน สร้างความเชื่อมั่น ร่วมกันสร้างสรรค์ ช่วยกันขับเคลื่อน ซึ่งผลก็ออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจน”