ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข คนไทยในเวทีโลก ติดอาวุธธุรกิจปรับภาพส่งเสริมอุตสาหกรรม

ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข
พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

“ไอเซนฮาวร์ เฟลโลว์ชิพ” (Eisenhower Fellowships) โครงการที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1953 เพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตประธานาธิบดี ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ แห่งสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างผู้นำคนรุ่นใหม่จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีผลงานหรือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อโลก และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่จะช่วยให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลขึ้น ซึ่งจะทำให้การดำเนินการด้านต่าง ๆ มีประโยชน์ต่อประเทศและสังคมโลก

ทั้งนี้ แต่ละปีจะมีการคัดเลือกผู้นำรุ่นใหม่จาก 12 ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำในด้านต่าง ๆ ที่สนใจ ตามกำหนดการที่ออกแบบเฉพาะของแต่ละคน โดยการคัดเลือกจากแต่ละประเทศนั้นจะดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกระดับสูงในแต่ละประเทศ

ส่วนการคัดเลือกในขั้นสุดท้ายจะผ่านคณะกรรมการของ Eisenhower Fellowship ที่สำนักงานใหญ่สหรัฐอเมริกา ในปีนี้ผู้บริหารชาวไทยที่ได้รับคัดเลือกไปเข้าร่วมโครงการดังกล่าวคือ “ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน)

จุดเริ่มต้นที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้

ปิยะดิษฐ์ เล่าให้ฟังว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เปิดโอกาสในการพบปะ “ใครก็ได้” ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด ต่อยอดไอเดียกัน โดยแต่ละคนสามารถกำหนดธีมของตนเองเพื่อที่จะทำให้ธีมที่วางไว้เป็นจริงได้ ซึ่งประโยชน์ของโครงการคือการได้มีองค์ความรู้ ประสบการณ์ และคอนเน็กชั่นที่ดี โครงการนี้ให้โอกาสที่จะทำให้คนในสังคมหรือ อุตสาหกรรม ดีขึ้น

ย้อนกลับไปในช่วง 6-7 ปีก่อนหน้า มีรุ่นพี่ที่อยู่ในโครงการดังกล่าวชวนให้ไปสมัครเข้าร่วม แต่ในช่วงเวลานั้นไม่แน่ใจว่าโครงการดังกล่าวจะเหมาะสมหรือไม่ เพราะเป็นโครงการที่ดูยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน

แต่เมื่อตนเองได้มีโอกาสมาทำงานในส่วนของหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขาธิการสมาคมฯ แล้วพบว่ามีอะไรอีกหลายอย่างที่เราอยากเรียนรู้ มีสิ่งที่เราอยากเห็น เลยสมัครเข้าไปในโครงการ ในธีม “วิศวกรรมก่อสร้าง”

เนื่องจากธุรกิจก่อสร้างเป็น sector ที่เป็น 8-9% ของอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มีห่วงโซ่อุปทานที่ใหญ่มาก ทั้งในส่วนของโลจิสติกส์ ซัพพลายเออร์ต่างๆ โดยก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานถือเป็น เซ็กเตอร์ ที่ใหญ่มาก เลยอยากทำให้กระบวนการตรงนี้มีประสิทธภาพ และมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น (efficiency + transparency)

“ส่วนตัวอยากเห็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น พอคนเข้าใจกระบวนการมากขึ้น จะทำให้เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพราะโดยทั่วไปคนมักมองว่าธุรกิจก่อสร้างนี้เป็นธุรกิจสีเทา (grey industry)

อย่างเช่น ช่วงโควิด ที่คนบอกธุรกิจก่อสร้างเป็นประเด็น ดังนั้นเราเลยมามองว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้อุตสาหกรรมนี้ โปร่งใส, มีประสิทธิภาพ และ ยั่งยืน มากขึ้น”

ธีมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เตรียมไปในครั้งนี้

ธีมที่เสนอไปเป็นเรื่องการก่อสร้าง ซึ่งเป็นการผนวกวิศวกรรม กับเทคโนโลยี การบริหารจัดการ (คน-สิ่งของ-โลจิสติกส์) ให้งานที่ออกมามีคุณภาพ ปลอดภัย ราคาย่อมเยา ในระยะเวลาที่กำหนด แบ่งออกเป็น 2 หัวข้อคือ

1.Productivity ใช้ของและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

2.Sustainability ใช้ของให้มีความยั่งยืน ทั้งสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการ

ส่วนตัวมีความฝันว่า ถ้าทำให้ดีขึ้นได้จะเป็นส่วนนึงที่ทำให้ประเทศไทยเติบโตและก้าวหน้าเพื่อส่งต่อโลกที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไป เป็นความรับผิดชอบที่ไม่ได้เป็นแค่ผู้นำแค่บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) เท่านั้น แต่ช่วยทั้งอุตสาหกรรมที่เราอยู่ ถ้าเติบโตอย่างถูกต้อง รับผิดชอบ เป็นภารกิจที่เราตั้งใจ

นอกจากนั้น หากกล่าวในฐานะเลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มองว่าการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้มีโอกาสที่จะนำองค์ความรู้มาต่อยอดจากการเดินทางไปดูประเทศอื่นถึงวิธีบริหารจัดการอย่างไร

และอะไรคือผลที่ดีที่เราสร้างได้ ยกตัวอย่างเมื่อเกิดเหตุการณ์โควิด-19 แต่ละประเทศมีวิธีรับมืออย่างไร เราได้เห็นความรับผิดชอบในมุมที่อยากเห็นสังคมมีความหวัง ส่งต่อองค์ความรู้หรือรายละเอียดบางอย่างเพื่อสร้างผลที่ดีว่าเป็นอย่างไร

“เราได้ไปเจอเพื่อนใหม่ ได้แรงบันดาลใจใหม่ ๆ แนวคิดใหม่ ได้เห็นว่ามีอะไรที่เราสามารถนำไปร่วมมือกับคนอื่นได้บ้าง ได้สร้างสายสัมพันธ์ กับคอร์ส 6 สัปดาห์นี้ นับว่าเป็น Life-Long Friendship เพราะมีคนมากมายให้เราสร้างเน็ตเวิร์กด้วย เพราะส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อเรื่อง power network ว่าเป็นสิ่งสำคัญ กอปรกับการที่เราเป็นคนที่มี Growth mindset อยู่แล้ว”

วางแผนพบปะพูดคุยกับใครเป็นพิเศษ

ช่วงแรกของโครงการจะเป็นออนไลน์ 3 สัปดาห์ เราจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนเฉลี่ย 2 คนต่อคืน ซึ่งได้มีโอกาสพูดคุยเรื่อง solid waste กับคนจัดการขยะในอเมริกา ต้องบอกว่า ในธุรกิจก่อสร้างนี้ผลิตขยะเยอะ

เราจะทำอย่างไรให้สังคมรับผิดชอบ ให้ขยะที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตลดน้อยลง ใช้อย่างมีคุณค่า มีการรีไซเคิล ภาครัฐจะออกอะไรให้เป็น incentive คำตอบที่ฟังจากการพูดคุยเป็นคำตอบง่าย ๆ แต่จริง

เลยทำให้คิดได้ว่าการคิดและลงมือทำเป็นสิ่งสำคัญ เชื่อว่าในอนาคตเราจะได้ pay it forward ให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป เพื่อจะพัฒนาในวงการก่อสร้างนี้ดียิ่ง ๆ ขึ้น

ความท้าทายในการเข้าร่วมโครงการนี้

ย้อนกลับไปก่อนที่เข้ารับตำแหน่งที่บริษัทนี้ต่อจากคุณพ่อ ส่วนตัวได้มีโอกาสทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 5 ปี ถูกสอนให้มองปัญหาที่วัตถุประสงค์และส่งมอบความคุ้มค่าให้กับลูกค้า ซึ่งถึงวันนึงในการออกจากคอมฟอร์ตโซนที่กลับมาประเทศไทยในช่วงที่คุณพ่อป่วยและหลังจากนั้นได้บวชเรียนระยะเวลาหนึ่ง จึงได้ค้นพบความหมายของชีวิต

กลับมาเจอปัญหาแต่พอเราแก้ปัญหา เราเกิดความผูกพันกับทีมงาน เริ่มเกิดศรัทธา กับสิ่งที่พ่อทำ มีโปรเจ็กต์ที่ต้องไปทำเขื่อนและเห็นถึงปัญหา คิดว่าถ้าเรามีเขื่อนที่ดีขึ้น เร็วขึ้น ชีวิตคนจะดีขึ้น ทำให้เกิดแรงผลักดันว่าเราอยากปรับใช้ทุกสิ่งที่เรามีให้ดีขึ้น ใช้เวลาพิสูจน์ตัว จนดีขึ้น จากวันนั้นมาวันนี้ 5 ปี

“ส่วนตัวเป็นคนที่ใช้ passion drive เราเชื่อในคุณค่าที่เราให้ จึงเริ่มออกจากคอมฟอร์ตโซนอีกครั้งมาช่วยงานที่สมาคมก่อสร้าง และเป็นเลขาธิการสมาคมหอการค้าไทย ทำให้เห็นภาพที่ใหญ่ขึ้นด้วย เราเชื่อในสิ่งที่เราทำและโครงการนี้ก็เช่นกัน ส่วนตัวอยากหาความรู้เพิ่มเติม ถ้าเราตั้งใจเราจะค้นพบความหมายและพบในสิ่งที่เราเชื่อ เปรียบเสมือนติดอาวุธให้กับธุรกิจในฐานะผู้นำองค์กร”