ปรากฏการณ์รสพระธรรมออนไลน์ ปริศนาธรรมแห่งรสชาติอันหลากหลาย

พระมหาสมปอง-พระมหาไพรวัลย์
พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

ปรากฏการณ์ที่เป็นที่กล่าวถึงทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ที่ไม่กล่าวถึงเห็นทีจะไม่ได้ นั่นคือ เฟซบุ๊กไลฟ์สนทนาธรรมของพระมหาไพรวัลย์ ที่ไม่น่าเชื่อว่าความร้อนแรงของผู้ชมในขณะสตรีมสดนั้นสูงถึงระดับหลัก 2-3 แสนคน หรือมีผู้ชมรวมทั้งสิ้นระดับเกิน 2 ล้านวิวต่อการสตรีม ซึ่งนับเป็นคอนเทนต์ธรรมะในยุคนี้ที่มีผู้สนใจเข้าร่วมรับชมรับฟังมากที่สุดเลยก็ว่าได้ อันด้วยลีลาอันเป็นเอกลักษณ์ของพระมหาไพรวัลย์ แห่งวัดสร้อยทอง ที่พูดคุยอย่างเป็นกันเองพร้อมสอดแทรกธรรมะและข้อคิดต่าง ๆ

ห้องสตรีมสดที่บรรยากาศราวกับอยู่ในสวนมีตุ๊กตุ่นตุ๊กตาตัวละครมาวางไว้ในฉากบ้าง ซึ่งถูกแฝงไว้ด้วยธรรมะทั้งสิ้นในการหยิบยกมาเล่าเรื่องในแบบฉบับที่ง่ายและเป็นกันเอง สลับกับการตอบคำถามจากคอมเมนต์ทางบ้านที่พิมพ์เข้ามาแสดงความเห็นอย่างออกรสชาติ

เพียงช่วงข้ามคืนบนโลกทวิตเตอร์ได้กล่าวถึงกระแสดังกล่าวนี้มากสูงถึงระดับ 1 ล้านข้อความ และดังต่อเนื่องเป็นกระแสที่ถูกกล่าวถึงไม่หยุดไม่หย่อน ร้อนแรงจนกระทั่งในเฟซบุ๊กไลฟ์ในวันถัด ๆ ไปของพระมหาไพรวัลย์ มีแบรนด์ทั้งผู้ผลิตสินค้า, ร้านค้า, บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม, วงดนตรี ไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อมวลชน ที่สวมเอาความเป็นเพจ official เข้าไป tie-in เนียน ๆ ยิ่งเป็นการการันตีความร้อนแรงอีกเสมือนมีผู้ที่สนใจเข้ามา

กระแสดังกล่าวยังแรงต่อเนื่องจนกระทั่งมีการ feat. ระหว่างพระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปอง ซึ่งยังคงร้อนแรงและร้อนแรงยิ่งขึ้นไปอีก ต่อมาหลังจากนั้น พระมหาไพรวัลย์มีกระแสข่าวการ collabs กับพระมหาเทวีเจ้าและโยมทิพย์ ซึ่งนับเป็นกระแสความร้อนแรงของคอนเทนต์ธรรมะบนโลกออนไลน์เวลานี้

ปรากฏการณ์คำฮิตติดโซเชียล

ทั้งนี้ เกิดเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องอีกมากมาย เช่น คำศัพท์ต่าง ๆ ที่จุดกระแสฮิตติดปากอย่าง คำว่า “พส” อ่านว่า พอสอ เป็นตัวย่อของคำว่า พี่สาว เพื่อนสาว ที่เป็นคำสร้อยในการใช้เรียกบุคคลสนิท หรือคนรู้จัก ได้ทั้งด้านบวก สะท้อนความสนิทสนม

เช่น ปังมากค่ะ พส ! หรือในบริบทที่ต้องการเรียกคนรู้จักในอารมณ์จิกกัด อาทิ เรื่องแบบนี้น้องว่าไม่ควรทำนะคะ พส ! (แบะปาก) เป็นต้น ซึ่งพระมหาไพรวัลย์หยิบยกมาใช้อยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม พส ก็เป็นคำย่อของคำว่า พระสงฆ์ได้ด้วย ดังเช่น ในกระแสความนิยมชมไลฟ์พระนักเทศน์ ที่มีการเรียกว่า ไลฟ์ พส หรือไลฟ์พระสงฆ์

ขณะที่อีกหนึ่งคำที่หยิบยกมาใช้บ่อย ๆ คือ สภาพ (อ่านว่า สะ-พาบ) ซึ่งก็มีผู้คาใจเข้าไปอินบอกซ์ถามพระนักเทศน์ถึงความหมายของคำดังกล่าว พระมหาไพรวัลย์ตอบว่า “สภาพ ก็คือ สภาพไง ขายขำเหรอ” พร้อมทั้งโพสต์รูปบทสนทนาดังกล่าวและระบุว่า “อ้าววว ก็แปลว่า สภาพไงน้องง สภาพ ที่หมายถึง สภาพอ่ะ”

ซึ่งเชื่อว่าคำว่า สภาพ ที่กลายเป็นเทรนด์นี้เริ่มมาจากการสนทนาภาษาเมืองทิพย์ของ “เจ๊หญิงลี” และคู่หู “ทิพย์” อาจจะกล่าวได้ว่าการหยิบยกคำว่า “สภาพ” มาใช้ในบทสนทนาแบบไม่ได้นำมากล่าวเป็นรูปประโยคขยายใจความอื่น มีความหมายคล้ายกับคำว่า “ดูสภาพ” “สภาพแบบนี้” “ดูสิสภาพแบบนี้” ซึ่งใช้ได้ทั้งในเชิงพูดคุยขำขัน ผ่อนคลาย ไปจนถึงสะท้อนความละเหี่ยใจ ปลง ไม่เห็นด้วย

ปรากฏการณ์เห็นต่าง

กระแสดังกล่าวเป็นที่ถูกจับตาทางสังคมอย่างมากจากชาวเน็ตที่แบ่งออกเป็น 2 ฝั่งสำหรับ “การสนับสนุน” และ “การไม่สนับสนุน” ซึ่งด้านฝ่ายสนับสนุนให้ความเห็นถึงการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือบนโลกออนไลน์ที่สามารถเผยแผ่ธรรมะเข้ากับสถานการณ์ของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ด้านไม่สนับสนุนให้ความเห็นถึงการใช้คำกล่าวในขณะไลฟ์และกริยาที่อาจไม่สำรวม เป็นต้น

พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ต.บางเลน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี กล่าวถึงกรณีพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปองถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางเทคโนโลยี ซึ่งเอาภาพออกมา เสียงออกมา ท่าทาง เสียงหัวเราะ อะไรต่าง ๆ เอาออกมาครบ

คนที่ฟังก็ต่างระดับกัน ผู้สูงอายุก็อาจรู้สึกว่าพระออกอย่างนี้ได้หรือ แต่ที่จริงพระร้องแหล่ก็มีมานานแล้ว อาตมาเองก็เคยมีประสบการณ์ตอนสมัยบวชใหม่ เริ่มเทศน์แล้วคนไม่ค่อยสนใจ เลยหามุขหาวิธีเทคนิคต่าง ๆ เทศน์สนุกจนคนแห่มาฟังตั้ง 50,000 คน

อย่างที่ทุ่งศรีเมือง สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช คนล้นหลามหมด ออกทีวีช่อง 3 จำได้รายการธรรมะพระพยอมเรตติ้งเป็นรองแค่คุณไตรภพ

พระพยอมกล่าวว่า อาตมาเคยเป็นแบบนี้สมัยหนึ่ง อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช คุณสมัคร สุนทรเวช ท่านอาจารย์พุทธทาสได้เตือนสติอาตมา โดยเฉพาะอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ บอกไม่ศรัทธาเลยที่อาตมาเทศน์แบบนี้

พระพยอมกล่าวด้วยว่า ทั้งสองท่าน (พระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปอง) ก็เหมือนกัน เมื่ออายุมากขึ้น จะมีสติ ปัญญามากขึ้นตามลำดับ เมืองไทยเรามีคนหลายอย่าง คนวัยรุ่นชอบอีกอย่าง คนสูงอายุชอบอีกอย่าง ตอนนี้อาตมาเปลี่ยนแนวไปเป็นวิเคราะห์ตามสื่อ ตามหนังสือพิมพ์มากกว่า

“อยากฝากไว้ว่า อย่าไปตำหนิอะไรกันมากเลย เมื่ออายุ หรือพรรษามากขึ้น ความรู้สึกจะปรับเปลี่ยนไป ยังไงก็ขึ้นตาชั่งแล้วยังได้ประโยชน์ มีที่ไหนคนฟังธรรมะ 2 แสนคน มันอาจจะน้ำท่วมทุ่งสนุกสนานเบิกบานไปบ้าง แต่ก็ดีที่เทศน์ให้สนุกสนานไม่ใช่เทศน์ให้ง่วง ให้เครียด ให้หลับ” พระพยอมกล่าว

พระเทพปฏิภาณวาที หรือ เจ้าคุณพิพิธ วัดสุทัศนเทพวราราม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปอง ออกมาไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊ก และมีผู้รับชมมากกว่า 2 แสนคนว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการดำเนินการแนวใหม่ แต่ย่อมมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ

ที่แน่ ๆ พระผู้ใหญ่ไม่ปลื้ม ส่วนตัวจึงรู้สึกห่วงใยอนาคตในวงการคณะสงฆ์ของพระสงฆ์ทั้ง 2 รูป เนื่องจากมีความรู้ดีทั้งคู่ พรรษาเกิน 10 ต่อไปต้องเติบโต ถ้าให้แนะนำ ควรปรับโดยใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนาและพระพุทธวจนะเป็นแกนหลัก ส่วนมุขตลกหรือแก๊ก เป็น 1 ใน 4 ของหลักการเทศน์อยู่แล้ว

“หลักการเทศน์ของพระสงฆ์ หลักการคือ 1.ให้เกิดปัญญา 2.ให้กล้าปฏิบัติ 3.ให้กำจัดความชั่ว 4.ให้กลั้วเสียงหัวเราะ ซึ่งเป็นประเด็นท้าย อย่างไรก็ตาม หัวข้อที่พูดคุย ถ้าเน้นหัวข้อธรรมะเป็นแกนกลาง มีพระพุทธพจน์ มีปุจฉา วิสัชนา ซึ่งมีได้หลายอารมณ์

พระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปอง เป็นน้อง อาตมารักและห่วงใย ถือเป็นพระเถระ พรรษามากกว่า 10 อยากรักษาทั้ง 2 รูปนี้ไว้ เพราะเป็นพระที่มีความรู้ดี จบปริญญา แต่ถ้าปรับเปลี่ยนให้เข้ากระบวนการ 4 อย่างของการแสดงธรรมมาตรฐาน

ตลกนิด ๆ สาระเยอะกว่า เข้าประเด็น จะได้ไม่มีใครมาว่าได้ในประเด็นไม่ถูกสมณสารูป เพราะทั้ง 2 จะต้องเป็นพระผู้ใหญ่ในอนาคต พระผู้ใหญ่หลายรูปมาเปรยกับอาตมา พระผู้ใหญ่ไม่ปลื้มเลย ไปลองถาม ๆ ดูก็ได้

อาตมาเป็นห่วงว่าทั้ง 2 จะไม่มีอนาคตในวงการคณะสงฆ์ ขนาดการเมืองนิด ๆ หน่อย ๆ ที่อาตมาพูด ยังร้อนระอุ อาตมาเคยโดนตำหนิมาก่อนแล้ว” เจ้าคุณพิพิธกล่าว

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า สมาคมได้ทำคำร้องส่งไปยังมหาเถรสมาคม (มส.) ผ่านผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เพื่อขอให้มีบัญชาสอบสวนเอาผิดภิกษุอลัชชี (ผู้ไม่ละอาย) ที่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย

โดยไลฟ์สดเอาธรรมะมาสอนเป็นเรื่องตลกขบขัน แต่พอมีคนสนใจเข้ามาดูมาก ๆ รวมทั้งมีเพจที่มาคอมเมนต์ขายสินค้า มาโปรโมตแบรนด์ตัวเอง กลับมาทวงถามให้จ่ายค่ามาใช้พื้นที่เพจของตนในขณะไลฟ์สดนั้น

สำหรับพฤติกรรมดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า พส.ดังกล่าวมิใช่วัตรปฏิบัติของภิกษุ ที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มุ่งแสวงหาปรมัตถ์อันเป็นทางหลุดพ้นจากกิเลสสงสาร เพื่อถึงการดับทุกข์ โดยมีพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ภิกษุทุก ๆ รูปที่บวชมาในพระศาสนาต้องปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยบัญญัติทุกรูป

ถ้าทำไม่ได้ก็จะเป็นเพียงคนโกนหัวแล้วเอาผ้ามาห่มตนให้ดูเหลืองคล้ายดั่งพระภิกษุ ที่ไม่สังวรว่าตนต้องบิณฑบาตเลี้ยงชีพเป็นอาจิณ หาใช่มาแสวงหาเงินทองความร่ำรวยจากการบวชเป็นพระ ที่บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อเหมือนประชาชนทั่วไปเท่านั้น

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ข้ออ้างของการไลฟ์สดเพื่อต้องการเผยแผ่ธรรมะให้เท่าทันยุคสมัยโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นคนรุ่นใหม่จะได้เข้าถึงธรรมะได้นั้น เห็นว่าเป็นเพียงข้ออ้างที่ไร้น้ำหนักของเหล่า พส.พวกนี้เท่านั้น

เพราะคนจะซาบซึ้งในธรรมะต้องมาจากระบบการสั่งสอนอบรมมาตั้งแต่ครอบครัว วัด โรงเรียนร่วมกัน มิใช่มาจากภิกษุที่ทำตนเป็นคณะตลกที่เปลี่ยนหน้าจากหม่ำ เท่ง โหน่ง มาเป็น 2 พส.กลุ่มนี้แต่อย่างใด และเชื่อว่าไม่มีใครซาบซึ้งจากข้อธรรมะ

ที่นำมาพูดให้ขบขันได้ แต่กลับเป็นการทำให้ศาสนามัวหมอง ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์จากเหล่า พส.ดังกล่าว โดยสังเกตดูได้จากการโพสต์ทวงเพจต่าง ๆ ที่มาโปรโมตแบรนด์ของตน ในขณะที่ พส.ไลฟ์โดยให้เบอร์พร้อมเพย์อย่างไม่ละอายต่อพระธรรมวินัย

ทั้งนี้ ตามพระวินัยปิฎก ได้ระบุเอาไว้ในพระมหาวิภังค์ ว่า “อนึ่ง ภิกษุใด รับ ก็ดี ให้รับ ก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์” อันถือเป็นอาบัติ เป็นโลกวัชชะ หรือการกระทำที่ทำให้ชาวโลกติเตียนได้ และการเผยแผ่ธรรมะด้วยวิธีตลกขบขัน ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎกแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ เหล่า พส.พวกนี้ก็เคยมีปัญหาจากข้อขัดแย้งเกี่ยวกับค่าตัวที่ไปเป็นวิทยากรในเวทีต่าง ๆ มาแล้ว หรือบางรูปก็ไปช่วยไลฟ์โฆษณาสินค้าต่าง ๆ ด้วย ซึ่งก็เข้าข่ายต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยเช่นกัน ซึ่งตามหลักพระธรรมวินัยนั้น หากต้องอาบัติลักษณะนี้บ่อยครั้งต้องหลุดจากความเป็นพระดั่งโทษปาราชิกเลยทีเดียว

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไม่อาจปล่อยให้ภิกษุอลัชชีเหล่านี้กระทำการย่ำยีพุทธศาสนาได้อีกต่อไป จึงส่งคำร้องไปยังมหาเถรสมาคมผ่านสำนักพุทธฯ เพื่อให้มีบัญชาวางกฎเหล็กห้ามภิกษุใด ๆ กระทำเยี่ยงนี้อีก และให้สอบสวนเอาผิด พส.ที่ต้องอาบัติซ้ำดังกล่าวเพื่อลงโทษขั้นเด็ดขาด

กระแสอันร้อนแรงใน “ทางธรรม” บนโลกออนไลน์ถูกกล่าวถึงในหลายมิติวงกว้างใน “ทางโลก” ซึ่งขึ้นอยู่กับ “แก่น” ของบริบทเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งถูกที่ ถูกเวลา เหมาะสมหรือไม่ พอดี หรือเกินพอดี จึงเป็นปริศนาธรรมที่ถูกแฝงเอาไว้ในปรากฏการณ์นี้