อาลัย “ทมยันตี“ ชั่วนิจนิรันดร์ คุณหญิงศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

สมถวิล ลีลา : เรื่อง

แม้ความตายเป็นสัจธรรมของทุกชีวิตทุกระดับ แต่การพลัดพราก ลับหายไปไกลแสนไกล ก็สร้างความทุกข์โศก โหยหา การร่ำลาเป็นสิ่งควรกระทำ ถ้ามีโอกาส

วันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2564 เป็นอีกวันที่เราต้องร่ำลาทางใจกับ “นักเขียนชั้นครู” ผู้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2555 คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ คุณหญิงวิมล เจียมเจริญ

เจ้าของนามปากกาที่รู้จักกันดี “ทมยันตี” ที่ลาจากโลกนี้ไปในวัย 85 ปี ท่ามกลางความตกตะลึงของวงการนักเขียนนักอ่านที่ทั้งเสียใจและเสียดาย

เพราะเธอเป็น “นักเขียน” มือฉมังที่หาตัวจับยาก มีจินตนาการ และความลุ่มลึก เป็นศิลปินแห่งชาติที่มีอารมณ์ศิลปินจริง ๆ

ในระยะหลัง ๆ หลายปีมานี้ เธอใช้ชีวิตส่วนตัว ไม่ค่อยเป็นข่าว จะเป็นข่าวครั้งสุดท้ายราวสองปีก่อน ก่อนโควิด-19 มาเยือน เธอได้นุ่งขาวห่มขาวพนมมืออวยพรปีใหม่แด่มิตรสหายและแฟนคลับ เพื่อกระจายความสุขถึงทุก ๆ คน

ความสุขของเธอ นอกจากจะได้เขียนหนังสือแล้ว สถานที่ที่เธอใช้ชีวิตเต็มที่คือบ้านลาดพร้าวและพิพิธภัณฑ์ชีวิต “ล้านนาเทวาลัย” ที่จังหวัดเชียงใหม่

นิวาสสถานแห่งสุดท้ายยามบั้นปลายที่เธอคาดหวังตั้งใจจะใช้เป็นที่พักผ่อนชั่วนิจนิรันดร์ของตัวเองทั้งภพนี้และภพหน้า

นิตยสาร Hello ได้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของเธออย่างหมดเปลือกเมื่อปี 2560 พร้อมเปิดตัวสถานที่ล้านนาเทวาลัย โดยมีบุตรชาย “คุณยอด-กุณฑล ศิริไพบูลย์” อยู่เคียงข้าง

และในบทสนทนาครั้งนั้นได้กล่าวถึง “ความตาย” เอาไว้ด้วย แม้คนสัมภาษณ์จะออกตัวว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางความรู้สึก แต่สำหรับ “ทมยันตี” มองเป็นเรื่องธรรมดา

…ความตายเป็นสัจธรรมของสตรีท่านนี้ ผู้ผ่านมรสุมชีวิตมาลูกแล้วลูกเล่า ด้วยเหตุนี้ ณ ที่แห่งนี้จึงมีการเตรียมสถานที่ฝังอัฐิของคุณทมยันตีไว้เรียบร้อยแล้ว

…ล้านนาเทวาลัยดูเงียบสงบ มีเพียงเสียงเพลงบรรเลงชุดนิพพานของ อาจารย์จำรัส เศวตาภรณ์ ขับกล่อมเบา ๆ พาให้รู้สึกจิตนิ่งใจสงบขึ้นมาอย่างไม่ทันตั้งตัว

…ดิฉันเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองตีบ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าตัวเองเส้นโลหิตเริ่มตีบ คิดว่าแค่อดนอนแล้วตื่นเช้าเลยปวดหัว วันนั้นตั้งใจจะไปเที่ยวเพชรบูรณ์กับลูกชาย พอเช้าลูกออกไปทำงาน ดิฉันรู้สึกคล้ายจะเป็นลม ที่บ้านเลยหามส่งโรงพยาบาล

หมอยังคิดว่าพักผ่อนน้อยแต่ขอให้แอดมิต เพื่อรอดูอาการให้แน่ใจ พอเช้าวันรุ่งขึ้นคุณหมอมาตรวจอีกรอบ เห็นความผิดปกติเลยส่งไปเข้า MRI ถึงได้ทราบว่าเส้นโลหิตตีบ โชคดีที่ดิฉันอยู่โรงพยาบาล ไม่อย่างนั้นกว่าจะถึงโรงพยาบาลอาจเส้นโลหิตในสมองแตกได้

บทสรุปการป่วยครั้งนั้น คุณทมยันตีน้ำหนักลดฮวบลงถึง 11 กิโลกรัม เท่ากับจำนวนวันที่อยู่โรงพยาบาลพอดี เนื่องจากถูกจำกัดรสชาติอาหาร จึงกินได้วันละ 7 ช้อนชา แม้ว่าคุณหมอจะขอให้กินอย่างน้อยวันละ 7 ช้อนโต๊ะก็ตาม

กว่าจะเป็นเทวาลัยตั้งตระหง่าน คุณยอด บุตรชาย เล่าว่า “จากตอนแรกที่คิดจะสร้างเล็ก ๆ ก็กลายเป็นมีส่วนที่เป็นเทวาลัย อันเป็นที่ประทับของหมู่เทพ คือหออวันติ สวรา กับหอสัตยาธิษฐาน หรือหอพระไว้กราบไหว้อธิษฐาน และส่วนหนึ่งจะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ แสดงของหายาก”

แต่คุณทมยันตีไปเห็นดรอว์อิ้งรูปเทวาลัยสไตล์ล้านนาแท้ ๆ ที่เป็นศาลาสวยงามก็ชอบมาก ซึ่งอาจารย์อดุลย์ เหรัญญะ นายกสมาคมสถาปนิกล้านนา ได้แนะให้ขุดคูน้ำล้อมรอบเหมือนเมืองในญี่ปุ่น

ซึ่งคุณทมยันตีเห็นด้วย ว่าไงว่าตามกัน แถมเอ่ยปากว่า ยอมหมดตัวงานนี้ เพราะออกแบบได้สวยมาก

…อวันติ สวรา ล้านนาเทวาลัย เป็นชื่อที่คุณทมยันตีนำมาจากหนึ่งในชื่อซากเทวาลัยแฝดที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองอวันตีปุระ ซึ่งเป็นเมืองโบราณใกล้แคว้นแคชเมียร์…การนับถือเทพเทวดาไม่ใช่สักแต่กราบไหว้บูชาแล้วก็ขอในสิ่งที่ปรารถนาเท่านั้น

…ในเมื่อเทวดามีศีล คุณเองก็ต้องปฏิบัติศีลให้ได้ ศีลข้อแรกคือการมีสัจจะ เมื่อคุณขออะไรจากท่านแล้ว ตั้งสัจจะว่าจะนำอะไรมาถวายหรือจะทรงศีลใดให้มั่นก็ต้องปฏิบัติตามนั้น

สิ่งปลูกสร้างดังที่กล่าวมาจึงเป็น “สัจจะ” และจุดหมายปลายทางชีวิตที่เธอได้ออกแบบไว้แล้วเรียบร้อย โดยใช้ชีวิตอยู่ที่ล้านนาเทวาลัยตลอด จะลงมากรุงเทพฯก็ต่อเมื่อต้องพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามอาการเส้นโลหิตในสมองตีบ

…ดิฉันรู้ตัวแล้วว่า เราเดินทางมาถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว คนใกล้ตายรู้ตัวทุกคนนะ ยิ่งใครที่มรณานุสติเป็นประจำ สังเกตลมหายใจตัวเองก็รู้เมื่อไหร่ที่ลมหายใจออกยาวกว่า ส่วนลมหายใจเข้าก็สั้นลง ๆ คงเป็นตอนที่ดิฉันคว่ำจอมศาสดาหน้าสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว

ถึงตอนนั้นดิฉันคงจากโลกนี้ไปอย่างสงบ เพราะภารกิจทุกอย่างได้เสร็จสมดั่งใจหมาย

ได้เขียนนิยายเรื่องสุดท้ายจบสมบูรณ์

ได้สร้างเทวาลัยให้คนนั่งปรับทุกข์

พร้อมกับพบแสงสว่างในหัวใจตัวเอง

“เพราะมนุษย์คือผู้มีแสงสว่างในหัวใจ ไม่ซ้ำเติมความทุกข์ของผู้อื่น หากวันใดที่เราทุกข์ ถ้ามีมือยื่นมา มีน้ำคำ น้ำใจ ปลอบประโลมหัวใจให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ขอให้ทุกคนเป็นมนุษย์ที่แท้ อย่างที่ท่านพุทธทาสสอน”

“จงเป็นมนุษย์ที่แท้ อย่าเป็นอมนุษย์ทั้งหลาย”

ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่สตรีผู้นี้ตั้งใจทำด้วยแรงศรัทธาและยึดมั่นในคำสัญญา

ขออำลาอาลัย “คุณครูอี๊ด นักเขียนในดวงใจ” ชั่วนิจนิรันดร์

นักเขียนนิยายอมตะ หนังสือที่มีในบ้าน

ในวงการวรรณกรรมไทยเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ “ทมยันตี” นักเขียนชื่อดัง

จากวรรณกรรมอมตะ อาทิ คู่กรรม, ทวิภพ, เลือดขัตติยา, ค่าของคน, อุบัติเหตุ, ดาวเรือง, ล่า, เวียงกุมกาม, นากพัทธ์, พิษสวาท, ดั่งดวงหฤทัย, คำมั่นสัญญา, พี่เลี้ยง, ใบไม้ที่ปลิดปลิว ฯลฯ

ล้วนเป็นผลงานที่ถูกนำมาสร้างเป็นละครดังหลายต่อหลายครั้ง ทั้งโทรทัศน์และภาพยนตร์ นวนิยายส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่มีอยู่ในเกือบทุกบ้าน

นักอ่านตัวยงที่ได้เคยอ่านผลงานประพันธ์ของท่านแล้วจะรู้สึกอิน และร้องไห้ในวัยเด็ก คือเรื่อง “คู่กรรม” และในเรื่อง “ค่าของคน” ทำให้ประชาชนรู้จักกับโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาวครั้งแรกในสมัยนั้น ส่วนความรื่นรมย์ก็มาจากเรื่องพ่อครัวหัวป่าก์

ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2555 นอกจากมีนามปากกา “ทมยันตี” แล้ว ยังมีนามปากกาอื่น ๆ ที่คุ้นชื่อกันดี นั่นคือ กนกเรขา, โรสลาเรน, ลักษณวดี, มายาวดี, วิม-ลา และวัสสิกา

รายงานข่าวระบุว่า ในเบื้องต้นครอบครัวแจ้งว่า ท่านได้นอนหลับไปเฉย ๆ ขณะที่ในโลกโซเชียลได้โพสต์ไว้อาลัยแสดงความเสียใจต่อการจากไปของท่าน

ขณะที่เฟซบุ๊ก สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ขอแสดงความอาลัยยิ่งต่อการจากไปของคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เช่นกัน

ประวัติคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือคุณหญิงวิมล เจียมเจริญ เกิดเมื่อ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 สิริรวมอายุ 85 ปี ชื่อเล่น “อี๊ด”

เกิดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ บิดาเป็นทหารเรือ เชื้อสายมารดาเคยเป็นชาววัง สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายในราชวงศ์เวียงจันทน์ เข้ามาสยามเมื่อครั้งรัชกาลที่ 3

คุณหญิงวิมลศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-มัธยมศึกษาปีที่ 8 ที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนมาเรียนคณะพณิชยศาสตร์และการบัญชี

จบอนุปริญญา ระหว่างศึกษาได้สมัครเป็นครูสอนวิชาภาษาไทย โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ และเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาด้วย