รู้จักสภาวะ ‘Long COVID’ พร้อมวิธีฟื้นฟู จิตใจ-ร่างกาย สู่ปกติ

จากการศึกษาวิจัยของ “โรงพยาบาลฮูสตัน เมธอดิสต์” สหรัฐอเมริกา พบว่า 80% ของผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 บางรายยังต้องเผชิญกับสภาวะ “Long COVID” (Long-Term Effect of Coronavirus) ซึ่งก็คืออาการหลงเหลือหลังจากหายโควิด-19 อาทิ รู้สึกเหนื่อยล้า หายใจลำบาก ปวดตามข้อ ปวดศีรษะ สมาธิสั้น ซึมเศร้า วิตกกังวล ฯลฯ

ซึ่งอาจมีผลแตกต่างกันไปตามร่างกายของแต่ละคน แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ย่อมส่ผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ดังนั้น การดูแลและฟื้นฟูสุขภาพอย่างตรงจุดโดยศาสตร์แพทย์แบบองค์รวม จะสามารถช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี สร้างสมดุลให้ร่างกายและจิตใจให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สภาวะ “Long COVID” เป็นผลกระทบจากการติดเชื้อ ซึ่งแม้ว่าจะหายจากโควิดแล้วแต่ยังคงทิ้งร่องรอยของโรคไว้อยู่กล่าวคือ กลไกของร่างกายเมื่อมีการติดเชื้อ เม็ดเลือดขาวจะถูกกระตุ้นเพื่อไปต่อสู้กับเชื้อโรค ทำให้เกิดอาการอักเสบในร่างกาย ทั้งปอด หัวใจ ตับ อีกทั้งในการรักษาจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการช่วยต้านเชื้อ

ซึ่งส่งผลให้ไตและม้ามทำงานหนักไปด้วยกลไกเหล่านี้ กระทบต่อความสมดุลของร่างกายองค์รวม จึงเป็นเหตุให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “Long COVID” (Long-Term Effect of Coronavirus) ในผู้ป่วยบางรายที่หายจากอาการติดเชื้อ

ดังนั้น การดูแลและฟื้นฟูสุขภาพหลังหายจากเชื้อจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติและมีสุขภาพที่ดี โดยใช้ศาสตร์แพทย์แผนปัจจุบันร่วมกับศาสตร์แพทย์แผนทางเลือกอื่น ๆ มาผสมผสานเพื่อช่วยฟื้นฟูพร้อมปรับสมดุลให้กับร่างกายให้เหมาะกับอาการและร่างกายของแต่ละบุคคล

นางสาวปิยรัตน์ ตัญจพัฒน์กุล Wellness Director โครงการรักษ กล่าวว่า ทางศาสตร์แพทย์แผนทางเลือกพบว่า อาการ COVID และอาการ Long COVID ต่างเป็นผลมาจากธาตุในร่างกายเสียสมดุล ทำให้มีอาการหายใจไม่เต็มปอด เหนื่อยง่าย อ่อนแรง หรือมีสภาวะเจ็บข้อกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นต้น ดังนั้น โปรแกรมการดูแลที่รักษ

จึงเป็นการเน้นปรับสมดุลของธาตุในร่างกาย นอกจากนี้ การดูแลจิตใจก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่กับการดูแลร่างกายภายนอก ศาสตร์พลังงานบำบัดจึงเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่นำมาใช้เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจและความเครียดหลังผ่านสภาวะ COVID และ Long COVID

นพ.เดช จงนรังสิน แพทย์ผู้ชำนาญด้านเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 แล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ยังมีอาการของ Long COVID อยู่ในระบบร่างกาย จึงควรได้รับการดูแลฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลในต่างประเทศพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 จำนวนมากยังคงมีอาการบางอย่างที่เหลืออยู่ในระบบร่างกาย อาทิ 30% มีอาการที่สืบเนื่องจากการที่ปอดได้รับความเสียหายจากโควิด-19 เช่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกแน่น ๆ หน้าอก นอนไม่หลับ ปวดเมื่อยตามตัว ไม่ค่อยมีสมาธิ ความจำสั้นลง หรือยังมีความวิตกกังวลอยู่ ซึ่งมีผลต่อสภาพจิตใจ

โดยอาการเหล่านี้ล้วนมีผลต่อคุณภาพชีวิต และควรได้รับการฟื้นฟูอย่างถูกต้อง ซึ่งจะมีบริการใน 2 กลุ่มย่อย คือ 1.กลุ่ม Post COVID-19 คือ ผู้ที่หายจากการติดเชื้อในระยะเวลา 2-12 สัปดาห์ และ 2.กลุ่ม Long COVID-19 คือ กลุ่มผู้ที่หายป่วยแล้ว และยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่เกิน 12 สัปดาห์ขึ้นไป

ปัจจุบันโรงพยาบาลและศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพต่างให้ความสำคัญกับทิศทางของ “Long COVID” ด้วยการเปิดให้บริการโปรแกรมฟื้นฟูต่าง ๆ เพื่อให้คุณภาพชีวิตกลับมาเป็นปกติ