เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แค่การขุดร่องผัก คำบอกเล่าจาก “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล”

บนเส้นทาง 35 ปี แห่งการถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังที่ต่างๆ ทั่วประเทศนั้น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ถ่ายทอดเรื่องราวว่าตลอดรัชกาล 70 ปี พระองค์ทรงสอนเรื่องความดี ประหนึ่งแสงประทีปที่นำทางชีวิต ทรงพร่ำสอนเรื่อง ดิน น้ำ ลม ไฟ อยู่เสมอ ถ้าเราไม่รักษาแผ่นดิน ไม่รักษาชาติบ้านเมือง ไม่รักษาปัจจัยแห่งชีวิต ชีวิตก็คงจะอยู่ไม่ได้ พร้อมทางรอดของชีวิตกับ 4,700 โครงการพระราชดำริ ที่เปรียบเสมือนเป็นบทเรียนที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดคือ การบริหารความเสี่ยงของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดอย่างรุนแรง การใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล เว้นระยะห่างนั้น พระองค์ท่านทรงเตือนไว้ตั้งแต่ปี 2541

ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี พระองค์ท่านสอนเรื่องการครองแผ่นดิน ด้วยความรักความเมตตาที่มีต่อพสกนิกร พระองค์ทรงคิดค้นการบริหารน้ำ การบริหารยอดเขาและป่าไม้ และการบริหารท้องฟ้า โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้สรุปงานของพระองค์ได้ว่า จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที อย่างที่ทุกคนเรียกว่า “ศาสตร์พระราชา” งานชิ้นแรกของพระองค์ท่านเริ่มจากท้องฟ้า เรามองเห็นเป็นเพียงเมฆ แต่พระองค์ท่านเห็นเป็นสายน้ำ เป็นต้นกำเนิดของโครงการฝนหลวง หลักการทำงานที่จำได้ขึ้นใจ คือ การดูแลป่าต้นน้ำ 3 ส่วนตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพราะป่าไม้เปรียบเสมือนเป็นทรัพย์สมบัติทางธรรมชาติและเป็นสายใยแห่งชีวิตของเราทั้งสิ้น พระองค์ท่านได้สอนวิธีการแก้ปัญหาไว้ให้เราหมดแล้ว รวมไปถึงปรัชญาชีวิตที่พระองค์ทรงสอนไว้ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แค่การปลูกข้าวหรือขุดร่องผัก แต่แท้ที่จริงแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักปรัชญาและความคิดด้วยหลักธรรม 3 ประการ คือ พอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน”

การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น เราต้องรู้จักประมาณตน ประเมินศักยภาพตัวเองเสียก่อนเพราะทุกคนมีต้นทุนไม่เหมือนกัน จะทำสิ่งใดนั้นต้องคำนึงต้นทุนที่มีอยู่ในตัว อย่างทุนของประเทศไทยคือ อู่ข้าวอู่น้ำ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เราพูดกันมากว่า 900 ปีแล้ว จึงสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนาที่ถูกวิธี ดั่งพระองค์ท่านทรงใช้เหตุผลในการนำทาง ต่อเนื่องด้วยการใช้สติปัญญา อย่าใช้อารมณ์และความอยากในการเดินตามผู้อื่น ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดคือ การบริหารความเสี่ยงของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่คาดคิดว่าจะเกิดสภาพแบบนี้ทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดอย่างรุนแรง การใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล เว้นระยะห่าง ความเสี่ยงแบบ distancing พระองค์ท่านทรงเตือนไว้เมื่อปี 2541 ให้ระวังการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นดังเช่นปัจจุบัน พร้อมที่จะเผชิญหากมีภูมิคุ้มกันที่ดี

ทางเลือก 3 ประการที่จะชนะความเปลี่ยนแปลงได้คือ

ประการที่ 1) เราจะสู้กับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากจะสู้เราต้องเปลี่ยนจากตัวเราก่อน ให้เป็นผู้นำก้าวกระโดดทางนวัตกรรม

ประการที่ 2) แก้ไขเป็นวันๆ แบบเสมอตัว

ประการที่ 3) หนีความเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Disruption

นี่คือสิ่งที่พระองค์ทรงสอนว่าอย่ามองข้ามปัญหาที่กำลังเผชิญ พร้อมรับมือกับปัญหา ไม่ต้องรอการพึ่งพาจากผู้อื่น หากเรารอคอยความช่วยเหลือ ชีวิตเราจะแขวนอยู่กับความไม่แน่นอน ซึ่งพระองค์ท่านทรงหลักการทำงานด้วยธรรมะ 3 ข้อ คือ ความรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง โดยเราต้องรอบรู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ต้องมีความฉลาด เพราะความโลภจะทำให้เกิดความพินาศ อย่าคดโกง ตั้งมั่นบนความซื่อสัตย์สุจริต รู้จักแบ่งปันผู้อื่น เพราะถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ ตัวเราก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน สุดท้ายสังคมและประเทศชาติจะเดินไปสู่จุดหมายปลายทางด้วย 3 คำ คือ มั่นคง สมดุล และยั่งยืน

UN SDGs หรือ Sustainable Development Goals 17 ข้อ ที่สหประชาชาติได้กำหนดออกมานั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่คนไทยไม่ใส่ใจ ซึ่งนั่นคือ เศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ท่านกำหนดไว้อย่างเหนือชั้นด้วยวิธีคิดเป็นหมวกครอบทั้งหมด แต่เป็นที่น่าเสียดายแทนคนไทย ดังเช่นสุภาษิตที่ว่า ใกล้เกลือกินด่าง ผิดกับชาวต่างชาติที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้ แต่คนไทยนั้นอยู่ใกล้ปราชญ์เสียเปล่า แต่ไม่ค่อยเอาธรรมะ มัวแต่ไปไคว้ขว้าความฝันของผู้อื่น จนเกิดเป็นความแตกแยกอย่างเช่นทุกวันนี้ ซึ่งการรู้จักประมาณตนและพอประมาณจะนำพาทุกคนก้าวไปข้างหน้า และสุดท้ายความฝันของพระองค์ท่านก็จะสำเร็จ เพราะได้เห็นทุกคนได้ประโยชน์และมีความสุขชั่วลูกชั่วหลาน

ความตอนหนึ่งของ ดร.สุเมธ ในการแสดงปาฐกถาเปิดโครงการอบรมวิทยากรส่งเสริมคุณธรรม Sustainability c Moral “ตามรอยพระราชา” สร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากศาสตร์พระราชา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 จัดขึ้นโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิธรรมดี ระบุว่า คุณธรรมไม่ใช่สิ่งที่ปรุงแต่ง ไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคในการถ่ายทอด แต่เป็นสิ่งที่ออกมาจากภายใน จากการเห็นคุณค่าและการลงมือทำ จนเกิดผลเป็นรูปธรรม และสื่อสารจากประสบการณ์ตรง ต้องยอมรับกันว่า คุณธรรมเป็นสิ่งที่ต้องการอย่างมากในสังคมไทย และเป็นรากฐานที่สำคัญและมั่นคงสำหรับประโยชน์สุขของทุกคนในสังคม เปรียบเสมือนเสาเข็มที่มองไม่เห็น แต่ยิ่งวางเสาเข็มให้แข็งแรงมั่นคงเท่าไร ย่อมสามารถต่อเติมอาคารบ้านเรือนให้สวยงามแข็งแรงตลอดไป