พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง ชลาธิป รุ่งบัว : ภาพ
“รถชน คนเหงา ไดโนเสาร์ ยานอวกาศ บนเปลวไฟกลางสายฝนเวลาเที่ยงคืน” นิยามบนปกหนังสือ “วินาทีไร้น้ำหนัก” หนังสือนิยายเล่มล่าสุดจากสำนักพิมพ์มติชน โดยผู้เขียน “วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ” อดีตบรรณาธิการนิตยสารและคอลัมนิสต์
ซึ่งเคยมีผลงานหนังสือรวมบทความอย่างสุนทรีย์แห่งความเหงา ชายหนุ่มผู้ก้มลงถ่ายภาพเท้าตัวเองเมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบานเอง และผลงานแปลหนังสือแนวจิตวิทยาพัฒนาตัวเองอย่างอิคิไก วะบิ ซะบิ ปัจจุบันผู้เขียนท่านนี้ทำงานอิสระ สู่นิยายเล่มแรกของเขาอย่างหนังสือเรื่องดังกล่าว
หนังสือ “วินาทีไร้น้ำหนัก” นำเสนอให้เห็นถึงคุณค่าของตนเองและผู้อื่นท่ามกลางเป้าหมายชีวิต ความสุข ความทรงจำที่แตกต่างกันไป ผู้เขียนก่อร่างชีวิตรูปแบบต่าง ๆ สื่อสารผ่านมนุษย์เงินเดือน พนักงานเสิร์ฟอาหาร สถาปนิก คนขับรถรับจ้าง พนักงานแคชเชียร์ นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงหมาจรจัด
นำเสนอตั้งแต่ระดับตัวตน คนรอบข้าง และผู้ร่วมอาศัยบนโลก โดยหลายชีวิตได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันใน “อุบัติเหตุครั้งใหญ่” และเกิดการเชื่อมประสาน ส่งผลกระทบต่อกัน
“ดีไลฟ์ ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “อ๋อง” วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ในงานเสวนา Book Talk : วินาทีไร้น้ำหนัก-ความรัก ความตาย ความหมายของการมีชีวิต จัดโดยสำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ The Marshal Social Cafe ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 26 ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบ hybrid ออนไลน์และออนกราวนด์ ระหว่างวันที่ 23-31 ตุลาคม 2564
จุดเริ่มต้นของการเขียนนิยายเรื่องนี้
วุฒิชัยเล่าให้ฟังว่า ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อนในหมู่นักเขียนท้าทายกันในการเขียน “เรื่องแปลก” ซึ่งแนวทางการเขียนส่วนตัวเป็นการเขียนสารคดี หรือการเขียนเรื่องราวแสดงความคิดเห็น และรู้ตัวเองว่าไม่สามารถเขียนนวนิยายหรือนิยายแต่งได้ ซึ่งต้องฝ่าฟันความรู้สึกของตัวเองนับตั้งแต่วันนั้นกว่าจะมาเป็นหนังสือเล่มนี้
คำบอกเล่าของผู้เขียนผ่านคำนำ ระบุถึงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามานั่งเขียนนิยายเรื่องนี้ ผมเคยนึกกระหยิ่มยิ้มย่อง ว่ามันจะต้องเป็นนิยายที่เศร้าสุด ๆ ไปเลย จนกระทั่งเมื่อเขียนเสร็จสมบูรณ์ และได้อ่านทบทวนดูอีกครั้ง
จึงพบว่าแม้เนื้อหาในนิยายเรื่องนี้จะแสดงถึงความสิ้นหวัง และชวนหดหู่ซึมเศร้าเพียงใด แต่ชีวิตจริงในทุกวันนี้ของพวกเรากลับน่าเศร้ายิ่งกว่า
ตัวละครในนิยายเล่มนี้เคยวิ่งเล่นในใจผมมานาน อย่างน้อย ๆ ก็ 15 ปี ตั้งแต่ปี 2548 ที่ได้เขียนออกมาเป็นเพียงเค้าโครงของบทแรก แล้วก็หมดไฟ ทิ้งร้างไว้อย่างนั้นจนถึงปี 2559 เมื่อเกิดแรงบันดาลใจขึ้นอีกครั้ง จึงนำมันกลับมาปัดฝุ่นและลงมือเขียนอย่างจริงจัง
จนกระทั่งมันเพิ่งคลี่คลายจุดจบของตัวเองออกมา และกลายเป็นหนังสือเล่มนี้
แน่นอนว่าพัฒนาการของเรื่องราวเหล่านี้ย่อมสอดคล้องไปกับความเปลี่ยนแปลงภายในใจของผู้ที่เขียนมันออกมา เพราะพวกเราได้ข้ามผ่านช่วงเวลาและยุคสมัยต่าง ๆ มาด้วยกัน ล้มลุกคลุกคลานกันมากับความโกลาหลวุ่นวายในสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
จากที่เคยเชื่อว่าโลกและชีวิตนั้นย่อมมีวิวัฒนาการไปสู่จุดที่ดีขึ้น สูงขึ้น แต่สถานการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ตลอดช่วงเวลากว่าทศวรรษ ทำให้เริ่มคลางแคลงสงสัย รู้สึกเหมือนมีความสิ้นหวังแบบประหลาด มาห่มคลุมเราไว้ในบรรยากาศรอบตัวกำลังหดหู่ซึมเศร้า
อิทธิพลทางความคิดและแนวทางการเขียน
ส่วนตัวเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอะไรที่มีความหดหู่และความเศร้า ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าการมองโลกที่เปลี่ยนไป และการก้าวผ่านอะไรบางอย่างไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิด ถือเป็นความท้าทายใหม่ในการทำงานส่วนนั้นที่ถ่ายทอดความรู้สึก โดยความรู้สึกดังกล่าวนั้นเป็นความรู้สึกที่ประหลาดที่ค้นพบถึงจุดเชื่อมโยงความรู้สึกที่ถึงกัน
ปกติแล้วเรื่องราวการเขียนต่างจะถ่ายทอดเรื่องราวของความสุข ความพึงพอใจ และความสำเร็จ แต่ในปัจจุบันสิ่งที่เชื่อมโยงคนคือเรื่องของความจริง ซึ่งประกอบไปด้วยความทุกข์ ความหวัง ความพยายาม จากการเปลี่ยนแปลงไปของโลก
หลงไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจนได้สำนวน-การดำเนินเรื่อง
ช่วงปี 2559 ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “อย่าไปไหน” เขียนโดย Margaret Mazzantini ที่อธิบายเรื่องสภาวะในจิตใจคน โดยใช้เวลาในการอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวราว 2-3 วัน จนกระทั่งทำให้เข้าใจวิธีการดำเนินเรื่อง และเขียนในนิยายเล่มแรกของตัวเอง ซึ่งหยิบเอาความโหยหา ความรู้สึกผิด ความวนเวียนหาทางออกไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้สึกเหมือนกันมาถ่ายทอดเรื่องราว
นอกจากนั้น ได้ค้นพบนิยามจากนักเขียนต่างประเทศที่บอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ที่ว่า “มนุษย์ไม่ได้มุ่งสู่การค้นหาความสุข แต่มุ่งสู่การค้นหาความหมายของชีวิต”
ตัวละครในนิยายสะท้อนตัวตนผู้เขียน
ตอนเริ่มต้นเขียนผมเองอายุราว 30 กว่า ๆ และในตอนจบที่เขียนขึ้นในช่วงปัจจุบันผมอายุ 40 กว่า ๆ ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงนั้นถือเป็นวิกฤตในใจเกิดความสับสนในชีวิตว่าอยู่ไปเพื่ออะไร จากจุดที่ทำงานประจำสู่ปัจจุบันลาออกมาเป็นนักเขียนอิสระ
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับ 10 ปี ได้ถูกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวละครในนิยายเล่มนี้ที่สะท้อนตัวตนของผู้เขียน จากตัวละครเริ่มต้นจากคนหนึ่งที่เกิดสถานการณ์เลวร้าย และค่อย ๆ มีตัวละครเพิ่มมาเรื่อย ๆ ตัวละครเอกในเรื่องเปรียบเสมือนตัวผู้เขียนเอง และตัวละครอื่นคือคนที่อยู่ในชีวิตจริงของผู้เขียน
“ผมเชื่อว่าในชีวิตของคนเราจะมีคนคนหนึ่งที่คล้ายกับในนิยายเล่มนี้ ซึ่งแต่ละคนจะมีคนคนนั้นไม่เหมือนกัน ซึ่งตัวผมเองไปปรากฏอยู่ในตัวละครหญิงในเรื่องมากถึงขั้นยิ่งเขียนยิ่งเป็นตัวเอง”
โลกแห่งความจริงอาจไม่จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งเหมือนในนิยาย
คำนำของผู้เขียนยังระบุอีกว่า ความหมายบนโลกแห่งความจริงและชีวิตจริงของเรา จะไม่มีทางมีจุดจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งเหมือนในนิยายได้เลยหรือเปล่า แสงสว่างตรงปลายอุโมงค์นั้นเป็นเพียงเรื่องฝันหวานเท่านั้นใช่ไหม เพราะทุกวันนี้ เมื่อเรามองออกไปรอบ ๆ ตัว เราเห็นกันเพียงแค่ความมืดมน
“ผมเองก็ไม่รู้ ไม่แน่ใจว่า จริง ๆ แล้วโลกและชีวิตคืออะไรกันแน่ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมได้พยายามคว้าจับฝุ่นควันอันตลบอบอวลจากอุบัติเหตุอันน่าสยดสยองในจินตนาการ ออกมาเป็นคำตอบให้คำถามที่ตัวผมหมกมุ่นครุ่นคิดมาตลอด”
คำถามที่ว่านั้นก็คือ ถ้าโลกและชีวิตนี้มีแต่ความเสื่อมถอยลงไปเท่านั้น นั่นแปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างเราทำได้คือเพียงแค่มีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ หายใจเข้าออกไปกับความไร้สาระน่าเบื่อหน่าย และไร้สุข ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ชีวิตจะมีความหมายอะไร และเราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไรกัน
“วินาทีไร้น้ำหนัก” คือสภาวะความรู้สึกว่างเปล่าในจิตใจซึ่งปรากฏอยู่ในนิยายเล่มนี้ ที่สุดแล้วทุกคนต้องยอมรับสภาวะใด ๆ ก็ตาม ซึ่งความรู้สึกนั้นในนิยายเล่มนี้จะไม่หดหู่ดำดิ่งไปสู่ความมืดในจิตใจ แต่จะเป็นแรงผลักดันให้ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างมีความหมายในทุกวินาที ทุกการตัดสินใจ และทุกความรับผิดชอบ