อาลัยนิจนิรันดร์ ดร.โกร่ง นักเศรษฐศาสตร์ คนเดินตรอก กุนซือ 7 รัฐบาลที่รักชาติ-ประชาชน

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
สมถวิล ลีลาสุวัฒน์ : เรื่อง

“พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา”

เป็นบทกลอนอมตะที่นึกขึ้นมาทันที เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน 2564 หลังทราบข่าวการจากไปของ “ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร” ด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ตลอด 78 ปี ชีวิตท่านเหนื่อย หนัก และสนุกมาทุกระยะทาง เรียกว่า “อยู่อย่างมีความหมาย ตายอย่างมีคุณค่า” โดยสมบูรณ์

ทั้งเข้าใจถึงสัจธรรม เพียรทำความดี สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม เมื่อต้องลาจากโลกนี้ไปแล้วก็ไม่ต้องมานั่งเสียใจอาลัยอาวรณ์อะไรอีก

นอกเหนือจากตำแหน่งทางการเมือง ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง และคอลัมนิสต์เครือมติชน ดร.โกร่ง เป็นผู้ใหญ่ที่ทุกคนเคารพรัก เพราะเข้าถึงง่าย ไม่ถือตัว ใช้ชีวิตธรรมดาปกติ พูดจาตรงไปตรงมา ภาษาคุยและการเล่าเรื่อง ล้วนชวนติดตาม ให้ทั้งข้อคิดและแง่มุม

งานเขียนนับร้อยชิ้นจึงมีเสน่ห์ สะท้อนตัวตน คืออ่านง่าย เข้าใจง่าย และทันต่อกระแสเหตุการณ์ ทำให้มีกลุ่ม FC-แฟนคลับเฝ้าติดตามตลอด โดยเฉพาะคอลัมน์ “คนเดินตรอก” ใน “ประชาชาติธุรกิจ”

“ขอลาการเขียนไว้ก่อน” ชื่อบทความชิ้นสุดท้าย

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 ดร.โกร่ง ได้ส่ง “บทความ” ที่เขียนด้วยลายมือเหมือนทุกครั้งมาถึง “กองบรรณาธิการ” มติชน-ประชาชาติธุรกิจ เหมือนการส่ง “ต้นฉบับ” โดยปกติ แต่การส่งต้นฉบับครั้งนั้น ถือเป็นความไม่ปกติ ที่ใครอ่านแล้วจะรู้สึกตกใจ หดหู่ เสียใจ และเสียดาย เพราะอาจารย์เขียนมากึ่ง ๆ ขออนุญาต “ลาพัก” งานเขียนไว้ชั่วคราว ด้วยเหตุผลสั้น ๆ ว่า “ป่วย” ขอพักรักษาตัวก่อน หายแล้วจะกลับมาเขียนใหม่

เวลาผ่านไป 1 ปีกับ 5 เดือน ไม่มีใครคาดคิดว่า “บทความ” วันนั้นจะกลายเป็น “ตำนาน” ทุกตัวอักษรบอกเล่าความในใจของท่านอย่างลึกซึ้ง…

…“ได้เริ่มมาเป็นนักเขียนประจำสำนักพิมพ์มติชน จากการเชิญแกมบังคับของคุณขรรค์ชัย บุนปาน เป็นการทดลองสำหรับทั้งผู้ให้เขียนและผู้เขียน โดยการเขียนลงหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เขียนเป็นคอลัมน์ประจำ สัปดาห์เว้นสัปดาห์ก่อน ก่อนจะตกปากรับคำกันว่าจะเป็นนักเขียนประจำ ถ้าจำไม่ผิดเรื่องก็เกิดขึ้นเมื่อปี 2543 บัดนี้ก็ล่วงเข้ามา 20 ปีแล้ว

ต่อมาคุณขรรค์ชัยคงจะเห็นว่าพอไปได้แล้ว ก็เชื้อเชิญให้เขียนเพิ่มในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยจะลงพิมพ์ฉบับวันพฤหัสบดีทุกสัปดาห์ และได้รับปากรับคำกัน

นับตั้งแต่นั้นมาก็ถือเป็นหน้าที่ที่มีต่อกันโดยไม่ต้องทวง ไม่ต้องเตือน ถือเป็นวัตรปฏิบัติ ต้นฉบับร่างต้องส่งเช้าวันจันทร์เป็นฉบับลายมือ ความยาว 5 หน้ากระดาษ เอ 4 ต้องขอบใจทีมงานที่พิมพ์จากฉบับลายมือที่สามารถอ่านลายมือที่ยุ่งเหมือนยุงตีกันออก

นาน ๆ จึงจะมีตัวที่อ่านผิดสักตัว ปีละตัว 2 ตัว เจ้าของลายมือบางครั้งก็ยังอ่านลายมือตัวเองไม่ออกก็มี ถือเป็นหลักปฏิบัติว่าต้นฉบับที่แก้ไขตรวจทานจากฉบับพิมพ์แล้ว จะส่งกลับอย่างช้าก็เช้าวันอังคาร ไม่เกินเที่ยง

ส่วนต้นฉบับของ “ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับราย 3 วัน จะต้องส่งต้นฉบับสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ทีแรกก็ตั้งใจว่าจะเขียนอะไรไปตามแต่ที่เห็น ตามชื่อคอลัมน์ “คนเดินตรอก” เหมือนกับคนที่เดินตามตรอกซอกซอยเห็น เพราะเคยเดินตามตรอกวัดปทุมวนารามฯจากกรมตำรวจไปตลาดประตูน้ำ แต่ต่อมาก็เขียนเรื่อยเปื่อยไปเป็นเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจเป็นส่วนใหญ่

เคยออกตัวไว้แล้วว่า บทความที่เขียนไม่ใช่บทความวิชาการ แม้บางครั้งจะอ้างวิชาการอยู่บ้าง ก็ตามวิสัยของคนที่เคยเป็นอาจารย์ สอนหนังสือที่คณะรัฐศาสตร์และที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ บทความที่เขียนจึงมาจากความทรงจำ

จากข้อมูลปัจจุบันที่ฟังจากโทรทัศน์วิทยุ ฟังขณะนั่งรถไปทำงาน จากที่อ่านในที่ทำงานทุกเช้าจากหนังสือพิมพ์ 4-5 ฉบับคือ มติชนรายวัน ประชาชาติธุรกิจ ไทยรัฐ ข่าวหุ้นธุรกิจ และ Bangkok Post เพื่อติดตามข่าวต่างประเทศ

จะอ่านมากกว่านี้ก็เกรงใจบริษัทที่เขาซื้อให้อ่านทุกวัน แต่จริง ๆ ก็อ่านไม่ทันด้วย ต้องเอากลับไปอ่านไปค้นต่อที่บ้าน แล้วก็จำเอาที่อ่านนี้มาเป็นวัตถุดิบ เขียนรวดเดียวจบ เขียนไว้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ แล้วมาเขียนต่อไม่ได้เพราะเขียนไปแล้วก็จะลืม นำเอามาเขียนต่อกันไม่ได้

หลายครั้งเมื่อมีภารกิจต้องเดินทางไปต่างประเทศ เช่นเดินทางไปประชุมสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ หรือเดินทางไปในงานของบริษัทที่เป็นประธาน เช่น บริษัท ดั๊บเบิ้ลเอ (1991) บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 บริษัทโรงพยาบาลบางมด บริษัทโรงพยาบาลกรุงเทพ บริษัทบางกอกแอร์ หรือบริษัทมติชน ก็จะเขียนต้นฉบับไว้ก่อน

ฉบับถัดไปก็เอาเรื่องสถานที่ที่เดินทางไปมาลง เขียนเหมือนกับสารคดีการท่องเที่ยว แต่ตอนหลังไม่ค่อยได้เดินทางไปต่างประเทศ เพราะพ้นจากการเป็นกรรมการบริษัทบางกอกแอร์ บทความเชิงสารคดีการท่องเที่ยวที่ลงพิมพ์ใน “ประชาชาติธุรกิจ” จึงเลิกราไป กลายเป็นเรื่องเศรษฐกิจกับเรื่องการเมืองไป

ในเมื่อเรื่องที่เขียนเป็นเรื่องที่เขียนจากความจำ ปราศจากการค้นคว้า เป็นความเห็นอันเกิดจากตรรกะของตนเอง บางครั้งก็เกิดจากอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง ของปุถุชนธรรมดา จึงมีข้อผิดพลาดและอคติอยู่เสมอ ต้องขออภัยกับผู้อ่านไว้ ณ โอกาสนี้

มาถึงบัดนี้มีความจำเป็นจะต้องยุติการเขียนลง ทั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” และ “มติชน” ด้วยความจำใจ เนื่องจากสุขภาพ ความเจ็บป่วยมาเยือน ซึ่งเป็นของธรรมดาสำหรับคนสูงวัยที่มีอายุเข้าใกล้ 80 ปีเข้าไปทุกที

ถ้าเป็นสมัยก่อนลูกหลานก็ขนานนามว่าเป็น “ไม้ใกล้ฝั่ง” จะหักโค่นลงเมื่อใดก็ได้ เมื่อน้ำเซาะตลิ่งเข้าหาฝั่งที่ต้นไม้ยืนอยู่ …

ต้นฉบับนี้เขียนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน ก่อนเข้าเป็นคนไข้โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเพื่อพยาบาลรักษา ค่อนข้างแน่ใจว่าคงไม่สามารถเขียนหนังสือส่งสำนักพิมพ์ได้เป็นปกติ

ฉบับนี้อาจจะเป็นฉบับสุดท้ายที่ยังแข็งแรงพอที่จะหยิบปากกาขึ้นมาเขียนได้ สุขภาพก็ยังดีแข็งแรงดี วันเสาร์ต้นเดือนมิถุนายนก็ยังไปออกรอบตีกอล์ฟได้ ถ้าไม่ไปตรวจอย่างละเอียดด้วยเครื่องมือและวิทยาการสมัยใหม่ก็จะไม่ทราบเลยว่าป่วย เมื่อทราบแล้วก็ต้องรักษาตามคำสั่งของแพทย์

เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่าหายไปไหน จึงขอบอกกล่าวแฟนคอลัมน์ว่า ฉบับนี้น่าจะเป็นฉบับสุดท้ายที่จะยังเขียนได้ จึงเขียนอำลาท่านแต่บัดนี้เลย

สุดท้ายนี้ ขอขอบใจสำนักพิมพ์มติชนเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้โอกาสฝึกฝนตนเองในด้านการเขียน ขอขอบคุณคุณขรรค์ชัย บุนปาน ที่เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งครู ที่คอยหยอดคำคมให้จำใส่ใจเป็นคำเตือนอยู่เสมอ ขอขอบใจทีมงานของหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับ ที่กรุณาพิมพ์ต้นฉบับจากลายมือที่แสนจะอ่านยาก

ป๋าเปรมเคยบอกให้ไปเรียนพิมพ์ดีดที่โรงเรียนสอนพิมพ์ดีดประตูน้ำ ท่านจะได้ไม่ต้องทนอ่านลายมือที่เขียนเสนอความเห็นจากวาระการประชุมรัฐมนตรี และคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ไปเรียนแล้วแต่ว่าไม่สำเร็จ ไม่มีความอดทนพากเพียรอุตสาหะก็เลยพิมพ์ไม่เป็น ขอขอบใจจริง ๆ

“ขอยุติการเขียนทั้งมติชนรายวัน และประชาชาติธุรกิจ ไว้เพียงเท่านี้ก่อน เมื่อสุขภาพแข็งแรง วันหน้าฟ้าใหม่คงได้เขียนได้อ่านกันอีก หวังว่าจะได้พบกันอีก”

นับเป็นต้นฉบับที่ทำเอาพวกเราในเครือมติชนน้ำตารื้น “ทำไมหนอ คนดี ๆ คนเก่ง ๆ ถึงถูกพรากจากไปเร็ว”

เปิดประวัติชีวิตและครอบครัว

จากวิกิพีเดีย ระบุชาติภูมิ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เกิดวันที่ 1 สิงหาคม 2486 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชาย ร้อยตำรวจตรีประดิษฐ์ รามางกูร (แดง) หรือ ประดิษฐ์ บุคคละ และ นางบุญศรี รามางกูร (สกุลเดิม เกิดเล็ก) เชื้อสายฝ่ายปู่เป็นตระกูลเจ้านายลาวเวียงจันทน์ผู้ปกครองเมืองธาตุพนม (เมืองพนม) ในอดีต เชื้อสายฝ่ายย่าเป็นตระกูลเจ้านายภูไทเมืองวังผู้ปกครองเมืองเรณูนคร (เมืองเว) ในอดีต ปัจจุบันคือ อ.ธาตุพนม และ อ.เรณูนคร ในจังหวัดนครพนม

วัยเยาว์อาศัยอยู่กับยายมีอาชีพทำนาที่ อ.บางบ่อ มีป้าคอยเลี้ยง บิดาทำงานอยู่โรงพักบางรัก แล้วย้ายไปอยู่พญาไท อยู่ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม อาศัยอยู่กับปู่ที่ธาตุพนมนานถึง 7 ปี

ท่านขยันพากเพียร เรียนดีได้ที่ 1 ตลอด เคยเรียนที่โรงเรียนเทศบาล 2 โรงเรียนสุนทรวิจิตร ก่อนย้ายตามบิดาที่มาประจำสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา เรียนต่อมัธยมที่โรงเรียนศรีอยุธยา โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

จบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทองคนแรกของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอาจารย์ประจำแผนกวิชาการต่างประเทศและการทูต ร่วมกับ ศ.บำรุงสุข สีหอำไพ ก่อตั้งแผนกอิสระสื่อสารมวลชน (คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ)

จากนั้นได้รับทุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ศึกษา Econometrics ม.เพนซิลเวเนีย อเมริกา ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นถึง 5 ปี โดยมูลนิธิให้ทุนสูงถึงเดือนละ 300 เหรียญ ทำให้ ดร.โกร่งซึ่งมีนิสัยประหยัดมัธยัสถ์ สามารถเก็บเงินจากเมืองนอกมาสร้างบ้านหลังแรกของตัวเองได้ และกลับมาเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นอาจารย์คนแรกของไทยที่สอนทางด้านเศรษฐมิติ

ทั้งเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร เคยทำงานที่สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นที่ปรึกษารัฐบาล สปป.ลาว วางแผนเศรษฐกิจจากระบบสังคมนิยมมาเป็นระบบทุนนิยมตามนโยบายเปิดประเทศ

ท่านมีพี่น้อง 6 คน และเป็นพี่ชายคนโตของตระกูล มีบุตรธิดา 3 คนคือ วรมน วีรมน และวรวงศ์ รามางกูร จากคู่สมรสชื่อ “ลดาวัลย์” ก่อนถึงแก่อนิจกรรม อาจารย์โกร่งพักรักษาตัวอยู่ที่จวนขุนราม เขาใหญ่ นครราชสีมา

งานการเมือง กุนซือ 7 รัฐบาล

ดร.โกร่งมีชื่อเสียงโด่งดังต่อเนื่อง เพราะดำรงตำแหน่งเป็น “ที่ปรึกษา” ถึง 7 รัฐบาล เริ่มจากรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และเป็นขุนคลังรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รมช.กระทรวงการคลัง ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

ที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ และวางแผนการลงทุนระบบน้ำทั้งหมด

งานภาคเอกชนเป็นประธานกรรมการ 8 บริษัท กรรมการ-ที่ปรึกษาอีก 20 บริษัท เช่น บมจ.แอ๊ดวานซ์ อะโกร (กระดาษดั๊บเบิ้ล เอ) บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และกรรมการอิสระ บมจ.มติชน

ผลงานที่ฝากไว้คือมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูประบบภาษีอากร ยกเลิกกำแพงภาษี นำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้เป็นครั้งแรก ริเริ่มตราพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน หรือพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

นับเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่รักชาติและอยู่เคียงข้างประชาชนทุกลมหายใจ