ศูนย์ข้อมูลมติชน บันทึกประวัติศาสตร์ไทย ฉบับ Uncensored ไม่ปรากฏบนอินเทอร์เน็ต

พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

ในยุคที่มีปริมาณข้อมูลมหาศาล (big data) และสามารถสืบค้นง่าย แต่ในแง่ข้อมูลประวัติศาสตร์อาจไม่ใช่ทุกสิ่งที่จะสืบค้นได้บนอินเทอร์เน็ต เสมือนร่องรอยการจารึกทางประวัติศาสตร์บนใบลานหรือในหน้าหนังสือพิมพ์ที่เป็นข้อมูลปฐมภูมิ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักพิมพ์มติชน รวบรวมประวัติศาสตร์ผ่านนิทรรศการ ข่าววันนั้น ประวัติศาสตร์วันนี้ (yesterday’s happenings, today’s history) “สื่อสิ่งพิมพ์” เครื่องมือบันทึกประวัติศาสตร์ โดย “อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ” รองผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลมติชน เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว

อพิสิทธิ์หยิบยกวลีตอนหนึ่งในนิตยสารเอเชีย วีกส์ ที่ระบุว่า “หนังสือพิมพ์เป็นปรู๊ฟแรกของประวัติศาสตร์” หรือมีปฏิสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ในทางกว้างทางลึก สอดคล้องกับบทความของ ธรรมเกียรติ กันอริ ในหนังสือวันนักข่าว 5 มี.ค. 2531 เรื่องรอยต่อของหนังสือพิมพ์กับประวัติศาสตร์ ที่กล่าวไว้ว่า

ข่าวหนังสือพิมพ์ในทางอุดมการณ์นั้น เป็นข่าวที่ไม่มีความคิดเห็นของคนเสนอข่าว ถือข้อมูลเป็นสำคัญ เมื่อปรากฏในรูปของข่าวจะไม่มีการตีความ ไม่มีการวินิจฉัย หากในขั้นลำดับข่าว ถ้าข่าวบางข่าวเป็นข่าวสำคัญอาจย้อนปูมหลังข่าว

แม้วัตถุประสงค์ของหนังสือพิมพ์จะไม่ใช่เพื่อเป็นเอกสารบันทึกประวัติศาสตร์ นักข่าวไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่ใครเลยจะปฏิเสธได้ว่า สภาพงานหนังสือพิมพ์และผลผลิตกว่าจะออกมาเป็นข่าว ทั้งการแสวงหาข่าว เจาะสู่แหล่งข่าวและนำเสนอ จะไม่ใช่กระบวนการหนึ่งของการป้อนข้อมูลและบันทึกประวัติศาสตร์สำหรับอนาคต

ย้อนไปปี 2521 วันที่ “ห้องสมุดมติชน” ก่อตั้งขึ้น เป็นช่วงเดียวกับการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์มติชนฉบับแรก วันที่ 9 ม.ค. 2521 เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ เดิมทีใช้เพื่อการค้นคว้าข้อมูลภายในสำหรับพนักงานและกองบรรณาธิการ

จาก “ห้องสมุดมติชน” ถูกยกระดับให้เป็น “ศูนย์ข้อมูลมติชน” ในปี 2535 โดยเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาค้นคว้าหาข้อมูลได้ ส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการจะสนใจด้านการเมืองและประวัติศาสตร์ อาทิ นักการเมือง, นักวิชาการ, นักเรียนนักศึกษา เพื่อการศึกษาและนำไปอ้างอิงข้อมูล ต่อมาปี 2540 ได้เริ่มพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลจนถึงปัจจุบัน

“เรามีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีค่ามหาศาลถูกบันทึกจัดเก็บไว้ตั้งแต่ปี 2521 หรือกว่า 40 ปี ศูนย์ข้อมูลมติชน ถือเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองไทย เราจัดเก็บหนังสือด้านสังคมศาสตร์ของกรมศิลปากร

หนังสือชีวประวัติในงานศพของบุคคลสำคัญ, บทสัมภาษณ์แรกของบุคคลสำคัญ อาทิ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ศ.ปรีดี พนมยงค์ รวมถึงภาพเหตุการณ์ในอดีตแบบไม่เซ็นเซอร์ ซึ่งไม่สามารถค้นหาได้บนอินเทอร์เน็ต หรือ Google”

บันทึกประวัติศาสตร์ต่างประเทศผ่านข่าวสำคัญ

– เหมา เจ๋อตุง ถึงแก่อสัญกรรม เหมา เจ๋อตุง เป็นผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนให้เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2519 ขณะมีอายุ 82 ปี ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับ 10 ก.ย. 2519

– จอห์น เลนนอน ถูกยิงเผาขน วันที่ 8 ธ.ค. 2523 อดีตสมาชิกวงเดอะบีเทิลส์ ถูกยิงเสียชีวิต ขณะกำลังเดินกลับอพาร์ตเมนต์ที่ชื่อเดอะดาโกตา ในนครนิวยอร์ก ถูกตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับ 10 ธ.ค. 2523

– โลกสลด เจ้าหญิงไดอาน่า สิ้นพระชนม์ จากอุบัติเหตุรถยนต์ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อ 31 ส.ค. 2540 ขณะมีพระชนม์เพียง 36 พรรษา ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับ 1 ก.ย. 2540

– บอมบ์สหรัฐ เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรด วันอังคารที่ 11 ก.ย. 2544 ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินโดยสารของสหรัฐ 4 ลำ และบังคับบินชนตึกสูง 2 ตึกในนิวยอร์ก ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับ 12 ก.ย. 2544

– สึนามิถล่มญี่ปุ่น โศกนาฏกรรมแผ่นดินไหว สึนามิ และมหันตภัยพิบัตินิวเคลียร์ ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่พื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงถึง 9.0 แมกนิจูด ในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อ 11 มี.ค. 2554 ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับ 12 มี.ค. 2554

– ปลิดชีวิต บิน ลาเดน ในวันที่ 2 พ.ค. 2554 โดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประกาศการเสียชีวิตของเขาอย่างเป็นทางการด้วยตนเอง และภายหลังอัลกออิดะฮ์ ก็ออกแถลงการณ์ยอมรับการเสียชีวิตของบิน ลาเดน พร้อมปฏิญาณว่าจะตามล้างแค้นให้กับผู้นำของตน ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับ 3 พ.ค. 2554

บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทย

– หนังสือพิมพ์ประชาชาติฉบับระลึกวีรชน 14 ต.ค. 2516 ถูกรวบรวมเรื่องราวโดยกองบรรณาธิการประชาชาติในเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปี ตีพิมพ์วันที่ 14 ต.ค. 2517 ซึ่งตรงกับวันพระราชทานเพลิงศพวีรชนที่ท้องสนามหลวง

– หนังสือพิมพ์ประชาชาติ 7 ต.ค. 2519 รายงานเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มร่วมมือก่อการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และช่วงเย็นวันที่ 6 ต.ค. “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจการปกครองและแต่งตั้งให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี (หลังจากนั้นหนังสือพิมพ์ประชาชาติได้ถูกสั่งปิด)

– หนังสือพิมพ์มติชน 28 พ.ค. 2529 รายงานเหตุการณ์สะเทือนวงการการเมืองไทยครั้งสำคัญที่สุดในปี 2529 เกิดความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผบ.สส. และ ผบ.ทบ. ซึ่งมีบทบาทสำคัญทางการเมืองและการทหารในขณะนั้น จนวันที่ 27 พ.ค. 2529 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็น ผบ.สส. เพียงตำแหน่งเดียว และให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.

– หนังสือพิมพ์มติชน 28 ก.ค. 2531 หลังเลือกตั้งวันที่ 24 ก.ค. 2531 พรรคชาติไทยมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งขณะนั้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าพรรค ยังคงสนับสนุน พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็มี พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม และ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร ก็แสดงท่าทีอยากเป็นนายกฯ จนวันที่ 1 ส.ค. 2531 พล.อ.เปรมให้สัมภาษณ์ว่า “พอแล้ว” และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

– หนังสือพิมพ์มติชน 19 พ.ค. 2535 การเลือกตั้ง 22 มี.ค. 2535 ผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกฯ คือ นายณรงค์ วงศ์วรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งมีคะแนนเสียงมากสุด เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ชื่อนายณรงค์เป็นที่ “ต้องห้าม” ไม่สามารถขอวีซ่าเข้าสหรัฐ จน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ วันที่ 7 เม.ย. 2535 จากนั้นเกิดการประท้วงให้ พล.อ.สุจินดา ลาออก และเกิดเหตุการณ์พฤษภามหาโหด 17-20 พ.ค. 2535 มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

– หนังสือพิมพ์มติชน 11 มิ.ย. 2535 เมื่อรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ยอมลาออกหลังเหตุการณ์พฤษภามหาโหด ขณะที่รัฐบาลยังคงดำรงอยู่ ต้องสรรหานายกฯคนใหม่ คิวตกมาที่ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคใหญ่ในสภา แต่สุดท้ายต้องแต่งชุดขาวรอเก้อ เมื่อ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภา ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อขึ้นนำทูลเกล้าฯ เป็น นายอานันท์ ปันยารชุน

– หนังสือพิมพ์มติชน 3 ก.ค. 2535 วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ในยุครัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้เงินบาทอ่อนตัวทันที จาก 25.60 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 28.75 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง และอ่อนลงตามลำดับ ในช่วงต่ำสุดเคยตกถึง 55 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ วิกฤตครั้งนี้ ธุรกิจเอกชนทั้งอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง สถาบันการเงิน ธนาคาร ต้องปิดกิจการ พนักงานถูกปลดออกจำนวนมาก

– หนังสือพิมพ์มติชน 7 ม.ค. 2544 หลังเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2544 ซึ่งเป็นการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกในระบบใหม่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ผลออกมาว่า พรรคไทยรักไทย ได้รับคะแนนเสียงมากสุด ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเป็นรัฐบาลผสม 3 พรรค โดยมี พรรคชาติไทย และพรรคความหวังใหม่ เข้าร่วม และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 ก.พ. 2544

– หนังสือพิมพ์มติชน 20 ก.ย. 2549 คืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เข้ายึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นไปอย่างราบรื่น ปราศจากการต่อต้านด้วยอาวุธ หลังประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงขับไล่ ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนนำมาสู่การประกาศแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ต.ค. 2549

– หนังสือพิมพ์มติชน 9 ส.ค. 2554 ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ผลออกมา พรรคเพื่อไทย คะแนนมาอันดับหนึ่ง จึงเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และส่งผลให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯหญิงคนแรกของไทย เมื่อวันที่ 5 ส.ค. และรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2554

– หนังสือพิมพ์มติชน 23 พ.ค. 2557 วันที่ 22 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เข้ายึดอำนาจ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่ กปปส. ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำมวลชนเป่านกหวีดขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจก็กุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จของรัฐบาล คสช.นาน 5 ปี ต่อด้วยยุครัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ จนถึงปัจจุบันนี้

ประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ทางการเมืองเป็นบทเรียนสะท้อนการเปลี่ยนแปลงจากอดีตถึงปัจจุบันด้วยการบันทึกเรื่องราวความเป็นไปบน “สื่อสิ่งพิมพ์” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการอ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำหรับผู้ที่สนใจ และเนื้อหาบางส่วนอาจจะไม่สามารถหาอ่านได้จากที่ใด มีเพียงเฉพาะที่ ศูนย์ข้อมูลมติชน เท่านั้น