หนังสือดีน่าอ่าน หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา คนวรรณกรรมร่วมเปิดตัวอบอุ่น

อย่างที่พูดกันมาหลายปีว่าหนังสือเป็นสินค้าขายยากคนซื้อน้อย สำนักพิมพ์ต่าง ๆ จึงมักจะออกหนังสือใหม่และเปิดตัวในช่วงงานมหกรรมหนังสือ เรียกว่าออกตามฤดูกาลที่จะผ่านหูผ่านตาคนอ่านมากกว่าปกติ แต่ล่าสุดสำนักพิมพ์มติชนไม่รอฤดูกาล ชิงออกหนังสือเล่มใหม่ชื่อว่า “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” ของ อุรุดา โควินท์ และสุดจะภูมิใจนำเสนอโดยจัดงานเปิดตัวชื่องานว่า “หยาดน้ำตาในวันนั้น หยดน้ำหวานในวันนี้” ที่ร้านหนังสือหย่อนญาณ ในโครงการช่างชุ่ย

งานนี้มีคนในแวดวงวรรณกรรมเข้าร่วมงานอย่างอบอุ่น ทั้ง เจน สงสมพันธ์ เจ้าของสำนักพิมพ์นาคร อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และเป็นพี่ชายของตัวละครสำคัญในเรื่อง, จรัญ หอมเทียนทอง อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย, ขจรฤทธิ์ รักษา, เอก อัคคี, คธาวุฒิ เกนุ้ย, นิวัต พุทธประสาท, องอาจ ชัยชาญชีพ เป็นต้น

“หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” เป็นนวนิยายที่อุรุดาเขียนจากเรื่องจริงของเธอกับ กนกพงศ์ สงสมพันธ์ นักเขียนหนุ่มชื่อดังเจ้าของรางวัลซีไรต์ ซึ่งเธอและเขาเคยใช้ชีวิตคู่รักนักเขียนด้วยกันอยู่ 5 ปี ณ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนที่ฝ่ายชายจะเสียชีวิตไปปี 2549 นับเป็นความโศกเศร้าครั้งใหญ่ของแวดวงวรรณกรรมไทยที่สูญเสียนักเขียนหนุ่มอนาคตไกลแห่งยุค

นักเขียนหนุ่มจากไปครบ 10 ปี ในปีที่แล้ว นักเขียนสาวจึงเริ่มต้นเขียนนวนิยายถึงคนรักในอดีตของเธอ

“เราคิดว่าตอนครบรอบ 10 ปี ควรจะมีอะไรถึงเขา เราอยากจะเก็บชีวิต เสน่ห์ ความน่าหมั่นไส้ หรืออะไรหลาย ๆ อย่างของผู้ชายคนนั้นที่เรารู้จักไว้ในนั้น เผื่อคนอยากรู้จักเขาในมุมอื่นจะได้เข้าไปเห็น พูดง่าย ๆ ว่าเขาอยากให้เขาเกิดใหม่อีกครั้งเมื่อเขาตายไป 10 ปี”

อุรุดาบอกว่าที่รอมาถึง 10 ปีเพราะเธอรอเขียนในวันที่ชีวิตเธอเข้มแข็งจริง ๆ รอให้รู้สึกว่ามีชีวิตที่ดีแล้ว และอีกเหตุผลหนึ่งคือใช้เวลาฝึกฝนฝีมือตัวเอง

หนังสือเล่มนี้ เนื่องจากเป็นนวนิยายที่เขียนเรื่องนักเขียนอันเป็นที่รักของพี่น้องในแวดวงวรรณกรรม ดังนั้นมันจึงดึงดูดความสนใจของคนในแวดวงวรรณกรรมด้วยกันเอง

แล้วในฐานะหนังสือนิยายเรื่องหนึ่งล่ะ มันน่าสนใจอย่างไร

จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์วรรณกรรม ร่วมเสวนาถึงหนังสือเล่มนี้ว่า มุมหนึ่งที่น่าสนใจคือความเป็นเรื่องจริงพร้อมเรื่องแต่ง มีมิติที่น่าสนใจในการหยิบเอาเรื่องจริงมาเขียนเป็นนวนิยาย แม้อุรุดาจะไม่ใช่คนแรกที่ทำแบบนี้ แต่เรื่องนี้ผูกเล่าเนื้อเรื่องสอดคล้องไปกับเรื่องจริงด้วยวิธีเล่า กระบวนการ และภาษา ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตจริง ไม่ประดิดประดอย หรือพยายามทำให้สวย ไม่พยายามทำให้เป็นมากกว่าเรื่องจริง

“ความจริงมันก็งามในแบบของมัน” จรูญพรสรุป ก่อนจะพูดประเด็นต่อไปว่า

“เรื่องนี้ ด้วยความที่ต้นทุนของมันมาจากประสบการณ์จริง มันทำให้การบันทึกรายละเอียดเป็นการบันทึกที่น่าทึ่งสำหรับผม คนคนหนึ่งเก็บความทรงจำอย่างนี้มาได้อย่างไร มันละเอียดมาก แน่นอนบางอย่างเป็นการเติมไปบ้างในแง่ความเป็นนวนิยาย แต่ความจริงที่ถูกบันทึกมันน่าสนใจ”

อติภพ ภัทรเดชไพศาล

ส่วนในด้านเนื้อหาซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ของนักเขียนหนุ่มกับนักเขียนสาว ซึ่งทั้งคู่ต่างมีตัวตนของตัวเอง จรูญพรบอกว่า ประเด็นที่เขาชอบคือการที่อุรุดาชี้ให้กนกพงศ์ ซึ่งเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมาก ณ เวลานั้น รู้ตัวว่าตัวเองติดกับดักความสำเร็จเดิม ๆ

“ผมรู้สึกว่าดี ใครจะกล้าพูดอย่างนั้นล่ะ ถ้าไม่ใช่คนที่อยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมง และเป็นคนที่มีความหวังดีต่อกันอย่างแท้จริง ไม่ใช่ยกเทิดทูน ไม่อวยมาก ถ้าเราอ่านจะเห็นว่ากำแพงที่มันค่อย ๆ หายไป ส่วนหนึ่งเป็นความช่วยเหลือของอุรุดา

ขณะเดียวกันกนกพงศ์ก็เป็นไฟที่เข้ามาทำให้คนที่มีความปรารถนาจะเป็นนักเขียนอยู่แล้วเกิดมีพลัง เมื่อเห็นคนคนหนึ่งทุ่มเทสร้างงานแบบเอาตาย ชีวิตนี้ไม่ทำอะไร จะเขียนหนังสืออย่างเดียว ตายเป็นตาย ทำให้อีกคนหนึ่งรู้สึกว่าต้องทำ สำหรับคนคนหนึ่งการเขียนหนังสือมันคือคำตอบของทุกสิ่ง และมันทำให้อีกคนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจระดับสูง ผมรู้สึกว่าต่างคนต่างเติมเต็มให้กันและกันในแง่การค้นหาตัวเอง”

สิ่งที่นักวิจารณ์คนดังแสดงความเห็นตรงกับที่ อุรุดา โควินท์ เจ้าของผลงานบอกว่า ถ้าไม่เจอกนกพงศ์ ก็เป็นไปได้ว่าเธออาจจะเลิกเขียนหนังสือ

“เพราะว่าจุดนั้นมันตันมาก เราออกงานมาสองเล่มแล้วล้มเหลวง้องแง้ง เริ่มคิดว่าหรือว่าเราไม่เหมาะ คนอื่นเขาเก่งกว่าเรา คิดอะไรได้ดีกว่าเรา ลุ่มลึกกว่าเรา เรามองเป้ข้างหลังเรามันว่างมาก เราไม่มีภูมิเลย ตอนนั้นบอกตัวเองว่าไม่อยากเขียนเรื่องรักแล้วเพราะเรามองว่ามันเป็นเรื่องพื้น ๆ มันฟรุ้งฟริ้ง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร ถึงมีแนวโน้มว่าจะเลิกเขียนได้ในตอนนั้น แต่พอเราไปอยู่ที่นั่น ได้เห็นการทำงานของนักเขียนคนหนึ่งแล้วเขาก็บอกเราว่าเราเป็นได้ ไม่ใช่คนฉลาดเท่านั้นที่เขียนหนังสือได้ คนทุกคนมีเรื่องเล่าของตัวเอง เราสามารถเขียนได้ เขียนแบบที่เราอยากเขียน เขียนยังไงก็ได้ให้มันแตะใจคนอื่น เราก็มั่นใจ พยายามจะทำให้เขาเห็นให้ได้”

เรื่องโรแมนติกปนเศร้าชวนสะอื้นน้ำตาคลอในงานเปิดตัวหนังสือวันนั้นอยู่ตรงที่ผู้ดำเนินรายการถามว่า พูดได้ไหมว่ากนกพงศ์ไม่เคยตายจากอุรุดา ?

อุรุดาตอบว่า “ไม่ เขาอยู่ในนี้ (เอามือทาบหน้าอก) เขาอยู่กับเราตลอด เขาเป็นส่วนหนึ่งของเราไปแล้ว ความตายของเขาทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของเรา ไม่ว่าใครที่จะมาพบเราเจอเรา อยู่กับเรา รักเรา ก็หมายความว่ารักเขาด้วย อยู่กับเขาด้วย ซึ่งอยู่ในนี้ … จะพูดออกมาหรือเปล่า เราอาจจะไม่เหมือนเขาเลย แต่ว่าวันเวลาของเรา และสิ่งที่เราเรียนรู้จากเขา มันอยู่ในนี้ (เอามือทาบหน้าอกอีกที)” ขณะที่ อติภพ ภัทรเดชไพศาล คู่ชีวิตคนปัจจุบันของเธอก็นั่งให้กำลังใจอยู่ในงานด้วย


แม้ว่าผู้อ่านจะไม่ใช่คอวรรณกรรมจ๋า ไม่รู้จักนักเขียนชื่อกนกพงศ์ ไม่รู้จักนักเขียนชื่ออุรุดา ไม่สนใจคนสองคนนี้เลย แต่ถ้าลองหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านในฐานะนิยายเล่มหนึ่ง นิยายเล่มนี้ซึ่งอบอวลด้วยความหวานปนเศร้า เขียนโดยนักเขียนหญิงที่บอกว่าตัวเองเคยเป็นนักเขียนนิยายรักฟรุ้งฟริ้ง ก็น่าจะเป็นหนังสือที่อ่านไม่ยาก นักอ่านรุ่นใหม่ที่ชอบนิยายรักน่าจะชอบนิยายเรื่องนี้ได้ไม่แพ้นิยายวัยรุ่นหรือซีรีส์เกาหลีที่เคยชอบมาก่อน