มืออาชีพศาสตร์สุขภาพ ‘นาฏ ฟองสมุทร’ โมเดลต้นแบบที่พักผู้สูงอายุ

พญ.นาฏ ฟองสมุทร
พญ.นาฏ ฟองสมุทร
พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง / ธนศักดิ์ ธรรมบุตร : ภาพ

เมื่อกล่าวถึง “ที่พักผู้สูงอายุ” คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแว้บแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดทุกคนคือ บ้านพักคนชราบางแค หรือบ้านบางแค ซึ่งภาพที่ผุดขึ้นมาคงไม่สวยหรูสักเท่าไรนัก แต่ความจริงในปัจจุบัน หากกล่าวถึง “ที่พักผู้สูงอายุ” โดยเฉพาะที่พักผู้สูงอายุที่บริหารงานโดยภาคเอกชนนั้นคงต้องลืมภาพเดิมที่เข้าใจไปอย่างสิ้นเชิง

แพทย์หญิง “นาฏ ฟองสมุทร” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการด้านผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในผู้ที่จะเล่าเรื่องที่พักผู้สูงอายุได้ดีจากประสบการณ์ 20 ปี ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน หรือราวปี 2540 หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากประเทศอังกฤษ

ได้กลับมาร่วมโครงการกับสภากาชาดไทยพัฒนาที่พักผู้สูงอายุโครงการแรก ๆ ของประเทศไทย “สวางคนิเวศ” ซึ่งเป็นอาคารต้นแบบสำหรับเป็นที่พักอาศัยของผู้สูงอายุสุขภาพดีที่มีฐานะปานกลาง และเพียงพอที่จะดูแลรับผิดชอบตนเองได้ตลอดชีวิต โดยมีคำขวัญของสวางคนิเวศว่า “ชีวิตอิสระ มีคุณค่า พึ่งพาตนเอง”

“ในวันนั้น โครงการสวางคนิเวศ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นก่อนกาลอย่างมาก ก่อนที่ผู้คนในประเทศไทยจะสนใจคำว่า สังคมผู้สูงวัย ทำให้โครงการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลากว่า 10 ปี กว่าจะมีผู้อยู่อาศัยครบ 168 ยูนิต ให้หลังจากนั้น 10 ปี เฟสที่ 2 ของโครงการสวางคนิเวศ จึงเกิดขึ้นกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่าง แอลพีเอ็น มีจำนวน 300 ยูนิต ซึ่งใช้เวลา 12 เดือน มีผู้อยู่อาศัยครบทุกยูนิต และมีผู้รอคิวอยู่อีกจำนวนหนึ่ง” นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรู้จัก นาฏ ฟองสมุทร

ครั้งนี้สัญญาณความต้องการของ “ที่พักผู้สูงอายุ” เริ่มมีความชัดเจนขึ้นในช่วงต้นปี 2564 จากการเปิดตัวโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex) โครงการนำร่องของกรมธนารักษ์ ที่ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวนกว่า 1,000 ยูนิต มีผู้สนใจเข้าอยู่อาศัยครบในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ความท้าทายของธุรกิจ “ที่พักผู้สูงอายุ”

ความน่าเชื่อถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับภาคเอกชนที่สนใจดำเนินการพัฒนาโครงการ และให้บริการที่พักผู้สูงอายุ เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการต่าง ๆ เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของภาครัฐ อาทิ สภากาชาดไทย กรมธนารักษ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พอภาคเอกชนมาทำก็เริ่มมีคำถาม เพราะโครงการผู้สูงอายุนั้นจะไม่ใช่การขายขาด แต่เป็นการให้เช่าระยะยาว เน้นขายคุณภาพชีวิต วิถีชีวิต

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้อยู่อาศัย โดยใช้องค์ความรู้และประสบการณ์ที่สะสมมา พัฒนาโครงการ “นายา เรสซิเดนซ์ บาย ลิฟเวล” โครงการแรกในประเทศไทย และได้รับใบอนุญาตสถานประกอบการกิจการดูแลผู้สูงอายุประเภท “Independent Living” โดยกระทรวงสาธารณสุขรับรอง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564

“ปัญหาของที่พักผู้สูงอายุทุกที่คือ คนมาจองเผื่อ ๆ เอาไว้ แต่ไม่ได้อยู่จริง นั่นทำให้สถานที่นั้น ๆ ไม่มีชีวิต เพราะคอนเซ็ปต์ที่พักผู้สูงอายุ คือ ต้องมีชีวิตชีวา มีสังคม”

หมอนาฏ ผู้ชอบป้องกันโรคมากกว่าการรักษาโรค

ส่วนตัวต้องบอกเลยว่า ตนเองเป็นแพทย์ที่ไม่ชอบอยู่กับความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือต้องคอยบำบัดรักษาโรค แต่มีความสนใจทำอย่างไรให้ไม่เป็นโรคมากกว่า นอกจากนั้น ส่วนตัวยังสนใจเรื่องการใช้เทคโนโลยีในผู้สูงอายุให้ใช้งานได้จริง เนื่องจากมองเห็นปัญหาด้านบุคลากรในการดูแลผู้สูงอายุอาจจะขาดแคลนในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีจะเป็นคำตอบ

คุณภาพชีวิตของคนวัยอิสระ

นิยามของคำว่าคุณภาพชีวิตของคนวัยอิสระคืออะไร ? คำตอบนี้อยากตอบในฐานะผู้คลุกคลีอยู่กับผู้สูงอายุ หรือที่เรียกว่า “วัยอิสระ” คือ

1.การพึ่งพาตัวเองได้ ส่วนนี้สำคัญมากเนื่องจากภายใต้จิตใจของผู้สูงอายุจะมีความคิดหนึ่ง เมื่อถึงวัยอิสระแล้วจะคิดเสมอว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน

2.ความเป็นอิสระ ซึ่งอิสระทั้งในด้านการเงินมีการเก็บออม การลงทุน เพื่อชีวิตหลังเกษียณ และความอิสระทางด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์ อาหาร จิตใจ

สึนามิผู้สูงวัย 1 ล้านคน/ปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า

นับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป จะมีผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้น จำนวนราว 1 ล้านคน/ปี และจะต่อเนื่องในจำนวนดังกล่าวไปอีก 20 ปี ดังนั้น ในฐานะแพทย์ที่ให้ความสนใจป้องกันการเกิดโรคมากกว่าการรักษานั้นมองว่า จะต้องกลับไปให้ความสำคัญกับกลุ่มก่อนวัยอิสระ หรือวัยเกษียณ (preaging) ที่มาอายุ 40-59 ปี ให้เตรียมตัวรับความพร้อมในช่วงชีวิตหลังวัยเกษียณ ทั้งในด้านการลงทุน เก็บออม และการรักษาสุขภาพ

ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีปัญหาโรคไม่ติดต่อ (NCD) อาทิ เบาหวาน, ความดันโลหิต, กระดูกและข้อเสื่อม รวมถึงอัลไซเมอร์ ซึ่งเหล่านี้สามารถป้องกันและชะลอได้ จากการเตรียมตัวดูแลสุขภาพก่อนถึงวัย ซึ่งต้องกินดี อยู่ดี มีกิจกรรมให้ร่างกายได้ขยับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพช่องปาก ซึ่งเป็นต้นทางการมีสุขภาพดีของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยผู้สูงอายุ หากสุขภาพช่องปากไม่ดี เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด ก็ส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร สู่ระบบการขับถ่าย เป็นต้น

ลิฟเวล ผู้ให้บริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

ลิฟเวล (LivWell) เป็นธุรกิจใหม่ของหมอนาฏ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพภายในที่พักสำหรับผู้สูงอายุ (โดยไม่จำกัดผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ) โดยบริษัทดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของนารายณ์ พร็อพเพอร์ตี้ กับหมอนาฏ เพื่อแยกความชัดเจนระหว่าง “ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์” กับ “ผู้ให้บริการดูแลด้านสุขภาพ”

ซึ่งหมอนาฏมองว่า ถือเป็นช่วงเวลาที่ใช่ เหมาะสมสำหรับการให้บริการในรูปแบบดังกล่าว ทั้งด้านการสื่อสารกับสังคม และการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับความต้องการที่มีมากขึ้นในอนาคต โดยประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่ผู้คนให้ความสนใจในการเดินทางมาพักผ่อน และวางแผนใช้ชีวิตหลังเกษียณทั้งชาวไทยและต่างชาติ

นาฏ ฟองสมุทร ทิ้งท้ายว่า การพัฒนาโครงการอสังหาฯสำหรับผู้สูงอายุ และการให้บริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เปรียบเสมือนธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาการลงแรงลงมือทำอย่างมาก แม้ผลตอบแทนจะไม่ได้หวือหวามากนัก แต่เป็นธุรกิจที่ไม่ใช่การแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นธุรกิจที่สังคมต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต