‘ปูเตยาส’ นักเตะสาวสเปน บัลลงดอร์ฝั่งหญิงที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง

อเลเซีย ปูเตยาส
อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ภาพ ลิโอเนล เมสซี่ ถือลูกบอลสีทองอันเป็นรางวัลบัลลงดอร์ สมัยที่ 7 ของตัวเอง ย่อมตกอยู่ในหัวข้อสนทนาที่แพร่หลายในแวดวงลูกหนัง ในอีกด้านหนึ่ง รางวัลบัลลงดอร์ที่มีฝั่งนักฟุตบอลหญิงด้วยอาจไม่ค่อยอยู่ในเรดาร์ของแฟนบอลมากนัก แต่แท้จริงแล้ว รางวัลฝั่งหญิงมีประเด็นน่าสนใจไม่แพ้กัน

รางวัลบัลลงดอร์ฝั่งนักฟุตบอลหญิงในปี 2021 รางวัลตกเป็นของ อเลเซีย ปูเตยาส มิดฟีลด์ของสโมสรบาร์เซโลน่า ซึ่งเป็นทีมเก่าของลิโอเนล เมสซี่ เช่นกัน ปูเตยาสคว้ารางวัลนี้โดยมีคะแนนเหนือเพื่อนร่วมทีมบาร์ซ่าอีกรายหนึ่ง และ 2 นักเตะหญิงจากสโมสรในลอนดอนอย่างเชลซี และอาร์เซนอล

เมื่อพูดถึงผลงานของปูเตยาสในปีนี้ เรียกได้ว่าเป็นปีทองของทั้งทีมหญิงของบาร์ซ่า และมิดฟีลด์ตัวเก่งที่มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของทีมหญิง ซึ่งคว้าถ้วยแชมเปี้ยนส์ลีก หรือชิงแชมป์สโมสรยุโรปทีมหญิงเป็นครั้งแรก แชมป์รายการนี้เป็นหนึ่งในความสำเร็จของทีมหญิงสโมสรบาร์เซโลน่า ในฤดูกาล 2020-21

ฤดูกาลที่ผ่านมา บาร์ซ่าทีมหญิงคว้า 3 แชมป์ในฤดูกาลเดียวได้เป็นครั้งแรกของสโมสร นอกจากแชมป์สโมสรยุโรปทีมหญิงแล้ว แข้งหญิงบาร์ซ่ายังคว้าแชมป์ลีกและฟุตบอลถ้วยในประเทศได้ด้วย โดยปูเตยาสเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของทีมชุดนี้ ลงเล่นรวมทุกรายการ 42 นัด ยิงไป 26 ประตู และทำแอสซิสต์ผ่านบอลให้เพื่อนใส่สกอร์อีก 19 ครั้ง โดยทั่วไปแล้ว สถิติสำหรับนักเตะตำแหน่งนี้ถือว่ายอดเยี่ยมทีเดียว

รางวัลที่ตกเป็นของแข้งสาวชาวสเปนวัย 27 ปีรายนี้ มีหลายแง่มุมที่น่าคิดต่อยอดจากสิ่งที่เกิดขึ้น เบื้องต้นแล้ว ปูเตยาสคือนักฟุตบอลหญิงชาวสเปนคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ นับตั้งแต่ปี 1960 ผลงานของทีมหญิงของบาร์เซโลน่า ในลีกผู้หญิงของสเปนในยุคแรกเริ่มแข่งในรูปแบบ “อาชีพ” ฤดูกาลนี้บาร์ซ่าทีมหญิงทำให้แวดวงลูกหนังทั่วโลกเห็นถึงศักยภาพภายในขององค์กรอีกครั้ง

ไม่เพียงแค่ในลีกในประเทศ เมื่อลงแข่งในระดับสโมสรยุโรป บาร์ซ่าสามารถบดขยี้ทีมหญิงจากลีกในประเทศที่ลีกหญิงแข็งแกร่งอย่างอังกฤษได้แบบขาดลอย นัดชิงชนะเลิศฤดูกาล 2020-21 ก็ยิงทีมหญิงของเชลซีถึง 4-0 หรือไปในรอบแบ่งกลุ่มฤดูกาลล่าสุดยังถล่มอาร์เซนอลจากลอนดอน 4-1 จนสื่อในอังกฤษเรียกนัดนั้นว่า “สอนบอล” ก็ว่าได้

ท่ามกลางทีมที่เล่นอย่างเหนือชั้น บาร์เซโลน่าทีมหญิงมีปูเตยาส นักเตะหญิงที่กำเนิดในแถบท้องถิ่นของบาร์เซโลน่า ทำหน้าที่ห้องเครื่องที่ควบคุมเกม และเต็มเปี่ยมด้วยเทคนิคยอดเยี่ยม โดยเฉพาะเรื่องการผ่านบอลแบบเหนือชั้น อ่านเกม และเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ว่างเพื่อสร้างความได้เปรียบ

ไม่เพียงทำให้ปูเตยาส เป็นนักเตะชั้นยอดจากสเปน ยังยกระดับเกมของต้นสังกัดได้มาก ศักยภาพเหล่านี้การันตีด้วยรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของสหพันธ์ฟุตบอลแห่งทวีปยุโรป (ยูฟ่า) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ชื่อเสียงของระบบและแนวคิดที่ก่อร่างรูปแบบการเล่นฟุตบอลแบบบาร์เซโลน่าที่เล่นเกมรุกและเน้นครองบอลเป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก ดีเอ็นเอจากทีมฝ่ายชายที่ขยายมาสู่ฟุตบอลหญิงที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในสเปน

ช่วงหลังคือประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการสร้างทีมที่แข็งแกร่งขนาดไปเล่นกับทีมหญิงจากลีกอื่นแล้วสามารถทำผลงานได้เหนือกว่ามาก ประเด็นหนึ่งคือในกระบวนการสร้างทีมด้วยปรัชญาเดียวกับทีมฝ่ายชาย ปูเตยาสก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองของการพัฒนาทีมหญิงขึ้นมา

ที่จริงแล้ว ปูเตยาสมาจากครอบครัวที่เล่นกีฬาบาสเกตบอล เธอมีโอกาสเข้าร่วมฟุตบอลอะคาเดมีสำหรับเยาวชนของบาร์เซโลน่า ก่อนย้ายไปร่วมทีมเอสปันญอล และย้ายมาเล่นให้เลบันเต้ เมื่ออายุ 17 ปี กระทั่งย้ายกลับมาบาร์ซ่า ในฤดูกาล 2012-13 จนถึงวันนี้เธอลงเล่นให้ต้นสังกัดในคาตาลันไปแล้ว 364 เกม ยิง 157 ประตู เรียกได้ว่าบาร์ซ่าก็เคยเมินเยาวชนของตัวเอง ก่อนจะกลับมาดึงตัวเธอคืนทีม และพัฒนามาสู่ทีมหญิงที่ครองเจ้ายุโรปในยุคนี้

สำหรับรางวัลบัลลงดอร์ฝ่ายหญิงปีนี้ คงไม่มีข้อกังขาใด ๆ ว่าจะมีใครอื่นที่เหมาะสมไปกว่าปูเตยาสอีก (ขณะที่ฝ่ายชายมักมีข้อถกเถียงกันบ่อยครั้ง) อันที่จริงแล้ว ข้อกังขาที่เกิดขึ้นกับรางวัลฝ่ายหญิง กลับเป็นเรื่องตัวรางวัลเองมากกว่า โดยรางวัลบัลลงดอร์ฝ่ายหญิงเพิ่งมีขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2018 เพื่อสะท้อนถึงน้ำหนักความเท่าเทียมระหว่างเพศ

อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดแล้ว รางวัลในฝ่ายหญิงยังคงมีรายละเอียดที่แสดงถึงความเหลื่อมล้ำกับฝ่ายชายอยู่บ้าง เช่น ลิสต์รายชื่อผู้เข้าชิงเบื้องต้นของฝั่งหญิงมีจำนวน 20 คน ขณะที่ฝ่ายชายมี 30 คน ก่อนตัดรายชื่อลงมาในรอบลึก ๆ ต่อไป

ในทางการตลาดแล้ว ฟุตบอลชายมีพื้นที่มากกว่าชัดเจน ฟุตบอลหญิงที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าที่จะมีฐานรากแข็งแกร่งทัดเทียมกับฝ่ายชาย เชื่อว่าเมื่อเวลานั้นมาถึง นักเตะระดับปูเตยาสจะมีแฟนบอลรู้จักและให้ความสนใจไม่แพ้นักเตะชาย เส้นทางไปสู่จุดนั้นคงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมถึงแฟนบอลด้วยเช่นกัน