เกษียณที่วัด 60 ปี ฐากูร บุนปาน “ชีวิตคืองาน ครอบครัวคือที่สุด”

สมถวิล ลีลาสุวัฒน์ : เรื่อง

เพราะความตายไม่มีนิมิตหมาย ทุกคนถึงต้องทำทุกวันให้ดีที่สุด เหมือนเป็นวันสุดท้ายของชีวิต เพื่อรอยยิ้มแห่งการจากลา ท่ามกลางน้ำตาที่น่าภาคภูมิ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ “จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา” เมื่อจิตผ่องใสไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นที่ไป

ชีวิตคืองาน งานคือชีวิต

นับตั้งแต่ “พี่โต้ง-ฐากูร บุนปาน” สิ้นใจอย่างสงบ หลังจากป่วยด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่กลางปี 2562 ด้วยวัยเพียง 59 ปี ณ บ้านพักย่านประชาชื่น เมื่อวันอังคารที่ 12 มกราคม 2564 เวลา 13.50 น. ณ วินาทีนั้น คนที่รู้จักพี่โต้งและพี่โต้งรู้จัก ต่างมีอารมณ์ความรู้สึกเดียวกัน คือ เสียใจ เสียดาย และอาลัยเป็นที่สุด

หลังจัดงานบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมตลอด 7 วัน (วันที่ 13-19 มกราคม 2564) ทางครอบครัวและเครือญาติได้เก็บศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดเสมียนนารี จากวันนั้นถึงวันนี้มีกำหนดการบำเพ็ญกุศลในวันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม ณ ศาลา 7 เวลา 17.00 น. แสดงพระธรรมเทศนา โดยพระเทพวรสิทธาจารย์ และเวลา 18.00 น. พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม

วันรุ่งขึ้นวันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม 2564 กำหนดพิธีฌาปนกิจ เวลา 14.30 น. ณ เมรุวัดเสมียนนารี พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร

แม้วันเวลาจะผ่านไปหลายเดือน แต่ความรู้สึกยังคงเดิมเหมือนพี่โต้งยังมาทำงานปกติ เจอหน้าก็ทักทาย ทั้งยังชอบตั้งคำถามถึงเหตุการณ์บ้านเมือง และภาวะเศรษฐกิจ ไม่ใช่พี่เขาไม่รู้ แต่เพราะความที่ “รู้ลึก-รู้จริง” จึงใช้ “คำถาม” เป็นสะพานเชื่อม เพื่อหารือช่วยสรุปประเด็น บ่อยครั้งก็จะบอกฮิ้น หรือประเด็นข่าวให้ไปทำไปตาม

เพราะชีวิตคืองาน งานคือชีวิต นอกเหนือจากงานบริหารแล้ว สายเลือดความเป็นนักข่าวของพี่โต้งยังคุกรุ่นตลอดช่วงที่ยังมีลมหายใจ ทำให้ต้องคิดตลอดเวลา วันวันหนึ่งของคนชื่อ “ฐากูร บุนปาน” จึงมี 25 ชั่วโมง

ถ้าย้อนเวลากลับได้ อยากเห็นภาพพี่โต้งเล่นน้ำทะเลกับครอบครัว พี่น้อง อยากเห็นภาพที่รีแลกซ์ในทุกกิจกรรมของวันหยุดยาว

แต่ในความเป็นจริง ความสุขของคนเราไม่เท่ากัน และไม่เหมือนกัน

ความสุขของพี่โต้งคือได้ทำงาน ได้ประชุม ได้บรรยาย ได้ดีดกีตาร์ จับไมค์ร้องเพลง ได้จิบไวน์ ได้เตะฟุตบอล ได้อยู่กับครอบครัว และทำกับข้าว ฟังเพลง

ส่วนของรักของสะสม นอกจากมิตรภาพและความรักแล้วก็มีพวกเครื่องถ้วยชามที่หายาก

ความสุขที่พิเศษหน่อย คือ การปักหมุดร้านอาหารที่คิดว่า “ใช่” แล้วพาครอบครัว-ญาติพี่น้องไปชิมแบบกินจริง ๆ นี่คือไลฟ์สไตล์ของอดีตรองประธานคณะกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่มีกำหนดการพิธีฌาปนกิจ ตรงกับวันคล้ายวันเกิดตัวเอง 18 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่พี่โต้งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

 

เรียนรู้จากความพยายาม สิ่งสำคัญคือจุดยืน

ฐากูร บุนปาน เกิดวันที่ 18 ธันวาคม 2504 ประถมศึกษาเรียนที่โรงเรียนสาธิต มศว.ประสานมิตร จบมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น 97 ดีกรีปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือสิงห์ดำ รุ่น 32

ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 1 (วพน.1) อบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงด้านการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและการลงทุน สถาบันวิทยาการธุรกิจและอุตสาหกรรม รุ่นที่ 1 และ อบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 18 (วตท.18)

โดยเริ่มทำงานในเครือมติชนเมื่อปี 2527 เป็นผู้สื่อข่าวมติชน โต๊ะข่าวต่างประเทศ ก่อนย้ายมาเป็นผู้สื่อข่าวสายการเงิน ประชาชาติธุรกิจ เป็นหัวหน้าข่าว กอง บก.ประชาชาติ เป็นทั้งนักเขียนและนักอ่านตัวยง พี่โต้งเคยบอกว่า พี่รู้ภาษาอังกฤษมาจากความพยายาม คือ “เรียนรู้ด้วยตัวเอง” และที่รู้เยอะ เพราะคุยกับคนเยอะ ว่างก็นัดพบปะแหล่งข่าว อัพเดตชีวิตส่วนตัวและสถานการณ์

งานข่าวเหมือนต้อง “ลับคม” ตลอดเวลา ทำให้ต้องศึกษาเรื่องธุรกิจจากนักธุรกิจ โดยเฉพาะการเงินการคลัง รวมถึงแหล่งข่าวข้าราชการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ พี่โต้งจึงเป็นตัวหลักของข่าวการเงินการคลังคนหนึ่งในเครือมติชน

ปี 2533 ร่วมบุกเบิก ”ข่าวสด” ที่ “ขรรค์ชัย บุนปาน” ประธานเครือมติชน รับมาดำเนินกิจการ โดยเป็นหัวหน้าโต๊ะข่าวภูมิภาค

ปี 2534-2546 เป็นบรรณาธิการบริหารข่าวสด ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว พุ่งขึ้นเป็น 1 ใน 3 สื่อรายวันที่มียอดจำหน่ายสูงสุด

 

 

 

ปี 2547-2553 เป็นบรรณาธิการข่าวสด และมีบทบาทอย่างสูงในการพัฒนาข่าวสด โดยเฉพาะการตระเตรียมก้าวสู่ระบบออนไลน์ เป็นรากฐานที่ทำให้ข่าวสดออนไลน์กลายเป็น “สื่อออนไลน์” ที่มีผู้ติดตามสูงสุดของประเทศ

เป็นผู้จัดการทั่วไปเครือมติชน จากปี 2553-2557 และเมื่อ “ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์” กรรมการผู้จัดการ มีปัญหาสุขภาพ ได้เข้ารับหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการ เครือมติชน จากปี 2557-2562 ช่วงนั้น ฐากูรได้เข้ารับหน้าที่รองประธานกรรมการบริษัท หลังพบว่าตัวเองป่วยในปี 2562

ฐากูร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกและพัฒนาเครือมติชน ทั้งมติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ จนเป็นสื่อและกิจการสื่อที่สังคมให้ความเชื่อถือ ทั้งยุคสิ่งพิมพ์ กระทั่งก้าวสู่ยุคออนไลน์ และให้ความสำคัญกับการมุ่งมั่นในทิศทางออนไลน์ของสื่อในเครืออย่างมาก โดยให้คำแนะนำและติดตามผลการพัฒนาของสื่อในเครืออย่างเกาะติดและเอาใจใส่

มีความยึดมั่นในความสุจริต อุดมคติของวิชาชีพสื่อ สนับสนุนหลักการและทิศทางประชาธิปไตย เห็นว่าสิ่งสำคัญในวิชาชีพ คือ “จุดยืน” เพื่อทำหน้าที่สื่อให้เกิดประโยชน์ นำพาข้อมูลข่าวสารและข้อคิดเห็นไปสู่ประชาชน

สิงโต สะออน-เขียง มะขาม นามปากกา

เพื่อน ๆ กลุ่มเรียน วพน.และ วตท. พูดเหมือนกันว่า “ฐากูรคือคนธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา” เป็นคนมีจิตเมตตา อ่อนน้อม และอ่อนโยนมาก ความคิดลุ่มลึก ลึกซึ้ง เข้าถึงได้ง่าย เป็นคนหนึ่งที่ให้กำลังใจได้ดี ใช้ตรรกะและคำแนะนำตรง ๆ ต่อคนที่กำลังเจอปัญหา

ที่ว่าไม่ธรรมดา คือ เป็นคนที่มีสมองซีกขวาและซีกซ้าย บาลานซ์ในตัวเอง คือเป็นนักบริหาร นักคิดแล้ว ยังมีอารมณ์ศิลปิน ชอบเล่นดนตรีและร้องเพลง หลายครั้งที่เพื่อน ๆ ข้าราชการและนักธุรกิจสนุกไปตาม ๆ กัน ตอนที่พี่โต้งโชว์พลังเสียงและลูกคอ ร้องเพลงของ “ชาย เมืองสิงห์” ทั้งเพลงทำบุญร่วมชาติ มันยกร่อง มาลัยดอกรัก ฯลฯ

ทั้งยังเป็นนักชิม นักปรุง มีนามปากกาว่า “เขียง มะขาม” เจ้าของคอลัมน์ “สวรรค์ในครัว” ในข่าวสด เนื้อหาเป็นเรื่องเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของการทำอาหาร เพราะสวรรค์คือครัว คือบ้าน

เล่าแบบภาษาง่าย ๆ เหมือนผู้ใหญ่บอกเล่าสูตรอาหารให้ลูกหลานจดจำ สัมผัสถึงความอบอุ่น ความเป็นครอบครัวคนไทยที่ชอบนั่งล้อมวงกินข้าว เล่าเรื่องสนุก ๆ เป็นชีวิตอีกมุมของพี่โต้ง ที่ทุกคนได้สัมผัสผ่านตัวหนังสือ

และเป็นนักเขียน แต่งบทกวี บทกลอน เจ้าของคอลัมน์ “สิงโต สะออน” เป็นกลอนที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองไทย ในมติชนรายวัน คอลัมน์ “ย่ำไปในดงเพลง” ใช้นามปากกาว่า “เขบ็ดหัวโต” ในมติชนรายวัน วิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองไทยผ่านบทเพลงสากลและเพลงไทย

นอกจากนี้ ยังมีงานเขียนเชิงวิเคราะห์ในมติชน เขียนบทบรรณาธิการให้กับสื่อในเครือ และเขียนคอลัมน์ “ของดีมีอยู่” หน้าหลังในมติชนสุดสัปดาห์

เนื่องจากพี่โต้งมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นต้นทุนที่ดี มีครอบครัวที่ดูแลให้กำลังใจมาตลอด ทำให้มีสุขภาพกายใจในระดับที่มาทำงาน และพบปะบุคคลต่าง ๆ ได้ปกติ โดยมานั่งทำงานที่อาคารสำนักงานมติชน และชอบเดินไปพบปะสนทนากับกอง บก.ต่าง ๆ

เว้นช่วงก็ต่อเมื่อต้องเข้ารับการรักษา และแพทย์สั่งให้พัก วันทำงานครั้งสุดท้ายของพี่โต้งที่มาออฟฟิศ คือ เดือนตุลาคม 2563 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ท่ามกลางความห่วงใยของเครือญาติ มิตรสหาย และเพื่อนร่วมงาน

Gentleman-ให้เกียรติครอบครัวและทุกคน

“ฐากูร บุนปาน” เป็นบุตรชายคนโตของ “สุขุม-สุทิน บุนปาน” คุณพ่อเป็นคนฝั่งธนฯ คุณแม่เป็นคนอ่างทอง (ทั้งสองถึงแก่กรรม) มีพี่น้อง 3 คน “ฐากูร-สรพันธุ์-สุลักษณ์ บุนปาน” ชื่อเล่น “โต้ง-อู-แจ้”

สมรสกับ “วิสาตรี สุวรรณทัต” มีบุตรชาย 1 คน คือ บุญรักษา บุนปาน ชื่อเล่น “สิงโต” จบการศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศึกษาปริญญาโท ประเทศนิวซีแลนด์

พี่โต้ง เป็นผู้ชายที่รักครอบครัวและให้เกียรติภรรยามาก เป็น Gentleman ของทุกสายตา ความสุขคือการได้อยู่บ้าน อยู่กับครอบครัว ชอบทำอาหาร ตกแต่งบ้าน ปลูกต้นไม้ รักญาติพี่น้อง และรักเพื่อน มีอัธยาศัยไมตรี มีอารมณ์ขัน รับฟัง รอบรู้ เร็วและว่องไว ไม่หยุดนิ่ง

“ผมเข้าใจสถานการณ์โดยรวมทั้งโลก ทั้งประเทศ จะลำบากยากเข็ญกว่าปีนี้ ดูตั้งแต่ต้นปี (2563) เป็นต้นไป ทิศทางข่าวและคอนเทนต์ให้จำไว้เลยว่า ในทุกสงครามมีทั้งคนแพ้ คนชนะ สำคัญที่ตัวเราว่า เราอยากจะไปยืนอยู่ฝั่งไหน”


นี่คือโอวาทครั้งสุดท้ายในงานเลี้ยงปีใหม่ 2562 ที่พี่โต้งตั้งคำถามกับน้อง ๆ ในกองข่าว บก.ประชาชาติธุรกิจ