เจาะดราม่า “เอฟวัน” จากการแข่ง “รอบสุดท้าย” ที่พลิกชะตาแชมป์ได้

รถแข่ง F1
อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ศึกรถแข่งเอฟวันฤดูกาล 2021 ปิดฉากลงด้วยแชมป์ของ แม็กซ์ เวอร์สแตพเพน จากทีมเร้ดบูลล์ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นปีที่มีเรื่องราวครบรสเสิร์ฟพร้อมดราม่า หลากหลายประเด็นเป็นที่ถกเถียงกันในสนามตั้งแต่ช่วงต้นมาจนถึงสนามตัดสินที่อาบูดาบี กระทั่งอีเวนต์งานมอบรางวัลตามธรรมเนียมหลังรู้ผลแชมป์โลกแล้วก็ยังไม่วายมีประเด็นอีก

ฤดูกาลนี้ประเด็นหลักของการแข่งขันมาอยู่ที่การขับเคี่ยวระหว่าง ลูอิส แฮมิลตัน ของทีมเมอร์เซเดส แชมป์โลก 4 สมัยติดต่อกัน เบียดขับกับ แม็กซ์ เวอร์สแตพเพน หนุ่มดาวรุ่งลูกครึ่งดัตช์-เบลเยียมจากทีมเร้ดบูลล์ ทั้งคู่ผลัดกันได้แชมป์แต่ละสนามมาตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาล ขณะที่การแข่งในสนามไม่เพียงแค่เบียดชิงตำแหน่งกันเท่านั้น ในเชิงกายภาพ พวกเขาก็เบียดกันไปมาขณะแข่งจริงด้วยจนมีบางสนาม รถของทั้งคู่เบียดกันจนต้องออกจากการแข่งไปทั้งสองฝ่าย

ในช่วงท้าย แฮมิลตันเร่งฟอร์มคว้าชัย 3 สนามติดต่อกัน ทำให้คะแนนสะสมมีตัวเลขเท่ากัน นั่นหมายความว่าการขับเคี่ยวแย่งแชมป์โลกเอฟวันปีนี้ต้องมาตัดสินที่สนามอาบูดาบี สนามสุดท้ายของฤดูกาล และสนามนี้ก็มีเรื่องดราม่าเกิดขึ้นหลายจุด

เหตุการณ์สำคัญซึ่งกระทบต่อผลแข่งมาอยู่ที่อุบัติเหตุจากรถของ นิโคลัส ลาทิฟี่ นักขับของทีมวิลเลียมส์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเส้นทางลุ้นแชมป์ใด ๆ ลาทิฟี่ประสบอุบัติเหตุในช่วงเหลือเพียง 5 รอบสุดท้าย เวลานั้น แฮมิลตันกำลังนำอยู่ เมื่อรถเซฟตี้ (safety car) ถูกนำออกมาใช้เคลียร์พื้นที่ตามกฎเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เป็นโอกาสให้แม็กซ์ที่ตามหลังอยู่ เข้าพิตเพื่อเปลี่ยนยางใหม่ แต่แฮมิลตันไม่สามารถทำได้เพราะจะเสียตำแหน่งนำที่ได้เปรียบ

ด้วยยางที่ใหม่กว่า (เป็นยางแบบซอฟต์ที่เอื้อต่อการเร่งความเร็ว) และอีกปัจจัยสำคัญคือการประกาศจากฝ่ายจัดก่อนเข้าสู่รอบสุดท้ายว่า ให้กลุ่มรถที่ยังวิ่งทำรอบน้อยกว่าผู้นำและยังวิ่งคั่นกลางอยู่ระหว่างแฮมิลตัน ผู้นำ กับแม็กซ์ เวอร์สแตพเพน แซงรถเซฟตี้ขึ้นไปได้ (ช่วงที่รถเซฟตี้ทำงานมีกEว่ารถทุกคันต้องวิ่งจำกัดความเร็วและห้ามแซง) ขณะที่ไม่ได้แจ้งแบบเดียวกันนี้ต่อรถที่คั่นกลางระหว่างเวอร์สแตนเพน กับอันดับ 3

จากการประกาศนี้ทำให้เวอร์สแตพเพน สามารถไล่จี้มาติดท้ายแฮมิลตัน ในรอบสุดท้ายซึ่งจะตัดสินแชมป์ และด้วยสภาพยางใหม่กว่าก็ทำให้เวอร์สแตนเพน แซงแฮมิลตัน เข้าเส้นชัยได้สำเร็จในช่วงรอบสุดท้าย ส่งแม็กซ์ เวอร์สแตพเพน คว้าแชมป์โลกเอฟวันเป็นสมัยแรกของตัวเองในวัย 24 ปี ขณะที่แฮมิลตันอดจารึกสถิติประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 8 อย่างน่าเสียดาย

เรื่องการตัดสินใจของผู้ดูแลการแข่งเป็นประเด็นหลักที่เมอร์เซเดส ยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อเอฟไอเอ (สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ) ให้ทบทวนว่าผู้ดูแลการแข่งขันตัดสินใจไม่ถูกต้องตามกฎและกระทบต่อผลการแข่งอย่างมีนัยสำคัญ

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทีมเมอร์เซเดสก็ไม่ได้เดินเรื่องต่อหลังจากทางเอฟไอเอ มีท่าทีว่าจะมา “วิเคราะห์รายละเอียด” ช่วงท้ายของการแข่งขัน และยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การแข่งเอฟวันในโลกกีฬา

อย่างไรก็ตาม หลังจากประกาศของเมอร์เซเดส เพียงไม่กี่วัน มีรายงานว่า ลูอิส แฮมิลตัน และทีมงานระดับสูงของทีมเมอร์เซเดส ไม่ได้เข้าร่วมงานพิธีมอบถ้วยรางวัลของเอฟไอเอ ซึ่งงานนี้มีระเบียบว่านักแข่งที่ได้อันดับสูงที่สุด 3 อันดับแรก ต้องเข้าร่วมงาน

เรื่องนี้ดูเหมือนทำเอาประธานของเอฟไอเอไม่พอใจอยู่บ้าง ดังจะเห็นจากรายงานข่าวที่ระบุว่า เบ็น สุไลมาน ประธานคนล่าสุดของเอฟไอเอ กล่าวว่า “ถ้าหากมีการละเมิดกฎเกิดขึ้น จะไม่มีการอภัยให้กับสิ่งที่เกิดขึ้น”

ประวัติศาสตร์ศึกเอฟวันที่ผ่านมามีเรื่องข้อถกเถียงเกี่ยวกับการตัดสินมากมาย สิ่งที่สำคัญคือผลกระทบต่อบุคคลต่าง ๆ ด้วย มีรายงานว่าเรื่องนี้กระทบแฮมิลตันอย่างมาก จนนักขับบริติชไม่แน่ใจว่าจะกลับมาแข่งปีหน้าอีกหรือไม่ ขณะที่เวอร์สแตนเพนถึงกับชี้ว่า แฮมิลตันเองก็เคยได้แชมป์จากเหตุลักษณะใกล้เคียงกันในสนามสุดท้ายของการแข่งเมื่อปี 2008 ซึ่งแฮมิลตันปาดหน้า เฟลิเป้ แมสซ่า ในโค้งสุดท้าย และน่าจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นดี

สถานการณ์ดราม่าเกิดขึ้นก่อนหน้าบรรยากาศในทางการเมืองขององค์กรรถแข่งอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากว่าหลังมอบรางวัล มีการเลือกตั้งประธานเอฟไอเอ ซึ่งท้ายที่สุดเป็นสุไลมาน ได้รับเสียงโหวตให้รับตำแหน่งไป

สุไลมานรับปากว่าจะขยับขยายขนาดวงการเอฟวันในทั่วโลกให้มากขึ้น และจะบริหารงานเพื่อสมาชิกสหพันธ์ ในมุมมองของสุไลมาน จากที่เขาได้พูดคุยกับหัวเรือของทีมเมอร์เซเดส ที่ไม่ได้มาร่วมงานมอบรางวัล และจะพยายามหาทางออก เผื่อว่าในอนาคตจะเกิดกรณีทางเทคนิคที่ส่งผลต่อวงการโดยรวมอีก

ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่กรณีล่าสุดในสนามสุดท้ายของเอฟวัน ก่อนหน้าก็มีเหตุการณ์น่ากังขาเกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของผู้ดูแลการแข่งหลายครั้ง ซึ่งแม้แต่เอฟไอเอยังยอมรับว่า ดราม่าทั้งหลายกระทบต่อภาพลักษณ์กีฬาแข่งรถเอฟวัน

ในเบื้องต้น ท่าทีของเอฟไอเอค่อนข้างช่วยคลี่คลายบรรยากาศระอุได้ระดับหนึ่ง ในอนาคตอันใกล้ หน้าที่เหล่านี้ย่อมตกไปบนบ่าของทีมงานภายใต้ผู้บริหารงานชุดล่าสุด คงต้องจับตาว่า เอฟวันจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด