การดูแลสายตาของผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยงโรคจุดรับภาพเสื่อม

ผู้สูงอายุ
Healthy aging
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

 

ผมเขียนถึงการดูแลสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกายให้ร่างกายและหัวใจแข็งแรง ตลอดจนการดำเนินชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคร้าย เช่น โรคสมองเสื่อม และโรคมะเร็ง เป็นต้น

แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่ได้เขียนถึงเลย แต่มีความสำคัญอย่างมากกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีตอนสูงวัย คือ การดูแลสายตา ซึ่งเป็นส่วนของร่างกายที่เสื่อมถอยไปตามอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อเริ่มศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสายตา ก็ได้ความรู้ใหม่ว่าเซลล์มนุษย์ของเราที่โดยเฉลี่ยมีอายุยืนประมาณ 7-10 ปีนั้น สำหรับเซลล์ของเลนส์สายตานั้นมีอายุยืนเท่ากับอายุขัยของตัวเรา คือ 70-80-90 หรือ 100 ปีก็ได้

ดังนั้น จึงน่าจะเป็นเซลล์ที่มีความทนทานสูงที่สุดประเภทหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่ามีเซลล์ที่อายุยืนกว่าเซลล์เลนส์ของตา คือ เซลล์สมอง ซึ่งได้เคยมีการทำวิจัยพิสูจน์นำเซลล์สมองของหนูที่แก่เฒ่าไปใส่ในสมองของหนูอายุน้อยก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

ดังนั้น เซลล์สมองของมนุษย์จึงน่าจะมีชีวิตอยู่ได้นานที่สุดเป็นร้อยปี มีชีวิตยาวนานกว่าร่างกายเสียอีก

ย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องตาของผู้สูงอายุก็อาจสรุปได้ว่า สิ่งที่พบเจอเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น คือ สายตายาว และการมองเห็นชัดลดน้อยลงโดยเฉพาะตอนเวลากลางคืน ทำให้ต้องเปลี่ยนหลอดไฟที่บ้านให้สว่างขึ้น

แต่จากการอ่านข้อมูลและงานวิจัยต่าง ๆ นั้น ก็ต้องยอมรับว่าเมื่ออายุเกินกว่า 50 ปีไปแล้ว ก็เริ่มมีความเสี่ยงต่าง ๆ เกี่ยวกับสายตามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการเก็บสถิติพบว่าคนอายุ 65 ปีขึ้นไปนั้นประมาณ 1/3 จะมีปัญหาสายตาเสื่อมถอย โดยในโลกนั้นน่าจะมีคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตาอย่างน้อย 200 ล้านคน

นอกจากปัญหาสายตายาวแล้ว อาการที่เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในผู้สูงอายุ คือ ต้อกระจก (cataract) ซึ่งทำให้เลนส์แก้วตาแข็งและขุ่น สายตาจะมัวลงและตาสู้แสงไม่ค่อยได้ ต้องได้รับการผ่าตัดอย่างทันท่วงที ไม่รอให้ต้อกระจกสุกเพราะอาจเกิดต้อหิน (glaucoma) แทรกซ้อนซึ่งเป็นอันตรายอย่างเฉียบพลันต่อสายตาได้ ดังนั้น การตรวจตาเป็นระยะ ๆ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ

โรคตาที่ผมจะขอกล่าวถึงอย่างละเอียด คือ โรคจุดรับภาพเสื่อมตามวัย (age-related macular degeneration หรือ AMD) ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป และเป็นสาเหตุหลักของการทำให้ผู้สูงอายุ (เกินกว่า 60 ปี) ตาบอดอย่างถาวร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวไม่แพ้กับการเป็นโรคสมองเสื่อม

และปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาด มีแต่การเฝ้าระวัง และหากพบว่าเป็น AMD ก็ต้องพยายามชะลอการเสื่อมลงของจอประสาทตา

ทั้งนี้ AMD มีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดแห้ง (พบใน 90% ของผู้ที่เป็น AMD) ซึ่งการเสื่อมของจอประสาทตาจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และชนิดเปียกซึ่งอันตรายมากกว่า เพราะจะทำให้ตาบอดได้อย่างรวดเร็วแต่เกิดขึ้นเพียง 10% ของผู้ที่เป็น AMD ทั้งหมด

นอกจาก AMD แล้วก็มี โรคเบาหวานขึ้นตา (diabetic retinopathy) ซึ่งผมเข้าใจว่าหลายคนรับรู้แล้วว่าคือการเป็น “โรคเบาหวานขึ้นตา” ซึ่งมีสาเหตุจากการที่น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดและระบบประสาทตาเสื่อมถอยลง

กลับมาพูดถึงเรื่อง AMD ต่อไป ซึ่งมีงานวิจัยในประชากรไทยเมื่อปี 2010 พบว่ามีคนไทยที่เป็นผู้สูงอายุ (50 ปี หรือมากกว่า) เป็น AMD มากถึง 12% กล่าวคือ การตรวจตาของคนไทยใน 4 จังหวัด รวม 7,043 คน และพบว่าเป็น AMD มากถึง 862 คน และในจำนวนดังกล่าว 53% เป็น AMD ในตาทั้ง 2 ข้าง

สำหรับแนวทางในการลดความเสี่ยงจาก AMD นั้นมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

1.เลิกสูบบุหรี่ เพราะงานวิจัยพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่นั้นหากเป็น AMD อาการของโรคจะพัฒนาไปรวดเร็วขึ้นกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ 5 เท่าตัว แต่หากเลิกบุหรี่ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปก็จะมีความเสี่ยงเท่ากับคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่

2.การเป็นโรคความดันเลือดสูง (hypertension) ทำให้อาการ AMD รุนแรงขึ้น เพราะการขาดออกซิเจนทำให้ AMD พัฒนาไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็น wet AMD ทั้งนี้ การที่มีน้ำหนักตัวสูงจนเป็นโรคอ้วนก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่ AMD รุนแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย

3.มีงานวิจัยที่สหรัฐ (Beaver Dam Eye Study) เมื่อปี 2006 พบว่าผู้สูงอายุที่ออกกำลังกายเป็นประจำ (active lifestyle) คือออกกำลังกาย 3 ครั้ง หรือมากกว่าต่อ 1 สัปดาห์ ลดความเสี่ยงจากการเป็น wet AMD ลงไปได้มากถึง 70%

4.การกินผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็น AMD เช่น kale ผักขม ฟักทอง ผัก broccoli และแครอต เป็นต้น

5.ที่สหรัฐได้มีการทำการวิจัยที่เรียกว่า age-related eye disease studies (ARED) รุ่น 1 และรุ่น 2 พบว่า หากกินวิตามินและสารอาหารเสริมตามสูตรที่ปรากฏข้างล่างนี้จะลดความเสี่ยงจากการเป็น AMD ขั้นรุนแรงได้ลงประมาณ 25% (แต่ไม่ได้ป้องกันไม่ให้เป็น AMD)

5.1 Beta carotene 15 mg

5.2 Copper (cupric oxide) 2 mg

5.3 Vitamin C 500 mg

5.4 Vitamin E 400 IU

5.5 Zin@ oxide 80 mg

นอกจากนั้น งานวิจัย ARED รุ่น 2 ที่บวก zeaxanthin 2 mg เข้าไปในสูตรข้างต้นจะชะลอการเสื่อมถอยของ AMD ไปอีกประมาณ 25% แปลว่าสายตาจะสามารถใช้งานได้นานขึ้น

ดังนั้น จึงได้มีการนำเอาสูตรดังกล่าวออกมาทำเป็นอาหารเสริมขายในท้องตลาดสำหรับผู้ที่ต้องการชะลออาการของ AMD แต่สูตรดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะป้องกันไม่ให้เป็นโรค AMD ครับ