เบื้องหลังธุรกิจเสื้อผ้าเด็ก มี้ครีม-จิรฉัตร พรมสิทธิ์ จากแม่ค้าออนไลน์สู่แบรนด์ร้อยล้าน

จิรฉัตร พรมสิทธิ์
พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

Arpanetgirl (อาร์พาเน็ตเกิร์ล) แบรนด์เสื้อผ้าเด็กผู้หญิงที่เป็นที่รู้จักในหมู่คุณแม่สายแฟชั่นที่แต่งตัวให้ลูกสไตล์คุณหนู ที่ฮอตฮิตขนาดที่ว่าไปเมื่อมีคอลเล็กชั่นใหม่มาถึงขั้น คุณแม่ทั้งหลาย แห่จองจนเว็บไซต์ล่มกันเลยทีเดียว

ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ ได้พูดคุยถึงเบื้องหลังของแบรนด์ดังกล่าวที่กว่าจะมาถึงจุดสร้างรายได้ระดับ 5-6 ล้านบาทต่อเดือน จากจุดเริ่มต้นของ “มี้ครีม” ชื่อเรียกในวงการของ “จิรฉัตร พรมสิทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์พาเน็ตเกิร์ล จำกัด มาร์เก็ตติ้งสาวที่ลาออกจากงานประจำเพื่อใช้เวลาเลี้ยงลูกแบบเต็มเวลา และมีเป้าหมายว่าจะไม่กลับเข้าสู่ระบบงานประจำอีก

“ตอนนั้นมองหาโอกาสว่าจะทำธุรกิจอะไรสักอย่างที่สามารถทำได้ควบคู่กับการเลี้ยงลูก และตั้งใจที่จะเอาธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจหลักของครอบครัว ซึ่งต้องเป็นธุรกิจอะไรที่ทำให้คนมีความสุขได้ ขณะเดียวกันเราก็มีความสุขไปได้ในทุกวันเช่นกัน ตอนนั้นจึงมองเห็นธุรกิจที่สามารถทำได้และสามารถอยู่กับลูกได้ด้วยคือธุรกิจขายเสื้อผ้าเด็ก”

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน (ปี 2559) ช่วงนั้นอายุราว 29 ปี การลาออกจากงานประจำเพื่อออกมาเลี้ยง “น้องอาร์พาเน็ต” ซึ่งต่อมานำชื่อลูกที่เป็นลูกสาวมาใช้เป็นชื่อแบรนด์อาร์พาเน็ตเกิร์ล

จุดเริ่มในการทำธุรกิจเริ่มต้นจากไปเดินเลือกซื้อเสื้อผ้าเด็กที่แพลทินัม ประตูน้ำ สำเพ็ง เลือกดูที่ร้านไหนถูกจริตกับตัวเอง และคิดว่าถ้าจะต้องซื้อให้ลูกใส่ เราจะซื้อแบบนั้นแบบนี้นะ ซึ่งในวันนั้นก็ยังคงเป็นเหมือน “แม่ค้าออนไลน์” ทั่วไป

แต่สิ่งที่ทำให้ตัวเองแตกต่างจากคนอื่น ๆ คือ การนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบเกินเบอร์ ! ใส่ไอเดียเข้าไป ใช้โปรดักชั่นใหญ่ เอาน้องอาร์พาเน็ต มาเป็นนางแบบตัวจิ๋วถ่ายภาพ เสมือนเราเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้านั้นเอง ทั้งที่เราแค่ไปซื้อของเขามาขาย

กระทั่งเจ้าของร้านขอให้เราเอารูปลูกเราที่ถ่ายกับเสื้อผ้าไปใช้โปรโมตในร้าน และลูกค้ารายอื่น ๆ ที่ไปรับมาขายเช่นเดียวกัน นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เรามองว่า ทำไมล่ะ ! ทำไมเราไม่สร้างแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง ซึ่งก็ใช้เวลากว่า 2 ปีในช่วงการซื้อมา ขายไป

จาก “แม่ค้าออนไลน์” ผันตัวสู่ “เจ้าของแบรนด์”

ในวันที่ตัดสินใจจะทำแบรนด์อาร์พาเน็ตเกิร์ลเอง วันนั้นมี page liked บนเฟซบุ๊กอยู่เพียง “หลักพัน” เท่านั้น สิ่งแรกที่เริ่มทำคือ การเริ่มต้นเจรจากับโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งในวันนั้นเราก็ไม่ได้มีเงินทุนอะไรมาก เราก็ต้องเจรจาการผลิตในระดับที่น้อยที่สุดที่โรงงานกำหนดไว้

จำได้ว่าในเวลานั้นคือหลักร้อยชุด โดยใช้ต้นทุนในความชอบด้านการออกแบบส่วนตัวอยู่แล้วส่งไปให้โรงงานผลิต หลังจากนั้นก็ใช้วิธีบริหารจัดการสั่งผลัดสลับกับการรับพรีออร์เดอร์

หลังจากเริ่มต้นทำแบรนด์ของตัวเองได้เป็นเวลาราว 1 ปี ก็เริ่มเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอย่าง Baby Best Buy ซึ่งครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ขายได้กว่า 3 แสนบาท ภายใน 1 วัน

ทำให้มองเห็นความชัดเจนยิ่งขึ้นถึงผลตอบรับของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์เรา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จดจำมาได้จนถึงทุกวันนี้ ที่แม้จะมีรายได้หลัก 5-6 ล้านต่อเดือน ก็ยังไม่ภูมิใจเท่าวันนั้น

ขณะที่แบรนด์แคแร็กเตอร์ของอาร์พาเน็ตเกิร์ล คือ การเล่าเรื่อง (storytelling) ผ่านธีมชุดลวดลายต่าง ๆ อาทิ ธีมครัวซองต์ ธีมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งมีการเล่าเรื่องทั้งด้วยการใส่ชุดไปถ่ายทำในสถานที่จริง มีการทำกิจกรรมตามธีมนั้น ๆ ทำให้เกิดการจดจำ

“ช่วงแรกเราขายบนออนไลน์แบบ one price 790 บาท จากนั้นก็ขยับตามอัตราเงินเฟ้อเป็น 890 บาท และ 990 บาท เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงง่ายด้วยราคา แต่ได้คุณภาพเทียบเท่าสินค้าราคาแพง ซึ่งเป็นการสร้างการจดจำแบรนด์และความไว้ใจของลูกค้า”

เอาแบรนด์เข้าไปขายในห้าง ไม่ใช่จุดวัดความสำเร็จ

จุดเปลี่ยนต่อไป ในช่วงปี 2560-2562 ซึ่งเป็นช่วงที่แบรนด์อาร์พาเน็ตเกิร์ลนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งตอนนั้นเราคิดว่าเป็นจุดพีกของความสำเร็จ ในยุคที่เราเติบโตมากับมุมมองทางความคิดที่ว่า อะไรที่เข้าห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ นั่นคือความสำเร็จ โดยสิ่งที่ได้คือภาพลักษณ์ของแบรนด์

แต่ความเป็นจริงในยุคปัจจุบันคือ ลูกค้าเอาความสะดวกเป็นตัวตั้ง ชอบให้ส่งสินค้าถึงหน้าบ้าน จึงมีแนวคิดที่จะรวมศูนย์การจัดส่งสินค้ามาไว้ที่ส่วนกลางออนไลน์อย่างเดียว โดยเป็นช่วงพอเหมาะพอดีกับช่วงโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด

ที่เราตัดสินใจปิดสาขาในห้างสรรพสินค้าก่อนหน้านั้นไม่นาน ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคของเราคือคนที่ซื้อออนไลน์ทั้งหมด แต่การที่คนไปซื้อสินค้าจากเราที่ห้างก็เป็นเพราะสินค้าบนออนไลน์หมดสต๊อก

นอกจากนั้นความไว้ใจและความเชื่อใจของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ ทำให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าโดยไม่ต้องเดินทางไปดูสินค้าจริงที่ห้างสรรพสินค้าเหมือนสินค้าประเภทอื่น ๆ ซึ่งหลายครั้งที่ทำการเปิดพรีออร์เดอร์สินค้าคอลเล็กชั่นใหม่ จะได้รับการตอบรับที่ดีมากจากเหล่าคุณแม่ทั้งหลาย ทำให้ระบบบนเว็บไซต์ล่มไปก็หลายครั้ง

เราจึงต้องซื้อระบบการจัดการคิวจากต่างประเทศ ที่เป็นระบบเดียวกันกับการจองบัตรคอนเสิร์ต “แบล็คพิงค์” เพื่อจัดการคิวและการเข้ามาสั่งซื้อสินค้าบนหน้าเว็บไซต์ของเรา

ปี’65 ก้าวสู่แบรนด์ “100 ล้านบาท”

ปี 2564 รายได้ของอาร์พาเน็ตเกิร์ล อยู่ที่ราว 70-80 ล้านบาท ซึ่งในปี 2565 เรามีแผนที่จะขยายตลาดสู่การเป็นเสื้อผ้าสำหรับครอบครัว หลังจากในช่วงโควิด-19 เราได้มีการแตกไลน์สินค้าต่าง ๆ อาทิ หน้ากากผ้า, ชุดชั้นในเด็ก, ชุดนอนเด็ก, แอ็กเซสซอรี่ เป็นต้น

รวมถึงการขยายช่องทางการจำหน่ายไปสู่อีคอมเมิร์ซ และมาร์เก็ตเพลซอย่าง ช้อปปี้ ลาซาด้า และจะเปลี่ยนชื่อจากอาร์พาเน็ตเกิร์ล เป็นอาร์พาเน็ต ซึ่งจะทำให้ในปี 2565 เรามีรายได้รวมขยับเพิ่มขึ้นเป็นในระดับ 100 ล้านบาทได้

กว่าจะมาถึงวันนี้ก็มีวันที่ล้มลุกคลุกคลาน

ตลอดเวลาในช่วงที่ผ่านมา อาร์พาเน็ตเกิร์ลเกิดจากความตั้งใจจริงในการทำธุรกิจที่เกิดขึ้นจาก “ความรัก” และความ “เอาใจใส่” เพราะเรารู้สึกว่าเรารู้สึกไปกับตัวสินค้าเสื้อผ้าเด็ก

ในทางกลับกันบางคนที่ทำธุรกิจขายของ แต่ขายของที่ตัวเองไม่ได้ชอบไม่ได้รัก แต่ของเหล่านั้นสามารถทำกำไรสร้างรายได้ แต่นั่นไม่ใช่ตัวเรา เพราะเราต้องรู้สึกไปกับมันจริง ๆ

มี้ครีมแนะนำต่อไปว่า สำหรับใครที่กำลังเริ่มต้นทำธุรกิจต้องเริ่มจากความมุ่งมั่นตั้งใจและอดทนรอ เพราะไม่มีธุรกิจใดที่ทำปุ๊บกำไรปั๊บในทันที เหมือนอย่างตัวเองที่มีช่วงที่อยากจะเลิกทำธุรกิจ แต่สุดท้ายเราก็อดทนผ่านมันมาได้ โดยหากมองย้อนกลับไป

ถ้าวันนั้นเราหยุดทำเลิกทำ เราจะมาถึงจุดนี้หรือไม่ ซึ่งสุดท้ายเราอดทนรอได้มากพอ

“หลายต่อหลายคนที่เลิกทำธุรกิจไป ไม่ใช่เขาไม่ประสบความสำเร็จ แต่เพียงแค่เขาเหล่านั้นอาจจะอดทนรอไม่พอ เพราะมันก็มีอีกหลายเรื่องที่ทำให้ไม่สามารถไปต่อได้ โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน ซึ่งกว่าเราจะมาถึงวันนี้ เราใช้เวลาหลายปีและเราใช้เงินต่อเงิน ค่อย ๆ ขยับขยายธุรกิจขึ้นไปเรื่อย ๆ”


จากพนักงานประจำที่เป็นเด็กต่างจังหวัด พ่อแม่รับราชการ ซึ่งทางบ้านอาจจะไม่ได้มีฐานะดีอะไรมากพอที่จะซื้อทุกอย่างให้ลูกได้ มันเป็นอะไรที่อยู่ในใจ “มี้ครีม” มาโดยตลอด จนคิดว่าถ้าโตขึ้นก็อยากเติมเต็มความฝัน และวันนี้เกินความฝันไปแล้วที่เราสามารถสร้างแบรนด์เสื้อผ้าเด็กให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้ใส่เสื้อผ้าของอาร์พาเน็ตเกิร์ล