เส้นทางสู่แพทย์มะเร็งปอดมือรางวัล คู่บทบาทสะใภ้ทิพย์สมัย ผัดไทยประตูผี

“ใครเป็นโรคมะเร็ง หรือมีญาติกำลังป่วยเป็นโรคนี้ ไม่ต้องไปถามอากู๋ (Google) หรอก ให้มาถามกูรู (หมอ) นี่แหละ เพราะกล่าวถึงมะเร็งแล้วใครก็ตกใจ ใครก็เกิดอาการช็อก แต่หมอบอกเลยว่าไม่ต้องไปฟังเสียงลือเสียงเล่าอ้าง”

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงธัญนันท์ (เรืองเวทย์วัฒนา) ใบสมุทร ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าให้ “ดีไลฟ์ ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยชอบถามหมอว่าเป็นโรคมะเร็งจะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานขนาดไหน ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วไม่มีใครตอบได้หรอกว่าจะอยู่ได้อีกนานขนาดไหน เนื่องจากว่าอาการของผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน ซึ่งจะต้องมีการตรวจอย่างละเอียด รวมถึงอัตราการตอบสนองต่อการรักษาของแต่ละคนก็ไม่เท่ากันอีก

ดังนั้น นอกจากจะต้องรู้ให้แน่ชัดถึงการรักษาและอาการแล้วนั้น ยังต้องมอนิเตอร์กันเป็นระยะอีกด้วย

แน่นอนว่ายังมีอีกหลายต่อหลายคนที่พอทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งแล้วนั้น มักจะไปสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต คำถามที่ถามกับ Google ส่วนใหญ่ก็จะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานเท่าไร แต่ในทางการแพทย์จะอธิบายถึงประเด็นดังกล่าวนี้ว่า ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตนั้น คือ “การคาดเดาค่าเฉลี่ยกลาง” นั่นหมายความว่า 50 : 50 ของข้อมูลนั้นผู้ป่วยอาจจะอยู่ได้นานมากกว่าหรือน้อยกว่านั้น ซึ่งไม่มีความแน่นอนชัดเจนจึงแนะนำผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเสมอว่า อย่าเอามาทำร้ายจิตใจตัวเอง ซึ่งไม่ต้องไปอ่านไปเสพจนทำให้เกิดความกังวล

สิ่งที่ทำได้คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองในการอยู่ร่วมกับมะเร็ง ว่าการใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งอย่างไรอย่างมีความสุข

ตามสถิติแล้วโรคมะเร็งที่มีผู้ป่วยใหม่มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ มะเร็งปอด โดยมีข้อมูลของอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน

สำหรับประเทศไทยมีสถิติที่แตกต่าง คือ มะเร็งตับ และมะเร็งท่อน้ำดี พบเยอะโดยเฉพาะในเพศชายและมีอัตราการเสียชีวิตสูง

ขณะที่เพศหญิงพบมะเร็งเต้านมเยอะ ขณะที่ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของประเทศไทย คือ มะเร็งปอด ซึ่งมีผู้ป่วยใหม่อยู่ลำดับที่ 2-3 ในแต่ละปี ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ลำดับที่ 1-2 สลับกับ มะเร็งตับ

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงธัญนันท์เล่าว่า หลังจากที่สำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์ในประเทศไทย และเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในระดับปริญญาโท ซึ่งเจาะลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดและมะเร็งช่องอก

ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีผลงานด้านการวิจัยตีพิมพ์ในระดับนานาชาติมาแล้วกว่า 40 ผลงาน และจัดอยู่ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งปอดในระดับเอเชียและในระดับโลก จนได้รับรางวัลอายุรแพทย์รุ่นใหม่โดดเด่นประจำปีพุทธศักราช 2563 จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

จุดเริ่มต้นในความสนใจศึกษาด้านมะเร็งปอด เกิดจากคุณแม่ของหมอป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดตั้งแต่สมัยที่หมอยังเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่ และก็สูญเสียคุณแม่ไปจากโรคดังกล่าวนี้

ทำให้รู้สึกว่าอยากรักษาและช่วยเหลือคนไข้กลุ่มนี้ ทั้งในด้านการทำวิจัย การเรียนการสอน และการต่อยอดการรักษา

“ปัจจุบันอายุ 43 ปี ศึกษาเรื่องมะเร็งปอดมาตั้งแต่เริ่มเข้าวงการแพทย์ด้านมะเร็ง สิ่งที่อยากทำไม่ใช่แค่เพื่อองค์กรหรือตัวเอง แต่อยากศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มาก”

แม้ว่าคนในครอบครัวของหมอจะมีประวัติการเป็นมะเร็งปอด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีความเสี่ยงในการสืบทอดด้านกรรมพันธุ์ เพราะมะเร็งปอดมีสาเหตุและชนิดที่แตกต่างกัน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1.มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก ซึ่งชนิดนี้เจอในผู้ป่วยชาวไทยน้อยกว่า 15% โดยมะเร็งปอดชนิดนี้สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่เป็นหลัก โดยมีความรุนแรงของอาการแต่การตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดและการฉายแสงดี

2.มะเร็งปอดชนิดเซลล์ใหญ่ ซึ่งชนิดนี้เจอในผู้ป่วยชาวไทยน้อยกว่า 85% ชนิดนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยไม่สูบบุหรี่ แต่มีหลายปัจจัย อาทิ สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงค่าฝุ่นละอองมลพิษ (PM 2.5) และยีนกลายพันธุ์

สำหรับปัจจุบันวิธีการรักษามีการพัฒนาไปอย่างมาก ทั้งในด้านการผ่าตัดและเคมีบำบัด รวมถึงการใช้ยากระตุ้นภูมิต้านทานหรือยาภูมิคุ้มกันบำบัด

ซึ่งการเป็นมะเร็งปอดระยะต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้จากการผ่าตัด ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการรักษา

ขณะที่ระยะปลายจะเป็นการทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีที่สุดและมีชีวิตยืนยาวที่สุด

ขณะที่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถรักษาหายได้ คือ การตรวจเจอโรคได้เร็ว โดยให้สังเกตตัวเองและดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อสังเกตว่าตัวเองพบอาการที่ไม่เคยเป็นมาก่อนให้รีบไปพบแพทย์

และอีกส่วนหนึ่งต่อการกระจายความเสี่ยงในการบริโภคอาหารโดยไม่กินสิ่งเดิมซ้ำ ๆ เป็นประจำระยะเวลาติดต่อกันนาน

“โรคมะเร็งไม่ได้เกิดขึ้นได้ภายใน 1-2 วัน แต่เกิดจากการสะสมหรือมีอะไรบางอย่างเปลี่ยนแปลง ซึ่งการกินอาหารซ้ำ ๆ ถือว่าอาจจะมีความเสี่ยง เหมือนเวลาหมอบอกทุกคน คือ เวลาเราฝากเงินเราฝากกี่ธนาคาร ถ้าฝากหลายธนาคารก็แปลว่าเรากระจายความเสี่ยง เช่นเดียวกับการบริโภคอาหารนั่นแหละ”

ทั้งนี้ สิ่งที่หมอบอกผู้ป่วย คือ มะเร็งปอดไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ขึ้นอยู่กับทัศนคติของเราในการอยู่ร่วมกับโรคเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาวที่สุด ซึ่งการพูดคุยกับแพทย์เจ้าของไข้ซึ่งเป็นผู้รักษานั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

โดยส่วนตัวของหมอเองจะใช้ศิลปะในการบอกผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วย

สิ่งหนึ่งที่หมอยึดถือมาตลอดในการรักษาโรครุนแรงเช่นนี้ คือ หมอเชื่อว่าเรามีจุดประสงค์ในการรักษาร่วมกัน เชื่อว่าผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอาการต่าง ๆ จะดีขึ้น นั่นคือจุดประสงค์ของหมอ ซึ่งต้องตรงกันกับจุดประสงค์ของญาติที่เราต้องอาศัยความร่วมมือของกันและกัน รวมถึงอาศัยการอธิบายข้อมูลของโรคและแนวทางการรักษาที่ชัดเจน

แม้ว่ารองศาสตราจารย์แพทย์หญิงธัญนันท์ ผู้ทุ่มเทให้กับการรักษาอย่างเจาะลึกในด้านมะเร็งปอดที่มีจุดเริ่มต้นจากคุณแม่ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งปอด จนลงลึกศึกษากระทั่งการต่อยอดไปสู่การรักษาและงานวิจัย

แต่ในอีกมุมหนึ่งของคุณหมอท่านนี้ที่ในอีกมุมหนึ่งที่รู้จัก คือ “สะใภ้ของทิพย์สมัย ผัดไทยประตูผี” ซึ่งคุณหมอเองก็มีส่วนร่วมในธุรกิจของครอบครัวสามีที่เป็นประธานกรรมการบริหารของทิพย์สมัย ผัดไทยประตูผี และผลิตภัณฑ์ในเครือทิพย์สมัย กรุ๊ป ทั้งการให้กำลังใจและการลงมือช่วยงานที่ต้องจัดการเวลา (work life balance) ของทั้งชีวิตการทำงานของหมอและครอบครัว ที่แบ่งเวลาและจัดสรรอย่างครบถ้วน

ทำให้เรียกได้ว่าทั้งในการทำงานของคุณหมอจนประสบความสำเร็จด้วยรางวัลการันตี และการมีชีวิตครอบครัวที่แฮปปี้