Metaverse จักรวาลนฤมิต โลกแห่งความฝันที่มีอยู่จริง จักรวาลของนักคิด Masterverse

สองเราเคียงคู่ : เรื่อง

รองศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในงานเสวนาธุรกิจ “Chula Masterverse 2022” จัดขึ้น ณ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 20 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงหัวข้อการเสวนาในฐานะที่เป็นองค์กรการศึกษา อยากให้ภาคธุรกิจรวมไปถึงนักศึกษาก้าวล้ำโลกอนาคต

ที่ไม่ใช่แค่ก้าวทันหรือก้าวตาม แต่ต้องก้าวนำหน้า เพื่อโอกาสทางธุรกิจและพัฒนานวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการโลก Metaverse ที่ประเทศไทยยังขาดนักคิด ซึ่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จึงได้จัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างจักรวาลแห่งนักคิด (Masterverse) ส่งออกไปสู่จักรวาลนฤมิต (Metaverse) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

รศ.ดร.วิเลิศฉายให้เห็นโลกคู่ขนานสองใบที่ไม่อาจเลี่ยงหรือปฏิเสธได้ว่ามันได้เกิดขึ้นแล้ว และจะหาโอกาสทางธุรกิจจากโลกนี้ได้อย่างไร รวมไปถึงการสร้างเกราะป้องกันภัยในโลก Metaverse ที่อาจจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากรู้จักนำมาใช้หรือรู้เท่าทันคิดให้มากคิดให้ลึก ไม่ใช่คิดแค่ผิว ๆ อีกต่อไป จะพบโอกาสที่จะสร้างรายได้หรือช่องทางธุรกิจก็ไม่ยากเช่นกัน

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าโลก Metaverse คืออะไร มันคือโลกแห่งจินตนาการที่เต็มไปด้วยการตอบสนองระดับจิตใจของมนุษย์ที่ไม่ใช่โลกของความจริง โลก Metaverse ไม่มีการจำกัดว่าจะเจอใครบ้าง เพราะเราจะไปเจอใครก็ได้ในโลกนั้น และคนที่เข้าไปในโลกนั้น ก็เหมือนโลกการเอาใจออกไปศึกษาและท่องโลกแต่กายยังอยู่กับที่ เหมือนกับโลกแห่งความฝัน โลกที่เราสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ได้ ทำให้เรากล้าที่จะออกไปเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ ฉะนั้น การเรียนรู้จะขยายวงกว้างขึ้นและลึกขึ้น

“ถ้าต่อไปโลก Metaverse มันขยายขึ้นแล้วลองจินตนาการดูว่าโลกมันจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ในเมื่อเด็กไม่เรียนแค่ในห้องเรียนแล้ว หน้าที่ของอาจารย์คือ ไปจุดประกายให้เขาเรียนในห้องเรียนเสร็จแล้วอยากไปหาความรู้เพิ่มเติม ในทุกที่ที่เขาอยากเป็นและอยากไป เพราะในโลกนั้นทุกคนมีร่างอวตารของตัวเองอยู่แล้วแค่พาใจออกไปเหมือนฝัน แต่มันเกิดขึ้นจริง ได้ดูจริงเห็นจริง

และในโลก Metaverse เราจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเอาตัวจริงเราไปพรีเซนต์ แต่เราสามารถสร้างร่างอวตารของเราขึ้นมาได้ จะให้มีรูปร่างหรือหน้าตาอย่างไรก็ได้ ในโลกจริงเราอาจจะอ้วน แต่ในโลกอวตารเราสามารถเนรมิตรูปร่างในแบบที่เราอยากเป็นได้ สวยอย่างไรก็ได้ หล่ออย่างไรก็ได้ ไม่ใช่ actual self แต่เป็น ideal self คือ ภาพที่เขาอยากเป็น”

คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวและอธิบายเสริมว่า แม้โลก Metaverse จะพาไปได้ทุกที่ที่อยากไป แต่ความน่ากลัวของมันก็คือ เด็กอาจจะเสพติดในโลกจินตนาการ จนไม่อยากกลับมาในโลกของความเป็นจริงก็เป็นได้”

“เพราะในโลก Metaverse เราไม่มีตัวตน ชายกลายเป็นหญิง หญิงกลายเป็นชาย และในโลก Metaverse มันจะสะท้อนสันดานดิบของมนุษย์ เพราะทุกคนสามารถแสดงสันดานดิบออกมาได้แบบไม่ต้องกลัวคนจะรู้ตัวตนที่แท้จริงว่าคุณเป็นใคร คือไม่ต้องแคร์สามารถแสดงความหยาบคายหรือคุกคามได้แบบไม่แคร์ใครระยะยาวคือความน่ากลัว”

ฉะนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนที่โลก Metaverse ต้องมี คือ การสร้างสังคมที่มีความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับโลกจริงเรามีเรื่องของ CSR (corporate social responsibility) ที่ทำให้องค์กรตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการดูแลรับผิดชอบสังคม ในเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อม แต่ในโลก Metaverse ไม่มีมลพิษ ไม่ต้องมีการรักษ์โลกหรือลดมลพิษ

แต่เพื่อสร้างความยั่งยืนและสร้างสังคมที่รับผิดชอบร่วมกันจำเป็นต้องสร้าง DSR (digital social responsibility) โดยนำเรื่องจริยธรรมและมโนธรรมมาสร้างกติกาและระเบียบในสังคมดิจิทัล เพื่อป้องกันเรื่องของการปลอมตัว การฉ้อโกงที่จะเกิดขึ้นมากกว่าปกติ ดังนั้น สเต็ปต่อไปสิ่งที่จะเกิดขึ้น จะต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุม มันจะเปลี่ยนจากกฎหมายธรรมดาสู่กฎหมายแบบ DSR

รศ.ดร.วิเลิศยังได้ย้ำถึง Metaverse หรือจักรวาลนฤมิต เป็นโลกจินตนาการ โลกของพฤติกรรมของคน โลกแห่งความฝันของคน ถ้าวันนี้ทุกคนอยากเข้าใจโลก Metaverse ต้องคิดเยอะ ๆ ว่าแท้จริงแล้วเป็นจักรวาลของความรู้สึกนึกคิด แต่ปัญหาตอนนี้คือ มีแต่ผู้ใช้ แต่ไม่มีผู้คิด และคนคิดส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ไม่มีคนไทยคิดเลย อยากชี้ให้เห็นว่าแอปพลิเคชั่นที่ใช้กันทุกวันนี้มันไม่มีสมองคิดหรือสร้างขึ้นมาเองได้ แต่คนที่คิดมันขึ้นมาคือมนุษย์

ในโลก Metaverse เป็นโลกที่ซัพพอร์ตความรู้สึกของเด็ก ๆ ได้ เพราะเด็กอาจจะอยากหลุดออกจากโลกแห่งความเป็นจริงแล้วเข้าไปอยู่ในนั้น ดังนั้น การทำวิจัยหรือศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในโลก Metaverse ก็ไม่สามารถทำได้เหมือนวิจัยทั่วไป แต่ต้องลงไปลึกกว่านั้น

เปรียบเทียบง่าย ๆ กับคนที่ทำหุ่นยนต์ AI (artificial intelligence) ทำให้หุ่นยนต์ยิ้ม หัวเราะได้ โกรธได้ หรือแสดงออกว่าหุ่นตัวนั้นมีความรู้สึกอย่างไร การศึกษาจะต้องมีความลึกซึ้งมาก กว่าจะสร้างหุ่นตัวนั้นออกมาได้ ฉะนั้น การศึกษาความเป็นมนุษย์คือ ขั้นพื้นฐานของการพัฒนา AI

ฉะนั้น สิ่งที่ชนะ AI ได้คือ ต้องมี emotional intelligence เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ฉะนั้น ถ้าอยากพัฒนาอวตารในโลก Metaverse ได้ต้องตีโจทย์ให้ได้ ไม่ใช่การมาถามว่า คนคนนั้นอยากซื้ออะไรหรืออยากได้อะไร แต่ต้องเข้าใจและมองออกว่า คนคนนั้นต้องการอะไรฝันอยากใส่อะไร แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ต้องการแบรนด์เนม ไม่ใช่เสื้อผ้าพื้น ๆ อีกต่อไป เพราะมันคือโลกที่คนคิดในแบบที่อยากจะเป็น ไม่ใช่โลกที่เขาเป็นอยู่ในปัจจุบัน และโลกที่สนุกและเสพติดมาก

โลก Metaverse ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ต่อไปไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไหน บันเทิง กีฬา หรือการศึกษา สามารถพาใจเราออกไปได้ แม้กายเรายังอยู่ นี่คือเทรนด์ในโลกอนาคต หากมองออกมองให้ลึก

ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจว่าโลกอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร งานสัมมนาครั้งนี้จึงมีการระดมเหล่ากูรูทางธุรกิจมาเสนอแนวคิดให้เข้าใจโลกอนาคตในจักรวาลนฤมิต Metaverse โดยอาศัย Masters in the universe เป็น Masterverse มาเป็นผู้รู้จริงในเรื่องต่าง ๆ ทั้งนักวิชาการซีอีโอ เพื่อชี้แนะให้คนเข้าใจและก้าวล้ำไปอนาคตไม่ใช่แค่ก้าวตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น