Happy Journey with BEM 5 ทริปเอ็กซ์คลูซีฟสถานีรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน

ผู้เขียน : สองเราเคียงคู่

“ความสุขคือการเดินทาง และสิ่งใกล้ตัวอาจมีค่ามากที่สุด” นับเป็นความจริงแท้ เมื่อเราได้มีโอกาสโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ MRT พร้อมแวะชื่นชมงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและสวยงามสุด ๆ ภายในแต่ละสถานี โดยเฉพาะช่วงส่วนต่อขยาย “หัวลำโพง-บางแค”

3 ประสานสร้างความสุข

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ณ สถานีสนามไชย 3 องค์กรรัฐและเอกชน ประกอบด้วย วิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการ ด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ร่วมเปิดตัวโครงการ Happy Journey with BEM เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการเดินทางในยุคนิวนอร์มอล ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

 

View this post on Instagram

 

A post shared by ประชาชาติธุรกิจ (@prachachatonline)

โดยใช้ระบบขนส่งมวลชน “รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน” เชื่อมความสุขแต่ละสถานีตามเส้นทางสายประวัติศาสตร์ ทั้งบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์และฝั่งธนบุรี เป็นการให้ความรู้ และตอบแทนผู้ใช้บริการ MRT สมาชิก MRT Club และนักเรียนนักศึกษา ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

กิจกรรม “เที่ยว-แวะ-แชะ-ชิม”

ทั้ง 5 ทริปสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ในโครงการ Happy Journey with BEM ตลอดปีนี้ ประกอบด้วย สถานีวัดมังกร “ตะลุยไชน่าทาวน์เมืองไทย ท่องเที่ยวถนนสายมังกร” วันที่ 23 มีนาคม 2565

สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์พร้อมชมความงาม 3 สถานที่สำคัญในย่านเยาวราช ได้แก่ วัดเล่งเน่ยยี่ หรือวัดมังกรกมลาวาส ที่ชาวไทยและชาวต่างประเทศมักมาขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล และสะเดาะเคราะห์สำหรับผู้ที่เกิดปีชง วัดกันมาตุยาราม วัดไทยที่ตั้งอยู่กลางชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ศาลเจ้าที่สันนิษฐานว่า น่าจะมีอายุยาวนานที่สุดในประเทศไทย

พลาดไม่ได้กับสเปเชียลทอล์ก โดย สมชัย กวางทองพานิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีน และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และ พชร เกรียงเกร็ด อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ผู้ก่อตั้งเพจแบกกล้องเที่ยว ที่จะมาถ่ายทอดความมีชีวิตชีวาของไชน่าทาวน์เมืองไทย

ปิดท้ายด้วยเมนูเด็ด พาทุกคนไปลิ้มลองรสชาติความอร่อยที่ “ร้านจกโต๊ะเดียว” ร้านอาหารระดับมิชลิน ตำนานแห่งย่านเยาวราช

เกร็ดความรู้-สถานีวัดมังกร เป็นสถานีแรกที่ถัดมาจากสถานีหัวลำโพง อยู่บริเวณถนนเจริญกรุง และวัดมังกรกมลาวาส การออกแบบสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมกับรูปแบบยุโรป หรือเรียกสไตล์ชิโนโปรตุกีส ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต การค้าขายของชาวจีน ย่านเยาวราช, พลับพลาไชย

การออกแบบใช้ “มังกร” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสุขและความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง การออกแบบลวดลายตั้งแต่ส่วนหัวมังกร และท้องมังกร จะเป็นลวดลายเกร็ดมังกรบนเพดานสถานี ให้ความรู้สึกกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมไทย-จีน ส่วนหัวเสาสถานี และส่วนของทางเดินต่าง ๆ ตกแต่งเป็นรูปมังกร ตลอดทางเดินในชั้นจำหน่ายตั๋ว จะใช้สีแดงสลับกับสีทอง ซึ่งเป็นสีมงคล เช่น เสาสถานีทาด้วยสีแดง และลายประแจหัวเสาลงด้วยสีทอง

สนามไชย ประตูเชื่อมแหล่งท่องเที่ยว

ทริปที่ 2 วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 สถานีสนามไชย “ประตูเชื่อมท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์”

ปักหมุดเช็กอินเที่ยวถิ่นประวัติศาสตร์ ที่ยังคงกลิ่นอายยุคกรุงศรีอยุธยาสืบทอดมาถึงยุครัตนโกสินทร์ พบสเปเชียลทอล์ก โดย รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ อรรถพล นิลละออ เจ้าหน้าที่อาวุโสส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

ก่อนพาชม Site Museum ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ใต้ดินแห่งแรกของไทย ที่อยู่ภายในบริเวณรถไฟฟ้า MRT สถานีสนามไชย แล้วไปชมความงดงามของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เก็บความสุขและความประทับใจส่งท้ายทริป ด้วยการชมมิวเซียมสยามยามค่ำคืนแบบเอ็กซ์คลูซีฟ

เสน่ห์สถานีนี้ได้จำลองท้องพระโรงในกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน การออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากการที่สถานีสนามไชย อยู่ภายในพื้นที่อนุรักษ์เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร จึงเน้นดีไซน์ที่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมของไทยแบบโบราณ ที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังได้ก้าวเท้าเข้าสู่พระราชวังโบราณ

โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติในสาขาทัศนศิลป์ ด้านงานสถาปัตยกรรม ที่ดึงเอาความสำคัญของพื้นที่สนามไชยที่เคยถูกขุดพบฐานรากของพระราชวังโบราณ ทำให้การออกแบบสถานีต้องยิ่งสร้างให้งดงามดั่งท้องพระโรงในพระราชวังช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต้องการให้สถานีนี้เป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีความสวยงามที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งแลนด์มาร์กของคนรุ่นใหม่อีกด้วย

ทัวร์แคมปัส จุฬาฯ-หัวลำโพง

สถานีสามย่าน “แคมปัสทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี” วันที่ 23 กรกฎาคม 2565

ชวนท่องเที่ยวในรูปแบบแคมปัสทัวร์ เพลิดเพลินกับสถาปัตยกรรมอันงดงามของอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลามานับร้อยปี สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล แวะชมศาลาพระเกี้ยว ตึกจักรพงษ์ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ที่ล้วนเต็มเปี่ยมด้วยประวัติความเป็นมาน่าสนใจ

พร้อมสเปเชียลทอล์กกับวิทยากรชั้นนำที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจที่เกิดขึ้นในรั้วจามจุรี ทั้ง คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษครูสมศรี และ ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ปี 2562

สถานีหัวลำโพง “Street Photo Walk เดิน ถ่าย ทัวร์” วันที่ 8 ตุลาคม 2565

เปิดมุมมองใหม่ของสถานีรถไฟหัวลำโพง อาคารพาณิชย์บนถนนไมตรีจิตต์ ร้านอาหารและคาเฟ่สุดฮิปในซอยนานา ไปกับ พิชัย แก้ววิชิต ช่างภาพแนวมินิมอล และภาพแนวสตรีต อดีตวินมอเตอร์ไซค์ที่มองเห็นความงามของสิ่งรอบตัว และถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายได้อย่างน่าทึ่ง

มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมกว่า 80,000 คน ที่จะชวนทุกคนร่วมเวิร์กช็อปถ่ายภาพ กดชัตเตอร์บันทึกช่วงเวลาแห่งความสุข สีสันและความมีชีวิตชีวาของย่านการค้าเก่าแก่ ที่ผสานความทันสมัยไว้ได้อย่างลงตัว แนะนำเทคนิคการถ่ายภาพอย่างใกล้ชิด พร้อมกิจกรรมประกวดภาพถ่ายของผู้ร่วมทริป และรับของที่ระลึกสุดพิเศษจาก BEM

ตำนานฝั่งธน-สมัครเที่ยวฟรี 2-16 มีนาคม

สถานีอิสรภาพ “ตามรอยพระเจ้าตากสิน เที่ยวฝั่งธน” วันที่ 17 ธันวาคม 2565

พาลัดเลาะฝั่งธน ชมวัง ชมวัด ตามรอยพระเจ้าตากสิน กับวิทยากรพิเศษ ปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี และกบฏเจ้าฟ้าเหม็น ที่ชวนชมความงามของสถานที่ต่าง ๆ ภายในพระราชวังเดิม

อาทิ ท้องพระโรง อาคารเก๋งคู่ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ตำหนักพระปิ่น ฯลฯ ชมสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ทั้งพระปรางค์วัดอรุณ ที่เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของไทย พระอุโบสถ ยักษ์วัดแจ้ง ฯลฯ ปิดท้ายทริปอย่างประทับใจ ด้วยการเที่ยวชมวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

การสมัครเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ Happy Journey with BEM ตามติดรายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ทางเฟซบุ๊ก MRT Bangkok Metro เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 2-16 มีนาคม

ในงานเปิดตัวโครงการ Happy Journey with BEM ยังมีเสวนาหัวข้อ “The History Journey” โดย 7 วิทยากร ได้แก่ สมชัย กวางทองพานิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีน และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น พชร เกรียงเกร็ด ผู้ก่อตั้งเพจแบกกล้องเที่ยว ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.94 ล้านฟอลโลเวอร์ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อรรถพล นิลละออ เจ้าหน้าที่อาวุโสส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิชัย แก้ววิชิต ช่างภาพแนวมินิมอล และภาพแนวสตรีต และ ปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ “ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี” และ “กบฏเจ้าฟ้าเหม็น” ที่มาร่วมสนทนาถึงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน