ปิดแท็บชีวิต แค่ปิดโซเชียล ปรับสมดุลอย่างไรในยุคดิจิทัล

เรื่อง : ปนัดดา ฤทธิมัต

เทคโนโลยีค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของเรา โน้มน้าวให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่อาจแยกขาดจากมันได้ ในขณะที่ชีวิตด้านดิจิทัลก็ต้องการการปรับสมดุลเช่นกัน

หนังสือ “My Brain Has Too Many Tabs Open ปิดแท็บชีวิต แค่ปิดโซเชียล” เขียนโดย Tanya Goodin เพิ่งเปิดประเด็นการเสวนานี้ ที่บูทสำนักพิมพ์มติชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่สถานีกลางบางซื่อ

พรรษรัตน์ พลสุวรรณา ผู้แปลหนังสือเล่มนี้ และ พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ และเวชบำบัดวิกฤต ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเจ้าของเพจ Dr.Pam book club หมอแพมชวนอ่าน มาร่วมเสวนา

โซเชียลไม่ได้เสนอความจริง

พญ.ปุษยบรรพ์กล่าวว่า โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราจนถึงขนาดที่ว่าตื่นเช้ามาลืมกระเป๋าตังค์ไว้ที่บ้านยังสบายใจกว่าลืมโทรศัพท์มือถือ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ช่วยกระตุ้นเตือนอะไรบางอย่าง

สมองของมนุษย์ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีชีวิตรอด เพราะฉะนั้นสมองจะ sensitive ต่อเรื่องที่เป็นการเตือนภัยเรื่องที่เป็นข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี แล้วพอสมองรับข้อมูลซ้ำ ๆ สมองจะคิดว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องจริงและสำคัญ ทำให้เรายิ่งมองหา ซึ่งจะไปเข้าทางอัลกอริทึมต่าง ๆ จนบางครั้งเรามีความรู้สึกว่าทำไมโซเชียลมีเดียรู้ใจเรา ทำไมเมื่อเราไปกดไลก์อะไรบางอย่าง จะมีเรื่องนั้น ๆ แสดงให้เราเห็นในโซเชียลเต็มไปหมด

ฉะนั้นหนังสือเล่มนี้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า “นั่นไม่ใช่ความจริง แต่เป็นสิ่งที่เราอยากเห็น”

ADVERTISMENT

กรณีตัวอย่าง เหตุการณ์วิล สมิธ ทำร้ายร่างกายคริส ร็อก บนเวทีออสการ์ ความเห็นในเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย โซเชียลมีเดียจะรับรู้ได้ทันทีว่าเราเห็นด้วยกับฝ่ายใดจากการกดไลก์และคอมเมนต์โพสต์ต่าง ๆ หากเราคิดว่าวิล สมิธทำถูก หลังจากนั้นโซเชียลก็จะแสดงโพสต์ที่สนับสนุนวิล สมิธ ขณะเดียวกันหากเราไม่ยอมรับการทำร้ายร่างกาย เราก็จะเห็นโพสต์ที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันกับเรามากขึ้น นั่นย้ำว่าโซเชียลมีเดียไม่ได้นำเสนอความจริง แต่นำเสนอสิ่งที่เราอยากเห็น โดยอัลกอริทึม

พ่อแม่โพสต์รูปลูก-ละเมิดสิทธิ

แม้หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนจะเป็นชาวตะวันตก แต่เนื้อหาในหนังสือไม่ได้แบ่งแยกตะวันตกกับตะวันออก พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียมีความเป็นสากล สำหรับพรรษรัตน์ ในฐานะนักแปล เมื่อได้อ่านแล้ว ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับตัวเองและคนรอบข้างได้ทั้งหมด เพียงแต่อาจจะมีบางประเด็นที่ประเทศไทยยังไม่มี

เช่น ตัวอย่างหนึ่งในหนังสือที่กล่าวถึงวัยรุ่นชาวออสเตรีย ที่พ่อแม่โพสต์รูปภาพของเขาตอนยังเด็ก แล้วพอเขาโตขึ้นมาเขารู้สึกว่าไม่ชอบ อยากให้พ่อแม่ลบ แต่พ่อแม่ไม่ยอมลบ เมื่อเขาบรรลุนิติภาวะและทำนิติกรรมได้ เขาจึงไปฟ้องร้องศาลถึงการที่พ่อแม่ละเมิดสิทธิของเขา ในมุมของพ่อแม่อาจจะมองว่าการโพสต์รูปภาพของลูกลงโซเชียลมีเดีย เพราะลูกเราน่ารักไม่ได้คิดอะไรที่ไม่ดี แต่ลูกอาจไม่ชอบหรือไม่พอใจ ซึ่งเรื่องนี้เรายังไม่เห็นในไทย แต่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ส่งอีเมล์นอกเวลางานทำให้เครียด

อีกประเด็นข้อพิพาทในสื่อโซเชียล ว่าด้วยการส่งรับอีเมล์ พรรษรัตน์กล่าวว่า ฝรั่งเศสกับไอร์แลนด์มีกฎหมายไม่ให้นายจ้างส่งอีเมล์มารบกวนพนักงานนอกเวลางาน พนักงานมีสิทธิที่จะไม่อ่านอีเมล์ได้ ซึ่งเรื่องนี้บ้านเรายังไม่ชัดเจน ดังนั้น จึงคิดว่าหากในประเทศไทยของเราทำเรื่องนี้อย่างชัดเจนก็เป็นเรื่องที่ดี อย่างในหนังสือเล่มนี้จะกล่าวไว้ว่าเราจะหาสมดุลได้อย่างไร นั่นคือเราต้องมาพูดคุยและทำความเข้าใจกันว่า การส่งงานทางอีเมล์หรือไลน์นอกเวลางานเป็นการรบกวน แม้ผู้ส่งอาจจะไม่ได้คาดหวังให้ผู้รับต้องอ่านข้อความทันที เขาอาจคิดว่าส่งไปก่อน หากอีกฝ่ายว่างเมื่อไหร่ก็คงเข้ามาอ่าน ในขณะที่พนักงานเมื่อเห็นว่ามีอีเมล์เข้ามาก็เกิดความรู้สึกเครียดขึ้นมาทันที

คำโกหกที่น่ากลัวที่สุดคือ “งานวิจัย”

พญ.ปุษยบรรพ์กล่าวว่า คำโกหกที่น่ากลัวที่สุดในโซเชียลมีเดียคือคำว่างานวิจัย จริง ๆ แล้วคำนี้ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์เสมอไป อย่าคิดว่าแนวทางการเขียนที่เป็นวิชาการจะน่าเชื่อถือเสมอไป ฉะนั้นอย่าปักใจเชื่อแค่บทความเดียว หากเราสนใจเรื่องนั้นจริง ๆ แล้วในเมื่อเรามีทางเลือกมากมาย เราก็เลือกอ่านชุดข้อมูลข่าวสารที่หาแหล่งอ้างอิงได้ ที่อันตรายที่สุดคือข้อความที่ส่งต่อกันผ่านไลน์ เพราะเราหาต้นตอไม่ได้ว่าใครเป็นคนเริ่ม แต่เราพร้อมที่จะเชื่อ เพราะคำว่า “เขาว่ามา” ดังนั้น อย่าพร้อมเชื่ออะไรง่าย ๆ และอย่าเพิ่งแชร์ข้อความใดหากยังไม่มั่นใจว่าข้อมูลถูกต้องแล้ว

โควิดพรากชีวิตวัยเด็ก

พญ.ปุษยบรรพ์กล่าวถึงผลกระทบของเด็กยุคนี้ว่า น่าเป็นห่วงที่เขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเพราะสถานการณ์โควิด-19 หากเราให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กอย่างจริงจัง issue ของเด็กควรจะเป็นอันดับต้น ๆ ในการแก้ปัญหาตั้งแต่แรก ปีหน้าสถานการณ์เข้าสู่ปีที่ 4 เด็กต้องได้กลับไปใช้ชีวิตแล้ว เพราะในไม่ช้าโควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่น

สิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนคือเราอย่าไปคิดเรื่องให้ลูกเรียนออนไลน์อีกต่อไป เราต้องคิดว่าจะซ่อมความเสียหายตลอด 2 ปีที่เราให้เขาอยู่แต่บ้าน โดยไม่ได้มีประสบการณ์ข้างนอกจะดีกว่า พาเขาออกไปเจอเพื่อน ให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น โควิดพรากชีวิตวัยเด็กของเขาไปมากพอแล้ว

คอมเมนต์-เอาใจเขามาใส่ใจเรา

แน่นอนว่าโพสต์ต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดียย่อมมีคอมเมนต์ทั้งแง่ลบและแง่บวก พญ.ปุษยบรรพ์กล่าวว่า สิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงได้ง่ายที่สุดคือเปลี่ยนแปลงตัวเอง หากเป็นคนที่เรารู้จักมาคอมเมนต์ก็ให้เราเข้าใจว่าตัวอักษรไม่มีน้ำเสียง บางทีเขียนด้วยความรีบก็อาจจะลืมตรวจทานว่าเนื้อความอาจจะดูห้วนเกินไป การคอมเมนต์ผู้อื่นต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะสภาพจิตใจของคนเราไม่เหมือนกัน สิ่งที่เราไปคอมเมนต์อาจจะกระทบจิตใจของเขา เรารู้จักเพียงเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของเขา เราไม่มีสิทธิไปตัดสินใคร ไม่มีใครในโลกใบนี้ตัดสินการกระทำของใครได้ เราไม่ควรทำตัวเป็นศาลเตี้ย ควรใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์และมีเมตตาต่อกัน

ทำคอนเทนต์รับผิดชอบต่อสังคม

ปัจจุบันมีการสร้างคอนเทนต์เรียกยอดไลก์ยอดแชร์เป็นจำนวนมาก จุดประสงค์คือเพื่อต้องการเป็นที่รู้จักของสังคม และนำมาซึ่งรายได้ พญ.ปุษยบรรพ์มีมุมมองความคิดเห็นว่า ใครก็ตามที่ได้เป็นอินฟลูเอนเซอร์ของยุค การจะทำอะไรสักอย่างต้องคิดให้ถี่ถ้วน เพราะไม่ใช่แค่การรับผิดชอบต่อคอนเทนต์ของตัวเอง แต่เป็นการรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะตามมากับสังคม ไม่เพียงคิดถึงการทำคอนเทนต์อย่างไรให้ประสบความสำเร็จตามที่ลูกค้าต้องการ แต่ต้องคิดด้วยว่าจะเกิดผลต่อคนดูอย่างไร

พรรษรัตน์กล่าวเสริมว่า พ่อแม่ผู้ปกครองควรสังเกตตลอดเวลาว่าลูกดูคอนเทนต์ลักษณะใด หากนั่งดูด้วยได้ก็จะยิ่งดี เพราะจะได้คอยกลั่นกรองเนื้อหา ให้คำแนะนำในขณะนั้นได้เลยว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ควรที่จะนำไปปฏิบัติตามหรือไม่

“ขอฝากหนังสือ ปิดแท็บชีวิต แค่ปิดโซเชียล ให้ทุกคนได้อ่านเพราะเป็นหนังสือที่เหมาะกับทุกคน และเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน มีการพูดถึงแง่มุมของเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย หนังสือจะค่อย ๆ เล่าเรื่อง แล้วทำให้เราฉุกคิดว่าเรามีประสบการณ์คล้ายคลึงกับตัวอย่างในหนังสือ ทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง จนทำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียให้ดียิ่งขึ้น” คุณพรรษรัตน์กล่าวปิดท้าย