7 เม.ย. “วันอนามัยโลก” เปิด 5 เทรนด์ จุดเปลี่ยนวิธีดูแลสุขภาพ

คนจะมองการดูแลสุขภาพเป็นองค์รวมและเฉพาะบุคคล ส่งผลให้วิชาชีพด้านการดูแลสุภาพจะไม่มีเฉพาะแพทย์หรือพยาบาล แต่จะมีวิชาชีพที่เข้ามาสนับสนุนมากขึ้น เช่น นักโภชนาการ นักบำบัด

วันที่ 7 เมษายน 2565 บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ หรือ N Health เผยการคาดการณ์ 5 เทรนด์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคการแพทย์ ที่กำลังมีอิทธิพลต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนในยุคปัจจุบัน เนื่องในโอกาสวันอนามัยโลก (World Health Day) ซึ่งเป็นวันที่ 7 เมษายนของทุกปี

โดยในวันนี้ของทุกปีองค์การสหประชาชาติ (World Health Organization : WHO) ได้กำหนดให้เป็นเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการรณรงค์ด้านสุขภาพของคนทั่วโลก ทั้งในแง่การควบคุม ป้องกัน แก้ปัญหา และส่งเสริม ให้เกิดความทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยในปี 2565 มีการกำหนดธีมหัวข้อรณรงค์ว่า Our Planet, Our Health สืบเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 และสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อม

นางสาวณัฏฐา จันทร์เปล่งแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ (N Health) ระบุ 5 เทรนด์วิทยาศาสตร์และเทคนิคการแพทย์ ที่เป็นจุดเปลี่ยนวิถีดูแลสุขภาพของคนยุคใหม่ว่าประกอบด้วย

1. Know Your DNA : การตรวจ DNA จะกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เป็นเสมือนการถอดรหัสชีวิต ที่จะบอกว่าพื้นฐานร่างกายของแต่ละคนเป็นอย่างไร มีความสามารถในการรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน เช่น ความทนทานของกล้ามเนื้อในการออกกำลังกาย ความไวต่อแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เป็นต้น ตลอดจนรู้ถึงศักยภาพแฝง เช่น อัจฉริยภาพทางด้านภาษา ดนตรี หรือศิลปะ

2. Dig Deep to The Micro : เมื่อก่อนการตรวจสารอาหารในร่างกายทำได้ยาก แต่ตอนนี้สามารถตรวจสารอาหารต่าง ๆ ในร่างกายที่ลึกลงและเล็กลงถึงระดับไมโครได้ เราจึงสามารถเลือกรับประทานอาหารและอาหารเสริมได้อย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไปจนเป็นอันตราย

3. Turn Down All Risks : การตรวจความเสี่ยงต่อมะเร็ง การตรวจหาสารตกค้าง จะกลายเป็นเรื่องปกติและสามารถทำได้ต่อเนื่อง ด้วยราคาที่เข้าถึงง่ายและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างและความจำเป็นที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงไม่เหมือนกัน การมอนิเตอร์ความเสี่ยงเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ประชาชนสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลสุขภาพให้เหมาะสมได้ตามสภาวะและสถานการณ์ของชีวิต

ซึ่ง 3 ข้อแรกนี้จะเห็นได้ชัดว่าเป็นเทรนด์ที่มีความเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาการทางสุขภาพ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเทรนด์ในด้านการบริการและความเข้าถึงวิทยาการดังกล่าว

4. Laboratory for Daily Lifestyle : การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ จะกลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกสบายขึ้น ราวกับไปเดินห้างหรือเข้าคาเฟ่ ผู้ให้บริการจะหันมาให้ความสำคัญในการบริการมากขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นการมาเจาะเลือดหรือตรวจปัสสาวะเท่านั้น แต่ห้องปฏิบัติการจะกลายเป็นสถานที่ที่เข้าใจไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากขึ้น เช่น การมี co-working space หรือ coffee bar ตลอดจนการมีการเวิร์กช็อปเกี่ยวกับสุขภาพ หรือเกิดการสร้างคอมมิวนิตี้ด้านสุขภาพมากขึ้น

5. Self-Health Planning : แผนการดูแลสุขภาพจะมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น มีทั้งเครื่องมือที่สามารถใช้ตรวจได้เอง ยกตัวอย่าง ATK ที่สามารถตรวจโควิด-19 ได้เอง มีทั้งการตรวจสุขภาพแบบมอนิเตอร์ตัวเอง เพื่อเลือกการกินอาหารเสริมหรือออกกำลังกายที่เหมาะสม หรือลดละเลิกพฤติกรรมบางอย่าง หรือเช็กว่ามีความจำเป็นที่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือยัง

นางสาวณัฏฐากล่าวด้วยว่า ผลกระทบทางด้านสุขภาพที่พลเมืองโลกต้องเผชิญนั้นไม่ได้เป็นปัญหาของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ต่างต้องเผชิญร่วมกัน มีผลกระทบต่อเนื่องกันอย่างเลี่ยงไม่ได้แม้อยู่คนละซีกโลก รวมทั้งทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคนิคการแพทย์ คือพลังสำคัญในการต่อสู้กับช่วงเวลาที่แสนยากลำบากนี้

ซึ่งท่ามกลางภัยคุกคามต่อสุขภาพ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ หรือ N Health ได้ทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานด้านสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ บริการบริหารจัดการต่าง ๆ ในซัพพลายเชน ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรรมทางการแพทย์ เครื่องมือและเวชภัณฑ์ เป็นต้น จึงเล็งเห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคนิคการแพทย์ จะเป็นจุดเปลี่ยนวิถีดูแลสุขภาพของคนยุคใหม่ที่สำคัญอย่างยิ่งใน พ.ศ. นี้

“ปัจจุบันประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพที่หลากหลายอยู่แล้ว แต่จากนี้ทางเลือกเหล่านั้นจะเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น การดูแลสุขภาพจะมีความเป็น consumer centric (ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง) มากขึ้น ประชาชนจะมองการดูแลสุขภาพเป็นองค์รวม และมีความเฉพาะเจาะจงตามแต่ละบุคคลมากขึ้น หรือที่เรียกว่า personalization

วิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุภาพจะไม่มีเฉพาะแพทย์หรือพยาบาล แต่จะมีวิชาชีพที่เข้ามาสนับสนุนมากขึ้น ไม่ว่าจะนักโภชนาการ เทรนเนอร์ นักกายภาพบำบัด นักบำบัดในสาขาต่าง ๆ นักเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ให้ประชาชนรู้พยาธิสภาพของร่างกายก่อนเลือกการดูแล รักษา หรือบำบัด”

อย่างไรก็ตามไม่ว่าเทรนด์การดูแลสุขภาพจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เป้าหมายที่สำคัญก็คือการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง ห่างไกลจากภาวะความเจ็บป่วย สามารถดำเนินชีวิตไปข้างหน้าได้ตามปกติได้ในทุก ๆ วัน อย่างยืนยาว เพื่อเติมเต็มความหมายและดื่มด่ำกับการมีชีวิตได้อย่างไร้กังวล