หาความสุขในชีวิตให้เจอ กับ สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น

การกลับมาอีกครั้งของ “หนุ่มเมืองจันท์” กับ “สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น” หนังสือซีรีส์ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ เล่มที่ 34 ที่ได้ภาพถ่ายพิมพ์สีจากศิลปิน พิชัย แก้ววิชิต มาร่วมถ่ายทอดมุมมองผ่านเลนส์กล้อง ไปพร้อม ๆ กับเรื่องราวสนุกสนานและอบอุ่นหัวใจ ทั้งยังแฝงไปด้วยข้อคิดดี ๆ อีกมากมาย ที่จะทำให้คุณได้ “เห็น” ความพิเศษในสิ่งธรรมดาสามัญที่คุณอาจแค่เคยได้ “มอง”

สรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ ผู้เขียน “สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น” กล่าวว่า พอเราเขียนนานขึ้นก็จะมีความ “เก๋า” เนื้อหาอาจจะคล้ายกับเล่มก่อน ๆ ที่เคยเขียนมาทั้งหมด จากเดิมใช้เนื้อหาของเราเขียนเพื่อบอกเล่าเรื่องราว แต่ตอนหลังรู้สึกว่าหนังสือมีอะไรที่สามารถเล่นได้สนุกกว่านั้น

คือแทนที่เราจะเอาเพียงเนื้อหามาเขียน เพื่อเชื่อมโยงความรู้สึกของคนไปสู่สิ่งที่เราต้องการ แท้จริงแล้วมีองค์ประกอบอื่นมากกว่านั้น ซึ่งหนังสือ 4-5 เล่มหลังก็เริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาใช้

“ชีวิตเราไม่ได้มีแค่เรื่องของเราเท่านั้น เรื่องของคนอื่นจะมีมุมเล็ก ๆ ที่เราไม่เห็น เหมือนที่ผมเขียนตรงปกหลังว่า เวลาเราจะได้ยินเสียงไหน บางทีไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเสียงนั้นดังแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าเราใส่ใจเสียงนั้นแค่ไหน ต่อให้เป็นเสียงกระซิบเบา ๆ

ถ้าเราสนใจและใส่ใจมัน เราก็จะได้ยินมัน ฉะนั้นบางอย่างในเรื่องที่ผมเขียนทั้งหมด ก็จะหยิบยกแบบนี้ เช่น เรื่องข้าวพอไหม ก็เป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ของคนขายอาหารในศูนย์อาหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ข้าวพอไหม เป็นคำพูดที่เขาถามเด็กทุกคน ถ้าไม่พอก็จะเติมข้าวให้เด็กได้กินเต็มที่ เขาจะสังเกตเด็กที่มากินข้าว

สมมุติเด็กคนนี้เคยสั่งกับข้าว 2 อย่าง แต่ทำไมอยู่ ๆ วันหนึ่งเหลืออย่างเดียว ถ้าเป็นที่ไม่ได้ใส่ใจก็จะปล่อยผ่านมันไป แต่ถ้าสังเกตว่ารายละเอียดบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป เขาจึงไปพูดคุยกับเด็ก แล้วพอรู้ว่าเด็กคนไหนมีปัญหา เขาก็จะให้ทุนอาหารกับเด็กคนนั้น คือตลอดการเรียน 4 ปี คุณอิ่มที่ร้านนี้ได้เลย กินฟรี ก็เป็นน้ำใจเล็ก ๆ ที่มองว่าทุกคนก็ทำได้ หรืออย่างเรื่องธุรกิจ การทำร้านอาหารโลเกชั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

แต่สิ่งหนึ่งที่คนลืมมองไปก็คือแววตาของคนที่เป็นเจ้าของกิจการ บางคนร้านของเขาตั้งอยู่บนทำเลที่แย่มาก แต่เขามีแววตาที่พร้อมต่อสู้ คือถ้าเขาทำอย่างเต็มที่ พยายามเรียกลูกค้า พูดคุยกับลูกค้า ก็จะเกิดการบอกต่อ ในขณะเดียวกันต่อให้ร้านอยู่ในทำเลที่ดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเจอเจ้าของร้านพูดจาไม่ดี เขาก็จะไม่กลับมาอีก นี่คือรายละเอียดที่เราอาจมองข้ามไป” หนุ่มเมืองจันท์กล่าว

ตัวอย่างในหนังสือคือสิ่งที่ต้องการจะบอกว่า ถ้าเรามองอะไรผ่านตาไปเรื่อย ๆ ไม่ได้สังเกต ไม่ได้ใส่ใจ เราก็จะไม่เห็น ชีวิตทุกคนมีสิ่งเหล่านี้เสมอ รายละเอียดบางอย่างถ้าเราใส่ใจสักนิด เราจะมีความสุขขึ้นมา โลกนี้มีหลายมุมให้มอง นี่จึงเป็นที่มาในการเลือกภาพถ่ายของ “เอก-พิชัย แก้ววิชิต” มาใช้ในหนังสือเล่มนี้ เพราะเป็นภาพที่บ่งบอกเนื้อหาในหนังสือได้ดีมาก

“ภาพหน้าปกเป็นรูปท่อระบายน้ำ เป็นสิ่งที่เราคุ้นชิน แต่ที่ชอบรูปนี้ก็เพราะว่า ท่อระบายน้ำคือความสกปรก แต่ใครจะนึกว่าพอเรามีมุมมุมหนึ่งที่เราถ่ายรูปนี้ขึ้นมา ภาพนี้สวยงามขึ้นมาทันที ผมรู้สึกว่าโลกนี้มีหลายมุมให้มองถ้าคุณสามารถมองความสกปรก ความย่ำแย่ของชีวิตให้เป็นมุมมองที่สวยงามได้ มันก็เป็นสิ่งที่งดงาม”

ด้าน พิชัย แก้ววิชิต อดีตมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ผันมาทำงานศิลปะการถ่ายภาพ กล่าวว่า ดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่รูปภาพในหนังสือมาจากคนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งไม่คิดว่าตัวเองจะมาถึงจุดนี้ได้ สำหรับการถ่ายภาพของตนนั้น ไม่ได้มาจากความชำนาญในการถ่าย

แต่มาจากความรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าของเรา อย่างเช่น มีประตูอยู่ตรงหน้า แต่เราไม่ได้มองเป็นประตู เรามองเป็นองค์ประกอบศิลปะ มีเส้นตรง มีแสงเงา มองว่าทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเราล้วนเป็นองค์ประกอบของศิลปะ และโลกก็จะเป็นศิลปะเหมือนที่เรามอง

“ผมคิดว่างานเขียนของพี่ตุ้มกับภาพถ่ายของผมคือเรื่องเดียวกัน แต่พี่ตุ้มถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ ส่วนของผมถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ แต่ทั้งหมดทั้งมวลคืออยากให้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยได้เห็น เราแค่มองผ่าน ๆ ไม่ได้สังเกต ถ้าเรามองด้วยความรู้สึกหรือมองให้เห็นจริง ๆ

เราจะเห็นว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในนั้น บางทีกับคนรอบข้างเราอาจจะอยู่ใกล้กันเกินไป จนไม่ได้ให้ความสำคัญ ซึ่งถ้าเราละเลยไปมาก ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ แต่ถ้าเราเป็นคนช่างมอง ช่างสังเกต เราก็จะเห็นว่าสิ่งที่เราชินตา ล้วนมีค่าเสมอ” พิชัยกล่าว

ปัจจุบันพิชัยไม่ค่อยได้ขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเท่ากับเมื่อก่อนแล้ว ทำให้เขามีเวลาถ่ายภาพมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมุมมองในการถ่ายภาพยังคงเหมือนเดิม เพราะเมื่อใดที่รู้สึกไม่ดีกับการถ่ายภาพ ก็จะกลับมาที่จุดเริ่มต้นว่า ถ่ายรูปเพื่ออะไร ถ่ายรูปเพื่อให้มีความสุขในแต่ละวัน ดังนั้นพิชัยจึงยึดความรู้สึกของวันแรกที่ได้ถ่ายภาพไว้ตลอด ไม่ว่าจะก้าวไปข้างหน้ากี่ก้าวก็ตาม สุดท้ายก็จะกลับมาทบทวนก้าวแรกเสมอ

ประเด็นนี้หนุ่มเมืองจันท์ กล่าวเสริมว่า เวลาที่คุณมีปัญหาอะไรก็ตามในชีวิต ให้ย้อนกลับไปสู่วันแรกของคำถามในชีวิต บางทีคำถามหรือสิ่งง่าย ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดมันคือคำว่าความสุข แต่บางทีเราไปหาอย่างอื่นมากจนเกินไป

อย่างเรื่องที่คงเคยได้ยินกันว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งเดินไปเห็นคนตกปลา แล้วเขาก็ถามว่า ทำไมทำอย่างนี้ ในขณะที่คนตกปลาก็ยังคงมีความสุข พร้อมกับย้อนถามเศรษฐีว่า แล้วจะทำธุรกิจไปทำไม หาเงินเพื่อซื้อเรือยอชต์เพื่ออะไร สุดท้ายก็ได้คำตอบมาว่าเพื่อตกปลา

แล้วบางทีเส้นทางชีวิตเหล่านี้เราอาจจะหลงลืมไปว่า จริง ๆ สิ่งที่เราต้องการอาจจะเป็นจุดเล็ก ๆ เป็นสิ่งที่เราเคยมอง แต่ไม่เคยเห็น หนังสือเล่มนี้ก็พยายามบอกสิ่งเหล่านั้นว่า อย่าไปมองอะไรที่ไกลจนเกินไป ให้สนใจรายละเอียดบางอย่างที่มีความสำคัญในชีวิต นั่นคือความสุข

“ภาพของเอก-พิชัยเหมือนผม คือเขาเป็นคนที่ชอบซูมหาจุดเล็ก ๆ ในภาพใหญ่ ก็เหมือนกับทุกภาพมีระยะที่เหมาะสม และที่สำคัญมันมีมุมให้เลือกมอง ชีวิตก็เหมือนกัน มันมีระยะที่เหมาะสม มีมุมที่เราจะมอง ถ้าเราสามารถหามันเจอ เราก็จะหาความสุขในชีวิตเจอ” หนุ่มเมืองจันท์กล่าว