ธนากร แซ่ลิ้ม เจ้าของ “ท็อปแวลู” ขายออนไลน์เครื่องใช้ไฟฟ้า รายได้พันล้าน

ธนากร แซ่ลิ้ม
ผู้เขียน : สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์

เมื่อชีวิตไม่ยอมแพ้ “ธนากร แซ่ลิ้ม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อปแวลู คอร์ปอเรท จำกัด มักค้นพบโอกาสใหม่ ๆ อยู่เสมอ ในฐานะผู้ก่อตั้ง+เจ้าของแพลตฟอร์ม topvalue.com และผู้ผลิตสินค้าโกลบอลแบรนด์ Alectric และ Namiko

จากลูกคุณหนูที่ถูกส่งไปเรียนที่ประเทศจีน เมื่อชีวิตผกผันต้องหาเงินเลี้ยงตัวเองและครอบครัวด้วยการเป็นเด็กเชียร์ทัวร์จีนให้ซื้อสินค้า เงินเดือนไม่กี่พันบาท แต่ด้วยความขยันทำให้ฐานะดีขึ้น ทั้งมองเห็น “โอกาส” จากตลาดออนไลน์ จึงโดดลงในสนามแข่งขันใหม่แบบไม่กลัวรายใหญ่

แม้จะขาดทุนในช่วงแรก แต่เลือดนักสู้อย่างธนากรก็สามารถทำให้แพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ทะยานกลับขึ้นมาด้วยการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าคุณภาพ ราคาจับต้องได้ จนครองใจลูกค้าได้ทั่วประเทศ ทำรายได้นับพันล้านบาท พร้อมมองหาช่องทางใหม่ ๆ ที่จะนำสินค้าแบรนด์ Alectric และ Namiko ส่งถึงมือผู้บริโภคให้ทั่วถึงทุกครัวเรือน

ล่าสุดธนากรและ “ท็อปแวลูฯ” เดินหน้าต่อยอดแผนธุรกิจอีกขั้น โดยจับมือ “เครือมติชน” ผู้นำสื่อคุณภาพของประเทศไทย ร่วมคัดสรรสินค้าคุณภาพ ดีไซน์สวย ราคาคุ้มค่าให้กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ เบื้องต้นได้ขายนำร่องผ่าน “ข่าวสดออนไลน์” ในเครือมติชนแล้ว ทั้งเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย

ความสำเร็จบนเส้นทางธุรกิจ

“ธนากร” เล่าว่า กว่าจะถึงวันนี้ชีวิตผ่านความยากลำบากมามาก พ่อแม่แยกทางตั้งแต่เด็ก ช่วงอยู่กับแม่เรียนจบชั้นประถม เมื่อขึ้นชั้นมัธยมแม่ตัดสินใจส่งเขาไปอยู่กับพ่อเพราะจะส่งเสียเรื่องเรียนได้ดีกว่า พออายุ 12 ปีได้บินไปเรียนต่อมัธยม ณ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน

“ไปคนเดียวเลย ไปอาศัยกับญาติทางพ่อ แรก ๆ ก็กลัวเพราะไม่เคยเจอกันมาก่อน คุยยังไม่ค่อยเข้าใจ เมื่อสภาพแวดล้อมบังคับ ทำให้เราต้องขวนขวายเรียนภาษาจีนเพื่อจะได้คุยกันรู้เรื่อง”

หลังเข้าโรงเรียนนานาชาติ เรียนอยู่ 2 ปีก็ได้ปรับพื้นฐานและเรียนรู้ภาษา จบมัธยม 1-3 ที่โรงเรียนจีน เมื่อชินกับสภาพแล้วเป็นช่วงวัยรุ่นเลยเล่นมากกว่าเรียน สุดท้ายถูกส่งตัวกลับไทยเมื่อปี 2542 ขณะอายุได้ 17 ปี ซึ่งเป็นจุดพลิกชีวิตก็ว่าได้ จากที่ได้อยู่กับครอบครัวพ่อซึ่งมีฐานะ อยู่บ้านเดี่ยวหลังใหญ่ ญาติทางเมืองจีนก็ดูแลดี แต่เมื่อกลับมาบ้านที่ไทยอีกครั้ง มาอยู่กับแม่ ตัวเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในคอนโดมิเนียมห้องเล็ก ๆ ทุกเช้ามืดแม่เขาต้องตื่นตี 4 ออกไปขายของที่ตลาด

“ตอนนั้นผมคิดเลยว่าจะเลิกเกเร เลิกตื่นสาย จะตั้งใจทำมาหากิน ส่วนตัวไม่เคยยึดติดความสุขสบาย แต่เมื่อเราต้องปรับตัวก็ต้องเอาตัวให้รอด”

ตอนนั้นฝันไว้ลึก ๆ ว่า ต้องซื้อบ้านหลังใหญ่ให้แม่ให้ได้ จึงสมัครเรียน กศน.และหางานทำ ทั้งที่อายุไม่ถึง 18 ปี งานเลยหายาก แต่ก็ได้งานทัวร์จีนเป็นคนแนะนำนักท่องเที่ยวให้ซื้อรังนก กระเป๋าหนังจระเข้ ฯลฯ ได้เงินเดือนแรก 3,500 บาท พอ 3-4 เดือน รวมค่าคอมมิชชั่น รายได้ก็ขึ้นหลักหมื่นและถึง 2 หมื่นกว่าบาท

“ทัวร์จีนในไทยยุคนั้นรุ่งมาก ตัวผมก็เริ่มศึกษาโปรดักต์ ทำงานก็ได้เงินมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าเก่งแต่ต้องปรับตัวตลอด ทำได้ไม่นานก็ลาออก อยากลองไปทำอย่างอื่นบ้าง”

ส่วนอาชีพใหม่ไม่มีอะไรเกี่ยวกับทัวร์เลย แต่ยังเกี่ยวพันกับความเป็นจีน เพราะไปทำงานกับบริษัทจีนที่ร่วมทุนกับเยอรมนีทำโมลด์แม่พิมพ์ รายได้หล่นวูบเหลือแค่ 8,500 บาท พยายามไม่คิดมาก ถือโอกาสเรียนรู้งานใหม่ ๆ จนเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการเซลส์ในปีแรก สุดท้ายก็ลาออกอีกเพราะใจอยากเป็นเจ้าของกิจการแล้ว

เป็นเถ้าแก่ใหญ่ในวัย 20 ปีต้น ๆ

กล่าวถึงสินค้าจีน “ธนากร” บอกว่า ปัจจุบันเริ่มมีคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก ตรงข้ามกับเมื่อ 20 ปีก่อน โดยตัวเขาเองเลือกที่จะสวนกระแสหันมาจับธุรกิจขายเครื่องจักรสำหรับทำโมลด์ที่นำเข้าจากจีนเป็นหลัก

“ผมไม่มีความรู้เรื่องเครื่องจักรเลย สังเกตแค่ว่ายุคนั้นทุกโรงงานซื้อเครื่องจักรจากยุโรปเกือบทั้งหมด ไม่ก็ซื้อของญี่ปุ่น ไม่มีใครซื้อเครื่องจักรจีน ทั้งที่ราคาถูกกว่า 6 เท่า ช่องว่างตรงนี้ทำให้ผมเห็นโอกาสใหญ่ เลยเริ่มค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแล้วดีลเข้าไป ทั้งปรึกษาคนที่มีความรู้”

“โอกาสใหญ่” ของธนากร คือ ทุกโรงงานไม่จำเป็นต้องใช้แต่เครื่องจักรยุโรปหรือญี่ปุ่น รายที่ไม่ใหญ่มากสามารถใช้ของดีในราคาที่ถูกกว่าหลายเท่าได้ เช่น ถุงก้นตั้งที่ใส่น้ำยาปรับผ้านุ่ม สมัยก่อนถือเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยใช้เครื่องจักรญี่ปุ่นผลิต ราคาเครื่องละ 18 ล้านบาท แต่เครื่องจักรจีนราคาแค่ 3 ล้านกว่าบาทเท่านั้น

ธนากรต้องใช้เวลาอธิบายและสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า ตีคู่ไปกับการปักหลักสร้างธุรกิจด้วยการเพิ่มบริการทั้งซ่อมบำรุง จัดหาอะไหล่สำรอง ฯลฯ เมื่อลูกค้ายอมรับเครื่องจักรจีนมีประสิทธิภาพ ผลิตสินค้าได้คุ้มค่า ก็เริ่มเก็บเกี่ยวความสำเร็จ

“ผมขายเครื่องจักรจีนอยู่ 4-5 ปี ปีแรกก็ซื้อบ้านเดี่ยวให้แม่ได้ ชีวิตผมกับแม่เริ่มดีขึ้น มีเงินเก็บเยอะขึ้น วันหนึ่งได้ดูหนังเรื่องเถ้าแก่น้อย เห็นเขาขยายไปเรื่อย ๆ แต่ทำไม 5 ปีเราถึงอยู่กับที่ พอขายเครื่องจักรได้ เจ้าเดิม ๆ ก็ไม่ซื้อเพิ่ม เหมือนเริ่มอิ่มตัว เราเริ่มโตยาก เลยเปิดโรงงานแม่พิมพ์ ต่อด้วยขายเครื่องจักรสายเบเวอเรจ และขายแพ็กเกจจิ้งสำหรับธุรกิจกลุ่มเบเวอเรจเพิ่มเข้ามา”

แต่การขยายเข้าธุรกิจใหม่เร็วเกินไป ทำให้ลูกค้าผลิตภัณฑ์นมชั้นนำหลายรายไม่มั่นใจ ธนากรจึงแก้ปัญหาด้วยวิธีป่าล้อมเมืองผลิตกล่องนมโรงเรียน ค่อย ๆ ขาย สั่งสมความน่าเชื่อถือไปเรื่อย ๆ พอขายได้แล้วก็เปิดโรงงานทำถุงนม เมื่อธุรกิจไปได้ดี แบรนด์ใหญ่ก็เชื่อมั่นและเป็นคู่ค้าจนถึงปัจจุบัน

จุดเด่นท็อปแวลูคือเครื่องใช้ไฟฟ้า

หลังประสบความสำเร็จในธุรกิจ จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของธนากรก็เกิดขึ้นอีกครั้ง คือเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน เพื่อนสมัยมัธยมซึ่งทำงานอยู่ไป่ตู้ (Baidu) เสิร์ช เอ็นจิ้น อันดับหนึ่งของจีน มาเที่ยวเมืองไทย ตอนนั้นเขายังงงๆ ว่า ไป่ตู้คืออะไร พอฟังเพื่อนอธิบายเหมือนได้เปิดโลก โลกเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ เพราะทำโรงงานอย่างเดียวเติบโตช้า คู่แข่งก็มาเรื่อย ๆ ต้องมาสายเทคโนโลยีจะมีโอกาสมหาศาล

“ผมเป็นคนชอบหาของแปลก ๆ อยู่แล้ว พอฟังเสร็จตาเป็นประกายเลย” เขาเล่าพลางหัวเราะ

แม้ไม่มีประสบการณ์ในสายเทคโนโลยี แต่ธนากรก็ขอชิมลางแพลตฟอร์มออนไลน์ครั้งแรก ผลคือขาดทุนยับ 40-50 ล้านบาท ทั้งถูกโกงจนต้องทิ้งระบบนั้นไป แต่เขาก็เริ่มใหม่ด้วย “ท็อปแวลู” (topvalue) แพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์เมื่อปี 2557 โดยศึกษาลู่ทางการตลาด และลุยจริงจังในอีก 2 ปีถัดมา ซึ่งช่วงนั้น Lazada) และ Shopee โหมตลาดหนัก ถ้าขายของเหมือนสองเจ้านี้ คงสู้ไม่ได้ ธนากรจึงวางโพซิชั่นของท็อปแวลูให้เป็นแพลตฟอร์มเน้นจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า

“วิ่งชนคลื่นยังไงเราก็แพ้ เลยเปลี่ยนตัวเองเป็นเวอร์ติคอล อีคอมเมิร์ซ ทำเฉพาะทาง ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก แล้วขนส่งให้ไว เน้นบริการที่ดี ปัจจัยราคาก็เป็นเหตุผลที่คนจะเข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นมาซื้อของ สินค้ากับราคาต้องโดนใจ”

“ท็อปแวลู” จึงชูสโลแกนในช่วงแรก “ของแท้ ของเร็ว ของถูก” เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง โดยมีเครื่องใช้ไฟฟ้าสารพัด รวมกว่า 30,000 SKU เป็นจุดขาย ทั้งการสั่งซื้อที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ทำให้ท็อปแวลูยึดหัวหาดกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็ว

เน้นนวัตกรรม+สวยงามแตกไลน์เพิ่มโอกาส

ยุคที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว เครื่องใช้ไฟฟ้าจึงต้องมีมากกว่าการใช้ประโยชน์อย่างเดียว โดยต้องมีดีไซน์ และตอบโจทย์รสนิยมการใช้ชีวิต

“ท็อปแวลู” ก็เช่นกัน เพราะปี 2564 ช่วงที่โควิดดิสรัปต์ทุกธุรกิจ ผู้ประกอบการต่างเบนเข็มสู่อีคอมเมิร์ซ ธนากรก็ตัดสินใจรื้อ SKU ทั้งหมด คัดให้เหลือ 2,000 SKU เน้นเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าประเภทลิฟวิ่ง พร้อมเปลี่ยนสโลแกนใหม่เป็น “คัดสรร นวัตกรรมสวยงาม…เพื่อคุณ”

“ผมเปลี่ยนทุกอย่างให้ตกแต่งบ้านได้ด้วย มีทั้งที่ผลิตเอง และซื้อมาขาย เช่น พัดลมจะสวยกว่าเดิมมาก ไม้ถูพื้นวางแล้วเป็นของแต่งบ้านได้เลย ร่มที่คลิกแล้วกางหรือหุบก็ได้ ต่อไปผมจะผลิตสินค้าที่ใช้แอปคุมการสั่งการได้ โดยวางแผนพัฒนานวัตกรรมให้ทุกคนใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น”

และเพิ่มโอกาสธุรกิจด้วยตั้ง “บริษัท สวิทซ เฟลคซ จำกัด” ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า แบรนด์ Alectric และผลิตเครื่องครัว เครื่องใช้ภายในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ แบรนด์ Namiko วางโพซิชั่นให้เป็น “โกลบอลแบรนด์” เน้นพรีเมี่ยม เปี่ยมนวัตกรรมและความสวยงามในราคาจับต้องได้

“จากแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ เราขยายไปผลิตสินค้า นอกจากจะขายในท็อปแวลูแล้วยังนำ 2 แบรนด์ใหม่ไปขายในเซ็นทรัล บิ๊กซี โลตัส โฮมโปร ลาซาด้า ช้อปปี้ ฯลฯ ได้ด้วย”

หลักคิดธุรกิจต้องสมชื่อ “ท็อปแวลู”

“ฟังแล้วเหมือนราบรื่น แต่ไม่เลย รีเทลเป็นธุรกิจที่ยากมาก (ลากเสียง) ยากที่สุดตั้งแต่ทำมา ถ้าบอกว่าไม่ท้อคือโกหก เงินเก็บที่มีก็เอามาใช้กับท็อปแวลู เลิกอาชีพอื่นก็ไม่ได้ ต้องขยันขึ้นอีก

เป้าหมายนับจากนี้ จะเดินหน้าตามกลยุทธ์ที่วางไว้เรื่องสินค้าที่ต้องชูนวัตกรรม+ความสวยงาม และเน้นเรื่องบริการ เพราะท็อปแวลูมีจุดแข็งที่มีคลังสินค้าของตัวเอง ตรวจสอบคุณภาพได้ และส่งถึงลูกค้าได้รวดเร็ว จากที่ส่งภายใน 1-2 วันก็จะเปลี่ยนให้เหลือ 1 วัน และอาจเหลือแค่ 6 ชั่วโมง”

“หลักคิดของผม ลูกค้าต้องได้ เพราะมีแวลูสูงสุดกับเรา ต้องให้ความคุ้มค่ากับเขามากที่สุด เวลาลูกค้าฟีดแบ็ก จะชมหรือด่า ต้องอ่านให้หมด แล้วมาปรับปรุงพัฒนาตัวเองไม่ให้พลาดอีก เพื่อให้สมชื่อท็อปแวลู”