Thailand Geographic ทีมสร้างสรรค์สารคดี เพื่อสรรค์สร้างสิ่งดี ๆ แก่สังคม

นิธิรุจน์ พงศ์ธนะรังสี
ผู้เขียน : ปนัดดา ฤทธิมัต

“Thailand Geographic” ทีมที่ร่วมกันสร้างสรรค์สารคดี เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างลึกซึ้ง ผ่านเลนส์กล้องของช่างภาพมากฝีมือที่บรรจงถ่ายภาพอย่างตั้งใจ กอปรกับวิธีการเล่าเรื่องที่กระชับ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของทีมงาน

นิธิรุจน์ พงศ์ธนะรังสี นักการตลาดผู้อยู่เบื้องหลังการวางกลยุทธ์การตลาดให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่มากมายกว่า 22 ปี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมการตลาดต่าง ๆ หยุดชะงักลง อีกทั้งไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ จึงได้ทบทวนว่ามีอะไรบ้างที่จะมาช่วยเติมเต็มชีวิตในช่วงสถานการณ์นี้ให้มีชีวิตชีวาและเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ด้วย

นิธิรุจน์ พงศ์ธนะรังสี

จึงเกิดความรู้สึกอยากทำอะไรสักอย่างให้คนไทยหันกลับมามองคนใกล้ตัว สิ่งรอบตัวมากขึ้น หันมาเที่ยวเมืองไทย ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และซึมซับคุณค่าของวิถีไทยในแต่ละภูมิภาค ที่รอให้เราไปสัมผัสในช่วงที่ไร้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนประเทศไทย

จึงได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ อีก 5 คน ต้น-ธนูศักดิ์ ผู้กำกับด้านภาพในงานโฆษณา ชาตรี ทีมสร้าง Hotel California รางวัลเมืองคานส์ ปี 2005 จอน-สุริยา รางวัลดีเด่นประพันธ์บทภาพยนตร์สั้นเรื่อง “เตือนจิต” ป๊อป-ปิ่นยศ และ พรีม-กชกร สองนักการตลาดรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่มากฝีมือระดับประเทศ ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันมาร่วมกันเป็น Co-founder ซึ่งทุกคนต่างมีใจรักและมีความสามารถเฉพาะในแต่ละด้าน โดยได้เริ่มเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจขึ้นเมื่อวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2563

ต่อมาทีม “Thailand Geographic” ได้มีโอกาสส่งผลงานสารคดีเข้าร่วมประกวดกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เนื่องด้วยมีความเชื่อว่าสื่อสร้างสรรค์มีประโยชน์ต่อสังคม และเยาวชนคนไทย จึงได้ส่งโครงเรื่องสารคดีเข้า ประกวด โดยมีทีมที่เข้าประกวดรายการดังกล่าวมากกว่า 1,800 ทีม และ “Thailand Geographic” เป็นหนึ่งในทีมที่ได้รับคัดเลือก

ในระหว่างที่ทางทีมงานเตรียมการที่จะทำสารคดี ก็ได้ปรึกษากันว่า Direction ของ “Thailand Geographic” จะเป็นอย่างไร จากตอนแรกที่มาจากแพสชั่นของเพื่อน ๆ ที่มาพูดคุยกัน จากนั้นจึงเกิดความคิดที่จะทำสิ่งดี ๆ ให้กับสังคม และเห็นว่าที่ผ่านมาคนไทยให้ความสนใจสารคดีน้อย จะทำอย่างไรให้การผลิตสารคดีมีคุณภาพ ดึงดูดให้คนกลับมาสนใจมากขึ้น

ส่วนเรื่องวิธีการดำเนินเรื่องก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องไม่ยืดเยื้อ และต้องกระชับ ตลอดจนแสดงให้เห็นทุกมุมมองที่น่าสนใจในหลายพื้นที่ของประเทศ เพราะประเทศไทยไม่ได้มีเพียงกรุงเทพมหานครเท่านั้น ยังมีจังหวัดอื่น ๆ ที่มีความงดงาม มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เราต้องทำอะไร แนวไหนออกมาให้มีเสน่ห์เป็นสารคดีที่ชมแล้วไม่ง่วงนอน

จนในที่สุดได้รับโอกาสสร้างสรรค์สารคดีที่มีชื่อว่า “จตุรทิศ มิตร สยาม” เรื่องราวเล่าถึงการเดินทางของสายน้ำ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ พร้อมแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตชาวไทยบางส่วนของทั้ง 4 ภูมิภาค รวม 8 Episode ที่พาไปพบกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเป็นอยู่ของแต่ละชุมชน

ซึ่งหลังจากที่ได้ออกอากาศไปถือว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีเกินคาด และยังมีอีกหนึ่งผลงานภาพยนตร์สั้นเชิงสารคดีเรื่อง “ฟรานซิส จิตร ช่างภาพอาชีพคนแรกแห่งสยาม” คาดว่าจะได้รับชมกันในช่วงปลายปี 2565 นี้

Key success ในการสร้างสารคดีของ “Thailand Geographic” คือทำอย่างไรให้สารคดีไม่น่าเบื่อด้วยความที่ “นิธิรุจน์” เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ชอบศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ แต่อาจจะไม่ชอบอ่านหนังสือเหมือนเจ้าตัว

ประกอบกับเคยได้อ่านผลวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า คนยุคสมัยนี้สนใจการเสพสื่อในรูปแบบวีดิโอมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นไอเดียให้เกิดสารคดีที่คล้ายกับหนังสั้น ดำเนินเรื่องรวดเร็ว เข้าใจง่ายขึ้นมาตอบโจทย์และเข้าใจ “คนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือแต่ใฝ่รู้” นิธิรุจน์กล่าว

พูดถึงการสร้างแบรนด์โลโก้ของ “Thailand Geographic” แบรนด์ดีไซน์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ดูทรงพลังบ่งบอกถึงความมุ่งมั่น ชัดเจนและมีความอินเตอร์ไปในตัวของแบรนด์โทนสีดำ เหลือง และตัวอักษรสีขาว ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ตรากระดานชนวน”

สัญลักษณ์ดั้งเดิมที่มีอายุกว่าร้อยปีของโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ที่นิธิรุจน์เคยศึกษาก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์ แถบเส้นสีเหลืองคาดมุมได้แนวคิดมาจาก Symbolic ของการวางเฟรมก่อนการถ่ายภาพของคนที่รักการถ่ายภาพทั่วโลก จึงเป็นที่มาของโลโก้ Thailand Geographic

นอกจากนี้ นิธิรุจน์ยังมีความสนใจเกี่ยวกับ NFT บวกกับกระแส NFT ในต่างประเทศกำลังได้รับความสนใจ และส่วนใหญ่ NFT จะขายในเชิงของงานศิลปะ ซึ่งนิธิรุจน์ชอบงานศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้วตั้งแต่ยังเด็ก อีกทั้งงานด้านการตลาดส่วนใหญ่มักจะเลือกภาพหรือวีดิโอจากเว็บไซต์ Shutter Stock ซึ่งเป็นของชาวต่างชาติมาใช้

ในทางกลับกันหากเราถ่ายภาพมุมต่าง ๆ ในประเทศไทย แล้วทำเป็น Platform ให้คนต่างชาติมาซื้อภาพที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง หรือภาพวีดิโอที่เป็นของคนไทยน่าจะเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับคนในประเทศได้

จากแนวคิดนี้ทีมงานได้มีการวางแผนการทำ Platform แหล่งรวมผลงานภาพถ่ายของช่างภาพหลาย ๆ คน ซึ่งจะเกิดชึ้นในเฟส 2 โดยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีเป้าหมายเดียวกัน ได้มาร่วมงานกัน เพราะ Mission แรก คือ ทำอย่างไรให้เกิดการรับรู้ว่า Thailand Geographic เป็นพื้นที่แสดงผลงานที่เป็น Soft talk และ Creative space เปิดเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ และมุมมองเรื่องราวชีวิตเชิงบวกของเยาวชนคนรุ่นใหม่

สำหรับผลงานล่าสุดของ Thailand Geographic เป็นรายการรูปแบบ Soft Interview ภายใต้ชื่อรายการ My Passion ที่ร่วมพูดคุยและฟังแนวคิด มุมมองของแขกรับเชิญหลากหลายอาชีพที่มีความสามารถเชิงประจักษ์ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ชมลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตนเองไม่กล้าทำมาก่อน อาทิ พาที สารสิน, แจ็คกี้-อดิสรณ์ พึ่งยา, อาจารย์คฑา ชินบัญชร, ลีซอ-ธีรเทพ วิโนทัย เป็นต้น

ซึ่ง Episode แรกเราได้พูดคุยกับ “เรย์ แมคโดนัล” นักแสดงและนักเดินทางที่เดินทางไปกว่า 77 ประเทศทั่วโลก โดยมี Keyword ที่น่าสนใจของเรย์ คือ “ไม่มี Perfect moment หรอก ถ้าคิดจะทำอะไรให้ลุกขึ้นทำเลย”

ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงใจกับเรา ที่คิดว่าถ้าวันนั้นไม่ลุกขึ้นมาทำ Thailand Geographic จริงๆ จังๆ ก็คงพลาดประสบการณ์ที่น่าประทับใจมากมาย ตลอดเส้นทางที่ได้ออกเดินทางไปถ่ายทำสารคดีกับเพื่อนๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน”

สุดท้ายนี้ ท่านใดที่สนใจพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ ชีวิต ท่องเที่ยว วัฒนธรรม งานถ่ายภาพ ศิลปะ ดนตรี แฟชั่น หนังสั้น และภาพยนตร์ สามารถติดตามได้ที่ เฟซบุ๊ก และยูทูป ช่อง “Thailand Geographic”