อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ ผลงานภูมิสถาปนิกหญิงคนดัง กชกร วรอาคม ที่สร้างชื่อฮือฮา คว้ารางวัล Dubai International Award for Best Practices ครั้งที่ 12 สาขา ถ่ายทอดเป็นภาพมุมสวยโดยฝีมือช่างภาพอิสระ
วันที่ 14 มิถุนายน 2565 เพจช่างภาพอิสระ ธรรม์ ธรรมชาติ โพสต์ผลงานภาพถ่ายโครงการอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพาชม สวนสาธารณะใจกลางเมืองที่เปิดบริการฟรี พิเศษที่ชั้นใต้ดินทำเป็นแก้มลิงรองรับน้ำ
ภาพชุดนี้เขียนคำบรรยายชื่นชมผลงานสถาปนิกไทย “กชกร วรอาคม” และทีมผู้ออกแบบ ว่าสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทยบนเวทีระดับโลก เมื่อคว้ารางวัลชนะเลิศ 12th Dubai International Award for Best Practices ในงาน World Government Summit และ Expo 2020 Dubai นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สวนสาธารณะ อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ เป็นแลนมาร์กพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยเนื้อที่กว่า 29 ไร่ จัดสร้างตามรอยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานที่ดินให้แก่จุฬาฯ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และคืนประโยชน์สู่สังคมส่วนรวม
โครงการ อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดตั้งแต่วันสถาปนา หรือวันเกิดจุฬาฯ ครบ 100 ปี เมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 เป็นเสมือนของขวัญให้ประชาชนเข้ามาสูดอากาศบริสุทธิ์ผ่อนคลาย ออกกำลังกาย และชมทิวทัศน์ รวมถึงพระอาทิตย์ตกดิน ใกล้ชิดกับธรรมชาติในย่านใจกลางกรุงเทพฯ
สำหรับสถาปนิกผู้ออกแบบ กชกร วรอาคม ติดทำเนียบ 100 Women หรือ 100 ผู้หญิงผู้สร้างแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลของ บีบีซี ประจำปี 2020 ร่วมกับสาวไทยอีก 2 คน ได้แก่ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำนักกิจกรรมทางการเมือง และ ซินดี้ สิรินยา บิชอพ นักขับเคลื่อนสิทธิสตรี และกชกร
บีบีซีไทย รายงานว่า กชกรเป็นภูมิสถาปนิกที่มีผลงานมากมาย การออกแบบมุ่งเน้นให้การใช้พื้นที่ในเมืองตอบสนองต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และยังทำให้ชุมชนที่มีสภาพเปราะปรางยังดำรงอยู่ได้
ภูมิสถาปนิกหญิงจบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ และปริญญาโทด้านภูมิสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา
นอกจากงานการออกแบบ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ให้เป็นสวนสาธารณะและเป็นพื้นที่ช่วยกักเก็บน้ำแล้ว ยังมีงานออกแบบสวนหลังคา urban farming อาคารป๋วย100 ปี แหล่งอาหารปลอดภัยบนอาคารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย,
ตามด้วยสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา สวนสาธารณะข้ามแม่น้ำแห่งแรก ที่เปลี่ยนโครงสร้างทิ้งร้างให้กลับมาใช้ประโยชน์ และพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่สร้างนวัตกรรมการแก้ปัญหาให้เมืองกับธรรมชาติกลับมาสู่สมดุลที่มากขึ้น และเพิ่มความยืดหยุ่น (urban resilient) ให้เมืองตอบรับกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
กชกรริเริ่มองค์กร Porous City Network หรือ “ปฏิบัติการเมืองพรุน” ร่วมกับนักออกแบบอาสาสมัครและนักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำใช้ความรู้ด้านภูมิสถาปัตย์และการวางผังมาแก้ไขปัญหาเมืองในชุมชนริมคลองในชุมชนลาดพร้าว ชุมชนประมงกับปัญหาลุกล้ำพื้นที่ทะเลหาดเล็ก จ.ตราด และชุมชนผู้อาศัยบริเวณที่ราบน้ำท่วม ภาคอีสาน ทั้งหมดล้วนเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำและเปราะบางกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ
สถาปนิกหญิงเชื่อว่า การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกไม่ใช่สิ่งที่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง จะจัดการได้เพียงลำพัง ทว่าทั้งโลกจะต้องร่วมมือกันเยียวยา “บ้าน” หลังนี้ไปพร้อม ๆ กัน
นอกจากติดทำเนียบหญิงเก่งของบีบีซีแล้ว นิตยสาร TIME จัดอันดับให้กชกรอยู่ใน 15 Women Leading the Fight Against Climate Change, TIME 100 Next และ Bloomberg Green 30 for 2020
กชกรเคยได้รับรางวัลการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเพื่อเมืองระดับนานาชาติอีกหลายรางวัล รวมทั้งจากองค์กรสหประชาชาติ 2020 Global Climate Action Awards จนมาถึง 12th Dubai International Award for Best Practices สาขา Urban Regeneration and Public Spaces (การฟื้นฟูเมืองและพื้นที่สาธารณะ)