ร้านเพื่อนหลังคาแดง คาเฟ่ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช

กรมสุขภาพจิต มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาฯ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ร่วมพัฒนาแหล่งฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมให้กับผู้ป่วยจิตเวช โดยฝึกอาชีพ เพิ่มทางเลือกในการดำเนินชีวิต-ลดภาระการดูแลของครอบครัว เพื่อความภาคภูมิใจในตนเองให้รู้สึกมีคุณค่าและศักดิ์ศรี

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงแนวโน้มผู้มีปัญหาจิตเวชและสุขภาพจิตที่รุนแรงมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีว่า ระบบฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชมีความจำเป็นต้องพัฒนาให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคมได้โดยเร็ว และลดการถูกตีตราทางสังคม (social stigma) ลดภาระแก่ญาติ รวมถึงผู้ดูแล

ล่าสุด บริษัท ซีพี รีเทล ลิงค์ และบริษัทในเครือ ร่วมกับ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ และ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ได้ส่งเสริมการฝึกอาชีพให้ผู้ป่วยมีรายได้ โดยสนับสนุนการก่อตั้ง “ร้านกาแฟหลังคาแดง” เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจ ชี้แนะแนวทางการฝึกผู้ป่วยให้เข้าสู่ตลาดแรงงานได้

ร้านกาแฟหลังคาแดง ถือเป็นต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม สำหรับผู้ป่วยจิตเวชแห่งแรก ๆ ของประเทศไทย ความสำเร็จของร้านกาแฟหลังคาแดงและร้านเพื่อนหลังคาแดงจะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช เพื่อขยายบริการให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงการฟื้นฟูที่มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการและการพัฒนารูปแบบบริการสาธารณสุขในอนาคต

คุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวเสริมว่า เมื่อปี 2558 ร้านกาแฟหลังคาแดงได้เปิดดำเนินการโดยความร่วมมือของบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด (CP Retailink Co.,Ltd.) มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ และสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาที่ร่วมสนับสนุนการก่อสร้าง และเครื่องมืออุปกรณ์ทั้งหมดในร้านกาแฟ-ร้านเพื่อน เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอาชีพและฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช

นายวรายุทธ โพธิ์น้อย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด กล่าวว่า ร้านกาแฟหลังคาแดงสาขา 1 ได้ก่อตั้งขึ้นและเปิดดำเนินการเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 โดยความร่วมมือของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาฯ สถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา และซีพี รีเทลลิงค์

ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่เหมือนกันคือ เป็นแหล่งฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม ให้ผู้ป่วยจิตเวชได้ฝึกอาชีพ ปัจจุบันมีผู้ป่วยผ่านการฝึกแล้ว 16 คน และได้รับการจ้างงานภายนอก ณ ร้านกาแฟมวลชนในสาขาต่าง ๆ จำนวน 3 คนและอยู่ในระหว่างการฝึกอีก 2 คน

ขณะที่ นายแพทย์ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ร้านกาแฟหลังคาแดงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกทักษะอาชีพผู้ป่วยจิตเวชสู่การจ้างงานในภาคธุรกิจ โดยใช้แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprises) ฟื้นฟูให้ผู้ป่วยกลับมาสู่การดำรงชีวิตได้ปกติ

ทั้งหวังให้ผู้ที่ได้รับการฝึกได้เข้าสู่ตลาดงานอย่างมืออาชีพ มีทางเลือกในการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้รู้สึกมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี มีทักษะทางสังคมและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้น

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตคาดหวังถึงความสำเร็จจากโครงการนี้ในการช่วยลดอคติทางสังคมต่อผู้ป่วยจิตเวช เพื่อให้สังคม ครอบครัว ชุมชน และองค์กรมีส่วนร่วม ทุกภาคส่วนคือกลไกสำคัญในการฟื้นคืนศักยภาพให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี