เปิดบ้าน ธงทอง จันทรางศุ คลังหนังสือ 2 หมื่นเล่ม สายใยรักแห่งความผูกพัน

ธงทอง จันทรางศุ
ธงทอง จันทรางศุ
ผู้เขียน : สองเราเคียงคู่

“บ้าน” แม้จะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ดูเหมือนจะไร้ชีวิต แต่แท้จริงแล้ว “บ้านคือทุกสิ่ง” ทั้งสร้างความผูกพันของคนที่อยู่ร่วมกันตามกาลเวลา ไม่ว่าจะสุข ทุกข์ กังวล หรือร้าวรานใจในบางครั้ง บ้านก็สามารถเยียวยารักษากายใจเราได้

“ดีไลฟ์-ประชาชาติฯ” ได้รับเกียรติจาก “ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ” ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม รวมทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางราชสำนัก และพระราชพิธี ที่เปิดบ้านแสนรักของครอบครัว “จันทรางศุ” ย่านลาดพร้าว-รัชดาฯ ใจกลางกรุงให้ทีมงานเข้าเยี่ยมชม ด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง

บ้านแสนรัก 3 เจน
บ้านแสนรัก 3 เจน

เปิดบ้านแสนรักของคน 3 รุ่น

บ้านปัจจุบันของอาจารย์ธงทองมีเนื้อที่รวมทั้งหมดเฉียด 400 ตารางวา หรือหย่อนไป 2 ตารางวาก็จะครบ 1 ไร่พอดี ลักษณะแปลงที่ดินเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่สร้างต่อเนื่องถึงกัน ถ้าว่ากันตามฮวงจุ้ยถือว่าดีมาก เพราะเป็นที่ดินหน้ากว้างยาวตลอดแนว ที่บรรจุเรื่องราวมากมายทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

โดยที่แปลงนี้จะมีเรือนเก่า-ใหม่สร้างอยู่ร่วมกันเป็นอาณาจักรแห่งความสุขของคนตระกูล “ทอง” ทั้ง 3 รุ่น หรือ 3 เจเนอเรชั่นหลัง นับจากรุ่นที่ 2 คือ คุณพ่อ (นาวาอากาศเอก ธัชทอง จันทรางศุ) และ คุณแม่ (นางสุคนธ์ จันทรางศุ-ธิดาของ พระประมวลวินิจฉัย (ขัติ สุวรรณทัต) และ นางประมวลวินิจฉัย (สุดใจ ประมวลวินิจฉัย) นามสกุลเดิมคือ “ฮุนตระกูล”

แก้ม-ธารกนก หลานรัก
แก้ม-ธารกนก หลานรัก

รุ่นที่ 3 คืออาจารย์ธงทอง หรืออาจารย์หน่า กับน้องชาย (คุณยุ้ย-ธารทอง จันทรางศุ) และเตรียมรองรับสำหรับทายาทรุ่นใหม่ “น้องก้าน-กนกกุล และ น้องแก้ม-ธารกนก จันทรางศุ” ลูก ๆ ของคุณธารทอง

อาจารย์เล่าให้ฟังว่า บ้านที่พักอาศัยหลังนี้ผูกพันและอยู่กันมานาน เพราะเป็นบ้านที่คุณพ่อคุณแม่สร้างขึ้นเมื่อ 35 ปีที่แล้ว เนื้อที่ 190 ตารางวา เป็นบ้านสองชั้น โดยซื้อผ่อนส่งตั้งแต่อาจารย์ยังเยาว์วัย และด้วยสายตาที่มองเห็นการณ์ไกลว่า ต่อไปภายหน้าคนในครอบครัวอาจมีความจำเป็นต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม ท่านทั้งสองจึงซื้อที่ดินที่อยู่ติดกันเก็บเอาไว้

ความทรงจำ
ความทรงจำ

จนมาวันนี้ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เมื่อน้องชายและน้องสะใภ้ได้สร้างบ้านหลังใหม่บนแปลงที่ดินดังกล่าว

จากเดิมมีการกั้นรั้วแบ่งเป็นสัดส่วน แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจรื้อรั้วกั้นเขตออก เพื่อให้คนในบ้านทั้ง 2 หลัง เดินไปมาหาสู่กันได้สะดวก พร้อมปรับปรุงพื้นที่ระหว่างกลางเป็นสวนสีเขียว มีทางเดินเชื่อมถึงกัน ปลูกทั้งต้นไม้ใหญ่ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ประดับ และกันพื้นที่บางส่วนปลูกพืชสวนครัว จำพวกตะไคร้ กะเพรา มะกรูด มะนาว ตามโอกาสและอากาศจะอำนวย

บ้านเก่า35ปีที่ต่อเติมใหม่หลังเกษียณ
บ้านเก่า35ปีที่ต่อเติมใหม่หลังเกษียณ

ล่าสุดได้ซื้อที่ดินแปลงติดกันเพิ่มเป็นแปลงสุดท้ายที่อยู่ด้านในสุดของซอย เพื่อจัดเตรียมสร้างบ้านใหม่อีกหลังให้เป็นสมบัติส่วนตัวของหลานอันเป็นที่รัก ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ไว้อยู่อาศัยด้วยกัน

“บ้านที่ผมอยู่สร้างมานานแล้ว แต่โครงสร้างแข็งแรง มาต่อเติมเพิ่มก็ปีที่ผมเกษียณ ตอนนี้ผมอายุ 67 ปีแล้ว สร้างใหม่เป็นห้องกระจก มีตู้หนังสือ ห้องนี้กลายเป็นห้องรับแขก ใครไปใครมาก็มานั่งตรงนี้ ถ่ายรูปที่นี่ เพราะแสงสวย สว่างที่สุดแล้วในบ้านนี้ แอร์ก็เย็นฉ่ำ” อาจารย์เล่าไปหัวเราะไป

“ชีวิตผมมีความสุขกับครอบครัว อยู่กับคุณแม่ เราอยู่กันแบบเรียบง่าย ผมมีพี่เลี้ยงที่เลี้ยงผมมาตั้งแต่ผมอายุ 8 เดือน ตอนนี้เรายังเป็นครอบครัวเดียวกัน อยู่ดูแลกันจนทุกวันนี้ สุขภาพพี่เลี้ยงยังแข็งแรง แต่เดินเหินไม่คล่องตามธรรมดาของอายุ ผมจึงขอความเมตตาพระที่มารับบิณฑบาตในละแวกบ้านได้โปรดเดินเข้ามาภายในบริเวณบ้าน เพื่อสะดวกและความปลอดภัยของทุกคน”

ห้องหนังสือคือศูนย์รวมความรู้และความรัก

นอกจากสายใยรักของความเป็นสายเลือดแล้ว อาจารย์ธงทองยังผูกพันกับ “หนังสือ” มาตั้งแต่เด็ก และรู้จักออมเงินเพื่อซื้อหนังสือที่ชอบเป็นของตัวเอง

“สมัยเรียนผมได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 5 บาท ใช้ไป 3 บาท ผมเก็บไว้ 2 บาท อาทิตย์นึงก็ครบ 10 บาทพอดี พอได้ซื้อหนังสือไว้อ่านเล่น” อาจารย์เล่าถึงสมัยเด็ก

พร้อมกับพาชมห้องสมุดบนบ้านชั้นสองที่นับว่าเป็นคลังหนังสือที่มีจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยเห็นจากบ้านทั่วไปที่ไม่ใช่หอสมุดแห่งชาติ และมีการประเมินว่า จำนวนหนังสือทั้งเก่าและใหม่ในบ้าน “ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ” มีมากถึง 20,000 เล่ม

ทุกห้องบนบ้านถูกจัดเป็น “ห้องสมุด” มีตู้สำหรับเก็บหนังสือแบ่งแยกหนังสือเป็นสัดส่วนแต่ละประเภท

ด้วยความที่ได้รับการปลูกฝังให้รักการอ่านมาแต่เด็ก ทำให้อาจารย์หลงใหลในสิ่งที่ผ่านมา เพราะทุกเรื่องราวล้วนมีความหมาย ทำให้ทุกตัวอักษรที่อาจารย์เขียนมีความละเอียดลึกซึ้งตรึงใจ

เช่นเดียวกับภาษาพูดที่สละสลวย เปรียบเปรยชวนตลกขบขัน คุยเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย แถมเรียกเสียงฮาได้ตลอด

แม้จะเป็นเรื่องเครียด ๆ ซึ่งหาได้ยากกับการสื่อสารในลักษณะเช่นนี้

“ผมโตมากับหนังสือ ถือเป็นมรดกของคุณพ่อคุณแม่ ทั้งรามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี ตอนเด็ก ๆ ผมชอบอ่านสี่แผ่นดิน ที่บ้านจึงมีหนังสือเก่ามากมาย”

ที่พลาดไม่ได้ “พล นิกร กิมหงวน” หรือ สามเกลอ ประพันธ์โดย ป. อินทรปาลิต ก็อยู่บนชั้นหนังสือของบ้านนี้ รวมถึง “สุภาษิตสอนชาย” หนังสือเล่มบางที่เรียกฮือฮาของใครหลายคนที่ได้ไปเยี่ยมบ้านในวันนั้น

นอกจากหนังสือวิชาการ ยังมีซัพพลีเมนต์เครือมติชน “ประชาชาติธุรกิจ” ครบรอบ 12 ปี เรื่อง “ทายาทธุรกิจร้อยล้าน” วางอยู่บนชั้นด้วย หากนับอายุหนังสือเล่มนี้ก็ล่วงเลยมาแล้วถึง 34 ปีเต็ม

เล่มนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ครบรอบ 12 ปี

ที่น่าภาคภูมิคือมีหนังสือตั้งแต่สมัยหมอบรัดเลย์ และหนังสือแนวชีวประวัติที่อาจารย์เก็บรักษารวบรวมไว้ เช่น สาแหรกสมัยคุณย่าของคุณแม่ที่เชื่อมโยงตระกูลเก่า “เปาโรหิตย์” และ “ดิศกุล” หากนับญาติแล้ว เท่ากับ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล มีศักดิ์เป็นคุณน้าของอาจารย์ธงทองด้วย

“ผมมีข้อตกลงกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติจะนำส่งหนังสือที่ละการใช้งานแล้ว จัดส่งให้ทุก 2 เดือน รวม 3 กล่องเอกสาร เพราะนี่คือบันทึกวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ เหตุการณ์บ้านเมือง ที่มีทั้งรูปถ่ายและตำนานไว้ศึกษาได้”

เลขนี้มีที่มา-ทะเบียนรถ 101 คือร้อยเอ็ด

จากบ้าน สายใยรัก มาถึง หนังสือ ยังมีอีกหนึ่งที่แฝงไว้ด้วยความภูมิใจของทายาทรุ่นหลาน นั่นคือ เลข 101 ที่เจ้าของบ้านตั้งใจให้เลขทะเบียนรถทุกคัน ทั้งรถใหญ่ รถเก๋ง ไปจนถึงมอเตอร์ไซค์ต้องพะด้วยเลขทะเบียน 101 เท่านั้น

“101 ก็คือร้อยเอ็ด เรื่องราวไม่มีอะไรมาก เพียงแค่นึกถึงคุณปู่ผมที่ท่านเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด” อาจารย์เฉลยที่มา

คุณปู่ของอาจารย์ธงทองคือ อำมาตย์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดคนแรกของประเทศไทย เป็นอดีตผู้ถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และเป็นต้นตระกูล “จันทรางศุ” ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 โดยมีคุณย่าชื่อ คุณหญิงแม้น สุนทรเทพกิจจารักษ์ (แม้น จันทรางศุ) (เดิมชื่อช้อย สกุลเดิมปัตตะพงศ์)

รวมอายุตระกูล “จันทรางศุ” ในปีนี้ก็ย่างเข้า 109 ปีแล้ว นับเป็นความภาคภูมิใจอีกตระกูลหนึ่งของเมืองไทย