ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีหญิงกับวิถีชาวนา

การปรับคณะรัฐมนตรีประยุทธ์ 5 ที่ผ่านมา ชื่อ “ชุติมา บุณยประภัศร” หรือ “รมช.ปาน” กลายเป็นรัฐมนตรีหญิงเพียงหนึ่งเดียวใน ครม. ด้วยสไตล์การทำงานถึงลูกถึงคน กล้าพูด-กล้าคิด-กล้าตัดสินใจ ทำให้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นับตั้งแต่เกษียณราชการจากตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์เมื่อปี 2559 ก่อนจะโยกกลับมาเป็น “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์”

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์หลักคิดการทำงานรวมถึงเส้นทางสู่รัฐมนตรีหญิงเพียงหนึ่งเดียวใน ครม.ประยุทธ์ 5

“ไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน แต่พอมีกระแสแรงมากขึ้น ได้คุยกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ถ้าท่านฉัตรชัยไม่อยู่แล้ว ดิฉันก็ไม่อยู่เหมือนกัน (หัวเราะ) ซึ่งตอนที่นายกฯให้ทุกคนเขียนถึงคุณสมบัติของแต่ละคน ก็ไม่ได้ขอมากระทรวงนี้ แต่นายกฯจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเองว่าจะให้ใครไปอยู่ตำแหน่งอะไร”

หลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ ชุติมาได้รับโจทย์ใหญ่ จากนายกฯในทันทีว่า “ขอให้ทำให้ราคาสินค้าเกษตรให้ดีขึ้น” รมช.ชุติมามองว่า หากราคาสินค้าเกษตรจะดี สินค้าต้องดีด้วย เรื่องนี้มีกระทรวงที่เกี่ยวข้องถึงสองกระทรวงคือ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนายกฯมีความหวังกับราคาสินค้าเกษตรมาก โดยเฉพาะข้าว

หากจะพูดเรื่องข้าวแล้ว รมช.ชุติมามีความผูกพันกับเรื่องข้าวมาตลอด ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เมื่อ 2 ปีก่อนที่อยู่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ฉัตรชัยให้ดูแล “ข้าวครบวงจร” และเมื่อโยกกลับมากระทรวงพาณิชย์ครั้งนี้ ยังได้รับมอบหมายจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ดูแล “ข้าว” อีก

ด้วยหน้าที่การงานนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้น ก้าวสู่ “วิถีชาวนา” หลังจากต้องแก้ไขปัญหาข้าวครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกร เห็นปัญหาที่แท้จริง ว่าชาวนาไม่มีเงินทุน เมื่อเรามองเห็นปัญหาแล้วจึงสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ไม่ใช่การนั่งฟังรายงานซึ่งไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ฉะนั้นการลงพื้นที่เพื่อสำรวจชีวิตชาวนาทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์กลายเป็น ไลฟ์สไตล์ใหม่ของรัฐมนตรีหญิงที่ผันตัวเองสู่วิถีชาวนา เพราะอยาก “ทำนา” ด้วยตัวเอง

นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำนาจริง ๆ จัง ๆ ของ รมช.ชุติมา ด้วยการปลูกข้าวในพื้นที่มรดกที่รับมาจากคุณยายใน ต.ข้าวงาม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา บนพื้นที่ 100 ไร่ โดยรอบแรกทดลองปลูกข้าวหอมปทุมธานี 30 ไร่ ต่อมาขยายเพิ่มอีก 15 ไร่ รวม 45 ไร่ เคียงคู่กับเถียงนาน้อย (กระท่อม) 1 หลัง

“ต้องบอกว่าไม่ได้ลงมือปลูกข้าวเอง แต่ใช้วิธีขอให้เจ้าหน้าที่หาคนเก่งจริง ๆ มาทำ เราไปตรวจดูแค่วันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น วัตถุประสงค์หลักคือต้องการสร้างเป็นแปลงนาเพื่อการเรียนรู้ ให้เกษตรกรได้เรียนรู้การทำนาที่ถูกต้อง ซึ่งมีการปักป้ายแปลงนาเพื่อการเรียนรู้ไว้ด้วย และให้เจ้าหน้าที่ไปชักชวนเกษตรกรในพื้นที่มารวมกันทำนาแปลงใหญ่ เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งข้าว แต่กลับไม่มีแปลงนาใหญ่ ซึ่งเสียดายที่ไม่มีคนสนใจร่วมด้วย”

รมช.ชุติมาเล่าว่า ทำนามาสองปีแล้ว ผลผลิตในปีแรกไม่ได้กำไร เพราะอยู่ในขั้นตอนการทดลอง ใช้ระบบทดลองหยอดด้วยเครื่อง และดำด้วยเครื่อง

หลังจากได้ผลผลิตพอคำนวณต้นทุนแต่ละวิธีดูแล้ว ผลออกมาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 3,800-3,900 บาท แต่ผลผลิต 1 ไร่ได้ไม่ถึงตัน ซึ่งถือว่าไม่คุ้มเพราะคิดบนพื้นฐานของชาวนาที่ต้องเสียค่าเช่าที่นาไร่ละ 1 พันบาทต่อปี ซึ่งชาวนาก็ต้องไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อมาจ่ายค่าเช่า

ถ้าเริ่มต้นจากการกู้ยืมเงินตั้งแต่แรกก็ต้องกู้ต่อไปเรื่อย ๆ จึงกลายเป็นปัญหาเรื้อรังมาตลอด

แม้ในปีแรกจะไม่มีกำไร รัฐมนตรีหญิงก็ยังไม่ท้อ ทำการทดลองต่อไป

ในปีที่ 2 ด้วยการนำเทคโนโลยี GPS มาปรับใช้ โดยรอบนี้ทดลองปลูกข้าว “พันธุ์ กข. 43” ซึ่งเป็นข้าวที่มีระดับน้ำตาลต่ำเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งข้าวพันธุ์นี้ต้องดูแลให้ดีเหมือนลูกเลยทีเดียว ถึงจะมีที่ดินในพื้นที่ทำนา

แต่พื้นฐานครอบครัวรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ ไม่ได้มาจากอาชีพเกษตรกร โดยพ่อเป็นผู้พิพากษา รมช.ชุติมาเป็นลูกสาวคนเดียวในบ้าน มีพี่ชาย 2 คน เป็นสูตินรีแพทย์ 1 คน อีกคนทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และน้องชายอีก 2 คน ทำธุรกิจส่วนตัว จึงกลายเป็นหญิงหนึ่งเดียวในบ้าน แบบเดียวกับใน ครม.

“พ่อเป็นนักกฎหมายแต่ก็ไม่ได้คาดหวังให้ลูกเป็นนักกฎหมายด้วย เพราะไม่งั้นก็คงไม่ตัดหางปล่อยวัดให้ไปอเมริกา (หัวเราะ) เราเห็นพ่อทำงานหนัก เรียนกฎหมายต้องท่องเยอะ ไม่อยากเรียน แต่เห็นคนอื่นทำงานธนาคารแต่งตัวสวย สบายก็เลยไปตรงนั้น (หัวเราะ) ตอนนั้นตั้งใจจะไปเมืองนอกก่อน แต่คณะที่ตั้งใจไปเรียนปิดซะก่อน จึงจับพลัดจับผลูไปเรียนรัฐศาสตร์ ตอนนั้นขอพ่อไปเรียนที่อังกฤษ อยากไปเรียนนอกเพราะว่าเท่ (หัวเราะ) แต่พอติดรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ่อให้เรียนที่ไทยก่อน จึงเลือกเรียนสาขารัฐศาสตร์ เอกการคลัง เพราะสามารถไปต่อคณะเศรษฐศาสตร์ที่อเมริกาได้ไม่ยาก แต่ต้องเรียนเบสิกใหม่ พอเรียนจบก็เถลไถลที่อเมริกาต่อไม่ยอมกลับ และพอกลับมาก็เถลไถลอีกปี” รมช.ชุติมา หัวเราะเมื่อเล่าถึงอดีต

สำหรับเส้นทางราชการที่กระทรวงพาณิชย์ เริ่มต้นจากความตั้งใจแรกที่จะกลับมาสมัครงานธนาคาร แต่คุณอาแนะนำให้มาสอบที่กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ เพราะมีงานด้านต่างประเทศ จำได้ว่าตอนสอบ ผู้อำนวยการกอง สมพล เกียรติไพบูลย์ ยิงคำถามสัมภาษณ์ได้ว่า “คุณจะมาทำอะไรให้ผมได้” ซึ่งเธอบอกว่าเป็นคำถามที่แรงมากสำหรับคนอายุ 25 ปี

นับจากวันนั้นถึงวันนี้ 35 ปี ในชีวิตราชการมีจุดเปลี่ยนหลายครั้ง หลายครั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงจาก “ความเบื่อ” รมช.ชุติมาเล่าว่า หลังรับราชการได้สักพักเกิดเบื่อต้องหาเรื่องไปเรียนต่อ ด้วยการสอบชิงทุน ไม่ว่าจะเป็นทุนไปเรียนที่องค์กรกาแฟโลก (International Coffee Organization) เรียนจบกลับมาทำงาน พอเบื่องานก็มีทุน แกตส์ องค์การการค้าโลก (WTO) ให้ไปเรียนอีก 4 เดือน อันที่จริงคืออยากเที่ยวจึงตัดสินใจไป (หัวเราะ)

จากนั้นสำนักงาน WTO ที่เจนีวา กำลังเปิดเจรจา WTO อุรุกวัยราวนด์ต้องการคนเพิ่มจึงอยู่ช่วยราชการต่ออีก 2 ปี รับเบี้ยเลี้ยงเป็นวัน ๆ จากนั้นทำเรื่องเพิ่มคน 1 อัตราจึงได้ขยับเป็นเลขาฯโท และขึ้นเป็นเลขาฯเอกตามลำดับ

“จำได้วันแรกที่ทำงานเป็นวันที่มีหิมะตกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของสวิตเซอร์แลนด์ รถเมล์หยุดเดินรถ แต่เราคิดว่า เป็นข้าราชการต้องไปทำงาน และอยู่ที่นั่น 8 ปี ได้เรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสเพิ่มอีกหนึ่งภาษา พอกลับมาเมืองไทยมารับตำแหน่งผู้อำนวยการ ผู้เชี่ยวชาญ รองอธิบดี อธิบดี (ตามลำดับ) ก่อนจะถูกย้ายเป็นผู้ตรวจราชการ และกลับมาเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์จนเกษียณ”

หากวิเคราะห์มุมมองการใช้ชีวิตของรัฐมนตรีหญิงที่ใช้ชีวิตเรียบ ๆ ไม่ได้วางเป้าหมายอะไรไว้ชัดเจน แต่การก้าวขึ้นมาถึงจุดนี้ได้ เธอบอกว่า ชีวิตคนเราแบ่งเป็น 3 ส่วน 30% แรก คือ ดวง ซึ่งไม่รู้ว่าใครขีดมา อีก 30% คือ ความสามารถ และอีก 30% คือ การเข้ากับมนุษย์คนอื่นได้

“ต้องยอมรับว่า การมาถึงจุดสูงสุด ไม่ได้มาจากการตั้งเป้าว่าต้องเป็นรัฐมนตรี ต้องไปเมืองนอก ไปเจนีวา แต่มันมาของมันเอง เป็นจังหวะทุกครั้ง ชีวิตจะมีจุดเปลี่ยน ชีวิตราชการผ่านทั้งสูงสุดและลงต่ำ แต่ก็ไม่เป็นไร

หลักของเราคือ ทำงานให้ดีที่สุดในสิ่งที่รับมอบมา อย่างที่ปฏิญาณตนว่าจะทำเพื่อส่วนรวม ซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส คนชอบพูดว่าราชการรายได้น้อย ต้องมีนั่นมีนี่ แต่เราไม่เคยมี ยึดหลัก ‘ความถูกต้อง’ ถ้าสิ่งที่เราเสนอ คนที่สูงกว่าไม่เอาด้วย นั่นคือ มีปัญหาแล้ว ทางออกคือต้องยอมรับ แต่ถ้าเขาให้ทำ

แต่เราทำไม่ได้ ให้คนอื่นมาทำ ดีเสียอีกไม่มีเรื่องฟ้องร้องด้วย และถ้าช่วงนั้นมีการปรับตำแหน่งก็ต้องทำใจยอมรับว่า คุณเป็นคนเลือกชีวิตคุณเอง”

ชีวิตข้าราชการที่ต้องเผชิญกับแรงกดดัน ทางการเมือง ทางรอดที่รัฐมนตรีหญิงใช้นำทางคือ ต้องเชื่อในหลักความโปร่งใส ความถูกต้อง ไม่อาฆาตแค้น เว้นแต่จะยึดมั่นในตำแหน่งแบบนี้เรียกว่าไม่มีทางเลือก แต่จริง ๆ แล้ว “ทางเลือกมีเสมอ”