สภาหอการค้าฯ เอ็มโอยู มูลนิธิสโกลารส์ฯ แก้ปัญหาขยะอาหารต่อปีสูง 17 ล้านตัน

สภาหอการค้าฯ MOU มูลนิธิสโกลารส์ฯ แก้ปัญหาขยะ

สภาหอการค้าฯ ลงนามเอ็มโอยู มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ชูความร่วมมือการส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยจากผู้ประกอบการอาหารสู่ผู้ขาดแคลนอาหาร ปัจจุบันไทยมีขยะอาหารสูงปริมาณสูงถึง 17 ล้านตันต่อปี

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยระหว่างลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การสร้างความร่วมมือในการส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยจากผู้ประกอบการอาหารสู่ผู้ขาดแคลนอาหาร” ระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ว่า

วัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการสมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ และเครือข่ายพันธมิตร

ในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจอาหารไม่ให้กลายเป็นขยะอาหาร ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย มีปริมาณสูงถึง 17 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 64% ของขยะในประเทศไทยที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ก่อให้เกิดมลพิษและก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนที่นับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต ได้ขับเคลื่อนแนวคิด BCG Model จึงให้ความสำคัญกับแนวทางแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการขยะอาหาร คือ การควบคุมการผลิตและการกำจัดขยะอาหาร และการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจเอกชนได้บริหารจัดการขยะอาหารของตนให้ดีขึ้น

ด้วยการสร้างแนวทางใหม่ผ่านการบริจาคอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยในการบริโภคเพื่อส่งต่อให้กับผู้ขาดแคลนอาหารในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นผู้เปราะบางในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปพร้อมกับการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการอาหารอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการอาหารในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการป้องกันการเกิดขยะอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน

โดยเน้นย้ำความสำคัญของการมีระบบจัดการอาหารที่ดี ผ่านการสร้างความเข้าใจ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร และการเก็บอาหาร การนำอาหารมาใช้อย่างคุ้มค่า และเมื่ออาหารเหลือเป็นขยะต้องมีกระบวนการจัดการที่ดี มองหาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมมือกันเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ได้มีส่วนร่วมกันรับผิดชอบในเรื่องนี้

โดยการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศไทย ไปพร้อมกับการพัฒนาระบบการจัดการอาหารอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ BCG Model

พร้อมกันนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอเชิญชวนและประชาสัมพันธ์สมาชิกประกอบกิจการทั่วประเทศ หากประสงค์จะร่วมส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยจากผู้ประกอบการอาหารสู่ผู้ขาดแคลนอาหาร สามารถติดต่อฝ่ายส่งเสริมธุรกิจเกษตรและอาหาร หอการค้าไทย หรือมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ รายละเอียดเพิ่มเติมเว็บไซต์ : https://th.scholarsofsustenance.org/sos-thailand

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า สถานการณ์อาหารขยะโลก ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 940 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 8-10% ขยะส่วนใหญ่ 61% มาจากภาคครัวเรือน 26% มาจากภาคอุตสาหกรรมบริการ และ 13% มาจากค้าปลีก และหากนำขยะอาหารใส่รถบรรทุกจะได้ 40 ตัน สามารถจอดต่อกันรอบโลกได้ 7 รอบ

สำหรับสถานการณ์ขยะอาหารในประเทศไทย พบว่า มีขยะจากอาหารเฉลี่ยปีละ 254 กิโลกรัม ไม่ใช่แค่เศษอาหารเหลือทิ้ง บางส่วนยังมาจากอาหารส่วนเกิน จากการกินไม่ทัน ขายไม่ทัน หรือคิดว่าหมดอายุแต่ที่แท้จริงยังสามารถกินได้ ดังนั้น จึงมีเป้าหมายที่จะลดปัญหานี้ให้น้อยลง จึงเป็นที่มาของความร่วมมือดังกล่าวนี้ ซึ่งหลายประเทศโดยประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีการแก้ไขเรื่องนี้เช่นกัน เช่น สหรัฐ ฝรั่งเศส ยุโรป ออสเตรเลีย เป็นต้น