ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ตอบโจทย์ประเด็นร้อน “พลังงาน”

การเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานใน “ครม.ประยุทธ์ 5” ของ “ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์” นอกจากจะถูกจับตามองจากคนในแวดวงพลังงานแล้ว ภาพลักษณ์ความเป็นนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานดูจะเป็นความหวังที่ว่า งานคั่งค้างและส่อจะกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานจะถูกสะสางเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อ แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมากลับมีประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า นโยบายด้านพลังงานของประเทศจะถูก “รื้อใหม่”

ไม่ว่าจะเป็นการลดบทบาทการ “ผูกขาด” ของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน อย่างบริษัท ปตท. หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ, แผนการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไปจนถึงการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมในแหล่งที่จะหมดอายุ คือ แหล่งบงกช-เอราวัณ โดยพูดกันถึงขั้นว่า อาจจะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วในแวดวงพลังงาน ทั้งข้าราชการผู้ปฏิบัติงานในกระทรวงพลังงานเอง ไปจนกระทั่งถึงภาคเอกชน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับโอกาสพูดคุยกับ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ในข้อกังวลเหล่านี้

Q : การสั่งระงับแผนนำเข้า LNG

ก็อย่างที่รู้กันว่า ในอนาคตก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG จะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะทั่วโลกมีการขุดพบแหล่งก๊าซใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ที่ผ่านมาหน่วยงานที่รับผิดชอบการนำเข้ารวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งท่าเรือ และคลังก๊าซ คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีการรายงานข้อมูลความคืบหน้าโครงการมาโดยตลอดว่า จะมีการนำเข้าก๊าซ LNG โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าแบบสัญญาระยะยาว (long term) อย่างเช่น การนำเข้าจากบริษัท Qatar Lique-fied Gas Company Limited จากประเทศกาตาร์ ที่ปริมาณ 2 ล้านตัน/ปี รวมถึงสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG ระยะยาวจากบริษัท Shell Eastern Trading (PTE) LTD และบริษัท BP Singapore PTE Limited รายละ 1 ล้านตัน/ปี นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าจากบริษัทเปโตรนาส ประเทศมาเลเซีย ที่ปริมาณ 1.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ได้นำเสนอต่อสาธารณชนมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีการปกปิดอะไร

ส่วนการนำเข้าจากรายอื่น ๆ ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาความเหมาะสมหรืออยู่ในระหว่างการเจรจา ก็ไม่ได้มีการระงับ แต่อาจจะต้องรอความชัดเจนจากการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (power development plan) ฉบับใหม่ ที่กำลังอยู่ในระหว่างปรับปรุง เพราะฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่คือแผน PDP 2558 ล้าสมัย และไม่สะท้อนกับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงยังมีหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบ ที่สำคัญก็คือ พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชนเองก็เปลี่ยนไป มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้จากเดิมที่ประชาชนเป็นเพียงผู้ซื้อไฟฟ้าก็เปลี่ยนมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ด้วย

ฉะนั้นเมื่อแผน PDP ชัดเจนว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงแต่ละประเภทเป็นอย่างไร จากนั้นจึงจะมากำหนดแผนนำเข้าก๊าซ LNG ในส่วนที่เหลืออีกครั้ง ซึ่งผมได้ให้กรอบเวลากับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปแล้ว ว่าจะต้องปรับปรุงแผน PDP ให้เสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้

หลังจากนั้นเราถึงจะบอกได้ว่าการนำเข้าก๊าซ LNG ของประเทศในอนาคตจะเป็นอย่างไร ตัวผมเองมองว่าแผน PDP คือแผนใหญ่ด้านพลังงาน ส่วนการนำเข้าก๊าซ LNG ถือเป็น “ผลลัพธ์” จากแผน PDP ว่าเราควรจะนำเข้าก๊าซปริมาณเท่าไหร่และเมื่อไหร่ ขณะเดียวกันแผนด้านพลังงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะต้องปรับให้สอดคล้องกับแผน PDP ไม่ว่าจะเป็นแผนน้ำมัน แผนก๊าซ แผนพลังงานทดแทน และแผนอนุรักษ์พลังงานด้วย

Q : LNG ลอตใหม่ต้องรอไปก่อน

ผมไม่อยากให้ใช้คำว่า รอ หรือ ระงับ หรือ เบรก ทั้งแผนดำเนินการนำเข้าก๊าซ LNG รวมไปถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เช่น การดำเนินการแผนบริหารจัดการก๊าซ LNG ในระยะยาว เพราะผมมองว่าการนำเข้าก๊าซ LNG จะมีส่วนที่เรียกว่า แผนระยะยาว หรือที่เรียกว่า long term ซึ่งก๊าซส่วนที่ “เกินกว่าที่ได้มีการอนุมัติไปแล้ว” ก็จะต้องนำมาพิจารณาอีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ผมเห็นว่าการนำเข้าก๊าซ LNG ส่วนนี้ เราจะมาเฉพาะเจาะจงไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเพียงส่วนย่อยเท่านั้น อย่างเช่น โครงการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศโมซัมบิก ที่มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ไปแล้วระหว่างบริษัท ปตท.และบริษัทผู้ผลิต ก็สามารถนำมาศึกษาความเหมาะสมหรือดำเนินการในขั้นตอนอื่น ๆ ที่คู่ขนานกันไปได้

Q : จะกระทบการประมูลบงกช-เอราวัณ

ทุกเรื่องด้านพลังงานล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่ง คือ บงกช-เอราวัณ ดังนั้นผมจึงต้องกำหนดเงื่อนไขกำกับไว้ชัดเจนว่า ผู้ชนะการประมูลจะต้องรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติไว้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อที่แหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวจะหมดอายุสัมปทานลงในปี 2564 เพราะหากเราไม่กำหนดปริมาณการผลิตก๊าซขั้นต่ำให้ชัดเจนไว้แล้ว ผู้ชนะประมูลอาจจะไม่เร่งดำเนินการผลิต สุดท้ายก็จะกระทบกับการนำเข้าก๊าซ LNG ที่ต้องปรับเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้เงื่อนไขการเปิดประมูล หรือ TOR ของทั้ง 2 แหล่งลงตัวมาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมแล้ว และผมยังยืนยันชัดเจนไปแล้วว่าจะต้องเปิดประมูลให้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในขณะนี้ ทุกเรื่องของพลังงานผมและข้าราชการในกระทรวงพลังงานจะเดินหน้าทำให้สำเร็จทุกเรื่อง

Q : กม.PSC ยังค้างเติ่งที่กฤษฎีกา

ผมขอให้ทุกคนมีความเชื่อมั่นในการทำงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะขณะนี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ อาทิ ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC (production sharing contract) อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คาดว่ากฤษฎีกาจะพิจารณาแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้ และหลังจากนั้นก็จะต้องรายงานต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนสุดท้าย ก็คือการประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ที่สำคัญ ผมให้กรอบสำหรับดำเนินการเปิดประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณไปแล้วว่า จะต้องมีกฎหมายออกมาบังคับใช้สำหรับการเปิดประมูลภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC ดังนั้นจึงไม่ได้มีใครอยากให้งานสำคัญออกมาล่าช้า ผมอยากถามย้อนกลับไปว่า ในฐานะที่เป็นคนไทยก็ขอให้เชื่อมั่นในประเทศไทยได้หรือไม่ ถ้าเราไม่เชื่อมั่นกันเองแล้วใครที่ไหนจะมาเชื่อมั่น


ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า การเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของผมก็เพื่อดำเนินการทุกเรื่องในด้านพลังงานให้แล้วเสร็จ ผมไม่ได้ต้องการมารื้อใหม่หรือยื้อจนประเทศต้องเผชิญความเสี่ยงด้านพลังงาน และทุกอย่างที่ผมทำจะต้องถูกต้อง เป็นธรรม ประชาชนไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงจนเกินไป ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ทุกฝ่ายสามารถเข้ามาตรวจสอบได้